ระย่อมน้อย

ชื่อหวานอ่อนระทวย ดอกสวยคมเข้ม ลดเต็มความดัน “งู” หันเลื้อยหนี

ชื่อวิทยาศาสตร์ Rauwolfia serpentia (L.) Benth.

ชื่อสามัญ Serpent  wood, Indian Snake Root

ชื่อวงศ์ APOCYNACEAE

ชื่ออื่นๆ ย่อม ขะย่อม กะย่อม เข้ม คลาน ปลายข้าวสาร สะมออู กอเหม่ มะโอ่งที ย่อมตีนหมา ละย่อม

หนูอยากเป็นสาวใต้ตาคม เพราะชื่อที่เรียกหนูฟังดูอ่อนหวาน คือชื่อ “ปลายข้าวสาร” ที่ชาวจังหวัดกระบี่ เรียกขาน  ส่วนชาวสุราษฎร์ธานี เรียกหนูว่า “ละย่อม” ชวนให้คิดถึงภาษาทางเหนือที่เอ่ยว่า ละอ่อน แต่หนูตกใจทุกครั้งที่ถูกเรียกว่า “ระย่อมตีนหมา” แหม..? ช่างห่างไกลกันเหลือเกิน อย่างนี้จะเรียกเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า “สะมออู หรือ กอเหม่” ยังเท่กว่า ซะอีก

หนูมีญาติที่ใกล้ชิดกันคือ “ระย่อมหลวง และ ระย่อมใหญ่” ชื่อเสียงก็โด่งดังเป็นที่รู้จักพอๆ กัน และหนูเข้าข้างตัวเองว่า หนูมีสีสันของดอกที่คมเข้มกว่า และแม้ว่าหนูจะเป็นละอ่อนระย่อมน้อยนี่แหละ แต่ก็มีดอกที่สวยงามแล้วแฝงด้วยมี “พิษ” อ่อนๆ สำหรับผู้หญิงด้วยกัน ที่เรียกว่าสตรีมีครรภ์ หรือระหว่างการให้นมบุตร หมอจึงห้ามใช้ยาที่มีส่วนผสมของรากระย่อมด้วยนะจ๊ะ

ตัวหนูเองเป็นไม้พุ่มทรงไม่สวยนัก ความสูงไม่เกิน 1 เมตร มียางสีขาวใส ใบเดี่ยวรูปหอก ออกรอบๆ ข้อ ประมาณ 3 ใบ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงสีขาวแกมเขียว กลีบดอกสีขาว โคนกลีบเป็นหลอดสีแดง เมื่อดอกอายุแก่สีจะเข้มขึ้น เมื่อกลีบดอกโรยจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เรียกว่ายิ่งแก่ยิ่งสวย ใครเห็นช่วงนั้นก็จะยอมรับในความงามคมเข้ม

หนูมีชื่อในตำราสมุนไพรไทย ส่วนที่เด่นที่สุดก็คือราก ที่มีบทบาทเป็นยาสมุนไพรมากสรรพคุณ เพราะมีสารแอลคาลอยด์ Reserpine ซึ่งมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต และกล่อมประสาท ใช้กันมานานแล้วในประเทศอินเดีย นำรากไปบดเพื่อผลิตเป็นยาเม็ด ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ปัจจุบัน ทั้งยุโรปและอเมริกา ก็สกัดสารนี้ไปใช้เป็นยาเช่นกัน สำหรับในตำราแพทย์แผนไทย กล่าวว่า รากระย่อม ช่วยเจริญอาหาร บำรุงประสาท ลดระดับน้ำตาลและความดันโลหิต ถอนพิษไข้กาฬ ช่วยให้หลับสบาย คลายเครียด แก้ไข้ป่ามาลาเรีย แก้ลมชักในเด็กดีมาก สำหรับรากตากแห้ง บดเป็นผงชงชา เป็นยาระบายอ่อนๆ ได้ถ่ายพยาธิได้ รวมถึงถ่ายพยาธิในม้าโดยใช้ราก บดผสมน้ำมันมะพร้าว และยังใช้รากสดทารักษาโรค “หิด” ได้ดีด้วย ส่วนคุณผู้หญิงจะใช้เพื่อขับระดู ทำให้หลอดเลือดคลายตัว ลดอาการเกร็งก็ได้ดีนะจ๊ะ

หนูไม่กลัวงู และงูก็กลัวหนู โดยหนูเพิ่งรู้ว่า ที่เขาเรียก Indian Snake Root ก็เพราะว่ารากมีลักษณะที่คดงอเหมือนงูเลื้อย หนูจึงกลายเป็น 1 ใน 5 ต้นไม้ที่ปลูกเป็น “ต้นไม้กันงู” ใช้เป็นยาแก้พิษงู แมลงกัดต่อยได้ เห็นมั๊ยหนูก็ไม่ใช่ “ย่อยๆ” นะคะ

อ้อ..? ขอเตือนว่า ถ้ากินหนูมากเกิน  จะมีสารกล่อมประสาททำให้เกิดอาการข้างเคียงคือฝันร้าย มีอาการซึมเศร้าได้  แล้วอาจจะคัดจมูกด้วย  ขอเตือนไว้ก่อน..นิ.