เกษตรกรตรัง เลี้ยงปลากระชังในชายฝั่งทะเล เน้นประหยัดต้นทุน ใช้ลูกพันธุ์จากแหล่งธรรมชาติ

“ชาวบ้านในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอาชีพเพียงอาชีพเดียว แต่ละครอบครัวจะมีอาชีพอย่างน้อย 2 อาชีพ ขึ้นไป อาชีพแรกก็จะทำสวนยางพารา อาชีพที่สองที่ตอนนี้ทุกคนทำกันอยู่ก็จะเป็นเรื่องการเลี้ยงปลากระชัง เพราะพื้นที่นี้อยู่ติดกับแนวชายฝั่งทะเล และระบบนิเวศป่าชายเลน ดังนั้น การเลี้ยงปลากระชังจึงเป็นอีกอาชีพที่สามารถทำได้ โดยที่ทุกครัวเรือนสามารถทำเงินได้จริงแบบประหยัดต้นทุน ด้วยการนำลูกปลามาเลี้ยงให้ใหญ่แล้วส่งขายได้” คุณบรรจง กล่าว

คุณบรรจง นฤพรเมธี อยู่บ้านเลขที่ 145/1 หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งภายในฟาร์มของเขาไม่เพียงทำเป็นฟาร์มปลาอย่างเดียว ยังจัดพื้นที่บางส่วนทำเป็นโฮมสเตย์พักผ่อนริมชายฝั่งทะเล เพื่ออยู่กับธรรมชาติ ศึกษาวิถีชีวิตชุมชน และที่สำคัญผู้ที่ได้มาเที่ยวยังได้รับประทานอาหารสดๆ จากปลาในกระชังที่เป็นเมนูสำหรับต้อนรับผู้ที่มาเข้าพักอีกด้วย

คุณบรรจง เล่าให้ฟังว่า ชุมชนในย่านนี้เริ่มเลี้ยงปลากระชังมาตั้งแต่ปี 2520 โดยหลักการเลี้ยงจะนำลูกพันธุ์ปลาที่ได้จากแหล่งธรรมชาติ โดยหาช้อนมาปล่อยลงในกระชัง เช่น ปลากะพง ปลาเก๋า ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่เน้นซื้อลูกปลามาเลี้ยง เพราะจะทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น แต่ใช้วิธีการช้อน จะหาตามจำนวนที่ต้องการ ส่วนที่เหลือก็อนุรักษ์ให้เจริญเติบโตเองตามธรรมชาติ

คุณบรรจง นฤพรเมธี

“ผมมีกระชังอยู่ทั้งหมดประมาณ 15 กระชัง ในครั้งแรกก็จะหาลูกปลามาปล่อยอนุบาลในกระชัง ขนาด 3×3 เมตร ลึก 2 เมตร อาหารที่ใช้เลี้ยงก็จะเป็นเหยื่อสดทั้งหมด ลูกปลากะพงจะให้กินอาหารวันละ 2 มื้อ ส่วนปลาเก๋า วันละ 1 มื้อ เมื่ออนุบาลไปได้อายุ 3 เดือนขึ้นไป จะคัดไซซ์ปล่อยเลี้ยงอยู่ 150-200 ตัว ต่อกระชัง อาหารเลี้ยงอย่างปลากะพง เคยกินวันละ 2 มื้อ ก็จะลดลงมาให้กินเหลือวันละ 1 มื้อ เท่ากับปลาเก๋า เลี้ยงแบบนี้ให้ไปทุกวันจนได้อายุ ก็จับขายได้ทันที” คุณบรรจง บอก

เรื่องของโรคที่เกิดขึ้นกับปลากระชังในฟาร์ม คุณบรรจง บอกว่า จะเป็นโรคที่เกิดจากแบคทีเรียและไวรัสที่ติดมากับลูกปลาแต่ละรุ่น วิธีแก้คือ จะหยุดเลี้ยงปลาในกระชังหรือพื้นที่นั้นๆ สักระยะ เพื่อให้เชื้อหายไป หรือถ้าหยุดการเลี้ยงไม่ได้จะแก้ด้วยการทำให้น้ำหมุนเวียนในบริเวณกระชัง เพื่อให้มีการถ่ายเทของน้ำได้ทั่วถึง ก็จะช่วยในเรื่องของการสะสมโรคได้

