จากวัฒนธรรมแลกเปลี่ยน มาเป็นอาชีพทำเงิน การปั้นโอ่งดิน ที่บ้านเชียงเครือ

ภาชนะที่ปั้นเสร็จแล้ว รอแห้ง

จากวิถีชีวิตของเด็กบ้านนอกคอกนา ฐานะยากจน แต่เติบใหญ่เป็นนายคน เข้ารับราชการครูด้วยวัยเพียง 48 ปี และใช้เวลาในการต่อสู้บนเส้นทางสายข้าราชการ แต่ฐานะไม่ดีขึ้น จึงหันมายึดอาชีพที่รับการถ่ายทอด “ปั้นดิน” มาเป็นเงิน จากพ่อแม่ จนผงาดขึ้นมาอยู่แถวหน้าของผู้ค้าขายเครื่องปั้นดินเผา ในระดับจังหวัด ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ภายใต้ชื่อ “เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงเครือ”

คุณบุญเรื่อง พรหมพันธุ์ อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 9 หมู่ที่ 14 บ้านเชียงเครือ ต.เชียงเครือ อ.เมือง จ.สกลนคร เจ้าของและผู้จำหน่ายเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงเครือ เล่าว่า เป็นคนบ้านเชียงเครือโดยกำเนิด และมีอาชีพทำการเกษตร ทำนา ทำสวน มีอาชีพเสริมคือ การปั้นโอ่งน้ำ และเครื่องปั้นดินเผา

คุณบุญเรื่อง เล่าอีกว่า แต่เดิมที่บ้านมีฐานะยากจน เป็นบ้านนอก ห่างไกลความเจริญ พ่อแม่ทำนา และอาศัยความรักเรียน จึงพยายามเรียนจนจบวิทยาลัยครูสกลนคร ในสมัยนั้นสอบบรรจุเข้ารับราชการครู ที่อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ที่บ้าน นอกจากจะทำนาแล้วยังปั้นตุ่มหรือโอ่งน้ำ เพื่อนำไปแลก หรือขาย โดยเมื่อเสร็จจากหน้าทำนา จะมาช่วยพ่อแม่ จนสามารถเรียนรู้ และปั้นได้ทุกอย่างตามที่ลูกค้าสั่ง

ที่ขึ้นรูปดิน

“ในช่วงแรกตอนเด็กๆ ไม่คิดอะไรมาก เพราะเห็นว่า มีการปั้นเพื่อนำมาใช้ในครัวเรือนเมื่อทำมาก ก็นำไปแลกเปลี่ยน โดยแลกข้าว อาหาร เสื้อผ้า และต่อมานำมาจำหน่าย ตลอดจนในหมู่บ้านก็มีการปั้นโอ่ง และเครื่องใช้จากดิน เกือบทุกครัวเรือน ต่อมาเมื่อสังคมเมืองรุกเข้ามามากขึ้นก็เลิกไปหลายราย เนื่องจากขายที่ดิน ที่นา เพราะมีราคาแพง บางรายก็ยังเหนียวแน่น ยึดเป็นอาชีพเรื่อยมา รวมทั้งผมด้วย”

ในส่วนของดินหรือวัตถุดิบ ที่นำมาปั้นเครื่องใช้นั้น ก็เป็นดินที่นำมาจากหนองหาร ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านไม่ถึงกิโลเมตร เป็นดินที่มีคุณภาพ สามารถนำไปปั้นโอ่งได้ดี แต่เดิมเมื่อสังคมการซื้อขายยังไม่รุกเข้ามา มีเพียงการแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน แต่ปัจจุบันดินต้องมีการซื้อ และกลายเป็นธุรกิจทั้งหมด โดยเฉพาะในปัจจุบันหมู่บ้านเชียงเครือ ส่วนหนึ่งมีการพัฒนาจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มาเป็น เทศบาลตำบล (ทต,) ยิ่งมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร มาตั้ง ยิ่งเพิ่มมูลค่าในเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น

