ชาวบ้านที่อุทัยฯ เลี้ยงกบกระชังน้ำ สุขภาพดี ตัวใหญ่ เนื้อมาก ตลาดชอบ

“กบ” เป็นเมนูอาหารหลายชนิดยอดนิยมของคนโบราณต่างจังหวัดที่อยู่ตามหัวไร่ปลายนามายาวนาน ทุกวันนี้มีคนเริ่มหันมาสนใจรับประทานกบมากขึ้น ทั้งตลาดในและต่างประเทศ เพราะต่างรู้ถึงคุณค่าทางโภชนาการของกบ จนทำให้ประชากรกบตามธรรมชาติไม่เพียงพอ หรือมีไม่พอกับความต้องการตลอดทั้งปี

ด้วยเหตุนี้ หลายพื้นที่จึงหันมาเพาะ-เลี้ยงกบนอกฤดูกัน อีกทั้งการเลี้ยงกบยังทำได้ง่าย ขนาดพื้นที่ก็ไม่เป็นอุปสรรค จะเลี้ยงมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับทุนเป็นตัวกำหนด ว่าจะยึดเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม ฉะนั้น กบจึงจัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญอีกชนิด

คุณวิชาญ ว่องกสิกรณ์ หรือ คุณชาญ อยู่บ้านเลขที่ 177/3 ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ยึดอาชีพเลี้ยงกบในกระชังน้ำบ่อดิน ช่วยให้ประหยัดเวลา ลดการทำงาน อีกทั้งในบ่อดินยังเต็มไปด้วยสารอาหารทางธรรมชาติ จึงช่วยให้กบมีความแข็งแรง ตัวใหญ่ เนื้อมาก เป็นที่ต้องการของตลาด

อดีต คุณชาญ เคยรับราชการแล้วลาออกมาเปิดร้านเครื่องเขียนอยู่ในเมือง มักจะมีเวลาว่างตอนเช้าและเย็น จึงคิดจะออกกำลังกาย แต่ได้รับการแนะนำจากทางเจ้าหน้าที่ประมงให้ออกกำลังกายด้วยการเพาะ-เลี้ยงกบขาย เพราะไม่เพียงทำให้สุขภาพดี แต่ยังมีรายได้และความเพลิดเพลินด้วย

คุณชาญ ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทำนาบางส่วนภายในบริเวณบ้านพักแล้วดัดแปลงให้เป็นกระชังเลี้ยงกบที่มีขนาด 2.5 คูณ 4 เมตร มีระดับน้ำภายในบ่อ ประมาณ 1 เมตร ซึ่งการเลี้ยงกบด้วยวิธีนี้ช่วยเพิ่มคุณภาพความสะอาดน้ำแทนการเปลี่ยนถ่ายน้ำเหมือนอย่างในบ่อซีเมนต์

“การนำกบมาเลี้ยงในกระชังน้ำในบ่อดิน ช่วยทำให้ได้กบที่มีคุณภาพ ไม่ค่อยเป็นโรค กินเก่ง ตัวใหญ่ เนื้อมาก ทั้งนี้เป็นผลมาจากในบ่อดินมีการไหลเวียนของน้ำ จึงทำให้น้ำสะอาดตลอดเวลา ขณะเดียวกันในน้ำยังมีธาตุอาหารสำคัญที่เกิดจากธรรมชาติด้วย”

ในช่วงเริ่มแรก คุณชาญ นำกบสายพันธุ์ผสมที่ได้รับแจกมาจากทางประมง จำนวนประมาณพันตัวก่อน เพราะยังไม่ชำนาญการเลี้ยงดีนัก ระหว่างเลี้ยงหากพบปัญหาจะขอความรู้และคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่เลี้ยงอยู่ในละแวกใกล้เคียง

การขยายพันธุ์กบแต่ละรุ่น คุณชาญ จะใช้บ่อซีเมนต์ ขนาด 3 คูณ 4 เมตร จำนวน 3 บ่อ สำหรับเพาะพันธุ์โดยในช่วงบ่ายของวันที่ต้องการจะเพาะพันธุ์กบ จะเตรียมสถานที่ด้วยการล้างทำความสะอาดบ่อ จากนั้นในช่วงเย็นจึงปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์ พอวันรุ่งขึ้นจึงจับพ่อ-แม่พันธุ์ออก แล้วปล่อยให้ไข่กบมีการฟักตัว ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ซึ่งในช่วงนี้จะให้อาหารลูกกบเป็นอาหารประเภทไฮเกรด วันละ 3-4 ครั้ง (เช้า-กลางวัน-เย็น และตอนมืด) โดยจะพรมน้ำให้นิ่ม เพื่อลูกกบจะได้กินง่ายและไม่เป็นอันตรายต่อปาก

ความสมบูรณ์ของพ่อ-แม่พันธุ์ จะเก็บไว้ประมาณ 2 ปี จึงเปลี่ยนเป็นชุดใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว ส่วนชุดเดิมจะปล่อยไปตามธรรมชาติ ซึ่งภายในระยะเวลา 1 ปี สามารถเพาะพันธุ์กบได้ จำนวน 3-4 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลบำรุงเอาใจใส่พ่อ-แม่พันธุ์ ให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งจะใช้ไข่แดงเสริมด้วยวิตามินและฮอร์โมนเพื่อบำรุงสุขภาพพ่อ-แม่พันธุ์

