ชมพูพันธุ์ทิพย์ บานสะพรั่ง ณ ทุ่งบางเขน

ชื่อสามัญ ชมพูพันธุ์ทิพย์ (Pink trumpet tree)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Tabebuia rosea (Bertol.) DC.

วงศ์ BIGNONIACEAE

“ทางไปสู่เกียรติศักดิ์ จักประดับดอกไม้ 

หอมยวลชวนจิตไซร้ ไป่มี…” (พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 6)

เพราะเดือนนี้เป็นเดือนแห่งความรัก…ผู้เขียนจึงอัญเชิญพระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิต ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ใช้สอนใจตัวเองอยู่เสมอๆ เพราะหากแปลความก็จะได้ว่า…“หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ”

ฤดูกาลนี้ความรักคงจะเบ่งบาน เฉกเช่นเดียวกันกับธรรมชาติ มองไปทางไหนก็จะเห็นพรรณไม้หลากหลายชนิดต่างผลิดอก อวดสีสันสดใส หลอกล่อให้หมู่ภมรมาดอมดม โดยเฉพาะสีชมพูอ่อนๆ และชมพูเข้มของดอก “ชมพูพันธุ์ทิพย์” ซึ่งได้เบ่งบานสะพรั่งทั้งต้น ต้อนรับเดือนแห่งความรัก ดอกกลีบบางๆ ที่ร่วงหล่นเต็มลานหญ้าก็ประหนึ่งพื้นนั้นปูด้วยพรมนุ่มสีชมพูน่าชม

ที่ทุ่งบางเขนแห่งนี้ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน) ถึงแม้จะมีไม่มากเท่าที่วิทยาเขตกำแพงแสน แต่บนต้นนั้นสีของดอกสวยงามสะดุดตา จนต้องแหงนคอตั้งบ่ากดชัตเตอร์ไว้ชมยามเพลินใจ แม้จะเดินจากมาก็อดไม่ได้ที่จะเหลียวหลังกลับไปมองอีกครั้ง คราวนี้อาการหนักเลย เพราะยืนเหม่อมองเห็นภาพตัวเอง กำลังยืนห่อตัวหนาวสั่นบนดินแดนหิมะ ชมดอกซากุระที่มีแต่ดอกหาใบแทบไม่ได้เลย..(ผู้เขียนยังไม่เคยไปสักกะที… …ฮา…)

ตอนเข้ามาในรั้วเกษตรใหม่ๆ ยามที่เห็นดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ร่วงหล่นสู่พื้น รู้สึกเศร้าสร้อยเหมือนเห็นสัญญาณของการลาจาก ช่วงนั้นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ มหาวิทยาลัยกำลังจะปิดเทอม และเป็นช่วงสอบปลายเทอมของเด็ก ม. ปลาย… ใครกันนะช่างมองเห็นภาพนี้ออก จึงได้นำมาปลูกไว้ให้ออกดอก และร่วงหล่นในช่วงเวลานี้

ชมพูพันธุ์ทิพย์ เป็นพืชในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE) มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ เป็นต้นไม้ประจำชาติเอลซัลวาดอร์ ผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยคือ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ชายาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต นำมาปลูกในประเทศไทย เมื่อปี 2500 ชื่ออื่น ชมพูอินเดีย, ธรรมบูชา

ชมพูพันธุ์ทิพย์ เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดกลางถึงใหญ่ เรือนยอดรูปไข่หรือทรงกลม แผ่กว้างเป็นชั้นๆ เปลือกต้นเรียบสีเทาหรือสีน้ำตาล เมื่ออายุมากเปลือกแตกเป็นร่อง กิ่งเปราะหักง่าย ใบเป็นใบประกอบรูปนิ้วมือ ใบย่อย 5 ใบ ก้านใบรวมยาว 5-30 เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาว 0.5-2.5 เซนติเมตร

ใบ รูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 7.5-16 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาสีเขียวเข้ม

ดอก มีสีชมพูอ่อน ชมพูสดถึงสีขาว กลางดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น 5 แฉก คล้ายรูปแตร ยาว 5-7 เซนติเมตร ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-8 เซนติเมตร มักบานพร้อมกัน ร่วงง่าย

ผล เป็นผลแห้ง แตกเป็นฝักกลม ยาว 15-30 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก เมล็ดแบนสีน้ำตาล มีปีก ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง

