เปลี่ยน “ปูทะเล” เป็น ปูนิ่ม “พหลฟาร์ม” สมุทรสงคราม ทำได้!

ปูนิ่ม ที่เรารู้จักและรับประทานกันเป็นอาหาร หลายคนเข้าใจกันว่าแหล่งผลิตส่วนใหญ่จะอยู่ติดกับทะเลหรือในท้องทะเลที่กว้างใหญ่

ต้องบอกว่า ทำความเข้าใจกันใหม่

ปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาคิดค้นวิธีการเลี้ยงปูนิ่มจากที่เลี้ยงบริเวณริมทะเลหรือในท้องทะเล มาเป็นบ่อเพาะเลี้ยงแบบพัฒนาในหลายพื้นที่ ซึ่งมีการเลี้ยงทั้งแบบตัดก้ามและแบบธรรมชาติ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีอาชีพที่ไม่คาดคิดว่าจะมีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งอยู่ห่างจากรุงเทพมหานครเพียง 100 กว่ากิโลเมตร คือ อาชีพเพาะเลี้ยงปูนิ่ม

พี่พิธาน ลิปิสุนทร เจ้าของฟาร์ม ให้การต้อนรับและอธิบายเล่าถึงที่มาที่ไปของอาชีพเพาะเลี้ยงปูนิ่มให้กับทีมงานได้ฟังทุกขั้นตอนการเลี้ยง

พี่พิธาน เล่าให้ฟังว่า ที่ดินผืนนี้ เป็นของป้าและย่า ซึ่งเดิมจะปล่อยให้เช่าทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง แต่หลังจากสัญญาเช่าหมดลง ตนก็มาขอเช่าต่อ เพื่อจะใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งหวังจะสร้างเป็นอาชีพให้กับตนเอง

“ตอนนั้นเองผมยังไม่ได้คิดว่าจะเลี้ยงอะไร ไปปรึกษากับเพื่อนที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสัตว์น้ำ เขาก็บอกว่า อย่างเราเนี้ย ประสบการณ์เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็ยังมีน้อย อย่างการเลี้ยงกุ้งมันก็ยาก อีกอย่างพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นนากุ้งเก่า เชื้อโรคที่เคยมีก็ยังฝังตัวอยู่ ปลาก็ไม่แนะนำ จนในที่สุดมาจบที่การเลี้ยงปู เพราะมีความทนทานต่อโรค ความเค็ม สภาพอากาศ อุณหภูมิ ที่มากกว่าสัตว์น้ำ แต่จะเลี้ยงปูธรรมดาก็จะเหมือนคนอื่นๆ จึงคิดต่อยอดนำปูทะเลมาทำเป็นปูนิ่ม”

พี่พิธาน เริ่มต้นทำธุรกิจการเพาะเลี้ยงปูนิ่ม เมื่อปลายปี 2552 บริเวณ ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม โดยเริ่มปรับพื้นที่ เตรียมทำคันดิน สร้างสะพาน ทำบ่อเพาะเลี้ยง และบ่อพักน้ำ โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

ตรวจเซ็กการลอกคราบและให้อาหาร

“เนื่องจากบริเวณนี้ จะมีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่เพาะเลี้ยง ผมจึงต้องแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน ทำเป็นบ่อพักน้ำเพื่อใช้รองรับน้ำไว้ก่อนจะถ่ายเข้าบ่อเพาะเลี้ยงในบางช่วงเวลาที่มีปริมาณน้ำน้อยในบางฤดูการผลิต”

การเตรียมบ่อเพาะเลี้ยง

การเตรียมบ่อเพาะเลี้ยง พี่พิธาน บอกว่า จะทำคล้ายกับการเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้ง ซึ่งภายในบ่อจะประกอบไปด้วยประตูระบายน้ำ เข้า-ออก จะ 1 หรือ 2 ประตู ขนาดบ่อกินเนื้อที่กว่า 6 ไร่ ความลึกของบ่อ ประมาณ 1.5 เมตร ภายในบ่อจะมีเครื่อสูบน้ำเข้า-ออก 1 ตัว (ตัวใหญ่)

