เกษตรกรสุพรรณบุรี อนุบาลลูกพันธุ์ปลาช่อน จากแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นอาชีพทำเงินมากว่า 2 ทศวรรษ

สุพรรณบุรี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีการทำเกษตรหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำนาข้าว ปลูกพืชไร่ เช่น ไร่อ้อย ตลอดไปจนถึงพืชผักสวนครัว พืชสวนต่างๆ จึงเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแหล่งพื้นที่ที่มีผลผลิตทางการเกษตรสำคัญอีกจังหวัดหนึ่งก็ว่าได้

นอกจากจะมีเรื่องทางการเกษตรที่เป็นพืชแล้ว ทางด้านการประมงนั้นสุพรรณบุรียังมีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาด้วยเช่นกัน โดยบางพื้นที่จะเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำท่าจีน เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงทุกคนในจังหวัดมาอย่างยาวนาน จึงเกิดเป็นรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

สองพี่น้อง เป็นอีกหนึ่งอำเภอที่มีการเปรียบกันว่าเป็นอู่ปลาที่มีปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะปลาช่อนที่ยังมีอยู่ค่อนข้างมาก จึงทำให้ลูกปลาช่อนจากแหล่งน้ำธรรมชาติทำให้เกิดรายได้ของคนในพื้นที่ ด้วยการช้อนลูกปลาช่อนเหล่านั้น มาส่งจำหน่ายให้กับฟาร์มที่รับซื้อ เพื่อมาอนุบาลให้เป็นปลาไซซ์นิ้วต่อไป

คุณมานิตย์ โสภณ อยู่บ้านเลขที่ 150 หมู่ที่ 1 ตำบลบางพลับ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเกษตรกรที่เพาะพันธุ์ปลาช่อนมากว่า 20 ปี โดยรับซื้อลูกพันธุ์จากชาวบ้านที่ไปช้อนมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติในอำเภอสองพี่น้อง หรือชาวบ้านบางรายเลี้ยงไว้ภายในร่องสวนเองเมื่อปลาช่อนมีลูกก็จะนำมาส่งขายให้กับเธออีกหนึ่งช่องทาง

 

จากอาชีพช่างเย็บผ้า สู่ชีวิตเกษตรกร

คุณมานิตย์ เล่าให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีเธอมีอาชีพเป็นช่างเย็บผ้า ต่อมาช่วงนั้นมีปัญหาในเรื่องของสุขภาพ จึงกลัวว่าจะทำงานบริการลูกค้าได้ไม่เต็มที่ จึงได้มองหาอาชีพใหม่กับสามีว่าจะทำอย่างอื่นที่ทำงานไม่แข่งกับเวลาเหมือนอาชีพที่ทำอยู่ จึงได้มีแนวความคิดมาอนุบาลพันธุ์ปลาช่อนเพื่อเลี้ยงให้ลูกพันธุ์มีขนาดที่ใหญ่ส่งขายให้กับเกษตรกรนำไปเลี้ยงต่อไป

“ช่วงแรกที่มาทำ ก็เริ่มจากเล็กๆ ก่อน ปักตาข่ายเลี้ยงในคลองก็ทำแบบง่ายๆ ใช้ไม้หลักแค่ 4 เสา ตอนนั้นมีอยู่ประมาณ 4 กระชัง พอได้ทดลองขายก็มีกำไรเกิดขึ้น ทีนี้ก็มองไปว่าน่าจะมีกำไรหากจะทำเป็นอาชีพอย่างจริงจัง หลังจากนั้นมาก็ค่อยๆ ขยับขยายและพัฒนามาเรื่อยๆ โดยทำเฉพาะปลาช่อนเพียงอย่างเดียว” คุณมานิตย์ เล่าถึงที่มา

ลูกปลาช่อน

โดยลูกปลาช่อนที่นำมาอนุบาลส่วนใหญ่ คุณมานิตย์ บอกว่า จะเป็นปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และถ้าในช่วงเดือนเมษายนที่ปลาเริ่มวางไข่น้อยลง ชาวบ้านที่อยู่ในย่านนี้ก็จะเพาะพันธุ์เองแบบกึ่งธรรมชาติ โดยนำพ่อแม่พันธุ์ที่มีอยู่มาฉีดฮอร์โมนเข้าไป จากนั้นนำไปปล่อยไว้ในนาข้าวหรือร่องน้ำที่มีอยู่บริเวณสวน เมื่อผ่านไปได้ 7 วัน ก็จะมีลูกปลาช่อนออกมาให้เห็น จากนั้นก็จะช้อนส่งมาขายให้กับเธอ เพื่อนำมาอนุบาลในขั้นตอนต่อไป

 

ลูกครอก หรือลูกแดง นำมาอนุบาลให้เป็นปลาไซซ์นิ้ว

คุณมานิตย์ ให้ข้อมูลต่อไปอีกว่า ลูกปลาเหล่านี้เกษตรกรทั่วไปหรือคนในพื้นที่จะหาช้อนตามหนอง คลอง บึง จากแหล่งน้ำธรรมชาติ รวบรวมไว้เยอะๆ แล้วนำมาส่งขายให้กับฟาร์มลูกปลาช่อนที่รับซื้อมาอนุบาลให้เป็นลูกปลาช่อนขนาดไซซ์นิ้ว จากนั้นนำลูกปลาทั้งหมดมาคัดสิ่งที่ไม่ใช่ลูกปลาช่อน รวมไปถึงลูกปลาช่อนที่แยกออกไปด้วย เสร็จแล้วก็จะนำลูกปลาทั้งหมดชั่งกิโล โดยรับซื้ออยู่ที่ราคา กิโลกรัมละ 500-600 บาท ทางฟาร์มก็จะมีการฝึกให้กินอาหารเม็ด เพื่อที่เกษตรกรผู้นำไปเลี้ยงจะได้มีการจัดการที่ง่ายขึ้น