เมื่อสังเกตเห็นว่าลูกกบมีขนาดโต หางหด มีขา ก็จัดการย้ายไปไว้ในกระชังรวมกันทั้งหมด ประมาณ 20,000-30,000 ตัว ต่อกระชัง แล้วยังคงให้อาหารไฮเกรดไปก่อน เพียงแต่เพิ่มปริมาณให้มากขึ้น เพราะกบโตขึ้นกินอาหารเก่ง จากนั้นประมาณ 20 กว่าวัน จะนำแผ่นกระดานเข้าไปในกระชัง เพื่อให้ลูกกบที่หยุดว่ายน้ำปีนขึ้นไปอาศัยบนแผ่นกระดาน พร้อมไปกับแยกกบบนกระดานไปเลี้ยงอีกกระชัง เพื่อช่วยระบายไม่ให้แออัดแล้วแย่งอาหารกัน

พ่อพันธุ์ที่มีสุขภาพแข็งแรง

สำหรับลูกกบที่มีขนาดโต จะเลี้ยงด้วยอาหาร เบอร์ 1 เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง โดยใช้เวลาเลี้ยง ประมาณ 30-45 วัน จากที่เริ่มเพาะจึงจับขาย ราคาตัวละประมาณ 0.75-1 บาท มีขนาดตัวประมาณนิ้วโป้ง โดยคนที่ซื้อจะนำไปเลี้ยงเป็นกบเนื้อ ขณะนี้ได้รับความสนใจจากตลาดเพื่อนบ้านมาก โดยจะมีพ่อค้ามาติดต่อรับซื้อแบบเหมา ในราคา ตัวละ 0.75 บาท แม้จะถูกหน่อย แต่มารับซื้อแน่นอน เพราะมีเท่าไรรับซื้อหมด

ส่วนกบที่เหลือจากการขาย รวมถึงที่คัดแยกไว้ จะนำไปเลี้ยงในกระชังเพื่อเลี้ยงเป็นกบเนื้อขายต่อไป ซึ่งแต่ละกระชังสามารถเลี้ยงกบเนื้อได้ จำนวน 1,500 ตัว ใช้เวลาประมาณ 85-90 วัน จึงจับขาย แต่ในบางคราวถ้ามีการผันน้ำเพื่อเข้านา ก็จะช่วยให้กบได้น้ำใหม่ที่มีอาหารและแร่ธาตุสมบูรณ์ อีกทั้งยังช่วยทำให้กบมีขนาดตัวโตเร็วภายในเวลาเพียง 70 วัน เท่านั้น

แม่พันธุ์

ปัญหาสำคัญของคุณชาญในเรื่องการเลี้ยงกบคือ ต้องหมั่นแยกขนาดกบ ทั้งนี้ระหว่างที่กบอยู่รวมกันในกระชังเดียว จะมีกบบางตัวหากินไม่เก่ง ก็จะโดนตัวที่ใหญ่กว่าไล่ หรือบางครั้งโดนกิน ดังนั้น กบที่กินอาหารได้น้อยก็มักจะมีขนาดเล็กไม่สมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องจับกบตัวเล็กแยกออกมาเลี้ยงไว้ต่างหาก

โรคที่พบในกบ คุณชาญ บอกว่า ได้แก่ บวมน้ำ คอเอียง ตาขุ่น ขาแดง สาเหตุหลักจะเกิดจากสภาพน้ำหรือมีการระบาดของเชื้อโรค รวมไปถึงสภาพอากาศที่ยังมีสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้นได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรอยต่อเข้าหน้าหนาวเป็นช่วงที่เลี้ยงกบยากมาก เพราะกบมักจะเป็นโรคตายในช่วงดังกล่าวเป็นประจำ

ที่ผ่านมา คุณชาญ เคยจับกบขายได้ครั้งละกว่า 4 ตัน แต่การได้จำนวนมากมิใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะถ้านำไปขายที่ตลาดซึ่งมีคนรับซื้อเป็นแม่ค้ารายย่อยก็อาจถูกเกี่ยงราคา เพราะไม่สามารถรับไว้ขายได้จำนวนมาก แต่ถ้านำไปขายให้แก่คนรับซื้อแบบเหมาถึงจะได้ราคาดี

ดังนั้น ในช่วงหลังต้องปรับวิธีเลี้ยงโดยเปลี่ยนมาทยอยขายแบบเป็นรุ่นๆ แทน ซึ่งจะนำลูกกบขายก่อน จากนั้นเหลือเท่าไร ก็จะเลี้ยงแบบกบเนื้อขายต่อไป โดยส่งขายที่ตลาดให้กับแม่ค้า วันละประมาณ 40-50 กิโลกรัม กบมีน้ำหนักประมาณ 3-5 ตัว ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด โดยมีพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดมารับไปขาย หรือบางรายมาซื้อเพื่อนำไปขายส่ง

