ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปลาคาร์พ หรือ แฟนซีคาร์พ (Fancy carp) ในเรื่องของการตลาดยังถือว่าได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เพราะผู้เลี้ยงบางท่านคิดว่านอกจากเป็นสัตว์น้ำสวยงามแล้ว ยังเชื่อกันว่าปลาคาร์พเป็นปลาแห่งโชคลาภ ทำให้ผู้เลี้ยงเจริญก้าวหน้าในธุรกิจ จึงเป็นปลาที่เลี้ยงเสริมฮวงจุ้ยต่างๆ ในบ่อน้ำอย่างแพร่หลายทีเดียว
ซึ่งผู้เลี้ยงบางรายจากที่เลี้ยงเพื่อความสวยงาม แต่เมื่อมองถึงทิศทางการตลาด จึงนำมาพัฒนา ต่อ ยอดสร้างเป็นธุรกิจทำรายได้จนสามารถจับเป็นอาชีพได้ เหมือนเช่น คุณณัฐเศรษฐ ศรีทองอินทร์ อยู่บ้าน เลขที่ 83/1 หมู่ที่ 14 ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผู้ที่เลี้ยงปลาคาร์พเพราะชื่นชอบในความสวยงาม จึงนำมาเลี้ยงแบบดูเล่น แต่เมื่อศึกษาอย่างจริงจังยิ่งเกิดความหลงใหล ทำให้ได้เรียนรู้การเพาะพันธุ์ไปจนถึงเลี้ยงให้มีขนาดไซซ์ใหญ่ จนสามารถเป็นอาชีพทำรายได้ให้กับเขาเป็นอย่างดีทีเดียว
เริ่มเลี้ยงปลาคาร์พ ครั้งแรกเพียง 2 ตัว
คุณณัฐเศรษฐ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนนั้นยังไม่ได้ยึดอาชีพทางด้านการประมงเหมือนเช่นทุกวันนี้ ทำอาชีพค้าขายจำพวกเสื้อผ้า เป็นแบบขายส่ง ซึ่งในขณะนั้นมีความสนใจในเรื่องของการเลี้ยงปลาคาร์พ จึงได้นำมาเลี้ยงแบบสวยงามเพื่อไว้ดูเล่น ระยะเวลาต่อมารู้สึกชื่นชอบและหลงใหลปลาชนิดนี้มากขึ้น ทำให้มีโอกาสศึกษาและเรียนรู้ถึงสายพันธุ์ต่างๆ ตลอดไปจนถึงนิสัยของปลาคาร์พ เมื่อมองเห็นถึงช่องทางการทำตลาด จึงตัดสินใจมาประกอบเป็นอาชีพในเวลาต่อมา
“ช่วงนั้นเห็นเพื่อนเลี้ยง เราเองอยากเลี้ยงบ้าง เลยหามาเลี้ยงที่บ้าน เห็นทุกวัน เริ่มชอบมากๆ เลยหาซื้อเข้ามาเลี้ยงเรื่อยๆ โดยช่วงที่เลี้ยงเหมือนปลาเกิดอาการป่วย จึงเป็นโอกาสให้เราได้ศึกษาถึงอาการป่วย เหมือนหาความรู้เพิ่มเติมพอยิ่งศึกษาเหมือนเราก็เข้าใจนิสัยปลามากขึ้น ว่าอาการต่างๆ และนิสัยปลาชนิดนี้เป็นยังไง ทีนี้พอรู้เรื่องการเลี้ยงแบบละเอียด ผมก็ศึกษาลงลึกไปถึงเรื่องของสายพันธุ์ ว่าปลาชนิดนี้มีสายพันธุ์อะไรบ้าง เลี้ยงไปเลี้ยงมาปลามีมากขึ้นเรื่อยๆ เลยลองโพสต์ขายทางอินเตอร์เน็ตดู ปรากฏว่าขายได้ ทำให้มองว่าน่าจะเป็นอาชีพที่เกิดรายได้ จึงได้จับทางและยึดการขายปลาคาร์พเป็นอาชีพ” คุณณัฐเศรษฐ เล่าถึงที่มา
ในช่วงแรกจะเน้นซื้อปลาจากแหล่งที่เลี้ยง มาโพสต์ขายอีกทอดหนึ่ง โดยที่ยังไม่ได้เพาะพันธุ์เอง เมื่อเห็นว่าตลาดค่อนข้างไปได้ดี จึงเกิดแนวความคิดที่อยากจะเป็นผู้ผลิต คือส่งปลาคาร์พขายให้กับพ่อค้าแม่ค้า โดยทำเป็นแบบครบวงจร ตั้งแต่การเพาะพันธุ์ไปจนถึงการเลี้ยงให้ได้ปลาขนาดใหญ่ โดยดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังในช่วงปี 2556
