“ปลาในนาข้าว+ทำเกษตรลดต้นทุน” ปฐมบทการเกษตรที่ยั่งยืน ของ “เขื่อง วิลัย” ชาวขุนยวม แม่ฮ่องสอน

การเลือกประกอบอาชีพเกษตรกรรมของชาวบ้านที่แม่ฮ่องสอน ไม่ว่าจะปลูกพืชไม้ผลนานาชนิดล้วนแต่ต้องถูกกำหนดให้เป็นไปตามลักษณะภูมิประเทศที่บ้านเรือนตั้งอยู่บนภูเขาน้อย-ใหญ่ มีพืชหลักที่ปลูกกันเป็นประจำ ได้แก่ ข้าว กระเทียม ขิง กาแฟ ถั่วเหลือง กะหล่ำปลี ถั่วลิสง ตลอดจนผักสวนครัวบางชนิด ส่วนประมงไม่สามารถทำได้เต็มที่ นอกจากจับสัตว์น้ำจากแหล่งธรรมชาติมาบริโภค หรือหาซื้อตามตลาดที่นำมาจากพื้นที่นอกจังหวัด

ฉะนั้น รายได้ของชาวบ้านที่เกิดขึ้นจึงต้องรอเก็บผลผลิตในแต่ละช่วงฤดูเท่านั้น ถ้าปีไหนฟ้าฝนดี อากาศดี ราคาก็ดี แต่หากปีไหนเกิดปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ผลผลิตเสียหาย ขายได้ราคาต่ำ รายได้ก็ไม่แน่นอน นั่นย่อมส่งผลต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามมา

คุณเขื่อง วิลัย ช้อนปลาดุกที่เลี้ยงในนา

แต่สิ่งเหล่านั้นคงไม่เป็นปัญหาต่อ คุณเขื่อง วิลัย อยู่บ้านเลขที่ 17/1 หมู่ที่ 4 บ้านป่าฝาง ตำบลเมืองปอน อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะเป็นชาวบ้านที่มีแนวคิดการทำเกษตรกรรมต่างจากคนอื่น ด้วยการนำวิธีทำสวนเกษตรผสมผสานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ทำเกษตรของตัวเอง เน้นปลูกพืชอายุสั้นเป็นหลัก แล้วยังทำนาพร้อมเลี้ยงปลาในนาข้าว รวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์ที่ช่วยลดต้นทุน จึงทำให้มีรายได้อย่างสม่ำเสมอ

คุณเขื่อง มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดศรีสะเกษ อาชีพเดิมรับเหมาก่อสร้าง ได้ตระเวนรับงานไปทั่วจนมามีครอบครัวเป็นหลักแหล่งที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วนำเงินที่เก็บรวบรวมมาซื้อที่ดิน จำนวน 6 ไร่ เริ่มต้นจากทำนาและปลูกพืชหารายได้เลี้ยงครอบครัว โดยในช่วงนั้นราคาขายข้าวเพียง ตันละ 400 บาท

น้ำจากภูเขาไหลผ่านพื้นที่ปลูกข้าว

หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ได้ไถตอซังเพื่อเตรียมปลูกพืชอายุสั้นหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ถั่วเหลือง ถั่วฝักยาว แตงโม กะหล่ำดอก มะเขือ แต่ในระยะแรกยังไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของพืชอายุสั้นเหล่านี้ จึงทำให้ผลผลิตได้ไม่มีคุณภาพนัก จึงได้พยายามหาความรู้จากแหล่งต่างๆ แล้วค่อยๆ ปรับวิธีปลูกใหม่จนประสบความสำเร็จ ในที่สุดจนทำให้ได้คุณภาพ มีความสมบูรณ์ และจำนวนผลผลิตมากขึ้น แล้วมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

คุณเขื่อง นำเงินที่เก็บจากการขายพืชผักมาซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นอีก แล้วตระเตรียมวางแผนทำเกษตรกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 โดยเน้นทำเกษตรแบบอินทรีย์ที่ครบวงจร แล้วใช้ทุกตารางนิ้วในพื้นที่ จำนวน 10 ไร่ สร้างประโยชน์ให้เกิดกับครอบครัวด้วยการปลูกข้าว ปลูกพืชผัก และเลี้ยงสัตว์หลายชนิด ทั้งนี้ จะเลือกปลูกเฉพาะพืชผักที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นเท่านั้น อย่างผักบุ้งใช้เวลาปลูก 25 วัน แตงกวา 35-40 วัน กะหล่ำดอก 70 วัน ถั่วฝักยาว 50 วัน แตงโม 100 วัน เพราะช่วยให้เก็บขายแล้วมีรายได้ตลอดต่อเนื่องปีละกว่าแสนบาท

การประสบความสำเร็จมีรายได้จากการปลูกผักชนิดต่างๆ แบบสลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน ทำให้คุณเขื่องปรับการทำนาให้ลดลงเหลือเพียง 3 ไร่ แล้วใช้พื้นที่เหลืออีก 3 ไร่ เพื่อเพิ่มกำลังและชนิดของผักอื่นๆ อีก โดยใช้หลักคิดว่าจะหารายได้จากทำนากับปลูกพืชผักอายุสั้นเท่านั้น เพราะมองว่าแนวทางนี้ช่วยให้มีรายได้เร็วและไม่ขาดมือ

เลี้ยงไก่ไว้กิน แล้วใช้มูลทำปุ๋ย

คุณเขื่อง เล่าว่า เริ่มปลูกข้าวครั้งแรกเมื่อปี 2542 เป็นข้าวพันธุ์ กข ที่ต้องดูแลด้วยการใช้ปุ๋ยเคมี แต่ปลูกได้ไม่นานเพราะเกรงอันตรายจากเคมี จึงเปลี่ยนมาเป็นหอมมะลิ 105 ปลูกแบบอินทรีย์ ปลูกปีละครั้ง ได้ผลผลิตปีละประมาณ 2 ตัน ส่วนมากจะปลูกไว้บริโภค บางปีได้ผลผลิตมากก็ขาย ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2543 ใช้ต้นทุนปลูกข้าวเพียงไร่ละ 70 บาท หรือเฉลี่ยปีละไม่เกิน 100 บาทเท่านั้น

เหตุผลที่คุณเขื่องใช้เงินทุนปลูกข้าวเพียงเล็กน้อย เพราะเกิดจากการวางแผนและบริหารจัดการวิธีปลูกข้าวด้วยการหว่านกล้าในช่วงเดือนพฤษภาคม แล้วเริ่มปลูกราวเดือนมิถุนายน จากนั้นพอเข้าช่วงปลายสิงหาคม-กันยายน ต้นข้าวจะเจริญเติบโตสูงจนทำให้เพลี้ยกระโดดไม่สามารถเข้ามาทำลายต้นข้าวได้เลย ฉะนั้น การวางแผนปลูกข้าวจึงมีส่วนช่วยป้องกันความเสียหายจากศัตรูได้อย่างดี

ไม่เพียงคุณเขื่องจะประสบผลสำเร็จจากการหนีจากศัตรูพืชเพื่อช่วยให้ต้นข้าวมีความสมบูรณ์ แต่ยังใช้ความชาญฉลาดดึงความเป็นธรรมชาติของพื้นที่แล้วปรับมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยไม่ต้องลงทุนแต่ประการใด

ปลูกเงาะไว้เล็กน้อย

อย่างในพื้นที่ทำเกษตรกรรมของคุณเขื่องที่อยู่ใกล้กับภูเขา จะมีตะกอนดินไหลจากภูเขามาในบริเวณที่ทำนา ดังนั้น ในช่วงกลางคืนคุณเขื่องจะปล่อยน้ำเหล่านั้นเข้านาเพื่อให้ตะกอนดินที่ล้วนแต่มีแร่ธาตุอาหารชนิดต่างๆ เข้าในนา จึงทำให้ข้าวได้คุณภาพถึงไร่ละประมาณ 400 กิโลกรัม

ขณะเดียวกันยังมองว่า ที่ผ่านมาคนแม่ฮ่องสอนหาปลากินยาก ต้องไปจับตามแหล่งน้ำเท่านั้น ดังนั้น หากพื้นที่บริเวณใดที่ว่างแล้วไม่ใช้งาน คุณเขื่องจะขุดเป็นบ่อเลี้ยงปลาที่มีขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง จำนวน 5-6 บ่อ เพื่อใช้เลี้ยงปลาหมอเทศ ปลาทับทิม ปลาไน ปลานวลจันทร์ ปลาดุก ปลาช่อน แล้วยังใช้เลี้ยงหอยกาบและหอยขมไว้บริโภคด้วย