การหมักดินเหนียว

อดีตครูประชาบาล เล่าอีกว่า หลังจากที่สอบบรรจุครูได้ ก็ยังทำงาน และปั้นดินเช่นเดิม เพราะฐานะทางบ้านยากจน จนกระทั่งแต่งงานกับ คุณวราภรณ์ จึงคิดสืบสานทำงานปั้นดิน ปั้นโอ่งน้ำ ให้ได้เงิน เพราะต่อมา มีการมาสั่งปั้นกระถางดอกไม้ เครื่องใช้ เครื่องประดับมากขึ้น จึงพัฒนาไปเรื่อยๆ และขยายพื้นที่ในบ้านให้เป็นเตาเผา และโรงงานปั้นใหญ่ขึ้น ทำให้มีลูกค้าสั่งเข้ามามากมาย จากที่ขายได้วันละไม่กี่ร้อยบาท เพิ่มขึ้นเป็นหลักพันบาท และไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า จึงต้องขยายหน้าบ้าน นำสินค้าและผลิตภัณฑ์ออกมาวางจำหน่ายบริเวณหน้าบ้าน พร้อมทั้งรับซื้อจากเพื่อนบ้านที่ไม่มีหน้าร้าน นำมาฝากขาย โดยจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม ทั้งปลีกและส่ง

เมื่อเห็นว่ารับราชการได้เวลาระยะพอสมควร รู้รสชาติของ คำว่า “มนุษย์เงินเดือน” แล้ว ในที่สุดจึงตัดสินใจลาออกจากข้าราชการครู หันมาทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง ตั้งแต่ ปี 2543 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน มีโรงปั้นเป็นของตนเอง ตลอดจนรับช่างปั้นดินในท้องถิ่นหมู่บ้านเข้ามาทำงาน 3 คน และทั่วไปอีก 3 คน ซึ่งค่าแรงสำหรับคนปั้นนั้น จะจ้างงานเป็นชิ้น ชิ้นละ 15-20 บาท

“ลูกๆ สองคนเรียนจบ มีงานทำ และช่วยกิจการ ไปได้ดี วันนี้จึงบอกได้ว่า ไม่ถึงกับรวยแต่อยู่ได้อย่างไม่ลำบาก ความสำเร็จในสิ่งนี้ อยู่ที่ความพยายาม อดทน ทำจริง แม้ใครจะมองว่าเป็นงานที่ต่ำเพราะทำกับดิน แต่หากทำจริง อดทน ขยัน ประหยัด ก็สามารถลืมตาอ้าปากได้ อย่างสบาย ขอเพียงที่ทำจริงหรือไม่เท่านั้น”

คุณบุญเรื่อง บอกว่า แหล่งดิน (Clay source) มีความสำคัญต่อการผลิตเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูงมาก หากคัดดินทั่วๆ ไป ที่มีคุณภาพไม่เหมาะสมมาผลิต จะทำให้เกิดปัญหา เช่น ปั้นขึ้นรูปได้ยาก เกิดการแตกร้าว ไม่คงทนเมื่อเผาเสร็จ และจากการทดลองผนวกกับประสบการณ์ของช่างทำเตาตั้งแต่อดีต พบว่า ดินเหนียวที่เกิดจากการตะกอนในที่ราบต่ำ หรือตามลำน้ำเป็นวัตถุดิบที่ดีมาก สำหรับการปั้น ส่วนดินเหนียวที่ขุดจากท้องนา (ควรขุดลึกกว่า 0.5 เมตร ลงไป) ก็สามารถใช้ได้ดี

ดินเหนียว จะมีสีแตกต่างกัน เช่น สีเทาอ่อน สีเทาแก่ น้ำตาลเข้ม แล้วแต่แหล่งที่มา

แต่เมื่อเผาแล้ว ส่วนมากจะมีสีเหลืองหม่น หรือสีเทา มักนำดินเหนียวมาผสมกับขี้เถ้าแกลบดำ

หรือดินเชื้อเพื่อให้เกิดความเหนียว ปั้นขึ้นรูปได้ง่ายและแข็งแรง เมื่อเผาแล้ว

ดินเหนียวโดยทั่วไป นิยมใช้ดินเหนียวสีเทาเข้มในการปั้นเครื่องใช้ เนื้อดินควรมีส่วนประกอบของอะลูมินาและเหล็กออกไซด์สูง เพื่อให้หลอมละลายได้ที่อุณหภูมิไม่สูงนัก และควรมีซิลิกาเป็นส่วนประกอบด้วย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงแก่ชิ้นงานหลังการเผา นอกจากนั้น ในดินเหนียวยังประกอบด้วยสารอินทรีย์ต่างๆ ทำให้เกิดรูพรุนในเนื้อเตา เพิ่มความเป็นฉนวน อย่างไรก็ตาม ส่วนประกอบต่างๆ ควรอยู่ในอัตราส่วนที่เหมาะสม ขนาดของเม็ดดินเหนียวก็ควรจะมีขนาดที่พอเหมาะ หากมีเม็ดขนาดใหญ่เป็นส่วนมาก โอกาสเกิดการแตกร้าวได้ง่าย ดังนั้น ดินเหนียวที่มาจากแหล่งที่แตกต่างกัน ก็อาจจะต้องมีการเตรียมดินที่แตกต่างกันไปด้วย