บริเวณกลางบ่อเพาะเลี้ยงจะมีสะพานไม้ ความยาวเกือบสุดขอบบ่ออีกข้าง เพื่อใช้เป็นทางเดินตรวจเก็บปูนิ่มที่ลอกคราบ รวมถึงใช้เดินให้อาหารปูที่เลี้ยงในแต่ละวัน โดยสะพานที่จะใช้วัสดุธรรมชาติเป็นหลัก

ลักษณะการลอกคราบของปู

สำหรับตัวแพรองรับตะกร้า พี่พิธานจะใช้ท่อ พีวีซี สีฟ้า เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 1-2 นิ้ว ปิดปลายทั้ง 2 ข้าง แล้วต่อเป็นแพยาว ประมาณ 80 เมตร กว้าง 1 เมตร ใน 1 แพ จะมี 4 แถว แต่ละแถวจะวางตะกร้าเลี้ยงปูได้มากถึง 300 กล่อง ซึ่งเฉลี่ย 1 แพ จะวางกล่องเลี้ยงปูได้ถึง 1,200 กล่อง/แพ

ส่วนขนาดของตะกร้าที่ใช้เลี้ยง จะมีความกว้างราวๆ 22.6 เซนติเมตร ยาว 30.0 เซนติเมตร สูง 16.1 เซนติเมตร ใน 1 ตะกร้า จะใส่ปูลงไปเพียง 1 ตัว เท่านั้น

ขั้นตอนการเพาะเลี้ยง และเลือกพันธุ์ปู

การปล่อยปู ที่นี่จะไม่เลือกเวลาปล่อย พี่พิธาน บอกว่า จะปล่อยลงได้ตลอดทั้งวัน เพราะเนื่องจากคนงานที่มียังไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยง อีกทั้งขั้นตอนการเลี้ยงปูนิ่มจะมีกระบวนการและวิธีที่ค่อนข้างมาก ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาและความชำนาญ ไม่เหมือนกับการเลี้ยงปูธรรมดาทั่วไป ที่ตัดเชือกแล้วปล่อยลงน้ำได้เลย ดังนั้น คนเลี้ยงจะต้องระมัดระวัง”

“ก่อนปล่อยปูลงเลี้ยงในตะกร้า จะมีการปรับสภาพของปูให้เข้ากับแหล่งน้ำที่จะเลี้ยง โดยการใช้น้ำในบริเวณที่เลี้ยงรดตัวปูให้ชุ่ม จากนั้นจึงตัดเชือกมัดปูออก แล้วปล่อยลงกล่องเพาะเลี้ยง มัดด้วยลวด แล้วนำลงไปวางลงบนแพที่ทำไว้

ตะกร้าใช้เพาะเลี้ยง

สำหรับพันธุ์ปูที่ใช้ เป็นปูทะเลที่เห็นตามท้องตลาด โดยจะสั่งพันธุ์มาจากแพปูทางภาคใต้ ซึ่งจะมีขนาดตัวประมาณ 1 ขีด ซึ่งในแต่ละรอบ ผมจะสั่งขึ้นมาครั้งละประมาณ 40-50 กิโล”

แต่ละเดือน พี่พิธานจะสั่งปูทะเลขึ้นมาเพื่อเพาะเลี้ยงทำเป็นปูนิ่ม เดือนละ 2 รอบ เฉลี่ยรอบละประมาณ 45 กิโลกรัม ซึ่งแต่ละเดือนจะใช้ปูทะเลถึง 700-800 ตัว

การดูแลและการให้อาหาร

ทุกวัน กิจกรรมที่พี่พิธานและลูกน้องต้องทำหลักๆ ของการเลี้ยงปูนิ่ม คือ เดินตรวจเช็กว่าปูที่เลี้ยงลอกคราบหรือยัง โดยช่วงเวลากลางวันจะเดินดู 3 รอบ กลางคืน 3 รอบ และส่วนรอบ 15.30 ซึ่งเป็นช่วงเวลาให้อาหาร จะดูอีกรอบหนึ่ง (การให้อาหารจะให้วันเว้นวัน)

