พลิกชีวิตจากชาวนา เปลี่ยนมาเพาะปลา-เลี้ยงกบ สร้างรายได้ปีละหลายแสน!!

การขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ทำนายังคงสร้างปัญหาให้แก่พี่น้องเกษตรกรทางภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนาผืนนั้นอยู่ห่างไกลแหล่งน้ำทางธรรมชาติ หรือไม่ได้อยู่ในเขตชลประทาน ฉะนั้น ทางออกของชาวบ้านที่ดีที่สุดคือ การเปลี่ยนไปทำเกษตรกรรมแบบใช้น้ำน้อย

อย่าง คุณวีระชัย ศรีสด อยู่บ้านเลขที่ 39 หมู่ที่ 8 บ้านโนนแดง ตำบลยาว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ จากเดิมที่เคยมีพื้นที่ทำนาเป็น 100 ไร่ แต่กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์เนื่องจากขาดแคลนน้ำ แถมยิ่งทำ ยิ่งมีหนี้สิน จึงตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพการเกษตรหลายชนิดที่ใช้น้ำน้อย แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนมาจบที่การเพาะพันธุ์ปลาขาย พ่วงด้วยการเพาะพันธุ์กบและเลี้ยงกบเนื้อ สร้างรายได้รวมแล้วปีละเป็นแสนบาท

คุณวีระชัย ศรีสด กับภรรยา

น้ำน้อย ทำนาไม่ได้ เปลี่ยนมาเพาะปลา-เลี้ยงกบ

คุณวีระชัย เจ้าของ “วีระฟาร์ม” เล่าว่า เดิมมีอาชีพทำนาบนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ หาเลี้ยงครอบครัว ไม่นานพบว่ามีปัญหาอุปสรรคนานัปการที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งน้ำ ต้นทุนค่าปุ๋ย ยา ค่าแรง รวมถึงราคาข้าวที่ตกต่ำ เพราะยิ่งทำนากลับเพิ่มหนี้สินมากมาย จึงตัดสินใจหยุดชั่วคราวแล้วลองหันมาทดลองเพาะพันธุ์ปลาและเลี้ยงกบ

ดังนั้น จึงเริ่มต้นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ปลาดุกก่อน เขามองว่าการตัดสินใจเพาะพันธุ์ปลาอาจมีความเสี่ยงอยู่บ้าง เนื่องจากยังคงมีจำนวนปลาดุกในธรรมชาติที่ชาวบ้านจับกินและขายอยู่ แต่ก็ยังพอมีรายได้บ้าง จนเมื่อเขาคิดว่ามีความชำนาญในการเพาะพันธุ์ปลามากขึ้น จึงต่อยอดด้วยการหาพันธุ์ปลาที่ตลาดต้องการอย่าง ปลาหมอชุมพร ปลาตะเพียน ปลานิล ปลายี่สก มาเพาะเพิ่มเพื่อขยายฐานการผลิต ในพื้นที่ จำนวน 25 ไร่

เจ้าของฟาร์มปลารายนี้มองว่า เนื้อกบยังเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งวิธีการเพาะเลี้ยงกบไม่ต่างจากปลา ดังนั้นจึงทดลองเลี้ยงกบขายแบบคู่ขนานด้วย เพื่อสร้างทางเลือกสินค้าให้แก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นแนวคิดที่ดีแต่ดูเหมือนว่าต้องพบกับปัญหา เนื่องจากกบทางธรรมชาติยังมีให้ชาวบ้านจับอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้กบที่คุณวีระชัยเลี้ยงไว้ขายไม่ออก ทำให้ต้องเลิกล้มความตั้งใจ แต่ในที่สุดต้องกลับมาเลี้ยงกบอีกครั้ง เมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการบริโภคกบมีมากขึ้น สามารถส่งขายได้ทั้งในประเทศและที่ลาว

ลูกพันธุ์ปลาหมอชุมพร อายุ 1 เดือน

เพาะปลาหมอ-ปลานิล แปลงเพศ ตลาดต้องการ

คุณวีระชัย บอกว่า ลูกพันธุ์ปลาหมอชุมพรเป็นปลาที่ได้รับความนิยมมาก เขาได้นำพันธุ์ปลาหมอชุมพรมาจากประมงจังหวัดอุบลราชธานี คุณสมบัติที่ดีของปลาหมอชุมพรคือ มีขนาดใหญ่ จำนวน 2-3 ตัว ต่อกิโลกรัม จึงทำให้เป็นจุดเด่นของความต้องการจากลูกค้า ทั้งผู้บริโภคและพ่อค้า อีกประการเนื่องจากปลาหมอชุมพรตามธรรมชาติมีขนาดเล็กมาก ต่างจากปลาเลี้ยง จึงทำให้ผู้บริโภคสนใจปลาเลี้ยงมากกว่า

