ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
หอยขม เป็นสัตว์น้ำจืดที่มีลักษณะฝาเดียว เปลือกเป็นรูปกรวยรูปไข่ วนเป็นเกลียวเวียนขวาเรียวขึ้นไปยังปลายแหลม ช่องของเปลือกเปิดขนาดใหญ่ที่สามารถให้ส่วนหัวและส่วนเท้ายื่นออกมาได้ ฝาเปลือกเป็นแผ่นบางๆ มีลายที่เปลือกเป็นรูปวงรีอยู่ตรงกลางฝาปิด สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ในคลอง หนอง บึง
หอยขม ยังเป็นสัตว์น้ำจืดที่เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อมน้ำเสียได้ค่อนข้างดี และยังสามารถแพร่พันธุ์ได้เองตามธรรมชาติได้ดีอีกด้วย ปัจจุบัน ความต้องการบริโภคหอยขมกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เพราะสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น แกงคั่วหอยขม แกงอ่อมหอยขม ฯลฯ จึงทำให้เวลานี้ หอยขม เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่กำลังได้รับความนิยม
คุณชัยยะ อินทร์สุข เกษตรกรทำฟาร์มหอยขม ตั้งอยู่ที่ ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ได้มองเห็นถึงโอกาสช่องทางการเลี้ยงหอยขมเพื่อเป็นอาชีพเสริม โดยมีทั้งแบบจำหน่ายทั้งเปลือกแบบตัดก้นและแกะเนื้อออกจากเปลือกเพื่อจำหน่ายให้กับร้านหรือผู้ที่สนใจได้นำไปประกอบอาหารได้ทันที ทำให้เวลานี้เป็นหนึ่งสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี
เลี้ยงหอยขม เป็นงานสร้างรายได้เสริม
คุณชัยยะ เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีมีอาชีพค้าขาย ทำร้านอาหาร ต่อมาจึงได้ขุดบ่อเลี้ยงปลาเพื่อทำเป็นอาชีพเสริมรายได้อีกหนึ่งช่องทาง แต่ปลาที่นำมาเลี้ยงยังไม่สามารถทำความสำเร็จให้กับเขาได้เท่าที่ควร โดยระหว่างนั้นภายในบ่อก็ได้มีหอยขมติดมากับน้ำอยู่ภายในบ่อด้วย หอยขมกลับเจริญเติบโตได้ดีและสามารถจับมาประกอบอาหารได้ จึงทำให้เกิดแนวความคิดและมองเห็นโอกาสที่อยากจะเลี้ยงอย่างจริงจังในเวลาต่อมา
“ช่วงนั้นก็เอาปลามาลงในบ่อ เพราะมองว่าน่าจะเลี้ยงได้ดี เสร็จแล้วเราไม่ค่อยได้มีเวลาดูแลเท่าไร ปลาก็มีตายและมีขโมยมาลักไปบ้าง ทีนี้เรื่องการเลี้ยงปลาก็เลยถือว่าไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ เสร็จแล้วก็มาเห็นหอยที่มันอยู่ร่วมกับปลาในบ่อ แต่มันก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี ไม่หาย ทีนี้เราก็ได้มองว่า หอยขม ปัจจุบันค่อนข้างจะหาจับได้ยากกว่าสมัยก่อน เพราะในแหล่งน้ำธรรมชาติเริ่มน้อยลง ก็เลยเกิดความคิดที่อยากจะเลี้ยงและขยายพันธุ์หอยขม เพื่อเป็นการค้าขึ้น” คุณชัยยะ เล่าถึงที่มา
เมื่อตกลงปลงใจที่จะเลี้ยงหอยขมเพื่อทำเป็นอาชีพอย่างจริงจังแล้ว คุณชัยยะ บอกว่า จึงได้ไปหาซื้อลูกพันธุ์หอยขมจากแหล่งต่างๆ พร้อมทั้งนำจากที่ชาวบ้านจับมาจากแหล่งน้ำมาปล่อยลงภายในบ่อเลี้ยง เพื่อให้หอยขมเจริญเติบโตขยายพันธุ์เองต่อไป
การเลี้ยงหอยขมง่ายๆ ไม่ต้องจัดการขั้นตอนยุ่งยาก
ในเรื่องของการเลี้ยงหอยขมให้ประสบผลสำเร็จนั้น คุณชัยยะ บอกว่า ในช่วงแรกที่หาซื้อหอยขมมาปล่อยภายในบ่อ ยังไม่ได้มีการจัดการอย่างจริงจังอะไรมากนัก โดยเฝ้าสังเกตการณ์ก่อนเพียงอย่างเดียว ว่าหอยที่นำมาปล่อยลงภายในบ่อ เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดีมากน้อยเพียงใด ผลปรากฏว่าหอยขมทุกตัวเจริญเติบโตได้ดีและขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้เป็นจำนวนมาก