ขั้นตอน วิธีการ และการเตรียมดิน

การหมักดินเหนียว ดินเหนียวที่จะนำมาใช้ต้องสะอาด ไม่มีเศษไม้ เศษหิน มีแต่ดินเหนียวล้วนๆ ถ้าเป็นก้อนใหญ่ ควรทุบให้ย่อยเป็นก้อนเล็กๆ ก่อนหมักควรตากไว้ให้แห้ง อย่างน้อย 1 วัน แล้วนำลงบ่อหมัก แช่ไว้ในน้ำ นานประมาณ 12-24 ชั่วโมง จนดินอิ่มน้ำอย่างทั่วถึง แล้วนำมาเตรียมไว้ผสม

ภาชนะที่ปั้นเสร็จแล้ว รอแห้ง

การนวดและผสมดิน นำดินที่หมักแล้ว มานวดผสมกับแกลบดำ นวดจนเข้ากัน (ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องนวดดิน เพื่อความสะดวกและการผสมที่ดีกว่า) โดยทั่วไปจะใช้ดินเหนียว 2 ส่วน ต่อขี้เถ้าแกลบดำ 1 ส่วน ซึ่งอัตราส่วนผสมนี้ ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของดินแต่ละแห่งด้วย ขณะนวดผสมดินจะพรมน้ำตามไปด้วย เพื่อให้นวดได้ง่ายขึ้น ส่วนผสมที่เข้ากันดีแล้ว ให้นำมากองเก็บไว้ อาจจะแบ่งเป็นก้อนๆ ขนาดพอเหมาะที่จะทำเตา หรือแบ่งทีหลังก็ได้ แล้วปิดด้วยพลาสติก หากยังไม่ใช้ทันที เพื่อไม่ให้ดินผสมแห้งเกินไป

การปั้นขึ้นรูป และปรับแต่งเครื่องใช้ นำดินที่หมักแล้วใส่ลงในแม่พิมพ์ภายนอกซึ่งวางอยู่บนแท่น แล้วใช้มือตบปั้นขึ้นรูปเป็นทรงของตามต้องการ โดยให้มีความหนาและขนาดภายในเป็นไปตามกำหนด แล้วตกแต่งผิวด้านในให้เรียบร้อย เมื่อได้ที่แล้ว นำไปตากแดด ผึ่งลมให้แห้งหมาดๆ ประมาณ 2-3 วัน แล้วนำมาตรวจสอบตกแต่ง แล้วนำไปตากแดด ผึ่งลม จนแห้งสนิท ใช้เวลาประมาณ 2- 4 วัน จะได้เครื่องใช้ที่พร้อมจะนำไปเผาและจำหน่าย

นักปั้นดินจากเมืองสกลนคร บอกถึงเทคนิคของการผสมดินว่า อยู่ที่การผสมแกลบดำกับดินในช่วงของการนวด หากอยู่ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม จะทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่คงทน แตกร้าวง่าย ที่นี่จึงกล้ารับประกันคุณภาพให้ แต่ผลิตภัณฑ์สินค้าบางชนิด ไม่ต้องผสมแกลบก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และความชำนาญตลอดจนการสังเกตเข้ามาช่วยในส่วนนี้ด้วย

คุณบุญเรื่อง กล่าวว่า โดยสรุป คือ การปั้นดินนั้นไม่ยาก แต่ต้องมีความรักและเข้าใจ ซึ่งจริงแล้วการปั้นดินเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่ถ่ายทอดออกมา เหมือนกับช่างทำพระหล่อ พระ บางองค์แม้จะทำออกมาให้ชัดเจน แต่ก็ยังบ่งบอกถึงอารมณ์และความรู้สึกของช่างแฝงในศิลปะนั้นด้วยเช่นกัน

สำหรับที่โรงงานแห่งนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงาน ของกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา อาชีพต่างๆ สามารถเดินทางมาศึกษาดูงานได้ หรืออยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม ตลอดจนอยากนำสินค้าไปจำหน่ายติดต่อ สอบถามได้ที่ คุณบุญเรื่อง พรหมพันธุ์ โทร.042-754011 หรือ 087-8550851 ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด