อดีตเกษตรกรไร่อ้อย ทดลองเลี้ยง “กุ้งก้ามกราม” จนสำเร็จ ชี้ เลี้ยงง่าย ไม่ต้องใช้น้ำเค็ม

คุณอรอนงค์ ธนพันธุ์ภูวเดช

คุณอรอนงค์ ธนพันธุ์ภูวเดช อยู่บ้านเลขที่ 87 หมู่ที่ 13 ตำบลรางหวาย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี อีกหนึ่งเกษตรกรผู้ที่เคยปลูกพืชไร่ ผันชีวิตมาเลี้ยงกุ้งก้ามกราม จนเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เธอได้เป็นอย่างดี

ช่วงประมาณ ปี 2541 คุณอรอนงค์ บอกว่า ทดลองเลี้ยงประมาณ 2 บ่อ นับว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจสำหรับเธอ

“ปรากฏว่าดีมากในช่วงแรกที่ทำ ราคาก็ได้ดีด้วย กุ้งประมาณ 20 ตัว ต่อกิโลกรัม ได้ราคาประมาณ 180-200 บาท พอเรามาเปรียบเทียบดูระหว่างทำไร่อ้อยกับเลี้ยงกุ้ง กุ้งนี้น่าจะดีกว่ามาก แถมช่วงนั้นไม่ค่อยมีปัญหาเลย เลี้ยงง่าย กุ้งแข็งแรงดี เป็นอาชีพที่ดีมาก” คุณอรอนงค์ กล่าวถึงความสำเร็จที่ผ่านมาของเธอ

คุณอรอนงค์ บอกว่า ในช่วงที่ทำบ่อเลี้ยงใหม่ๆ มีพื้นที่เท่าไหร่ก็จะขุดบ่อทั้งหมด แต่ขนาดที่เหมาะสำหรับเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ขนาดบ่อประมาณ 4 ไร่

“เราต้องเอาที่ดินเราเป็นเกณฑ์ ว่าที่ดินเรามีกี่ไร่ แต่ถ้าจะดีสำหรับเลี้ยงกุ้ง ต้องประมาณ 4-5 ไร่ ความลึกประมาณ 1.50 เมตร ซึ่งบ่อใหม่ไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะว่ามันยังสะอาดอยู่ ไม่มีเรื่องโรคมากนัก แต่ถ้าพื้นที่ที่ผ่านการเลี้ยงมาแล้ว ก็มีการเตรียมบ่อโดยโรยปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อ” คุณอรอนงค์ อธิบายการเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยง

คุณอรอนงค์ บอกว่า น้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งเป็นน้ำที่ได้จากคลองชลประทาน ค่อนข้างมีความสะอาด ทำให้เธอไม่ต้องกังวลกับเรื่องน้ำ จากนั้นจึงไปหาซื้อลูกกุ้งก้ามกรามจากฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐาน จีเอพี (GAP) มาปล่อยเลี้ยง ซึ่งการซื้อลูกกุ้งอยู่ที่ความพอใจของผู้เลี้ยงว่า ต้องการซื้อจากฟาร์มไหน ซึ่งปัจจุบันไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เพราะทุกฟาร์มมีมาตรฐานเดียวกันที่เชื่อถือได้

กุ้งที่ผ่านการอนุบาล

การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามของคุณอรอนงค์จะมีการเลี้ยง 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกเธอจะนำลูกกุ้งก้ามกรามมาอนุบาลเสียก่อน และขั้นตอนที่สองจึงจะนำกุ้งที่ผ่านการอนุบาลมาปล่อยเลี้ยงอีกบ่อ จนได้ขนาดไซซ์ที่จำหน่ายได้

“เราจะอนุบาลก่อน พอเสร็จแล้วค่อยย้ายบ่อ ขึ้นอยู่ที่ผู้เลี้ยงว่าจะปล่อยแน่นหรือว่าไม่แน่นมากนัก ปล่อยได้ตั้งแต่ 20,000-40,000 ตัว เลี้ยงในช่วงอนุบาลนี้ประมาณ 2 เดือน ถึง 2 เดือนครึ่ง ก็ค่อยย้ายไปเลี้ยงอีกที่หนึ่ง สมมุติให้เห็นภาพคือ เตรียมบ่อสำหรับอนุบาลไว้ 1 บ่อ บ่อสำหรับเลี้ยง 3 บ่อ ก็จะเลี้ยงได้เรื่อยๆ สลับกัน” คุณอรอนงค์ อธิบาย

การอนุบาลลูกกุ้งก้ามกราม คุณอรอนงค์ บอกว่า ทำด้วยวิธีนี้ถือว่าไม่เสียเวลา กุ้งก้ามกรามเจริญเติบโตขนาดไซซ์เท่ากันไม่มีปัญหาเรื่องแตกไซซ์ ทำให้เวลาที่จับจำหน่ายสามารถจับหมดบ่อได้เลย