การนำไปใช้ประโยชน์ ใบต้มแก้เจ็บท้องหรือท้องเสีย หรือตำให้ละเอียดพอกใส่แผล ลำต้นใช้ทำฟืน และเยื่อใช้ทำกระดาษได้

ชมพูพันธุ์ทิพย์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีสีดอกที่สวยงาม เวลาออกดอกจะบานสะพรั่ง เห็นแต่สีชมพูของดอก ส่วนใหญ่แล้วดอกจะไปออกตรงปลายกิ่ง สีดอกอาจจะชมพูเข้มจางไม่เท่ากัน อาจจะชมพูจางจนเกือบซีดขาวหรือเข้มจนเกือบจะเป็นสีม่วงอมแดง ชมพูพันธุ์ทิพย์เริ่มผลิใบถึงใบแก่ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม เริ่มทิ้งใบถึงหยุดทิ้งใบในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ออกดอกเดือนมกราคม-เมษายน ติดฝักถึงฝักแก่เดือนเมษายน-กรกฎาคม

เป็นที่ฮือฮากันอย่างมากเมื่อ 2 ปีก่อน ชมพูพันธุ์ทิพย์ที่ปลูก ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ประมาณ 600 ต้น ได้บานสะพรั่งพร้อมกันเป็นสีชมพูงดงาม และได้จัดเป็นงานเทศกาลท่องเที่ยวประจำทุกปี นอกจากนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เลือกให้อุโมงค์ชมพูพันธุ์ทิพย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็น 1 ใน 22 จุดชมดอกไม้อันงดงาม จากโครงการ Dream Destinations 2 กาลครั้งนั้น…ความฝันผลิบาน” อีกด้วย

มีกลุ่มนักวิจัยได้ศึกษาการทำนายเวลาดอกบาน เพื่อเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยสถานที่ศึกษาคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนนี่เอง โดยได้ศึกษาผลของอุณหภูมิ และช่วงแล้งที่มีต่อเวลาดอกบาน และพบว่า หากฝนหยุดตกเร็วในฤดูฝน (เดือนตุลาคม) ชมพูพันธุ์ทิพย์จะมีดอกบานปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์ แต่ถ้าฝนหยุดช้า ช่วงดอกบานจะช้าออกไป และหากมีฝนแทรกเข้ามาในช่วงฤดูแล้ง จะทำให้เวลาดอกบานช้าไปถึงปลายเดือนมีนาคม หรือถึงเดือนเมษายน

นอกจากที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้ง 2 วิทยาเขต ดังที่ได้กล่าวมา เราสามารถไปชมดอกชมพูพันธุ์ทิพย์บานสะพรั่งได้ที่ สวนจตุจักร สวนรถไฟ (สวนวชิเบญจทัศ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมทหารราบ 11 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี อ่างเก็บน้ำบางพระ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และที่ต่างๆ อีกมากมาย และด้วยความสวยงามน่าหลงใหลของชมพูพันธุ์ทิพย์ จังหวัดพังงา ได้เนรมิตภูเขาสีชมพูแห่งแรกในภาคใต้ โดยปลูกชมพูพันธุ์ทิพย์เพื่อปรับภูมิทัศน์-พัฒนาการท่องเที่ยว ที่ “เขานางหงส์” เพื่อให้ออกดอกบานสะพรั่ง ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม ของทุกปี

มนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งที่จะหาไหนเปรียบได้ คือสีสันของดอกไม้ ที่ล้วนเสริมเติมแต่งให้ธรรมชาติสวยงาม ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองกรุง ซึ่งดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย แต่ก็เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา การดื่มด่ำกับธรรมชาตินี่แหละที่จะช่วยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามวิถีการดำรงชีพของมนุษย์ แม้ว่าความเจริญทางวัตถุเข้ามา แต่ความเจริญทางจิตใจก็ไม่ได้ถอยห่างออกไป

เอกสารอ้างอิง

พระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิต ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “ดุสิตสมิต” เล่ม 4 ฉบับที่ 42 วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2462

ธีรนาฏ กาลปักษ์ ศศิยา ศิริพานิช และ อรวรรณ ปลื้มจิตร. 2559. ความเป็นไปได้ในการทำนายเวลาดอกบานของต้นชมพูพันธุ์ทิพย์. วารสารพืชศาสตร์สงขลานครินทร์ ปีที่ 3 ฉบับพิเศษ (II) : 17-22.