เลี้ยงปูนา ให้ปลอดพยาธิ และทำตลาดให้กว้างขึ้น อาชีพนี้ไม่ยากและทำตามได้

คุณศรีเพ็ญ พงศ์ทรัพย์เจริญ  เลี้ยงปูนาอยู่ย่านพระราม 2 กรุงเทพฯ

คุณศรีเพ็ญ เล่าว่า มีอาชีพหลักคือเป็นผู้ส่งออกอัญมณี แต่เมื่อไม่นานมานี้ เห็นการเลี้ยงปูนา จากยูทูบ จึงเกิดความสนใจ ถึงขนาดที่บอกว่า ดูยูทูบวันพฤหัสบดี  พอวันเสาร์ ก็เดินทางไปต่างจังหวัดไปดูฟาร์มปูนา เลยไปซื้อพ่อแม่พันธุ์มา ทั้งๆ ที่ยังไม่มีบ่อเลี้ยง ได้พ่อแม่พันธุ์มาแล้ว วันอาทิตย์ก็ทำบ่อให้มัน 1 บ่อ 100 คู่ และกลางสัปดาห์ ก็ทำให้อีกบ่อ อีก 100 คู่

อะไรทำให้คุณศรีเพ็ญ สนอกสนใจขนาดนั้น

เธอเล่าว่า จริงๆ เธอเป็นเด็กต่างจังหวัดมาก่อน มีความเป็นเกษตรกรอยู่ในสายเลือด  แต่บังเอิญได้มาทำธุรกิจจิวเวลรี่ มาถึงวันนี้ ลูกๆ โตพอ ช่วยดูแลกิจการได้แล้ว ก็เลยอยากทำ

“คือเราไม่ได้อยากแค่เลี้ยงปูนา แต่เราอยากต่อยอด ที่คนระดับกลางๆ สามารถทานปูนาได้อย่างมั่นใจ ปลอดเชื้อ ปลอดสารเคมี ปลอดพยาธิ” คุณศรีเพ็ญ ว่าอย่างนั้น

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น คุณศรีเพ็ญ เริ่มจากศูนย์จริงๆ  ใช้วิธีการศึกษาจากยูทูบ รวมทั้ง ศึกษาด้วยตัวเอง ถึงขนาด ตื่นตีสาม ตีสี่  มาศึกษาชีวิตมันและอินจัด ขนาดสามสี่ทุ่มก็มาดูอีก มากินมานอนเฝ้ากันเลยทีเดียว

การเลี้ยง เคยทดลอง เริ่มจากบ่อดิน น้ำครึ่งหนึ่ง ดินครึ่งหนึ่ง ในกระชัง ปูก็อยู่ได้  แต่เจอปัญหาน้ำเสีย จับยาก

เลยเปลี่ยนมาเลี้ยง ระบบ บ่อน้ำใส กระชังผ้าใบ  การเลี้ยงแบบนี้ก็ยังต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย แต่จับได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ยังต้องมีกระเบื้องใส่ลงไปให้ปูมันหลบ และไม่ทำร้ายกันเอง ด้วยพฤติกรรมของมันที่ไม่ชอบโล่งๆ

รวมทั้ง มีระบบปล่อยน้ำจากสปริงเกลอร์ให้ด้วย  เป็นการปรับระบบให้เหมือนมีฝนตก ปูสุขภาพจิตดี อัตราการรอดสูง และผสมพันธุ์สูง

ส่วนการลงทุน  1 กระชัง ขนาด 2.5 เมตร คูณ 4 เมตร สูง 10-20 เซนติเมตร  ลงทุน พันกว่าบาท อาหารไม่ถึง 10 บาทต่อวัน

อาหารที่ว่านี้ ให้ทั้งอาหารเม็ด ข้าวสุก และโครงไก่บดละเอียด เพื่อเพิ่มแคลเซียมให้ปู

คุณศรีเพ็ญ แนะว่า  ถ้าเป็นเกษตรกรเลี้ยง ให้แหนเขียวนี่จะดีมาก เพราะมีโปรตีนสูง

สำหรับระยะเวลาการเลี้ยง ขึ้นกับว่า จะนำปูไปทำอะไร ถ้านำไปดอง ไปทอด 3 เดือนก็ได้แล้ว  แต่ถ้าทำปูนิ่ม ต้อง 6-7 เดือนขึ้นไป

คุณศรีเพ็ญ ทิ้งท้าย สำหรับคนที่สนใจว่าการเลี้ยงปูนา ควรถูกพัฒนาให้ปลอดเชื้อ ปลอดพยาธิ และนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งนี้ ตลาดให้การตอบรับดี  เนื่องจากปัจจุบันเราต้องนำเข้าปูนาจากต่างประเทศ  ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ หรือเดือนละ 25 ล้านตัว เพื่อการบริโภคภายในประเทศ ก็อย่างที่ทราบกัน ส้มตำปู เป็นเมนูยอดฮิตของคนไทย

ส่วนใครที่สนใจจริงๆ ไปขอดูงาน ขอคำแนะนำได้ ตามที่อยู่และเบอร์โทร. ด้านล่าง นี้