สำหรับขั้นตอนการเพาะปลา เจ้าของฟาร์มให้รายละเอียดว่า หลังจากลูกปลาออกจากไข่แล้ว จะเพาะ-ฟัก ในบ่อซีเมนต์ก่อนเป็นเวลาประมาณ 3 วัน ซึ่งในช่วงนี้จะได้ลูกปลาในอัตรารอด ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นจึงย้ายลงบ่อดินเป็นจำนวนนับล้านตัว ระยะเวลาการเลี้ยงลูกปลาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน อย่าง ปลาดุก ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 20 วัน จึงจับมาคัดแยกขนาด จะได้เป็นปลานิ้วบ้างหรือต่ำกว่านิ้วบ้าง ซึ่งเป็นขนาดที่ลูกค้าต้องการ ทั้งนี้พันธุ์ปลาที่เพาะขายมากที่สุดคือ ปลาดุกรัสเซีย ปลาดุกบิ๊กอุย ปลานิลแปลงเพศ ปลาหมอแปลงเพศ และปลาตะเพียน

คุณวีระชัย บอกถึงเหตุผลที่ต้องแปลงเพศปลาเพื่อจำหน่ายว่า จะทำให้ปลาโตเร็ว มีน้ำหนักและมีเนื้อมาก อย่างปลาหมอจะแปลงเพศจากเพศผู้ไปเป็นเพศเมีย เพราะตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ส่วนปลานิลจะแปลงจากตัวเมียเป็นตัวผู้ เพราะตัวผู้มีขนาดใหญ่และน้ำหนักดีกว่าตัวเมีย

ส่วนขั้นตอนและวิธีแปลงเพศด้วยการให้ปลากินฮอร์โมนเพศตามที่ต้องการ ทั้งนี้ การแปลงเพศปลาทำให้ได้ขนาดปลาตามที่ตลาดต้องการ อีกทั้งการแปลงเพศช่วยให้ปลาเจริญเติบโตเร็ว

สำหรับเทคนิคการเพาะพันธุ์ปลานิลแปลงเพศฉบับวีระพันธุ์ ปลามีจุดเด่นตรงการคัดสายพันธุ์ของพ่อ-แม่ ที่แข็งแรง มีการเจริญเติบโตดีแล้วนำมาผสมไขว้ เพื่อทำให้ลูกปลามีความแข็งแรง มีความสมบูรณ์ทั้งขนาดและเนื้อ มีความทนทานต่อโรค สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่ที่ใช้เลี้ยง ขณะเดียวกันวิธีนี้ได้นำมาใช้กับปลาทุกชนิดที่เลี้ยง

แม่พันธุ์ปลาหมอชุมพรอายุปีเศษ

ประเภทและชนิดปลาที่ขายได้รับความนิยมจากตลาดต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาวะทางธรรมชาติและความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นไปตามรูปแบบการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคสดหรือการนำไปแปรรูปก็ตาม

บ่อดินสำหรับปลาโต

คุณวีระชัย ชี้ว่า อย่างกรณี ปลาตะเพียน ถ้าตลาดปลาส้มได้รับความนิยมสูง แล้วชาวบ้านจับปลาตามธรรมชาติได้น้อยก็จำเป็นต้องซื้อลูกปลาไปเลี้ยง สำหรับกรณีปลานิลมีความคล้ายกันแล้วที่ได้รับความนิยมกว่าปลาอื่น เพราะมีก้างในเนื้อน้อย ทำอาหารได้หลายประเภท สามารถบริโภคได้ทุกวัน

ทางด้านอาหารที่ใช้เลี้ยงปลานั้น คุณวีระชัย บอกว่า ถ้าเป็นปลาตุ้ม จะใช้ไรแดงร่วมกับไข่แดง แต่พบว่ามีต้นทุนสูงเกินไป ดังนั้น จึงย้ายไปสร้างไรแดงในบ่อดินแทน อีกทั้งยังใช้ปลาป่นผสมกับรำ ในอัตราครึ่งต่อครึ่ง เพื่อนำมาใช้เป็นอาหารปลาในทุกช่วงวัย เพื่อเป็นการลดต้นทุน นอกจากนั้น ยังนำผักบุ้งที่ปลูกไว้เป็นอาหารของปลาบางชนิดด้วย

