ที่มา | ไม้ดอกไม้ประดับ |
---|---|
ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
เผยแพร่ |
“มะลิ” เป็นต้นไม้ที่ดอกมีเสน่ห์จากสีขาวบริสุทธิ์ อีกทั้งยังมีกลิ่นหอม และจากสี กลิ่น ที่มีความเหมาะสมดังนั้นชาวพุทธจึงใช้ดอกมะลิเพื่อบูชาพระ
การปลูกมะลิไม่ใช่เรื่องยาก และเป็นไม้ดอกที่สามารถปลูกได้ทุกแห่งไม่จำกัดขนาดพื้นที่และทำเล เหตุนี้จึงทำให้มีผู้ปลูกมะลิแบบจำพวกสมัครเล่นด้วยการปลูกในกระถางขนาดไม่ใหญ่ไว้ในบริเวณบ้าน ที่อยู่อาศัย เพื่อเชยชม และคลายเหงา หรืออีกจำพวกที่ปลูกเพื่อหารายได้ทำเป็นอาชีพ
ซึ่งการปลูกมะลิเป็นอาชีพนั้น มีพื้นที่ปลูกหลายแห่ง ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ แต่เนื่องจากการทำอาชีพนี้เงื่อนไขอย่างหนึ่งของการกำหนดราคาตัวสินค้าคือดอกมะลิจะต้องมีความสดและสมบูรณ์ ดังนั้นปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญคือการขนส่ง
ฉะนั้น พื้นที่ปลูกมะลิที่สำคัญจึงมักอยู่ใกล้เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯซึ่งมีตลาดรองรับมาก การขนส่งไม่ไกลและลดความเสี่ยงในเรื่องความเสียหาย แต่ก็มิใช่เหตุผลเช่นนั้นเสมอไปเพราะมะลิเป็นดอกไม้มงคลที่ต้องใช้กันทั่วประเทศจึงมีหลายจังหวัดทั่วประเทศสามารถปลูกได้ และหลายแห่งสามารถบริหารจัดการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนจังหวัดที่มีการปลูกมะลิกันเป็นหลักได้แก่ จังหวัดนครปฐม นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิษณุโลก ลำพูน หนองคาย และสมุทรสาคร เขตจังหวัดที่ปลูกมากที่สุด คือ นครปฐม ซึ่งปลูกถึง 1,964 ไร่
มีเกษตรกรรายหนึ่ง ที่จังหวัดกำแพงเพชร ทำอาชีพปลูก-จำหน่ายดอกมะลิแล้วป้อนเข้าสู่ตลาดปากคลองตลาด ที่กรุงเทพฯ และทำมานานกว่า 30 ปี ถือว่าเป็นผู้ปลูกรายใหญ่ที่ปลูกเองแล้วยังมีลูกไร่จำนวนหนึ่งด้วย จนสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดีและไม่เพียงเท่านั้นยังได้ร้อยมาลัยสำเร็จส่งไปจำหน่ายอีกด้วย กระทั่งสามารถซื้ออาคารพาณิชย์ที่ปากคลองตลาดเป็นฐานที่ตั้งต่อยอดทำธุรกิจขายดอกไม้กระจายเข้าสู่เมืองกรุงแล้วส่งลูก-หลานไปทำหน้าที่บริหารงานดูแล
เริ่มต้น เพียง 1 ไร่
ไปสู่การขยายพื้นที่ปลูก
คุณพยูร อินเทียน อยู่บ้านเลขที่172 หมู่ 4 ตำบลยางสูง อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร โทรศัพท์ 081-8170411 เล่าถึงจุดเริ่มต้นการปลูกมะลิว่าความจริงตัวเธอมีอาชีพปลูกพริก ขณะเดียวกันพี่ชายปลูกมะลิส่งไปขายที่ปากคลองตลาด แต่พี่ชายเห็นว่ามะลิมีรายได้ดีกว่าและตลาดมีความต้องการมาก จึงชักชวนแกมบังคับให้เธอช่วยปลูกมะลิร่วมด้วย จึงทำให้เธอต้องปลูกมะลิในเนื้อที่จำนวน 1 ไร่
