กรมประมง ขยายพันธุ์ “เขียดแลว” เป็นอาหารชุมชน (FOOD BANK) ตามพระราชดำริ ที่ “แม่ฮ่องสอน”

ด้วยสภาพทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า มีความชุ่มชื้น ตลอดจนเกิดลำธารน้ำจากภูเขาน้อยใหญ่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเอื้อต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ป่าทางธรรมชาติหลายชนิด รวมถึงเขียดแลวหรือกบภูเขาด้วย ทั้งนี้ เขียดแลว มักพบได้มากในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง ส่วนบริเวณชายแดนไทย-พม่า มักพบมากในบริเวณป่าชุ่มชื้นที่มีลำธารน้ำไหล อย่างอำเภอแม่สะเรียง อำเภอปาย ขุนยวม สบเมย

ในอดีตประชากรเขียดแลวมีจำนวนมากจัดเป็นอีกเมนูที่ชาวแม่ฮ่องสอนนำมาบริโภคเหมือนอาหารพื้นบ้านทั่วไป อีกทั้งยังได้รับความนิยมแพร่หลายตามร้านอาหารหลายแห่งกระทั่งจำนวนลดลงในสภาวะอันตรายถึงขั้นอาจสูญพันธุ์ จนต้องมีการรณรงค์เพื่อหยุดจับเขียดแลวบริโภคกันเลย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนว่าจะขาดแคลนอาหาร จึงได้มีพระราชเสาวนีย์แก่กรมประมงให้พัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรด้วยการเพิ่มประชากรเขียดแลวเพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติและเป็นอาหารของประชาชนในโครงการธนาคารอาหารชุมชน (FOOD BANK) ตามพระราชดำริ

ดังนั้น เพื่อเป็นการสนองพระราชเสาวนีย์ ทางกรมประมง จึงได้เริ่มดำเนินการศึกษาวิจัยเขียดแลวและประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ปี 2530 กระทั่งปัจจุบันสามารถผลิตลูกเขียดแลวไปแล้วมากกว่า 50,000-100,000 ตัว ต่อปี นำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่ออนุรักษ์พันธุ์

คุณพงษ์พันธ์ สุนทรวิภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เขียดแลว เป็นกบชนิดหนึ่ง แต่ที่เรียกว่า “เขียด” เพราะชาวแม่ฮ่องสอนเรียกทั้งกบและเขียดเหมือนกัน ส่วน “แลว” หมายถึง ดาบยาว เพราะส่วนขาของสัตว์ชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายดาบ จึงเรียกรวมกันว่า เขียดแลว

ทั้งนี้ การแพร่กระจายพันธุ์ของเขียดแลวในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีอยู่เกือบทุกแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่สูงตามภูเขาที่มีลำธารน้ำ แล้วหากเป็นแหล่งที่มีความชื้นและความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติก็จะพบว่าเขียดแลวมีขนาดใหญ่มาก มีน้ำหนักอยู่ประมาณครึ่งกิโลกรัม ถึง 1 กิโลกรัม ตามความสมบูรณ์ของแต่ละพื้นที่ จากนั้นเมื่อความสมบูรณ์ของธรรมชาติค่อยๆ ลดลง ขนาดเขียดแลวเลยตัวเล็กลงด้วย

แหล่งอาศัยของเขียดแลวจะอยู่ในป่าต้นน้ำ สมัยที่ธรรมชาติมีความสมบูรณ์ประชากรของเขียดแลวมีจำนวนมาก จนทำให้ชาวบ้านต้องนำมาบริโภคกันแทบไม่ทัน กระทั่งกำหนดให้เขียดแลวอยู่ในคำขวัญของจังหวัด

จากนั้นเป็นต้นมาเมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาแม่ฮ่องสอนต่างสนใจบริโภคเขียดแลวเป็นเมนูหลักกันอย่างคึกคัก จนในที่สุดประชากรของเขียดแลวลดลง เพราะขยายพันธุ์ไม่ทัน จึงส่งผลต่อปัญหาการสูญพันธุ์ จำเป็นต้องให้เขียดแลวเป็นสัตว์ที่ต้องอนุรักษ์และคุ้มครอง ขณะที่ทางศูนย์กำหนดแผนตามโครงการพระราชเสาวนีย์ เพื่อเพาะ-ขยายพันธุ์เขียดแลวแล้วปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ ซึ่งสามารถทำได้ปีละกว่า 5 หมื่น ถึง 1 แสนตัวในแต่ละปี