บริเวณเลี้ยงปลากระชัง

โดยจนกว่าปลากะพงจะได้ขนาดไซซ์ที่จับขายได้ เวลาเลี้ยงทั้งหมดอยู่ที่ 8 เดือนขึ้นไป ส่วนปลาเก๋าใช้เวลาอยู่ที่ 1 ปี ก็จะได้ปลากระชังที่มากด้วยมาตรฐานส่งขายให้กับลูกค้า

ในเรื่องของการทำตลาดปลากะพงและปลาเก๋า คุณบรรจง บอกว่า ปลาที่นี่เป็นปลาที่มีคุณภาพและมีรสชาติที่อร่อย เพราะน้ำที่เลี้ยงปลาเป็นน้ำเค็ม ที่มีค่าอยู่ที่ 25 ppt บวกกับสภาพแวดล้อมของกระชังอยู่บริเวณที่มีสภาพแวดล้อมธรรมชาติท่ามกลางป่าชายเลน ปลาทุกตัวจึงมีความแข็งแรง เนื้อดี รับประทานแล้วให้รสสัมผัสที่ลงตัว

“ในสมัยก่อนตอนที่เลี้ยงกันใหม่ๆ เราจะเน้นทำการตลาดแบบขายส่ง แต่ตอนนี้เรามีการทำการท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชนเกิดขึ้น จึงทำให้มีกิจกรรมหลากหลาย อย่างปลาก็นำมาประกอบอาหารขายกันแบบสดๆ ทำให้ปลาที่เลี้ยงจึงไม่เน้นขายออกไปไกลจากชุมชนเหมือนแต่ก่อน ก็จะนำมาปรุงอาหารหลากหลายเมนู ให้นักท่องเที่ยวได้ทานจากวัตถุที่ได้สดๆ ทานกัน” คุณบรรจง บอก

ซึ่งไซซ์ปลากะพงของฟาร์มที่เลี้ยงได้น้ำหนักอยู่ที่ 1 กิโลกรัมขึ้นไป ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท ส่วนปลาเก๋าน้ำหนักอยู่ที่ 800 กรัม ขายอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 270 บาท และถ้านำมาประกอบอาหารพร้อมรับประทาน ราคาสามารถเพิ่มขึ้นได้ไปตามเมนูของความยากง่ายในการปรุง เขาจึงมีรายได้จากการขายปลาในกระชัง อยู่ที่ 20,000-40,000 บาท ต่อกระชัง จึงเกิดเป็นรายได้ทดแทนในช่วงที่สินค้าทางการเกษตรบางอย่างมีราคาลดลง

“การเลี้ยง เราก็จะเลี้ยงให้มีเป็นรุ่นๆ สลับกันจับไป ปลาก็จะสามารถจับขายได้ทุกเดือน อย่างของผมมีอยู่ 15 กระชัง จับขายได้ตลอดทั้งปี ยิ่งตอนนี้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ช่วยกันปลูกหญ้าทะเล อนุรักษ์ป่าชายเลน ชมวิวชายทะเล ก็ทำให้เกิดกิจกรรมหลายอย่าง ชาวบ้านก็เกิดรายได้จากการขายสินค้า คือปลาทะเล ซึ่งการเลี้ยงปลาของที่นี่ในเรื่องลูกพันธุ์เราเอามาจากแหล่งธรรมชาติ มาเลี้ยงในจำนวนที่ต้องการ ก็เป็นการช่วยประหยัดต้นทุนในการเลี้ยง ดังนั้น รายได้ต่างๆ จึงเกิดขึ้นทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ภายในชุมชน” คุณบรรจง กล่าว

ท่านใดสนใจศึกษาดูงานท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือเข้าพักโฮมสเตย์เพื่อสัมผัสชีวิตธรรมชาติแนวชายฝั่งป่าชายเลน และรับประทานอาหารสดๆ ที่ปรุงจากปลาเลี้ยงในกระชัง ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณบรรจง นฤพรเมธี หมายเลขโทรศัพท์ (081) 892-7440