โดยบ่อที่ใช้เลี้ยงหอยขม เป็นบ่อดิน ที่มีขนาด 15-20 ไร่ ความลึกบ่ออยู่ที่ 2 เมตร ใส่น้ำเลี้ยงให้มีระดับอยู่ที่ 1.80 เมตร ภายในบ่อจะใส่ทางมะพร้าวและยางเก่าของล้อจักรยานยนต์ลงไปด้วย เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับให้หอยขมเกาะ
“น้ำที่ใช้เลี้ยงเป็นน้ำที่ได้จากชลประทาน หอยที่เราเลี้ยงจึงได้รับน้ำที่สะอาด และไม่มีเรื่องของน้ำเน่าเสีย น้ำมีให้ได้เลี้ยงตลอดทั้งปี โดยช่วงแรกหาซื้อหอยมาปล่อยลงไปในบ่อประมาณหลายร้อยกิโลกรัมได้ จากนั้นปล่อยให้อยู่เองตามธรรมชาติประมาณ 5 เดือน หอยที่ปล่อยลงไปก็เริ่มขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากขึ้น สามารถจับขายได้ทุกวันในเวลาต่อมา” คุณชัยยะ บอก
อาหารที่ใช้เลี้ยงหอยขมส่วนใหญ่ คุณชัยยะ เล่าว่า จะใช้รำข้าวโรยลงไปภายในบ่อเพื่อเป็นอาหารให้กับหอยขม โดยให้กินเสริมอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 20 กิโลกรัม แต่ถ้าอัตราการขยายพันธุ์ของหอยขมมีมาก ก็จะเสริมรำข้าวให้มีปริมาณที่มากขึ้นตามลำดับ แต่โดยส่วนใหญ่จะไม่สิ้นเปลืองเรื่องต้นทุนอาหารมาก เพราะภายในบ่อมีเศษซากพืชซากสัตว์น้ำอยู่บ้าง หอยขมก็สามารถหากินเองได้ภายในบ่อเลี้ยง
ซึ่งจากที่เลี้ยงมาตลอดระยะเวลา 3 ปี หอยขมที่อยู่ภายในบ่อสามารถมีให้จับจำหน่ายได้ตลอดทั้งปีโดยที่ไม่มีขาดส่งลูกค้า นอกจากนี้ เขายังบอกอีกว่าในเรื่องของโรคนั้น ยังไม่มีเกิดปัญหาให้เห็น จึงถือว่าเป็นสัตว์น้ำที่ค่อนข้างแข็งแรงและอยู่ในสภาพแวดล้อมของการเลี้ยงแบบธรรมชาติได้ดี
จับได้ถึง วันละ 100 กิโลกรัม ขึ้นไป
ในเรื่องของการทำการตลาดเพื่อจำหน่ายหอยขมนั้น คุณชัยยะ บอกว่า ในช่วงแรกจะเน้นทำการตลาดเอง ด้วยการบุกเบิกไปจำหน่ายให้กับร้านอาหารต่างๆ ที่เป็นร้านขึ้นชื่อ และมีเมนูแกงคั่วหอยขมอยู่ในเมนูของร้าน จึงทำให้เป็นที่รู้จักของร้านอาหารมากขึ้น ต่อมาเมื่อลูกค้าบอกกันไปปากต่อปาก จึงทำให้มีคนเข้ามาติดต่อขอซื้อที่หน้าฟาร์มมากขึ้นตามไปด้วย
“หอยขมนี่เมื่อปล่อยลงไปแล้ว ที่ฟาร์มจะงมมาขายได้ทุกวัน โดยใช้แรงงานคนเป็นหลัก ก็จะเลือกเก็บเฉพาะตัวที่ใหญ่ๆ มา จากนั้นเราก็จะเอามาทำตามกระบวนการผลิตที่ตลาดต้องการ อย่างลูกค้าบางเจ้าต้องการแบบตัดก้นเฉยๆ เราก็จะตัดก้น ส่วนลูกค้าที่ต้องการแบบไม่เอาเปลือกเลย เราก็จะนำหอยขมมาล้างให้สะอาด จากนั้นก็มาผ่านการลวกด้วยน้ำร้อนให้สุก เสร็จแล้วก็มาแคะหอยขมออกจากเปลือก และนำเนื้อหอยที่ได้ มาแพ็กด้วยระบบสุญญากาศ ก็จะช่วยให้หอยที่แคะออกจากเปลือกเก็บรักษาได้เป็นเวลานานมากขึ้น” คุณชัยยะ บอก
โดยหอยขมที่ตัดก้นเปลือกออกมีแต่เนื้อ ราคาจำหน่าย อยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท ส่วนที่เป็นเนื้อหอยแบบแคะเปลือกออกจำหน่าย ราคาส่งอยู่ที่ 85-110 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาสามารถขึ้นลงได้ตามฤดูกาล
ซึ่งในเรื่องของการทำตลาดหอยขมนั้น คุณชัยยะ ให้ข้อมูลเสริมว่า สินค้าที่เกี่ยวกับหอยขม อนาคตในเรื่องของการตลาดยังไปได้ดี เพราะปัจจุบันหอยขมที่อยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณที่น้อยลง ดังนั้น การเลี้ยงหอยขมเพื่อทดแทนจึงเกิดเป็นอีกหนึ่งช่องทางอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ที่เลี้ยงได้ดี
สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงหอยขม สามารถสอบถามข้อมูลได้จาก คุณชัยยะ อินทร์สุข ได้โดยตรง เขายินดีตอบทุกข้อสงสัยกันเลยทีเดียว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ (081) 904-1829