เขียดแลว เป็นสัตว์ครึ่งบก-น้ำ สามารถหายใจได้สองทางคือ ทางปอดกับผิวหนัง การดูเพศให้ดูระยะห่างระหว่างตากับเยื่อแก้วหู โดยเพศผู้จะมีระยะห่างระหว่างตากับเยื่อแก้วหูมากกว่าเพศเมีย อีกทั้งยังมีเขี้ยวบริเวณขากรรไกรที่ยาวกว่าเพศเมีย

ลักษณะทั่วไปของเขียดแลวมีหัวค่อนข้างแหลม มีตา 1 คู่โปนออกมา ทำให้สามารถมองเห็นได้ในมุมกว้าง ปากกว้าง ผิวหนังมีสีน้ำตาลอมแดง ท้องมีสีขาว ขาหลังมีแถบดำพาดตามขวาง ตัวผู้ไม่มีกล่องเสียง จึงไม่มีการร้องเรียกตัวเมีย แต่ใช้วิธีพองตัวให้เต็มที่เพื่อปล่อยลมออกมาผ่านเส้นเสียงเกิดเป็นเสียงร้อง

กบเขียวภูเขา

สำหรับการเพาะเลี้ยง-อนุรักษ์เขียดแลวที่ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ดำเนินการด้วยการสร้างอาคารซึ่งภายในจำลองเลียนแบบสภาพทางธรรมชาติให้ใกล้เคียงที่สุด ปลูกต้นไม้ชนิดต่างๆ จัดทำเป็นลำธาร นำตอไม้หรือท่อนไม้และก้อนหินมาตกแต่งเพื่อเป็นที่หลบตัวของเขียดแลว จัดทำเป็นโครงล้อมด้วยตาข่ายและประตูเปิด-ปิด โดยจำนวนการเลี้ยงที่เหมาะสมให้คัดพ่อ-แม่พันธุ์ จำนวน 200 ตัว (อัตราส่วนเพศผู้-เมีย 1 : 1)

การผสมพันธุ์วางไข่จะเกิดในช่วงกลางคืนจนถึงเช้า โดยตัวผู้จะขุดหลุมแล้วใช้ขาหลังถีบตะกุยกรวดออกเป็นกองในรูปทรงกลม ในบริเวณระดับน้ำลึก 2-5 เซนติเมตร ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง แล้วส่งเสียงร้องเพื่อต้องการผสมพันธุ์ เมื่อสิ้นสุดการผสมพันธุ์แล้วทั้งตัวเมียและตัวผู้จะช่วยกันกลบหลุมไข่จนทำให้ก้อนกรวดเป็นกองนูนขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยจะมีการวางไข่ในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม จากนั้นนำไข่มาทำความสะอาดด้วยน้ำ แล้วนำไปฟักในถาดฟัก ใช้เวลาฟักประมาณ 5-7 วัน จนได้เป็นลูกอ๊อดแล้วจึงนำไปอนุบาล

ไข่เขียดแลว

ในช่วงอนุบาลใช้บ่อปูนที่ใส่น้ำไว้ 10-15 เซนติเมตร ติดตั้งระบบลมพร้อมถ่ายน้ำและตะกอนในทุก 2-3 วัน ให้อาหารผงผสมน้ำแล้วปั้นเป็นก้อนให้ลูกอ๊อดกินทุกวันในช่วง 50-60 วัน จนมีพัฒนาการเป็นลูกกบที่พร้อมขึ้นฝั่ง โดยในช่วงนี้ถือเป็นช่วงอ่อนแอที่สุด จึงจำเป็นต้องพ่นละอองน้ำเพื่อให้ลูกกบได้รับความชื้นตลอดเวลาช่วยให้มีความแข็งแรง โดยอาหารในช่วงลูกกบ ได้แก่ หนอนนกขนาดเล็กหรือปลวก

ช่วงกบโต จะเลี้ยงในบ่อปูนโดยจะต้องทำความสะอาดแล้วตากบ่อให้แห้งก่อนปล่อย จัดสภาพภายในบ่อตลอดจนในโรงเลี้ยงให้เลียนแบบธรรมชาติด้วยการใช้ต้นไม้แล้วสร้างเป็นลำธารที่มีน้ำไหลตลอดเวลา ทั้งนี้ ในช่วงฤดูร้อนจะต้องควบคุมอุณหภูมิด้วยการพ่นไอหมอกตลอดเวลาการเลี้ยงประมาณ 15 เดือน ทั้งนี้ เขียดแลวจะมีอัตรารอดประมาณกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 30-37 กรัม มีความยาวเฉลี่ย 10 เซนติเมตร