การจับกุ้ง

ลูกกุ้งก้ามกรามที่นำมาอนุบาลจะให้กินอาหารที่มีโปรตีน 35 เปอร์เซ็นต์ 2 มื้อ ต่อวัน เช้าและเย็น จนได้อายุประมาณ 2 เดือนครึ่ง จึงย้ายไปเลี้ยงในบ่อสำหรับเลี้ยงอีกครั้งหนึ่ง ปล่อยเลี้ยงประมาณ 24,000 ตัว ต่อบ่อ 4 ไร่ อาหารที่ให้ในระยะนี้เป็นอาหารที่มีโปรตีน 35 เปอร์เซ็นต์ เหมือนเดิม ใช้เวลาเลี้ยงอีก ประมาณ 2 เดือน กุ้งก้ามกรามจะมีขนาดไซซ์ใหญ่พร้อมจำหน่ายได้

การดูแลและป้องกันโรค คุณอรอนงค์ บอกว่า การเลี้ยงด้วยวิธีนี้ยังไม่พบปัญหามากนักสำหรับเธอ ส่วนการใช้เครื่องตีน้ำหากเลี้ยงแบบจำนวนไม่หนาแน่นมากนัก ไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ถ้าปล่อยกุ้งก้ามกรามจำนวนมากจะเปิดใช้งานเครื่องตีน้ำ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น ครั้งละ 2 ชั่วโมง

“เรื่องโรคและสาเหตุการเกิดโรคไม่มี ถ้าเราเลี้ยงแบบนี้นะ เพราะว่าบ่อมันก็สะอาด เราจัดการดีทุกครั้ง อีกอย่างที่ต้องระวังคือ เรื่องอาหาร อย่าให้กุ้งกินเยอะเกิน เพราะถ้าอาหารมากเกิน มันจะกลายเป็นของเสียที่บ่อ เราควรให้พอเหมาะ” คุณอรอนงค์ กล่าว

คุณอรอนงค์ บอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้เปลี่ยนจากไร่อ้อยมาเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการอยู่ตลอดเวลา

กุ้งไซซ์ขนาดที่ตลาดต้องการ

“กุ้งนี่เป็นอะไรที่ดีมาก เพราะว่าจำหน่ายง่ายมาก มันเหมือนเรามีเงินสดอยู่ในบ่อตลอด อย่างสมมุติเราไม่เลี้ยงให้ตัวใหญ่ เราก็เอาลูกกุ้งที่อนุบาลมาจำหน่ายได้ ซึ่งราคาก็ไม่แย่นะ กิโลกรัมละ 200 กว่าบาท ซึ่งไซซ์นี้เราจำหน่ายให้กับคนที่ต้องการซื้อเอาไปเลี้ยงต่อ เพื่อเป็นกุ้งตัวใหญ่ บางคนเขาไม่ชอบเลี้ยงแบบตัวเล็กๆ ถึงได้บอกว่าเลี้ยงกุ้งนี่เหมือนเรามีเงินอยู่ในบ่อเราตลอด” คุณอรอนงค์ กล่าว

กุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงจนได้ไซซ์ขนาดประมาณ 10-12 ตัว ต่อกิโลกรัม เป็นเพศผู้ ราคาจำหน่ายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 300-400 บาท ส่วนกุ้งก้ามกรามเพศเมีย ที่มีไข่ติดท้อง ราคาจำหน่ายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 200-300 บาท

“ส่วนมากเราจะจำหน่ายที่ปากบ่อเลย ไม่ต้องไปส่งที่ไหน หรือบางทีเราก็ไปส่งแถวตลาดมหาชัย ราคาก็จะขึ้นไปกว่านี้อีกนิดหน่อย อีกอย่างคิดว่าการเลี้ยงกุ้งนี่ดีมาก เราได้เงินทุกเดือน เพราะเราสามารถจับสลับบ่อได้ ถ้าจำนวนบ่อเรามีเยอะ มันก็หมุนเวียนได้ตลอด ซึ่งอย่างไร่อ้อยนี่เราจำหน่ายได้แค่ปีละครั้ง มันนานกว่ากุ้งอีก” คุณอรอนงค์ กล่าวถึงข้อดีของการเลี้ยงกุ้ง

เมื่อเอ่ยถามคุณอรอนงค์ว่าตั้งแต่เลี้ยงกุ้งจากอดีตจนถึงปัจจุบัน คิดว่ากุ้งยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับคนที่มองหาเพื่อเป็นอาชีพสร้างรายได้หรือไม่

“ในด้านการทำเป็นอาชีพ กุ้งนี้ต้องบอกเลยว่าสามารถเลี้ยงเป็นอาชีพหลักได้นะ แต่ก่อนที่จะมาเลี้ยงอยากให้คนที่สนใจถามตัวเองก่อนว่า เขาเลี้ยงกันแบบนี้ เราสามารถทำได้ไหมถ้ามาเลี้ยงเอง คือถ้าเราอยากได้เงินแบบเห็นผล กุ้งนี้ก็น่าจะเป็นคำตอบ เพราะว่าก็ไม่ได้เลี้ยงยากอะไร ขอให้มีที่สำหรับเลี้ยงติดคลอง ติดแหล่งน้ำชลประทาน สถานที่เหมาะสม แหล่งน้ำสะดวก การเลี้ยงนี่ก็ถือว่ายั่งยืน”

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากศึกษาการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณอรอนงค์ ธนพันธุ์ภูวเดช หมายเลขโทรศัพท์ (085) 246-5254