พอมาช่วงหลังกลับเห็นว่ามีรายได้ดีจริงตามที่พี่ชายบอก คุณพยูร จึงมองไปข้างหน้าว่าเส้นทางอาชีพนี้น่าจะโฉลกกับเธอเพราะยิ่งทำ ยิ่งได้ จากนั้นเธอได้วางเครือข่ายการปลูกและจำหน่ายดอกมะลิแบบที่ใช้ลูกไร่ช่วย
“เมื่อหลายปีก่อน ปลูกเองในที่นา และรับมาจากลูกไร่ด้วย ซึ่งต่อมาทำเอง ส่งขายเอง โดยมีการเช่าแผงไว้ที่ปากคลองตลาด มีการขยายลูกไร่ออกไปที่ละราย จนกระทั่งมีจำนวนลูกไร่กว่า 50 คน แต่ในปัจจุบันจำนวนลูกไร่ลดลงเหลือ 30 คน เหตุผลเพราะคนที่เคยทำพอเก่งแล้วพวกเขาเหล่านั้นจะแยกไปทำเอง”
คุณพยูร บอกว่า มะลิพันธุ์ที่ใช้ปลูกตั้งแต่แรกชื่อมะลิพันธุ์เพชร ไปซื้อเป็นกิ่งพันธุ์มาจากนครนายกราคากิ่งละ 2-3 บาท ข้อดีของพันธุ์นี้คือมีข้อถี่ สวย ดก และดอกแหลม
สำหรับแปลงปลูกมะลิของคุณพยูรใช้ที่นาปลูกเองประมาณ 10 ไร่ แต่ถ้ารวมของลูกไร่ด้วยจะมีจำนวน 50-60 ไร่ เธอบอกว่าเนื้อที่ 1 ไร่ สามารถปลูกมะลิได้ถึง 4-5 พันต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปลูกถี่หรือห่าง ส่วนงบลงทุนนั้นใช้ต้นทุนต่อไร่ในการลงทุนครั้งแรกไม่เกิน 3 หมื่นบาท อันนี้เป็นค่าต้นพันธุ์,ค่าปุ๋ย และค่าปรับปรุงดิน หลังจากนั้นมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นบ้างเป็นระยะ
มะลิ ชอบน้ำ
แต่ต้องไม่มากเกินไป
เจ้าของสวนมะลิอธิบายถึงขั้นตอนปลูกว่าจะต้องเตรียมดินด้วยการไถ ชักร่อง แบบเดียวกับการเตรียมปลูกอ้อย เธอบอกว่ามะลิปลูกได้ทุกสภาพดิน แต่ต้องชักร่อง และไม่ควรให้น้ำขัง ตอนแรกต้องใช้ปุ๋ยยูเรีย เพื่อต้องการเร่งให้ต้นมะลิโตเร็ว จากนั้นค่อยให้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 และควรรดน้ำเสมออย่าให้ดินแห้งมาก แต่ห้ามให้น้ำมากเกินไป
การให้น้ำ ต้นมะลิจะต้องการน้ำพอสมควร หากดินยังแฉะอยู่ไม่ควรรดน้ำ ควรรอจนกว่าดินจะแห้งหมาด เสียก่อน ทั้งนี้อาจให้น้ำวันละ 1-2 ครั้งหรืออาทิตย์ละครั้งก็ได้ขึ้นอยู่กับสภาพของดิน โดยให้รดน้ำในตอนเช้า แต่ระวังอย่าให้น้ำท่วม หรือมีน้ำขังอยู่ในแปลงนาน ๆ เพราะจะทำให้ต้นมะลิแคระแกร็น ใบเหลือง และตายได้
“ในระยะเวลาที่ต้นยังมีขนาดเล็กต้องหมั่นดูแลอย่าให้มีวัชพืช แล้วให้ใส่ปุ๋ยแล้วดึงน้ำมารด พร้อมกับฉีดยาเพื่อป้องกันแมลงมารบกวน ปุ๋ยที่ใช้ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยให้ใช้ปุ๋ยยูเรียผสมกับปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่ต้น พร้อมกับฉีดยาเร่งให้แตกดอก อีกทั้งต้องฉีดฮอร์โมนอาทิตย์ละครั้ง”
การปลูกมะลิโดยทั่วไปนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม มะลิเป็นไม้ที่ชอบดินร่วนซุยมีการระบายน้ำดี มีอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารสมบูรณ์ หากจะปลูกมะลิให้มีอายุยืนยาว ควรขุดหลุมลึก กว้าง และยาวด้านละ 50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก ใบไม้ผุหรือปุ๋ยหมัก และวัสดุอื่น ๆ ในอัตราส่วน 1:1:1 พร้อมกับเติมปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) และปุ๋ยผสมสูตร 15-15-15 อย่างละ 1 กำมือ คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วใส่กลับลงไปในหลุมใหม่ ทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน จึงนำเอาต้นมะลิลงปลูก ควรจะปลูกให้มะลิได้รับแสงแดดเต็มที่ เพื่อดอกจะได้ดกตามต้องการ
ทางด้านการดูแลรักษาคุณพยูรบอกว่า ต้องหมั่นเอาใจใส่ดูแลกำจัดวัชพืช อัตราการใส่ปุ๋ยขึ้นอยู่กับขนาดของทรงพุ่ม ใส่เดือนละครั้ง โดยการหว่านและรดน้ำตามด้วย นอกจากนั้นควรมีการตัดแต่ง หลังจากปลูกมะลิไปนาน ๆ แล้วมะลิจะแตกกิ่งก้านสาขามากมาย ควรตัดแต่ทรงพุ่มให้โปร่ง รวมทั้งตัดกิ่งที่แห้งและตายออกด้วย จะช่วยให้มะลิมีทรงพุ่มสวยงาม โรคและแมลงลดน้อยลง ทำให้มะลิมีอายุยืนยาวขึ้น ให้ดอกมากขึ้น ซึ่งวิธีดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ปลูกมีความสะดวกในการปฏิบัติงานอีกด้วย
สำหรับโรคและศัตรูพืชที่มักต้องเจออาทิโรครากเน่าจัดได้ว่าเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อรา จะเกิดกับมะลิที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป โดยจะมีอาการใบเหลือง เหี่ยวและทิ้งใบต้นแห้งตาย เมื่อขุดดูจะพบว่ารากเน่าเปื่อย และที่โคนต้นจะพบเส้นใยสีขาว มักระบาดในสภาพดินที่เป็นกรด และพื้นที่ที่ปลูกซ้ำเป็นเวลานาน
การป้องกันกำจัด เมื่อพบต้นที่เป็นโรค ให้ถอนเผาไฟทำลายเสีย รวมทั้งเผาดินในหลุมด้วย แล้วใช้ปูนขาว หรือเทอราคลอผสมน้ำราดลงดิน
แมลงศัตรูที่สำคัญ ได้แก่หนอนเจาะดอก มักระบาดมากในฤดูฝน ทำให้ดอกเสียหายมาก โดยการเจาะกัดกินดอก ทำให้ดอกเป็นรูและผิดรูปร่าง เมื่อหนอนดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอกจะทำให้กลีบดอกเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมม่วง จะพบการทำลายของหนอนเจาะดอกนี้มากกว่าแมลงตัวอื่นๆ หากป้องกันกำจัดไม่ทันจะเกิดความเสียหายมาก
การป้องกันที่ดีและเหมาะสมนั้นควรกำจัดเก็บเศษพืชที่หล่นบริเวณโคนต้นเผาทำลาย เพื่อป้องกันดักแด้ของหนอนเจาะดอก ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของตัวแก่ได้ การใช้กับดักแสงไฟ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดการทำลายของหนอนเจาะดอกมะลิ และช่วยลดปริมาณการพ่นสารเคมีอีกด้วย พยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี แต่หากไม่สามารถทำได้และอยู่ในขั้นรุนแรงให้ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัด เช่น แลนเนท
ชอบอากาศร้อน ทำให้ดอกดก
ไม่ชอบอากาศเย็น เพราะดอกหาย
คุณพยูรบอกถึงการนับระยะเวลาจากนำต้นลงดินจนเป็นทรงพุ่ม ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน แต่มีบางรายถ้าดูแลบริหารจัดการไม่ดีอาจนานไปถึง 4-5 เดือน และช่วงดังกล่าวนี้ต้นจะเจริญเติบโตเป็นทรงพุ่ม แต่ยังไม่มีดอก ซึ่งดอกจะเริ่มมีประมาณช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน เพราะดอกมะลิมักจะออกในช่วงหน้าร้อน และยิ่งร้อนยิ่งชอบ และจะมีดอกให้เก็บเรื่อยไปตลอด ครั้นพอถึงในช่วงหนาวดอกมักไม่ค่อยออก เพราะไม่ชอบความเย็น
อากาศเย็นจะสร้างปัญหาต่อผลผลิตดอกมะลิทำให้ในช่วงฤดูหนาวดอกมะลิจะออกน้อยและช้ากว่าช่วงอื่น จึงทำให้ลูกเขยของเธอทดลองหาวิธีแก้ไขด้วยการนำมุ้งมากางครอบแปลงปลูกมะลิในพื้นที่ 1 ร่องปลูก เพราะเมื่อกางมุ้งไว้แล้วจะทำให้อากาศเย็นไม่เข้า ขณะเดียวกันภายในมุ้งจะเกิดความร้อนขึ้นอันเป็นผลดี ทำให้ต้นมะลิสามารถออกดอกได้เร็ว ปรากฏว่าหนาวนี้อากาศไม่เย็นตามคาดจึงไม่เห็นผล กระนั้นก็ตามเธอบอกว่าคงต้องทำไว้ก่อนเพราะในช่วงหนาวหน้าอาจพบอากาศเย็น อีกทั้งยังเห็นว่าช่วงนี้อากาศแปรปวน
“เก็บผลผลิตได้ทั้งปี พอเริ่มมีดอกจะเก็บได้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด ยิ่งหากดูแลเอาใจใส่อย่างดีด้วยการปรับปรุงจะมีดอกออกตลอดและมีความสมบูรณ์มาก อายุขัยของต้นมะลิกว่า 10 ปี เก็บได้ครั้งละจำนวนเกือบ 5 กิโลกรัมต่อไร่ อันนี้ต้องอยู่ที่การดูแลให้ดีนะ แต่ถ้าทำไม่ดีคงได้แค่ไม่เกิน 3 กิโลกรัมต่อไร่”
ด้วยเนื้อที่ปลูกของตัวเองที่มีอยู่จำนวนกว่า 10 ไร่ การเก็บดอกมะลิของเธอใช้วิธีจ้างคนงานเก็บ โดยช่วงเวลาที่เก็บดอกมะลิในแต่ละวันจะเริ่มเก็บประมาณ 8 โมงเช้า ถ้าเป็นช่วงที่มะลิมีราคาดีค่าจ้างเก็บกิโลกรัมละ 100 บาท แต่ช่วงไหนถ้าราคาตกหน่อยค่าจ้างเก็บจะเหลือกิโลกรัมละ 50-60 บาท ทั้งนี้ไม่ได้ให้เก็บดอกมะลิอย่างเดียวจะต้องมีงานอย่างอื่นทำในแปลงปลูกด้วยเช่นการให้ปุ๋ยหรือการจัดการในสวน
เธอบอกว่าหนึ่งกิโลกรัมที่จ้างคนงานเก็บนั้นใช้เวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง เพราะฉะนั้นภายในหนึ่งวันคนหนึ่งจะเก็บได้ถึง 10 กิโลกรัมถ้าคิดเป็นเงินน่าจะได้พันกว่าบาท และบอกว่าถ้าหากคนไหนเก็บเก่งภายในหนึ่งวิก ( 1สัปดาห์)สามารถได้เงินเป็นหมื่น
ร้อยพวงมาลัยขาย
สร้างรายได้ ครบวงจร
นอกจากขายเฉพาะดอกมะลิแล้ว คุณพยูรมองว่าหากจะทำให้ครบวงจรควรร้อยมาลัยไปและส่งไปขายพร้อมกัน ซึ่งเป็นพวงมาลัยสำเร็จโดยผลิตเป็นพวงเล็กและพวงใหญ่ ดังนั้นในแปลงมะลิของเธอจึงปลูกต้นดอกรัก จำปี ดอกพุทธ ไว้ด้วย เพราะไม้เหล่านี้เธอต้องใช้สำหรับร้อยพวงมาลัยจำนวนมากเพื่อนำไปขายที่ปากคลองตลาดด้วย
“เฉพาะร้อยมาลัยช่วงตรุษจีนมีรายได้เกือบแสนบาทแล้ว ร้อยเป็นพวงแล้วจับรวมเป็นพวงขนาดใหญ่แล้วจับใส่กล่องโฟมส่งเข้าที่ปากคลองตลาดเที่ยวละเกือบ 40 กล่อง”
เธอบอกว่าในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาของการทำอาชีพปลูกมะลิขาย ถือว่าเป็นไม้ดอกที่สร้างรายได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากเทียบกับการทำนาที่เธอมีอยู่ 100 กว่าไร่แล้วจะมีรายได้ที่เป็นเงินก้อนนานๆครั้ง แต่การประกอบอาชีพทำมะลิมีเงินตลอดทุกวัน ยิ่งถ้าดูแลดี ยิ่งทำให้มีรายได้ดี เพราะมีตลาดรองรับตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่สำคัญต่างๆราคาจะดีมาก
“ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ดอกมะลิราคาดีมากและถีบขึ้นสูงอีกทั้งยังขาดตลาด จนทำให้คนที่ร้อยพวงมาลัยแถวนครสวรรค์หามะลิไม่ได้ต้องมาหาซื้อแถวกำแพงเพชร ช่วงนั้นราคากิโลกรัมละ 800-1,500 บาท”
สิ่งที่ยืนยันถึงความมีรายได้ดีจากอาชีพนี้เธอเปิดเผยว่าเมื่อก่อนตอนทำใหม่ๆมีบ้านไม้หลังเล็กนิดเดียว แต่ปัจจุบันสร้างหลังใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม แล้วย้ายบ้านหลังเก่าใช้ทำเป็นบ้านพักของคนงาน
คุณพยูร มีลูก 2 คน เป็นชายและหญิง ปัจจุบันทั้งคู่พักอาศัยพร้อมกับรับผิดชอบการขายดอกมะลิ พวงมาลัยและดอกไม้สดชนิดอื่นทั้งปลีกและส่งอยู่ที่ร้านขายเป็นอาคารพาณิชย์ที่ซื้อไว้ที่ปากคลองตลาด กรุงเทพฯ โดยมีลูกค้ามารับซื้อที่ปากคลองตลาดจะเป็นกลุ่มคนขายมาลัยตามสี่แยก หรือร้านขายดอกไม้ตามตลาดหรือตามแหล่งชุมชนในกรุงเทพฯ และยังบอกว่าอาชีพปลูกมะลิในวันข้างหน้ายังคงสดใส เพราะความจำเป็นในการใช้ในชีวิตประจำวันยังคงมีอยู่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2562