หอยกาบ หอยขม มีกินโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ
กั้นตาข่ายสำหรับเลี้ยงปลาในนา

ทั้งยังได้ซื้อพันธุ์ปลานิลมาจากทางประมงเพียงตัวเดียว เพื่อทดลองเลี้ยงไว้ในแปลงนา แล้วค่อยๆ เพาะขยายลูกปลานิลมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 10 ปี ได้ปลานิลจำนวนมากไว้บริโภคในครอบครัว แล้วยังจับนำไปขายมีรายได้อีกทาง

คุณเขื่อง ให้รายละเอียดการเลี้ยงปลาในนาข้าวว่า ในช่วงราวต้นเดือนพฤษภาคมจะเริ่มหว่านแล้วปล่อยน้ำเข้านาเพียงเล็กน้อย จึงไถแล้วคราดนา แล้วจึงนำลูกปลาพันธุ์ต่างๆ มาปล่อย อย่างถ้า พื้นที่ 1 ไร่ จะปล่อยพันธุ์ปลารวมเกือบ 3 พันตัว จากนั้นปล่อยให้ปลาเจริญเติบโตจนจับประมาณสิ้นเดือนตุลาคม

การปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่งของคุณเขื่องทำมากว่า 20 ปี ปลาที่เลี้ยงในนาเป็นหลักคือ ปลาดุกกับปลานิล โดยจับขายในตลาดชุมชนหมู่บ้าน ราคากิโลกรัมละ 80 บาท เท่ากัน

ปลาดุกในนาเนื้อแน่น หวาน ไม่เหม็นสาบ
พื้นที่ส่วนหนึ่งขุดบ่อเลี้ยงกบแบบธรรมชาติ

คุณเขื่อง เล่าว่า ข้อดีของการเลี้ยงปลาในนาข้าวถือเป็นการเกื้อกูลกันของธรรมชาติ โดยใช้มูลปลาเป็นปุ๋ยของข้าว ส่วนหญ้าที่ขึ้นบริเวณรอบคันนาเป็นอาหารของปลา ทั้งการเลี้ยงปลาในนายังช่วยขับไล่แมลงศัตรูข้าวได้ด้วย โดยตลอดเวลาที่รอให้ข้าวและปลาเจริญเติบโตไม่จำเป็นต้องดูแลอะไร อาจมีการถ่ายเทน้ำบ้างตามความเหมาะสม  โดยกำหนดระดับน้ำในนาไว้เพียงศอกเดียว ซึ่งแนวทางนี้ทำให้คุณสมบัติของปลามีเนื้อหอม ไม่มีกลิ่นคาว เนื่องจากจัดระบบการถ่ายเทน้ำไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปลาที่เลี้ยงในนาจะจับก่อนเกี่ยวข้าว โดยเริ่มเกี่ยวข้าวประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จจะเตรียมแปลงนาเพื่อปลูกพืชอายุสั้นต่อไป ส่วนปลาจะจับเข้าบ่อเลี้ยง แล้วอีกส่วนหนึ่งจะจับขายในตลาดชุมชนหมู่บ้าน

ป้ายที่ได้รับการส่งเสริมจากกรมประมง

ความสำเร็จของคุณเขื่อง ถือเป็นตัวอย่างที่ดีต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม จนได้รับการยกย่องว่าเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาประมง ในระดับอำเภอ ดังนั้น จึงได้รับการสนับสนุนจากทางประมงจังหวัด มอบพันธุ์ปลาดุก จำนวน 1,500 ตัว กับ กบ อีกจำนวน 500 ตัว พร้อมอาหารอีก 15 กระสอบ สำหรับการต่อยอดอาชีพในครั้งนี้

ภายในพื้นที่ทำเกษตรกรรมของคุณเขื่อง ยังได้แบ่งบางส่วนไว้ปลูกไม้ผลด้วย อย่างเช่น เงาะ มะม่วง ลำไย มะนาว สับปะรด แล้วมีผลผลิตไว้กินเองและขายได้ด้วย พร้อมกับบอกว่าเคยตรวจพื้นที่ของตัวเองทั้งหมดที่ทำเกษตรแล้ว พบว่า มีกิจกรรมต่างๆ กว่า 20 ชนิด ครบทุกอย่าง จึงทำให้ครอบครัวของคุณเขื่องไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้ออาหารเลย