ลักษณะเฉพาะของเขียดแลวคือ มีเนื้ออร่อย แน่น ไม่มีไขมัน เนื่องจากกินอาหารจากธรรมชาติ แต่มีเขี้ยว ไม่มีลิ้น ดังนั้น การหาอาหารจึงต้องกระโดดกินเหยื่อ จึงมีความสามารถในการกระโดดได้ไกล สูง และถี่ จึงทำให้มีกล้ามเนื้อแข็งแรง มีลักษณะเรียวยาวคล้ายดาบ

เขียดแลว เป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้ช้าและยาก เพราะลูกที่มีอายุตั้งแต่ 1 เดือน มักไม่ยอมกินอาหารประเภทเคลื่อนไหวอย่างลูกจิ้งหรีดหรือหนอนนก ดังนั้น จึงมีขนาดเพียง 1 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งต่างจากกบนาทั่วไปที่อายุเท่ากันแต่มีขนาดใหญ่เป็นนิ้วแล้ว

“นอกจากนั้นแล้ว เขียดแลวที่มีอายุ 1-2 ปี มีน้ำหนักเพียง 100 กรัม จึงยังเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ไม่ได้ ซึ่งต่างจากกบทั่วไปที่มีอายุเพียง 3-4 เดือน ก็สามารถเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ได้แล้ว จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการส่งเสริมเลี้ยงเขียดแลวในเชิงพาณิชย์ เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องใช้เวลาเลี้ยงนานมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ถ้าหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้แล้ว เขียดแลว จะนับเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิด”

โดยธรรมชาติของเขียดแลวมักหลบซ่อ

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้กำหนดเป้าหมายการเพาะ-ขยายพันธุ์เขียดแลวไว้ 2 แนวทาง คือ 1. เพื่อปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ ต่อจากนั้นให้เขียดแลวที่ปล่อยมีการขยายพันธุ์ทางธรรมชาติต่อไป กับ 2. เพื่อร่วมกับการทำงานในเชิงวิจัยปรับปรุงพันธุ์ โดยในอนาคตอาจให้ชาวบ้านนำเขียดแลวที่ปรับปรุงพันธุ์ได้อย่างสมบูรณ์แล้วไปเพาะ-เลี้ยงในเชิงพาณิชย์ต่อไป เนื่องจากเนื้อเขียดแลวมีลักษณะเป็นลิ่ม รสชาติดี กระดูกอ่อน เหมาะกับการแปรรูปเป็นอาหารได้หลายเมนู อาทิ กบทอดกระเทียม ผัดเผ็ด ต้มยำ ฯลฯ

ลักษณะรูปร่างและความสมบูรณ์ของตัวเต็มวัย

นอกจากนั้น ผอ.ศูนย์ ยังมองว่า เขียดแลวที่เพาะ-ขยายเพื่อใช้เป็นอาหารบริโภคสำหรับชาวแม่ฮ่องสอนที่เคยกินกันอยู่เป็นประจำมานาน อีกทั้งยังต้องการสร้างเอกลักษณ์ของเขียดแลวในฐานะสัตว์ประจำถิ่นด้วยการเซ็ตเมนูอาหารที่โดดเด่นพร้อมโปรโมตให้เป็นเมนูเด่นของจังหวัด หวังให้ผู้ที่จะเดินทางมาเที่ยวแม่ฮ่องสอนได้บริโภคเมนูพิเศษนี้เพียงแห่งเดียว ร่วมกับเมนูปลาแม่น้ำปายที่มีรสอร่อยอีกหลายชนิด แล้วยังเป็นช่องทางอาชีพเสริมรายได้ให้ชาวแม่ฮ่องสอนอีก

การบันทึกข้อมูลหน้าโรงเลี้ยง

อยากเชิญชวนท่านผู้อ่านที่มีแผนจะเดินทางมาเที่ยวแม่ฮ่องสอน อย่าลืมแวะมาศึกษาหาความรู้เรื่องสัตว์น้ำของจังหวัดได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเรื่องสัตว์น้ำประจำถิ่นของจังหวัดอย่างละเอียดและมีเพียงแห่งเดียว โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นจากโครงการของในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพราะทั้งสองพระองค์ได้ดำริโครงการไว้มากมายทั้งเรื่องน้ำและป่า ซึ่งทุกโครงการล้วนได้สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างอาหาร หรือแม้แต่สร้างรายได้ให้แก่ชาวแม่ฮ่องสอนไว้อย่างมีคุณค่า”

สอบถามข้อมูลเรื่อง เขียดแลว หรือปลาประจำถิ่นแม่ฮ่องสอน หรือสนใจเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ เรื่องสัตว์น้ำจืด ติดต่อได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 053-684-194

……………………………………….

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354