แผ่นยางสำหรับให้กบขึ้นมาอยู่ในกระชังน้ำ

ในรอบปี คุณชาญ เลี้ยงและขายกบได้ถึง 2 รุ่น โดยมีน้ำหนักรวมประมาณ 6 ตัน ทั้งนี้ราคาขายในช่วงปลายปีจนถึงต้นปีมักจะมีราคาสูงกว่าช่วงเวลาอื่น ราคาขึ้น-ลง ของกบ มักจะมีราคาลดในช่วงเข้าพรรษา เพราะช่วงนั้นมีจำนวนกบในตลาดมาก ตัดราคาขายแข่งกัน ถ้าคนเลี้ยงรายใดเห็นว่าราคาถูกมากเกินไป ก็ยังไม่ขาย แต่จะเลี้ยงต่อไปด้วยการรับภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ทั้งนี้ผู้เลี้ยงกบต้องรู้จักวิธีบริหารจัดการในฟาร์มให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการลงทุน ซึ่งอาจหาทางออกด้วยการจำกัดเวลาให้อาหารกบ หรือใช้อาหารที่มีราคาถูกเลี้ยงกบไปพลางก่อน

สำหรับศัตรูของการเลี้ยงกบในกระชังน้ำคือ นก กับ งู โดย คุณชาญ บอกว่า ใช้ตาข่ายปิดด้านบนกระชัง เพื่อป้องกันนกบินลงมากินกบ ส่วนด้านล่างจะต้องคอยสำรวจวัสดุที่ปิดกระชังอย่าให้เสียหายเป็นรูขนาดใหญ่ เพราะไม่เช่นนั้นงูสามารถเข้ามากินกบได้

คุณชาญ เผยถึงรายได้จากการเลี้ยงกบว่า โดยเฉลี่ยทั้งปีถือว่าดี แม้บางช่วงราคาลดลงแต่ก็ไม่ต่ำไปมาก เพราะการลงทุนเลี้ยงกบจะมีต้นทุนค่าวัสดุสูงในช่วงแรกเท่านั้น ต่อไปก็มีเพียงค่าอาหารและเบ็ดเตล็ด อีกทั้งระบบการเลี้ยงแบบกระชังน้ำถือว่าช่วยทำให้ราคากบสูงกว่าแนวทางอื่น เพราะกระชังน้ำเป็นวิธีเลี้ยงกบที่ไม่ได้พึ่งแต่อาหารเม็ดอย่างเดียว แต่คุณภาพน้ำและธาตุอาหารหลายอย่างมีส่วนสำคัญช่วยให้มีขนาดโตเร็ว ใช้เวลาน้อย เนื้อมาก เป็นที่ต้องการของตลาด

กบที่ต้องแยกมาเลี้ยงเพื่อให้แข็งแรง

แรกๆ คุณชาญ ตั้งใจจะเลี้ยงกบเป็นรายได้เสริม แต่ภายหลังที่เกิดความคุ้นเคยแล้วเรียนรู้ตลาดมากขึ้น จึงทำให้ความตั้งใจเปลี่ยนไป จนกลายเป็นรายได้หลักในที่สุด แล้วคุณชาญยังเสริมด้วยการเลี้ยงปลาแรดจำนวนกว่าหมื่นตัวในบ่อดิน เลี้ยงปลาหมอ จำนวนกว่า 5,000 ตัว แล้วใช้กบที่ตายมาเป็นอาหารปลาหมอ ซึ่งตลาดปลาหมอไม่ค่อยคึกคัก แต่ก็พอขายได้ พร้อมกับยังปลูกไผ่ตงลืมแล้ง จำนวนกว่า 100 กอ เพื่อไว้ขายหน่อ แล้วยังมีสะเดามัน และมะม่วง

สำหรับท่านที่สนใจต้องการเลี้ยงกบ อยากแนะนำว่า ควรเริ่มเลี้ยงสักจำนวน 1,000 ตัว แล้วใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาง่ายในท้องถิ่น อาจมีค่าใช้จ่ายรวมแล้วประมาณ 5,000-6,000 บาท ยังไม่จำเป็นต้องก่อสร้างอะไรมากมาย เมื่อเลี้ยงแล้วน่าจะขายกบได้ ประมาณ 100 กว่ากิโลกรัม โดยมีอัตราเสี่ยงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณต้องหาตลาดขายก่อนลงมือเลี้ยง ต้องเป็นตลาดที่รับซื้อแน่นอน แล้วอย่าเพิ่งลงทุนจนกว่าจะมีตลาดรับซื้อที่ชัดเจน

สอบถามรายละเอียด หรือสั่งซื้อกบได้ที่ฟาร์มกบ คุณวิชาญ ว่องกสิกรณ์ หรือ คุณชาญ โทรศัพท์ (081) 534-5985

ป้ายหน้าฟาร์ม
ประชากรกบในกระชังอยู่แบบไม่แออัดช่วยให้เจริญเติบโตเต็มที่สุขภาพแข็งแรง