ขณะทำกิจกรรมเกษตรกรรม คุณเขื่อง แนะว่า ควรจัดทำบัญชีรายรับ-จ่าย ไปพร้อมกัน เพื่อไว้เป็นข้อมูล และควบคุมระบบการใช้เงินภายในครัวเรือนให้มีความเหมาะสม ยกตัวอย่าง ต้นทุนทำการเกษตรในแต่ละปีน้อยมาก ปลูกข้าวในปีหนึ่งใช้เงินทุนทั้งหมด คราวละ 70-100 บาท เพราะใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำเอง พันธุ์ข้าวจะแบ่งเก็บไว้ ส่วนพืชอื่นๆ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตเองเพียงปีละ 1-2 กระสอบ เท่านั้น ดังนั้น ถ้ารวมต้นทุนทุกอย่างแล้ว ใช้เงินประมาณปีละไม่เกิน 7 พันบาท แต่ขายผลผลิตได้ปีละกว่าแสนบาท

การเป็นคนที่มีความสามารถจนทำให้เกิดรูปธรรมที่ชัดเจน จึงทำให้เพื่อนบ้านร่วมอาชีพต่างสนใจหันมาทำเกษตรกรรมแนวทางเดียวกับคุณเขื่อง จนทุกวันนี้ชาวบ้านเกือบ 30 ราย ต่างหันมาปลูกผักอายุสั้นตามแบบคุณเขื่องกัน ทำให้มีรายได้เสริมเพื่อใช้จ่ายประจำวัน

ปลาดุกผัดเผ็ด จ๋อมปลาดุก และผัดปลาดุกคั่ว เมนูเที่ยงที่นำมาจากในนา

คุณเขื่อง กล่าวขอบคุณทางประมงจังหวัดที่ให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านความรู้ ตลอดจนสนับสนุนพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำชนิดอื่น รวมถึงอุปกรณ์และสิ่งของต่างๆ ช่วยให้คุณเขื่องและเพื่อนเกษตรกรรายอื่นมีกำลังใจที่จะมุ่งมั่นต่อไป แล้วยังเป็นการช่วยยกมาตรฐานความเป็นอยู่ ความรู้ ความสามารถ ของชาวแม่ฮ่องสอนที่ในอดีตต้องหาซื้อปลาจากที่อื่นมาบริโภค จนตอนนี้ทุกบ้านมีความสุขทั้งกายและใจ เพราะเลี้ยงปลาจับบริโภคได้ทุกครัวเรือน แถมยังมีไปขายสร้างรายได้อีกด้วย

“อยากให้คนที่ต้องการทำเกษตรกรรม ควรเริ่มจากการคิดและวางแผนก่อน ควรพิจารณาดูว่าสภาพพื้นที่ของตัวเองมีความเหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรมแบบใด เพราะการวางแผนปลูกจะช่วยให้การเก็บข้อมูลสำหรับใช้ตัดสินใจ ทั้งนี้ ควรเน้นการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะแนวทางนี้จะช่วยเกื้อกูลกัน แล้วที่สำคัญไม่ควรเลียนแบบคนอื่น เพราะพื้นที่แต่ละแห่งมีสภาพต่างกัน” คุณเขื่อง กล่าวฝาก

มีน้ำสมบูรณ์ไว้ทำเกษตรตลอดเวลา

คุณเขื่อง นับเป็นบุคคลที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ทำเกษตรแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่ประยุกต์ใช้ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วเห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน อาจเรียกได้ว่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีคุณเขื่องเพียงรายเดียวที่ทำเกษตรกรรมโดยยึดแนวทางนี้ แล้วถือเป็นเกษตรกรต้นแบบของการทำเกษตรกรรมที่มีการวางแผนจัดการอย่างมีระบบ จนทำให้ครอบครัวมีรายได้ตลอดต่อเนื่อง

สอบถามรายละเอียดแนวทางการเลี้ยงปลาในนาข้าว ได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัดแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ (053) 611-346

 

ขอขอบคุณ : สำนักงานประมงจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่อำนวยความสะดวกในการทำรายงานพิเศษครั้งนี้

……………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2564