นายสิทธิธรรม เรืองจรุงพงศ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ประจำปี พ.ศ. 2561

นายสิทธิธรรม  เรืองจรุงพงศ์  อยู่บ้านเลขที่ 8 หมู่ 16 ซอยพัฒนาการ 56 ถนนพัฒนาการ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 02 722 6646, 081 649 1100, 081 843 6060 มีอาชีพเพาะเลี้ยงปลามังกรหรือปลาอโรวาน่า สินค้าขายดีจนประสบผลสำเร็จ สามารถทำเป็นอาชีพให้กับเขาได้เป้นอย่างดี

ผลงานดีเด่น ความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน

ด้วยความรักและชอบเลี้ยงปลาตั้งแต่วัยเยาว์ จึงเลี้ยงปลาเป็นงานอดิเรกเรื่อยมา เมื่อจบการศึกษาและเข้าทำงานที่บริษัท ไทยสเตนเลสสตีล จำกัด ในตำแหน่งพนักงานขาย ระหว่างนั้นเริ่มมีความคิดที่จะเปลี่ยนจากการเลี้ยงปลาเป็นงานอดิเรก มาเป็นทดลองเลี้ยงปลาอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งปลาที่ทดลองเลี้ยง ณ ขณะนั้นคือ ปลาช่อนอเมซอน และปลาอโรวาน่า ช่วงแรกที่ทดลองเลี้ยงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ด้วยความไม่ย่อท้อ พยายามศึกษาหาความรู้ จนสามารถประสบความสำเร็จในการเลี้ยง เมื่อเลี้ยงได้ผลดีแล้ว ต่อมาจึงให้ความสนใจเรื่องการเพาะพันธุ์โดยเน้นที่ปลาอโรวาน่าเป็นหลัก เมื่อหันมาทุ่มเทความสนใจในการเพาะขยายพันธุ์และเลี้ยงปลาอย่างจริงจัง จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ซึ่งตำแหน่งสุดท้ายคือ กรรมการบริษัท เพราะมองเห็นลู่ทางทางการตลาดว่าสามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคงในอนาคตได้

       ปลาอโรวาน่าเป็นสัตว์น้ำที่อยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์(CITES : Appendix I)แต่เดิมการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ปลาอโรวาน่าจะลักลอบนำเข้าซึ่งผิดกฎหมาย แต่ฟาร์มมีแนวคิดที่จะนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงดำเนินการขอใบอนุญาตนำเข้าปลาอโรวาน่าจากต่างประเทศเพื่อนำเข้ามาเพาะพันธุ์อย่างถูกต้อง โดยได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2543 จึงเป็นฟาร์มอโรวาน่าแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการนำเข้าปลาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากนั้นดำเนินการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์เพื่อมาเพาะและขายลูกพันธุ์ พร้อมทั้งพัฒนาสายพันธุ์เรื่อยมา ปัจจุบัน มีพื้นที่ฟาร์มประมาณ 200 ไร่ บ่อดินจำนวน 49 บ่อ ผลงานและความสำเร็จของผลงานทั้งปริมาณและคุณภาพตลอดจนระยะเวลาที่ปฏิบัติงานและความยั่งยืนในอาชีพ

1) ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ลูกปลาอโรวาน่าในระบบฟาร์ม และสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดในอนุสัญญา CITES ซึ่งปลาอโรวาน่าเป็นสัตว์น้ำที่อยู่ในบัญชี 1

2) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ภายใต้ชื่อ “AF Gold” เป็นที่ยอมรับจากผู้เลี้ยงทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยฟาร์มมีการส่งออกปลาอโรวาน่าสายพันธุ์ดังกล่าวสู่ตลาดต่างประเทศมากกว่า 10 ประเทศ ขณะเดียวกันพยายามเพาะพันธุ์ปลาสายพันธุ์ดั้งเดิมควบคู่ไปด้วย

3) ปลาทุกตัวในฟาร์มผ่านการคัดกรองทั้งทางด้านความสวยงามและความถูกต้องของสายพันธุ์ และมีการฝังไมโครชิพเพื่อบันทึกประวัติก่อนจำหน่ายให้ลูกค้า

4) มีระบบการจัดการฟาร์มรวมทั้งการจัดเก็บเอกสารที่เป็นระบบระเบียบ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

5) รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ประจำปี 2553

6) ปัจจุบันมีพ่อแม่พันธุ์มากกว่า 1,000 ตัว ผลผลิตลูกปลามากกว่า 3,000 ตัว/ปี

ความเป็นผู้นำและการเสียสละ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่างๆ

1) เป็นวิทยากรให้ความรู้ในเรื่องวิธีการจัดการฟาร์ม การเพาะพันธุ์ ตลอดจนการส่งออก และช่องทางการตลาดในต่างประเทศให้แก่นักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะประมง

2) ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงปลาอโรวาน่าผ่านทาง social media ต่าง ๆ

3) ให้ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างชุดทดลอง (Test Kit) แยกเพศปลาอโรวาน่าแดง อินโดร่วมกับกับศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

4) เป็นกรรมการชมรมคนรักปลาอโรวาน่าแห่งประเทศไทย

 

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

1) นำปลาอโรวาน่าที่อยู่ในบัญชี CITES I ซึ่งเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์แล้วในธรรมชาติ มาเพาะขยายพันธุ์ได้สำเร็จ เป็นการอนุรักษาสายพันธุ์ปลาดังกล่าว

2) ออกแบบระบบส่งน้ำในฟาร์มให้น้ำไหลตามแรงโน้มถ่วงธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการสูบน้ำให้สิ้นเปลืองพลังงาน มีเพียงการใช้ปั๊มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้าสู่บ่อเก็บน้ำเพียงจุดเดียว

3) ไม่มีการทิ้งน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากนำน้ำเหล่านั้นมาใช้ในการทำสวนผสมภายในฟาร์มทั้งหมด

4) ผลิตอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาเอง ด้วยการสร้างโรงเพาะแมลง และไส้เดือน

5) มีการทำการเกษตรผสมผสานในฟาร์ม เช่น แปลงพืชผักสวนครัว สวนผลไม้ ได้แก่ กล้วย และมะม่วง เป็นต้น