เกษตรกรกาฬสินธุ์ พลิกผืนนาเลี้ยงกุ้งก้ามกราม สร้างรายได้ดี จับเป็นอาชีพทำเงิน

กุ้งก้ามกราม โดยธรรมชาติสามารถพบเห็นได้ตามแม่น้ำลำคลอง แทบทุกจังหวัดในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งสมัยก่อนนั้นกุ้งชนิดนี้ค่อนข้างชุกชุมจับได้ง่ายเพื่อนำมาประกอบอาหารตามครัวเรือน หรืออาจจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านทั่วไปที่ไปจับหา แต่ด้วยสภาพแวดล้อมอย่างในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้กุ้งก้ามกรามที่อยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลง ทำให้ปริมาณที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงทำให้ได้เกิดการเลี้ยงเป็นเชิงการค้ามากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค

ซึ่งกุ้งก้ามกรามสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นต้มยำกุ้งที่ขึ้นชื่อลือชาไปถึงต่างแดน หรือจะเป็นกุ้งเผาที่รับประทานคู่กับน้ำจิ้มซีฟู้ดก็อร่อยเผ็ดร้อนเข้ากันได้อย่างลงตัวทีเดียว จากเมนูอาหารที่กุ้งก้ามกรามสามารถทำได้หลากหลาย จึงเป็นอีกสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้เป็นอย่างดี ทำให้ปัจจุบันนี้มีการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามกันอย่างกว้างขวางในหลายจังหวัด เช่น นครปฐม ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี ฯลฯ รวมไปถึงทางภาคอีสาน อย่าง จังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ได้มีการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามสร้างรายได้ด้วยเช่นกัน

พลิกผืนนา ทำฟาร์มกุ้งก้ามกราม

คุณพัชราวลัย ไร่ไสว อยู่บ้านเลขที่ 401 หมู่ที่ 4 ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเธอมีอาชีพทางการเกษตรเกี่ยวกับการทำนา แต่เมื่อทำมาเรื่อยๆ ในแต่ละรอบปี ผลผลิตที่ได้ในแต่ละครั้ง จำหน่ายได้ราคาไม่ดีเท่าที่ควร จึงได้เกิดแนวความคิดที่อยากจะปรับเปลี่ยนทำการเกษตรทางด้านอื่น เพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าการทำนา

“ช่วงนั้น ประมาณปี 40 ได้มีโอกาสไปทางภาคกลาง ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เราเห็นแล้วก็เกิดแนวความคิดที่อยากจะทำ จึงได้นำความรู้ที่ไปศึกษามาลองนำมาปรับใช้กับพื้นที่ที่นาของเราดู เพราะพื้นที่โซนอีสานเราก็กลัวว่าจะเลี้ยงไม่ได้เหมือนภาคกลาง แต่โชคดีที่พื้นที่นามีน้ำดี การชลประทานใช้ได้ ก็เลยเบาใจในเรื่องนี้ได้ ก็ทำให้สามารถเลี้ยงได้ ก็จึงค่อยๆ เริ่มเลี้ยงจากทีละบ่อสองบ่อ พอได้กำไรก็ขยับขยายมาเรื่อยๆ ตอนนี้ก็เลยเปลี่ยนจากพื้นที่นาทั้งหมดมาเลี้ยงกุ้งก้ามกรามหมดเลย” คุณพัชราวลัย เล่าถึงที่มาของการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามให้ฟัง

ซึ่งในช่วงที่ปรับพื้นที่นามาเป็นบ่อกุ้งนั้น คุณพัชราวลัย บอกว่า ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน เพราะพื้นดินทำนามาเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้การทำบ่ออาจไม่ดีเท่ากับพื้นที่ที่ไม่เคยผ่านการทำนา แต่เมื่อตั้งใจจริงที่จะปรับเปลี่ยนก็สามารถทำเป็นบ่อกุ้งได้ทั้งหมด ใช้เวลาในการปรับพื้นที่ให้ลงตัวอยู่ประมาณ 2 ปี

 

แหล่งน้ำเป็นสิ่งสำคัญ ของการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

คุณพัชราวลัย เล่าถึงวิธีการเลี้ยงให้ฟังว่า ในขั้นตอนแรกหลังจากที่จับกุ้งภายในบ่อจำหน่ายจนหมดแล้ว จะเตรียมบ่อให้มีสภาพพร้อมสำหรับเลี้ยงในรุ่นต่อไป โดยจะลอกบ่อให้แห้ง จากนั้นหว่านปูนขาวให้ทั่วบริเวณบ่อ ตากบ่อทิ้งไว้สักระยะแล้วเติมน้ำเข้าไปภายในบ่อเพื่อเป็นการปรับสภาพน้ำ

“ขนาดของบ่อที่เลี้ยง ไม่มีอะไรที่ตายตัว จะกว้างจะยาวเท่าไรก็ได้ โดยยึดขนาดของพื้นที่เราเป็นหลัก ถ้าใครมีพื้นที่มาก บ่อก็อาจจะมีขนาดใหญ่กว่า 1 ไร่ ก็ได้ เพราะพื้นที่ของแต่ละคนนั้นค่อนข้างที่จะแตกต่างกัน แต่ความลึกที่ใช้เลี้ยงของฟาร์มเราจะอยู่ที่ 1.50 เมตร เพราะต้องให้มีความลึกหน่อย ถ้าแดดร้อนมากไป ก็จะมีผลกระทบต่อตัวกุ้งได้” คุณพัชราวลัย บอก

