ด้วยพระบารมี ปลานิล สร้างมูลค่า 12,000 ล้านบาท ต่อปี

สงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยได้รับผลกระทบระหว่างปี พ.ศ. 2484-2488 ส่งผลรุนแรงเกินคาดคิด ประชาชนบางส่วนต้องทิ้งที่อยู่อาศัย และที่ทำกินเพื่อหนีภัยสงคราม ที่ดินถูกทิ้งร้าง ข้าวปลาอาหารขาดแคลน นอกจากนี้กรุงเทพมหานคร ยังถูกซ้ำเติมจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2485 สร้างความเสียหายอย่างยิ่งต่อสถานที่ราชการ บ้านเรือน รวมถึงพื้นที่การเกษตรสำคัญของประเทศเสียหายอย่างหนัก

วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หนึ่งปีถัดจากการสิ้นสุดสงครามโลก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์ในขณะที่ประชาชนอยู่ในภาวะทุกข์เข็ญ ประเทศไทยอยู่ในสภาพที่บอบซ้ำ อ่อนแอ

ครั้นเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรในปลายปี 2494 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์ ต่างทรงงานนานัปการเพื่อบรรเทาความทุกข์ของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนานโดยไม่ทรงย่อท้อ

          การฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกเป็นไปอย่างยากลำบาก การพัฒนาด้านต่างๆ ที่สำคัญ ต้องพึ่งพิงเงินกู้และเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เกษตรกรและประชาชนผู้ยากไร้ได้รับความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง การส่งออกข้าวมีส่วนช่วยได้ไม่นานนัก ก็ประสบกับสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรทุกภาค เพื่อทรงรับฟัง เรียนรู้ปัญหาที่แท้จริงของประชาชน

จากนั้นมา ได้พระราชทานโครงการพระราชดำริต่างๆ จำนวนมาก เพื่อบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนโดยในระยะเริ่มแรก ทรงมุ่งเน้นการสาธารณสุขและโภชนาการ เพื่อเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่ประเทศไทยประสบอยู่ในขณะนั้น เช่น เมื่อทรงทดลองด้วยพระองค์เองจนสำเร็จแล้ว ได้พระราชทานพันธุ์ปลาหมอ ฟาร์มโคนมจิตรลดา พันธุ์ปลานิล เป็นต้น

          nin-5

Advertisement

วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ขณะดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร น้อมเกล้าฯ ถวายปลาน้ำจืดในตระกูลทิลาเปีย จำนวน 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทรงนำไปเลี้ยงที่บ่อปลาสวนจิตรลดา โดยมีกรมประมงดูแลในเรื่องการเพาะขยายพันธุ์ซึ่งได้ผลดี

เมื่อทรงเห็นปลานิลขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากพอสมควร โดยใช้เวลาประมาณเพียงปีเศษ ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 ได้พระราชทานลูกปลานิล ขนาด 3-5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัว ให้แก่กรมประมงนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลาง บางเขน และสถานีประมงต่างๆ อีกจำนวน 15 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมแก่ประชาชนต่อไป

Advertisement

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิลจิตรลดา” ซึ่งสอดคล้องกับชื่อเดิม Nile Tilapia ลักษณะสีของปลาที่มีสีดำ มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ ย่อยง่าย และสร้างภูมิคุ้มกันโรค

          เมื่อกรมประมงนำ “ปลานิล” พระราชทานไปแจกจ่ายแก่ราษฎร ปลานิลได้ขยายพันธุ์อย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศ แม้เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องถิ่นต่างๆ ก็จะทรงปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดต่างๆ รวมทั้งปลานิลในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้ประชาชนนำปลาเหล่านั้นไปทำเป็นอาหารในครัวเรือน

nin-9

การผลิตปลานิล เริ่มมีการบันทึกสถิติ ในปี 2517 ซึ่งนับจากปีนั้นมา ปลานิลหน้าฟาร์มสร้างรายได้แก่เกษตรกรไม่น้อยกว่า 101,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการผลิตปลานิลไม่น้อยกว่า 200,000 ตัน ต่อปี คิดเป็นมูลค่าหน้าฟาร์ม 12,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นปลาน้ำจืดเพื่อการส่งออกที่มีศักยภาพสูงกว่าปลาชนิดอื่นๆ

ปลานิล นอกจากจะเป็นปลาที่ชาวไทยบริโภคกันมากที่สุดแล้ว ยังทำให้เกิดการมีงานทำแก่ประชาชนกว่าล้านคนที่ฟาร์มปลานิลที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 280,000 แห่ง ทั่วประเทศ

ตลอด 70 ปี ที่ผ่านมา การทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชน ให้ดำเนินการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทไปสู่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ความมั่นคงของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนเกิดความร่วมมือในการสร้างสรรค์ สร้างพลังในการทำความดีเพื่อชาติ และประชาชนทุกคน