เปลี่ยนบ่อกุ้ง เป็นบ่อปลา ทางออกเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง

พื้นที่บ้านบางพระ ตำบลปากแพรก อำเภอปากพนัง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผลจากการพัฒนาส่งผลทำให้หลายพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำปากพนังที่สามารถใช้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์

อาชีพเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เกิดขึ้นจากผลของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถช่วยสร้างอาชีพใหม่แก่เกษตรกรในพื้นที่อำเภอปากพนังโดยเฉพาะพื้นที่ตำบลปากแพรก

คุณไมตรี สกุณา

คุณไมตรี สกุณา ประธานกลุ่มเลี้ยงปลาน้ำจืด ตำบลปากแพรก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช  เล่าให้ฟังว่า เดิมพื้นที่ตำบลปากแพรกส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำนา ทำไร และทำฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งเนื่องสภาพพื้นที่เหมาะสมที่จะใช้เพาะเลี้ยงกุ้งเป็นอย่างดี อยู่ห่างจากทะเลไม่มาก อีกทั้งราคากุ้งในระยะแรกๆเห็นผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ เกษตรกรแทบทุกครัวเรือนจึงหันมาทำฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งกันเป็นจำนวนมาก

“ฟาร์มกุ้งช่วงแรกได้ผลกำไรเป็นที่น่านพอใจ แต่ทำอยู่ได้ไม่นานต้องประสบกับปัญหาโรค อีกทั้งปัจจัยทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไม่เอื้อต่อการเลี้ยงกุ้ง ส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรหลายรายขาดทุน บางรายขาดทุนแทบหมดตัวและต้องหยุดเลี้ยง แต่หลังจากการก่อสร้างประตู้น้ำอุทกวิภาคประสิทธิ์ (ประตูน้ำปากพนัง) เสร็จสมบูรณ์ พื้นที่ลุ่มน้ำสามารถเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ บ่อกุ้งที่เคยปล่อยทิ้งร้างจึงถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เข้ามาส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด

พัฒนาการเลี้ยง จากบ่อดิน เป็นกระชัง

บ่อกุ้งนับร้อยบ่อ ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยเกษตรกรจะปรับสภาพบ่อให้เหมาะสมที่จะใช้เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด ซึ่งขั้นตอนการเตรียมบ่อ ตลอดจนขั้นตอนการเพาะเลี้ยง จะมีสำนักงานประมงจังหวัด ก.ศ.น. ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาดูแลทั้งเรื่องของพันธุ์ปลา และความรู้ในการเลี้ยงเป็นอย่างดี”

สำหรับปลาที่เกษตรกรนำมาเลี้ยง จะเป็นปลานิล เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว น้ำหนักดี กินง่ายพืชผัก เช่น ผักบุ้งที่ขึ้นอยู่ริมบ่อก็กินได้  ที่สำคัญตลาดภาคใต้มีความต้องการบริโภคปลาชนิดนี้เป็นจำนวนมากทำให้ราคาปลานิลคงตัวเป็นที่พอใจของผู้เลี้ยงและบริโภค

การเตรียมบ่อเพาะเลี้ยงปลานิล คุณไมตรี บอกว่าไม่ยาก บ่อเดิมมีความพร้อมอยู่แล้วเพียงแต่ทำความสะอาดบ่อโดยการขุดลอกบ่อ นำดินโคลนที่อยู่ในบ่อออก จากนั้นนำปูขาวโรย ตากแดทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน จากนั้นก็เริ่มปล่อยน้ำเข้าและปล่อยทิ้งไว้อีกสักระยะหนึ่งก่อนจะนำลูกปลาที่เตรียมไว้ลงมาอนุบาลในกระชังภายในบ่อเพาะเลี้ยงประมาณ 10-15 วัน จนลูกปลาแข็งแรงพอที่จะปล่อยลงบ่อเพาะเลี้ยงเพื่อให้หาอาหารจากธรรมชาติ

วัชพืชภายในบ่อ

ขนาดบ่อเพาะเลี้ยง จะมีความกว้าง ยาว ลึก ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดของแต่ละพื้นที่ แต่โดยรวมแล้ว บ่อที่เกษตรกรเพาะเลี้ยงกันทั่วไปจะกินเนื้อที่ประมาณ 3-4 ไร่

อัตราการปล่อยลูกปลานิลลงไปเลี้ยงในแต่ละบ่อ คุณไมตรี บอกว่า โดยทั่วไปจะปล่อยไม่เกิน 5,000 ตัว/บ่อ อัตราการรอด 90 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าหากปล่อยมากเกินจนเกินไป พื้นที่ภายในบ่อจะหนาแน่นจนเกินไป ส่งผลทำให้ปลาโตช้า เนื่องจากแย้งอาหารกัน ซึ่งส่วนนี้จะส่งผลทำให้ต้นทุนเรื่องอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สำหรับอาหารคุณไมตรี จะเป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูป โดยจะให้เป็นตามช่วงอายุของปลา

“ปลาเล็กที่อยู่ในช่วงอนุบาลจะให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปเบอร์ 1 ต่อเนื่องกัน 20 วัน จากนั้นเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูปเบอร์ 2 และค่อยๆปรับเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูปเบอร์ 3 โดยจะให้อาหารวันละ 2 เวลา คือ ช่วงเวลาเช้าและเย็นของทุกวัน” (ช่วงเดือนที่ 3 ก่อนจับขายประมาณ 15-20 วันจะให้วันละ 3 เวลา  เช้า กลางวัน เย็น เนื่องจากต้องขุนให้มีนำหนักเต็มที่)

ให้อาหารตามปริมาณปลาที่เลี้ยง ช่วยลดต้นทุน

ส่วนเรื่องปัญหาที่พบในระหว่างที่เลี้ยงนั้น  คุณไมตรีบอกว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องของโรค และสภาพอากาศ ซึ่งสำนักงานประมงจังหวัดก็จะมาช่วยดูแลแก้ไขปัญหา แต่ในเบื้องต้นนั้นตัวเกษตรกรจะแก้ไขปัญหาตัวตัวเองก่อนที่จะร้องขอความช่วยเหลือ

กระบี่ สุราษฎร์ธานี เป็นตลาดรับชื้อที่ใหม่ที่สุด แต่ละเดือนจะมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับชื้อถึงหน้าบ่อ โดยน้ำหนักปลาที่ส่งขายอยู่ที่ตัวละ80 กรัม ส่งขายในราคาขายกิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งราคาชื้อ – ขายทางกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงจะตกลงกับพ่อค้าแม่ค้าเอง

ปลานิลจากบ่อเพาะเลี้ยง

แต่ละรอบที่เลี้ยงสามารถจับปลาขึ้นมาจำหน่ายได้มากถึง 3 ตัน/บ่อ ซึ่งหากคิดรวมเป็นรายปีแล้วจะได้ประมาณ 20.2 ตัน/ราย นับว่าเป็นปริมาณที่มากระดับหนึ่งสำหรับอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นในชุมชน

ณ วันนี้ อาชีพเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดของกลุ่มเลี้ยงปลาน้ำจืดบ้านบางพระ ได้พัฒนามาเลี้ยงในกระชัง เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องของอาหารและการจับ

สำหรับท่านใดที่สนใจปลานิลกลุ่มเลี้ยงปลาน้ำจืดบ้านบางพระ ตำบลปากแพรก อำเภอปากพนัง ติดต่อสอบถามราคา และข้อมูลได้ที่คุณไมตรี สกุณา โทรศัพท์ (087) 886 5681