เลี้ยงปลาคาร์พแบบเน้นคุณภาพ
ใช้เวลาประมาณ 5 เดือน
ในเรื่องของการสร้างปลาให้มีคุณภาพก่อนที่จะส่งขายนั้น คุณณัฐเศรษฐ เลือกใช้พ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป โดยพ่อแม่พันธุ์อาจซื้อเข้ามาเพาะพันธุ์ในระยะสั้นๆ จากนั้นก็ขายต่อไปยังแหล่งอื่น เพื่อนำเงินไปซื้อในชุดใหม่เข้ามา ซึ่งบ่อที่เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เป็นบ่อปูน ขนาด 4×6 เมตร ความลึก 2 เมตร เลี้ยงแบบแยกเพศ บ่อละ 4-6 ตัว ต่อบ่อ เมื่อเลี้ยงจนเห็นว่าพร้อมที่จะผสมพันธุ์จะฉีดฮอร์โมนและผสมพันธุ์ด้วยวิธีผสมเทียมทันที
“พอเราเห็นว่าปลาพร้อม ก่อนที่จะได้ไข่ของแม่พันธุ์ออกมา เราจะฉีดฮอร์โมนเข้าไปก่อน เพื่อให้ตัวเมียมีไข่พร้อมกันทุกตัว หลังจากนั้น 8-12 ชั่วโมง จะเตรียมแม่พันธุ์ให้พร้อมด้วยการวางยาสลบก่อนรีดไข่ พอได้ไข่มาแล้วจะนำตัวพ่อพันธุ์มารีดน้ำเชื้อผสมกับไข่ เมื่อผสมน้ำเชื้อให้เข้ากันกับไข่เสร็จแล้ว นำไข่ทั้งหมดไปใส่ลงในตาข่ายในบ่อฟัก ขนาด 2×2 เมตร ปล่อยทิ้งไว้ 36-48 ชั่วโมง ไข่จะเริ่มฟักออกมาเป็นตัว เลี้ยงอยู่ในบ่อแบบนั้น 5-6 วัน จากนั้นย้ายลูกปลาคาร์พที่ฟักออกมาทั้งหมดย้ายลงในบ่อดินเพื่ออนุบาลต่อไป” คุณณัฐเศรษฐ บอก
บ่อดินที่ใช้อนุบาลลูกปลาคาร์พเตรียมให้มีความพร้อมในเรื่องของความสะอาด โดยก่อนที่จะนำลูกปลาลงมาใส่เลี้ยงจะโรยปูนขาวทั่วบ่อ พร้อมทั้งเตรียมน้ำใส่ภายในบ่อให้มีสภาพที่พร้อมเลี้ยง ซึ่งบ่ออนุบาลมีขนาด 1 ไร่ ปล่อยลูกปลาอยู่ที่ 500,000 ตัว ต่อบ่อ
ในช่วงแรกให้ลูกปลากินไรแดงทุก 3 วันครั้ง เป็นเวลา 10 วัน เมื่อครบกำหนดจะเปลี่ยนอาหารเป็นสูตรสำหรับเลี้ยงกุ้งเล็ก โปรตีนอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ ให้กินวันละ 2 มื้อ คือเช้าและเย็น เมื่ออนุบาลจนครบอายุ 1 เดือน ลูกปลาจะได้ขนาดไซซ์ 2-3 เซนติเมตร นำลูกปลาทั้งหมดมาคัดดูความสมบูรณ์และความสวยงามของลายในตัวปลา ซึ่งระยะนี้ปลาที่เหลือภายในบ่อทั้งหมดจะมีชีวิตรอดอยู่ที่ 250,000 ตัว เมื่อได้ปลาที่คัดขนาดและความสวยงามเรียบร้อยแล้ว จะนำไปเลี้ยงต่ออีก 20 วัน ปล่อยเลี้ยงอยู่ที่ 20,000 ตัว ต่อบ่อ ลูกปลาจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น อยู่ที่ 4-5 เซนติเมตร จึงนำมาคัดไซซ์และรูปทรงครั้งที่สองอีกครั้ง เพื่อนำปลาเหล่านี้ไปเลี้ยงเป็นปลาไซซ์ใหญ่ที่เน้นคุณภาพ