กุ้งก้ามกราม

จากนั้นนำลูกกุ้งที่เตรียมไว้มาอนุบาลลงไปภายในบ่อ พร้อมทั้งเติมสารอาหารลงไปเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของลูกกุ้งด้วย เมื่ออนุบาลจนลูกกุ้งได้อายุอยู่ที่ 1-1.5 เดือน จะนำลูกกุ้งย้ายไปเลี้ยงลงในบ่อที่มีขนาดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เลี้ยงอยู่ที่ 8,000-10,000 ตัว ต่อบ่อ ไม่ให้หนาแน่นมากเกินไป เพื่อผลิตเป็นกุ้งเนื้อจำหน่ายให้กับตลาด

โดยอาหารในช่วงแรกจะเป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงลูกกุ้ง เปอร์เซ็นต์โปรตีนไม่ต่ำกว่า 38 และเมื่อย้ายมาเลี้ยงเพื่อเป็นกุ้งเนื้อ ก็จะปรับเปลี่ยนสูตรอาหารเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 34 สลับให้กินกับสูตรเปอร์เซ็นต์โปรตีน 38 ซึ่งทั้งกุ้งไซซ์อนุบาลและกุ้งที่จะเลี้ยงเป็นกุ้งเนื้อ ให้กินอาหาร วันละ 2 มื้อ เหมือนกัน

ลากอวนจับกุ้งส่งจำหน่าย

“พอเราย้ายกุ้งที่อนุบาลไปเลี้ยงในบ่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว จากนั้นเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 3 เดือน กุ้งก็จะได้ไซซ์ขนาดที่พร้อมจำหน่ายได้ ซึ่งการที่กุ้งเจริญเติบโตได้ดีหรือไม่นั้น น้ำถือว่าสำคัญมาก เพราะถ้าน้ำไม่ดีสภาพอากาศแย่ไปด้วย กุ้งไม่กินอาหารและไม่ลอกคาบ มันก็จะส่งผลให้กุ้งโตช้าไปด้วย ดังนั้น ถือว่าน้ำมีส่วนสำคัญในการเลี้ยงมาก โชคดีของฟาร์มเราที่อยู่กับเขตชลประทาน จึงทำให้มีน้ำที่ดีในการเลี้ยงกุ้งได้ตลอดทั้งปี” คุณพัชราวลัย บอก

ในเรื่องของโรคที่จะเกิดกับกุ้งนั้น คุณพัชราวลัย บอกว่า ยังไม่มีปัญหาจากที่เลี้ยงมาตลอด 20 ปี เพราะน้ำที่นำมาใช้เลี้ยงมีความสะอาด บวกกับเธอมีการจัดการภายในฟาร์มที่ดี จึงทำให้เรื่องโรคที่ทำให้กุ้งตายและเกิดความเสียหายนั้นไม่มีให้พบเห็นในฟาร์มของเธอ

 

ทำตลาดหลายด้าน ทำให้เป็นต่อในเรื่องราคา

เมื่อเลี้ยงกุ้งจนได้ไซซ์ขนาดที่ตลาดต้องการนั้น คุณพัชราวลัย บอกว่า ใช้เวลาตั้งแต่อนุบาลจนถึงการเลี้ยงเป็นกุ้งเนื้ออยู่ที่ 4-5 เดือน ซึ่งตลาดส่งจำหน่ายส่วนใหญ่ทางฟาร์มจะส่งให้กับร้านอาหารภายในพื้นที่ เพราะจังหวัดกาฬสินธุ์มีแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อหลายแหล่ง จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางแวะเวียนมาอยู่เสมอ ดังนั้น ร้านอาหารที่อยู่ภายในจังหวัดจึงมีความต้องการกุ้งก้ามกรามเพื่อนำไปประกอบอาหาร เพื่อเป็นเมนูบริการลูกค้าให้ได้ชิมอาหารจากกุ้งก้ามกราม

“ตลาดที่เราขายส่วนมาก ก็จะยึดในจังหวัดกาฬสินธุ์ส่วนใหญ่ สร้างการตลาดเอง และรองลงมาก็จะบริเวณจังหวัดที่อยู่รอบๆ เราก็ส่งขาย ดูแลในแถบนี้ด้วย เช่น สกลนคร หนองคาย ขอนแก่น โดยเราไปส่งทำตลาดเอง และขายส่งต่อให้คนที่มารับซื้อบ้าง โดยราคาขายปากบ่ออยู่ที่กิโลกรัมละ 250-260 บาท ซึ่งช่วงที่กุ้งขาดตลาด ราคาสามารถขึ้นไปถึง 300 บาท ต่อกิโลกรัม ก็มีในบางช่วง” คุณพัชราวลัย บอกถึงราคาตลาด

สำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเป็นอาชีพนั้น คุณพัชราวลัย ให้คำแนะนำว่า ควรศึกษาในเรื่องของอุปนิสัยและธรรมชาติของกุ้งก้ามกรามก่อน ว่ามีการกินอาหารเป็นอย่างไร มีการดำเนินวงจรชีวิตแบบไหน ถ้าเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จนชำนาญการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่สำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่นใดคือ เรื่องน้ำ ถ้ามีการจัดการน้ำหรือระบบชลประทานที่ไม่ดี ก็ไม่แนะนำให้เลี้ยง เพราะน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของกุ้งมากที่สุด

ติดต่อสอบถามเรื่องการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้ที่ คุณพัชราวลัย ไร่ไสว หมายเลขโทรศัพท์ 083-639-4696  

 เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก