เผยแพร่ |
---|
ส่วนที่เป็นหม้อข้าวของหม้อข้าวหม้อแกงลิง หลายคนเข้าใจว่าเป็นดอก แต่ความเป็นจริงคือ ใบ ที่พัฒนามาเป็นหม้อข้าว เพื่อใช้เป็นกับดักแมลง จากการสันนิษฐานของนักวิชาการ สรุปว่า ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นพืชที่วิวัฒนาการมาจากแหล่งที่มีดินขาดความอุดมสมบูรณ์ หรืออาจขาดธาตุใดธาตุหนึ่ง มันจึงพัฒนาส่วนของปลายใบขึ้นมาเป็นกับดักแมลง แล้วผลิตน้ำย่อยออกมาย่อยตัวแมลงที่จับไว้ได้ เพื่อนำสารอาหารที่ต้องการไปหล่อเลี้ยงตัวมันเองให้สมบูรณ์ สามารถสืบเผ่าพันธุ์ต่อไปได้
หม้อข้าวหม้อแกงลิง มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เจริญเติบโตอยู่ในที่ราบ และ กลุ่มที่เจริญเติบโตอยู่ในบริเวณที่สูง ทั้งนี้ กลุ่มแรกต้องการอากาศร้อนชื้น ส่วนกลุ่มที่สอง ต้องการอากาศหนาวเย็น ดังนั้น การนำหม้อข้าวหม้อแกงลิงมาปลูกเลี้ยงใน กทม. และเขตปริมณฑล จำเป็นต้องเลือกกลุ่มแรก สังเกตได้จากมีการปลูกเลี้ยงกันอยู่ทั่วไป จึงจะได้ผลดี หม้อข้าวหม้อแกงลิงกลุ่มนี้ต้องการแสงแดดเพียง 60-80 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น แสงแดด เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อขนาดและสีสันของหม้อข้าวหม้อแกงลิง จึงควรหลีกเลี่ยงการปลูกเลี้ยงในสภาพใต้ร่มเงา ส่วนความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศอยู่ในระดับ 80 เปอร์เซ็นต์
ถึงแม้ว่ามีความต้องการความชื้นสูง แต่ไม่ควรรดน้ำวันละหลายครั้งจนวัสดุปลูกชื้นแฉะ หากปลูกน้อยต้น ให้นำถาดพลาสติก ขอบสูง 2-3 นิ้ว วางในแนวราบ แล้ววางเรียงแผ่นอิฐมอญให้เต็มถาด เทน้ำลงไปอย่าให้ล้นถาดออกมา แล้วจึงวางกระถางปลูกหม้อข้าวหม้อแกงลิงเหนือระดับน้ำขึ้นไปเล็กน้อย
การให้น้ำ หากเคยให้ตอนเช้าก็ควรปฏิบัติเหมือนเดิมไปตลอด ระวังอย่าให้วัสดุปลูกแห้ง เพราะจมีผลทำให้หม้อข้าวหม้อแกงลิงแห้งฝ่อตามไปด้วย วัสดุปลูกที่นิยมใช้กัน มีส่วนผสมของแกลบดิบ กาบมะพร้าวสับเล็ก หินภูเขาไฟ และขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1:3:3:5 คลุกเคล้าให้เข้ากัน สำหรับปุ๋ยแล้ว หม้อข้าวหม้อแกงลิงต้องการน้อย ให้ใส่ปุ๋ยละลายช้า อัตรา 5-8 เม็ด ต่อกระถาง นับว่าเพียงพอ หมั่นดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ คุณจะได้ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงสวยงามสมความตั้งใจ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559