ให้อาหารแม่พันธุ์ปลาหมอ

สำหรับจุดเด่นของฟาร์มคุณวีระชัยอยู่ตรงที่มีลูกปลาทุกชนิดไว้จำหน่ายตลอดเวลาต่อเนื่อง อีกทั้งการซื้อ-ขาย ทุกครั้งมักจะแถมลูกปลาให้ลูกค้าเกินกว่าจำนวนที่สั่ง ดังนั้น ลูกค้าของเขาที่ซื้อไปเลี้ยงแล้วจับส่งขายตามตลาดจึงสนใจเข้ามาซื้อพันธุ์ปลาที่ฟาร์มวีระกันอย่างคึกคัก โดยกำหนดราคาขาย ถ้าเป็นปลาดุกที่มีขนาดไม่เกินนิ้วกำหนดราคาเฉลี่ย ตัวละ 15 สตางค์ ถ้าขนาด 2 นิ้ว ราคาประมาณ ตัวละ 20-25 สตางค์

สำหรับลูกค้าที่มาซื้อปลามักเป็นคนยึดอาชีพเลี้ยงปลาขาย ส่วนอีกกลุ่มเป็นหน่วยงานที่มักมาซื้อลูกปลาไปแจกจ่ายชาวบ้าน หรือซื้อไปปล่อยเพื่อการกุศล คุณวีระชัยมีรายได้ที่จับปลาขายในฤดูกาล มีรายได้ 2-3 แสนบาท ต่อเดือน และเมื่อหักต้นทุนแล้วเป็นกำไรค่าเหนื่อยเกินกว่าครึ่ง

“น้ำ” มีความจำเป็นสำหรับการเลี้ยงปลามาก ขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาให้กับคุณวีระชัยด้วยเช่นกัน เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องน้ำ ดังนั้น เจ้าของฟาร์มเพาะปลาแห่งนี้จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการสูบน้ำใต้ดินมาเก็บไว้ในบ่อที่ขุดไว้

ตลาดรับซื้อกบ เป็นชาวบ้านฝั่งไทยนำไปขายที่ฝั่งลาว

การเลี้ยงกบ มีหลักแนวทางเหมือนปลาคือ ต้องมีการคัดพันธุ์ที่แข็งแรงไว้ทุกปี เมื่อถึงคราวผสมพันธุ์จะต้องไขว้สายพันธุ์เพื่อป้องกันเลือดชิดที่จะเกิดปัญหาต่อการเติบโต ให้ผสมในบ่อซีเมนต์ จากนั้นนำไข่ใส่ลงในบ่อดิน ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยงกบเป็นอาหารปลา ส่วนกบจะขายตั้งแต่เป็นลูกอ๊อด ซึ่งนิยมนำไปทำเป็นเหยื่อตกปลา ขายเป็นลูกกบเล็ก เพื่อนำไปเลี้ยงให้โตแล้วขาย หรือขายเป็นกบโตที่ขายเนื้อ

บ่ออนุบาลกบ

คุณวีระชัย เผยว่า ตลาดที่รับซื้อกบจะเป็นชาวบ้านฝั่งไทยที่นำไปขายที่ฝั่งลาว เพราะทางลาวนิยมนำกบไทยไปทำเป็นกบอั่ว เพราะตัวไม่ใหญ่ ขนาดกบเนื้อ 1 กิโลกรัม ได้จำนวน 12-15 ตัว ส่วนลูกค้าอีกกลุ่มมักนิยมทำเป็นกบรมควัน โดยใช้กบที่มีน้ำหนัก 5-6 ตัว ต่อกิโลกรัม สำหรับราคาขายหน้าฟาร์ม กิโลกรัมละ 50-60 บาท ทั้งนี้ราคาขายไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความต้องการในตลาด

ส่วนโรคที่พบในกบเป็นประจำคือ ขาแดง ท้องบวม ซึ่งจะต้องป้องกันและรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะเท่านั้น ทั้งนี้คุณวีระชัย บอกว่า ต้องหยุดให้ยาต่างๆ ก่อนจับกบขาย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน เพราะเป็นฟาร์มที่เลี้ยงแบบ GMP แนวทางอินทรีย์

 ขอขอบคุณ : สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ที่อำนวยความสะดวกในครั้งนี้

 

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันพฤหัสที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2560