ส่วนการเปลี่ยนถ่ายน้ำแต่ละครั้ง จะต้องตรวจเช็กสภาพน้ำภายในบ่อเพาะเลี้ยงและบ่อพักน้ำ ซึ่งความเค็มของน้ำจะให้อยู่ประมาณ 25 พีทีที โดยการเปลี่ยนถ่ายหรือเติมน้ำเข้าบ่อเพาะเลี้ยงแต่ละครั้งจะสังเกตน้ำด้านนอกเป็นหลัก ซึ่งหากช่วงไหนน้ำมาก ก็จะใช้วิธีเปลี่ยนถ่ายน้ำ แต่หากช่วงไหนที่น้ำด้านนอกน้อย หรือช่วงที่น้ำตาย จะใช้วิธีเติม ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

ความยาว และขนาดแพเพาะเลี้ยง

ส่วนอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยง พี่พิธานจะให้เนื้อปลาที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ (ปลาข้างเหลือง หรือ ปลากิมซั่ว) ขนาดเท่าเหรียญ 5 บาท ใส่ลงไป กล่องละ 1 ชิ้น

ระยะเวลา ในการเลี้ยงปูจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน โดยเฉลี่ย แต่บางครั้งปูที่นำมาปล่อย มีความพร้อม เมื่อปล่อยลงไปประมาณ 2-3 วัน ก็สามารถลอกคราบได้เช่นกัน อีกทั้งปูที่ส่วนประกอบในบางส่วนหลุดหายไป ก็จสลัดคราบออกได้เร็วกว่าปูปกติทั่วไป

การสังเกตปูลอกคราบ พี่พิธาน บอกดูได้จากปูในตะกร้า หากพบปู 2 ตัว ในตะกร้าเดียวกัน แสดงว่าตัวหนึ่งจะเป็นคราบและอีกตัวหนึ่งจะเป็นปูนิ่มที่ลอกคราบ ซึ่งในแต่ละวันบางรอบสามารถเก็บปูนิ่มได้มาก 10-20 ตัว และยิ่งช่วงที่ใกล้ครบ 45 วัน ของการเลี้ยง จะได้ปูนิ่มสูงถึง 80 ตัว

สำหรับการดูแลบ่อ จะใช้ปูนขาวและจุลินทรีย์เป็นตัวย่อยสลายเศษอาหารที่ตกลงพื้น ซึ่งเป็นการเอาธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังปล่อยปูไข่ลงไปภายในบ่อเพาะเลี้ยง เพื่อให้เก็บเศษซากอาหารที่หลุดออกจากกล่อง จนสามารถจับปูไข่จำหน่ายได้อีกทางหนึ่ง

นำปูทะเลใส่ตะกร้า

ส่วนอุปกรณ์ อย่างตะกร้าที่ใช้เลี้ยง เมื่อปูลอกคราบแล้ว ก็จะนำขึ้นมาทำความสะอาดใช้แปรงขัดและนำไปตากแดด ก่อนที่จะนำกลับไปใช้ใหม่อีกครั้ง ส่วนท่อ พีวีซี ที่ใช้ทำเป็นแพ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ได้ระยะเวลาที่นานไม่ค่อยพบปัญหาชำรุด

ทุกวันนี้ พหลฟาร์ม สามารถผลิตปูนิ่มออกจำหน่ายให้กับพ่อค้าแม่ค้าทั้งที่เป็นขาประจำ นักท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ค้าขาจร อีกทั้งส่งให้กับร้านอาหารในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามได้ทุกวัน โดยมีราคาตั้งแต่ 250 บาท ไปจนถึง 300 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของปู โดยรูปแบบการจำหน่ายนั้น พี่พิธานจะบรรจุใส่กล่องพลาสติก กล่องละ 1 ตัว และนำแช่แข็งไว้ในห้องเย็น อุณหภูมิ –18 องศา ก่อนส่งต่อไปยังมือพ่อค้าแม่ค้า

ท่านใดที่สนใจ อยากสอบถามข้อมูล หรือติดต่อชื้อปูนิ่มมาประกอบอาหาร พหลฟาร์ม เปิดบริการทุกวัน ติดต่อได้ที่ คุณพิธาน ลิปิสุนทร โทรศัพท์ 086-755-2252