ที่มา | เทคโนฯ ประมง |
---|---|
ผู้เขียน | ทวีลาภ การะเกด |
เผยแพร่ |
“ปลาหมอ” เป็นปลาน้ำจืดพื้นบ้าน ที่ชาวไทยนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายในทุกระดับสังคมและทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ อีกทั้งยังเป็นปลาที่มีความทนทานสูง เพราะมีอวัยวะพิเศษที่ช่วยในการหายใจ จึงสามารถอาศัยอยู่ได้ในบริเวณที่มีน้ำน้อย หรือพื้นที่ชุ่มชื้นเป็นเวลานานๆ จึงง่ายต่อการขนส่งในระยะไกลๆ และจำหน่ายในรูปปลาสดมีชีวิตได้ ทั้งในตลาดภายในและต่างประเทศ
ในอดีตที่ผ่านมา ผลผลิตปลาหมอจัดอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับผลผลิตสัตว์น้ำจืดของประเทศ ซึ่งผลผลิตปลาหมอรองลงมาจากปลาช่อน ปลาดุก และปลาสวาย แต่ปัจจุบันผลผลิตปลาหมอเริ่มลดลง จากข้อมูลของกรมประมง เมื่อปี 2551 มีผลผลิตปลาหมอทั้งประเทศเพียง 12,900 ตัน ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 535.6 ล้านบาท โดยบริโภคในรูปปลาสด 69.92 เปอร์เซ็นต์ ปลาร้า 22.86 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 7.22 เปอร์เซ็นต์ ทำเป็นปลาเค็มตากแห้ง รมควัน และอื่นๆ ที่สำคัญคือ ปลาหมอในปัจจุบันมีขนาดเล็กกว่าในอดีตมาก
ปัจจุบัน มีผู้สนใจเลี้ยงปลาหมอกันเป็นจำนวนมาก เพราะสามารถเลี้ยงและเจริญเติบโตในอัตราความหนาแน่นสูง ทนทานต่อสภาวะที่คุณสมบัติของดินและน้ำที่แปรปรวน ซึ่งนิยมเลี้ยงในรูปแบบต่างๆ ทั้งบ่อดิน บ่อคอนกรีต กระชัง หรือตามร่องสวน ทั้งเลี้ยงชนิดเดียวและเลี้ยงผสมกับปลาชนิดอื่น
ในภาคใต้นิยมเลี้ยงปลาหมอกันมากในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และตรัง แต่จากการสำรวจพบว่า สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตปลาหมอลดลงเกิดจากการขาดแหล่งพันธุ์ที่มีคุณภาพ การใช้ปลาขนาดเล็กเป็นพ่อแม่พันธุ์ สามารถจัดหาง่าย ราคาถูก และผลิตลูกพันธุ์ปลาได้เป็นจำนวนมาก
แต่ในระยะยาวผู้เลี้ยงจะประสบปัญหาด้านอัตราการเจริญเติบโตของปลา เพราะปลาจะโตช้า และใช้เวลาเลี้ยงนาน อีกทั้งสัดส่วนของปลาที่มีขนาดเล็กในแต่ละรุ่นจะมีสูงขึ้น เกษตรกรก็จะจำหน่ายปลาหมอได้ในราคาต่ำ ขณะที่มีต้นทุนสูงจึงเสี่ยงต่อการขาดทุน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากการขาดประสิทธิภาพในการปรับปรุงพันธุ์และการบริหารจัดการ อีกทั้งอัตราการเจริญเติบโตของปลาหมอเพศเมียยังสูงกว่าปลาหมอเพศผู้เกือบเท่าตัว
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมกิจกรรมด้านการเกษตรของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านควนสามัคคี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร และได้พระราชทานคำแนะนำให้
ลองหาสัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยที่สามารถนำมาเลี้ยงในสภาพหนาแน่นและเป็นอาหารกลางวันแก่เด็กๆ ได้ ซึ่งขณะนั้น ศพก. ชุมพร กำลังวิจัยเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลาหมอ จึงเริ่มกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ปลาหมอโดยการรวบรวมพันธุ์ปลาหมอจากแหล่งต่างๆ ทุกภาคของประเทศ มาทดลองเพาะเลี้ยงที่ ศพก. ชุมพร เพื่อหาแหล่งพันธุ์ที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด สำหรับใช้เป็นพันธุ์พื้นฐานในการเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงพันธุ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ (ศพก.) ชุมพร ได้คัดเลือก 4 รุ่น จึงนำพันธุ์ปลาหมอที่ผ่านการคัดเลือกไปทดลองเลี้ยงเปรียบเทียบกับพันธุ์ดั้งเดิม โดยทดลองทั้งในบ่อของศูนย์ และในกระชังของเกษตรกร ผลปรากฏว่า ปลาหมอที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์มีอัตราการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เดิม
โครงการพระราชดำริ กรมประมง จึงร่วมกับ ศพก. ชุมพร จัดโครงการนำร่องเลี้ยงปลาหมอปรับปรุงพันธุ์ในกระชังร่วมกับปลาชนิดอื่น ซึ่งมีทั้งปลาที่ใช้เวลาเลี้ยงสั้นคือ ปลาหมอ (3-4 เดือน) ใช้เวลาเลี้ยงปานกลางคือ ปลานิล (5-6 เดือน) และใช้เวลาเลี้ยงนานคือ ปลาสวาย (1-2 ปี) โดยดำเนินการที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านน้ำฉา อำเภอละแม จังหวัดชุมพร ทำให้นักเรียนมีอาหารกลางวันประเภทโปรตีนจากสัตว์น้ำเกือบตลอดทั้งปี ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมกิจกรรมดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553 พร้อมกับทรงมีรับสั่งว่า น่าจะนำโครงการดังกล่าวไปขยายผลตามโรงเรียนในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เจ้าหน้าที่จะได้ไม่ต้องเข้าไปในพื้นที่บ่อยๆ
หลังทดสอบจนเป็นที่มั่นใจแล้วว่า ปลาหมอที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์มีอัตราการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เดิม ศพก. ชุมพร จึงเสนอกรมประมง เพื่อขอตั้งชื่อสายพันธุ์ปลาหมอดังกล่าว ซึ่งกรมประมงได้อนุมัติให้ใช้ชื่อสายพันธุ์ว่า “ชุมพร ๑” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2554
เกษตรกรท่านใดที่สนใจเลี้ยงปลาหมอสายพันธุ์ “ชุมพร ๑” สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร 12/35 หมู่ที่ 8 ตำบลทุ่งคา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 86100 โทรศัพท์ 077-505-318 ในวันและเวลาราชการ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2564