“พอหมดช่วงของอนุบาลแล้ว ทีนี้ก็จะนำมาเลี้ยงให้เป็นปลาคาร์พไซซ์ใหญ่ที่มีคุณภาพ ซึ่งที่ฟาร์มจะเน้นขายแบบไซซ์ใหญ่ นำปลาไปเลี้ยงอยู่ที่บ่อ ขนาด 1 ไร่ ปล่อยเลี้ยงบ่อละ 5,000 ตัว อาหารก็ให้กิน 2 มื้อ เหมือนเดิม เลี้ยงอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อีก 3 เดือน ปลาที่เลี้ยงในบ่อทั้งหมดจะมีขนาดไซซ์อยู่ที่ 20-25 เซนติเมตร ซึ่งไซซ์นี้เราก็จะจับขายส่งให้กับลูกค้าต่อไป” คุณณัฐเศรษฐ บอก
ส่วนในเรื่องของโรคที่เกิดขึ้นกับปลาคาร์พนั้น คุณณัฐเศรษฐ บอกว่า จะเป็นเรื่องของปรสิตที่เข้ามากับน้ำธรรมชาติที่ใช้เติมเข้าในบ่อเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่สามารถควบคุมปรสิตที่เข้ามาได้ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการให้ยาลงไปในบ่อก็สามารถกำจัดปรสิตเหล่านี้ได้
เน้นผลิตปลาคุณภาพ ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่น
เนื่องจากในช่วงแรกที่เริ่มมาทำฟาร์มปลาคาร์พพร้อมทำการตลาดเอง คุณณัฐเศรษฐ บอกว่า ค่อนข้างได้ศึกษาและมีลูกค้าบางส่วนอยู่บ้างแล้ว เมื่อมีกำลังผลิตมากขึ้น สิ่งที่ต้องทำให้ลูกค้าเชื่อใจคือ เรื่องของคุณภาพปลา โดยทุกตัวที่จะส่งขายต้องผ่านการคัดคุณภาพทุกตัว จึงยิ่งเป็นการการันตีให้กับสินค้า ทำให้พ่อค้าแม่ค้าปลาสวยงามไว้วางใจและสั่งซื้อปลาคาร์พเข้ามาอยู่เป็นระยะ
“การทำตลาดปลาคาร์พ สำหรับผมมองว่าค่อนข้างเปิดกว้างมากๆ ตั้งแต่ทำมา 4-5 ปี ผลิตออกมาสามารถขายได้หมด ซึ่งผมเองมองว่าหัวใจหลักของเรื่องการทำตลาดที่ดี ก็คือ การผลิตปลาให้มีคุณภาพ เมื่อลูกค้าซื้อกี่ครั้งคุณภาพเรายังไม่เปลี่ยนแปลง ตลาดไม่มีทางตัน ขายออกไปได้เรื่อยๆ โดยราคาปลาอายุ 2 เดือน ไซซ์เกรดเอ ขายอยู่ที่ตัวละ 7 บาท ส่วนปลาไซซ์ใหญ่เลี้ยง 4-5 เดือน คัดคุณภาพราคาขายอยู่ที่ 30-35 บาท ต่อตัว ส่วนตัวที่คัดแล้วไม่ถึงกับมีคุณภาพราคาจะลดลงมาตามลำดับ” คุณณัฐเศรษฐ บอกถึงเรื่องการตลาด
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเลี้ยงปลาคาร์พและต้องการต่อยอดทำเป็นเชิงการค้า คุณณัฐเศรษฐ แนะนำว่า สิ่งแรกที่ต้องศึกษาคือ เรื่องของนิสัยของปลาคาร์พ เพราะการเลี้ยงเป็นเชิงธุรกิจไม่ใช่เพียงแค่ให้อาหารเช้าเย็นแล้วมองดูในความสวยงามของปลาอย่างเดียว แต่ต้องเรียนรู้ถึงนิสัยต่างๆ ให้มากขึ้น พร้อมทั้งหาข้อมูลเรื่องโรคของปลาคาร์พเข้ามาเสริม โดยเฉพาะโรคที่เกิดกับปลาในการเลี้ยงแบบบ่อดินและบ่อปูนจะเกิดโรคไม่เหมือนกัน หากเรียนรู้และเข้าใจองค์ประกอบของปลาคาร์พในทุกๆ ด้าน การเลี้ยงปลาคาร์พเพื่อเป็นธุรกิจก็ประสบผลสำเร็จได้ไม่ยากอย่างแน่นอน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณณัฐเศรษฐ ศรีทองอินทร์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-017-7105
เผยแพร่ครั้งแรกวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2561