นำลูกปลาช่อนที่รับซื้อมาใส่เลี้ยงในมุ้งเขียว ขนาด 3×4 เมตร ความลึก 1.50 เมตร ปล่อยลูกปลาช่อนเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 60,000 ตัว เมื่อเลี้ยงไปได้สักระยะลูกปลาช่อนจะเหลืออยู่ประมาณ 30,000 ตัว โดยประมาณ

กระชังสำหรับอนุบาล

“อาหารของลูกปลาช่วงนี้ จะเน้นเลี้ยงเป็นอาหารบด ที่มีส่วนผสมของปลาทะเล นม วิตามิน แร่ธาตุต่างๆ ให้กิน วันละ 4 มื้อ เพื่อให้โครงสร้างของลูกปลาดี ต้องค่อยๆ ให้กิน จนกระทั่งลูกปลาช่อนเริ่มกินอาหารเป็น ตัวปลาก็จะใหญ่เท่ามวนบุหรี่ จากนั้นก็จะเริ่มเปลี่ยน ฝึกให้กินอาหารเม็ดเล็ก พอลูกปลาช่อนกินจนคุ้นชินก็จะเปลี่ยนเป็นอาหาร เบอร์ 1 เลี้ยงต่อไปอีกระยะหนึ่ง อาหารก็เปลี่ยนให้กิน วันละ 2 มื้อ จนไปถึงขายได้” คุณมานิตย์ อธิบาย

เมื่อเลี้ยงลูกปลาช่อนจนอายุได้ประมาณ 45 วัน จะนำลูกปลาช่อนทั้งหมดมาคัดแยกขนาดไซซ์ ตัวไหนที่มีขนาดประมาณ 2-3 นิ้วขึ้นไป จะเป็นไซซ์ขนาดที่ตลาดต้องการ โดยส่วนใหญ่เริ่มขายลูกปลาอยู่ที่ไซซ์นี้

ขนาดไซซ์ 5 นิ้ว

ในเรื่องของโรคที่เกิดกับลูกปลาช่อนนั้น คุณมานิตย์ บอกว่า ยังไม่ค่อยพบปัญหามากนัก เพราะปลาที่นำมาอนุบาลใช้ระยะเวลาสั้น บวกกับน้ำที่อยู่ในคลองสองพี่น้องยังมีความสะอาดอยู่ จึงทำให้ปัญหาเรื่องโรคยังไม่เกิดขึ้นกับลูกปลาช่อน หรือหากถ้ามีก็จะแก้ไขตามอาการที่เป็นในช่วงฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง

 

ตลาดยังมีความต้องการลูกปลาช่อน

ในช่วงเริ่มแรกที่อนุบาลลูกปลาช่อนใหม่ๆ นั้น คุณมานิตย์ บอกว่า มีเท่าไรลูกค้าต้องการทั้งหมด โดยไม่พอขายกันเลยทีเดียว แต่เมื่อเวลาผันผ่านมาถึงยุคปัจจุบัน การเพาะพันธุ์ลูกปลาช่อนก็ทำได้ง่าย จึงทำให้มีคู่แข่งมากขึ้นตามไปด้วย แต่สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คือ เรื่องของคุณภาพยังคงรักษาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง

“ความจริงไซซ์ขนาดที่เหมาะสมก็จะอยู่ที่ 2-3 นิ้ว แต่หลังๆ มา ลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลาย เราก็จะทำให้มีความหลากหลายไซซ์มากขึ้น ตามที่ลูกค้าต้องการ ราคาที่ขายอยู่ก็มีหลายขนาดไซซ์ ถ้าขนาดนิ้วครึ่ง ราคาอยู่ที่ 1 บาท ขนาดไซซ์ 2-3 นิ้ว อยู่ที่ราคา ตัวละ 2 บาท ถ้าเป็นขนาด 3-4 นิ้ว ก็อยู่ที่ ตัวละ 3 บาท ซึ่งลูกค้าก็มีสั่งหลายพื้นที่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น พม่า สิงคโปร์ จีน มีทั้งเราไปติดต่อส่งจำหน่ายเอง และก็มีคนมารับซื้อไปส่งจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง” คุณมานิตย์ กล่าวถึงเรื่องการตลาด

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยปลาช่อนเป็นอาชีพ คุณมานิตย์ บอกว่า สามารถนำไปทดลองเลี้ยงตามร่องสวนหรือบ่อที่มีอยู่ก่อน เมื่อทดลองจนประสบผลสำเร็จแล้วก็สามารถขยับขยายทำเป็นธุรกิจต่อไปได้ โดยนำปลาที่เลี้ยงมาแปรรูปเป็นสินค้าขายเอง ก็จะช่วยให้เพิ่มมูลค่าได้ยิ่งขึ้น

ซึ่งท่านใดที่สนใจอยากจะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาช่อนให้ประสบผลสำเร็จ ตลอดไปจนถึงขั้นตอนการแปรรูปเป็นอาชีพ คุณมานิตย์ บอกว่า สามารถเข้ามาสอบถามหรือเรียนรู้ได้ที่ฟาร์ม ทางเธอยินดีให้คำแนะนำทุกขั้นตอน ติดต่อ คุณมานิตย์ โสภณ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (081) 981-3292