ยมหิน

ยมหิน เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดแพร่ ซึ่งมีคำขวัญประจำจังหวัดคือ หม้อห้อม ไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม โดยแต่ละท่อนของคำขวัญมีความหมายดังนี้

“หม้อห้อม” เป็นภาษาพื้นเมือง เป็นการรวมคำ ระหว่าง คำว่า “หม้อ” กับ “ห้อม” ซึ่งคำว่า หม้อ หมายถึง ภาชนะชนิดหนึ่ง ส่วน คำว่า ห้อม หมายถึง พืชชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ต้นห้อม หรือต้นคราม ซึ่งจะให้สีน้ำเงินหรือกรมท่าในการย้อมผ้า “ผ้าหม้อห้อม” เป็นของดีเลื่องชื่อของเมืองแพร่ ที่มีชื่อเสียงมานาน หม้อห้อม เป็นผ้าพื้นเมืองที่ชาวแพร่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำเอาลำต้นและใบของห้อม (พืชล้มลุกในตระกูลคราม) มามัดและหมักในหม้อตามกรรมวิธีโบราณ ทำให้ได้น้ำสีกรมท่าหรือสีน้ำเงิน เสื้อหม้อห้อมมีลักษณะเป็นเสื้อคอกลม แขนสั้น ผ่าอกตลอด มักย้อมสีนํ้าเงินเข้มหรือดำ เขียนเป็น “ม่อห้อม” หรือ “ม่อฮ่อม” ก็มี หม้อห้อมเป็นเครื่องแต่งกายพื้นบ้านของไท ตั้งแต่ไทลื้อ ในสิบสองปันนา ลาวในประเทศลาว และไทล้านนาทางภาคเหนือของไทย

      ไม้สัก จังหวัดแพร่ ได้ชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้สักมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย หลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความมั่งคั่งของป่าไม้สักก็คือ การนำไม้สักมาสร้างเป็นคุ้ม หรือเรือนของเจ้าเมืองในสมัยก่อน

       ถิ่นรักพระลอ “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใดพี่เอย เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่นฤๅพี่ สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ” นี่เป็นเพียงบางส่วนจากวรรณกรรมพระลอ ที่มีเค้าโครงมาจากตำนานรักอมตะพื้นบ้านเมืองเหนือ ตำนานรักของพระลอเชื่อว่าเกิดขึ้นที่เมืองสรวง คือ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ในปัจจุบัน จากหลักฐานต่างๆ นักวรรณคดีจึงเชื่อว่าเมืองสรวงของพระลอ ก็คือ เมืองสองในปัจจุบัน ซึ่งยังคงปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีและพบวัตถุโบราณเก่าแก่มากมายหลายประการ ที่ตำบลบ้านกลาง ปรากฏร่องรอยเป็นตัวเมือง มีมูลดินถมเป็นกำแพงเมืองหนา 3 ชั้น นอกจากนั้นยังมีสถานที่อื่นๆ ที่มีชื่อพ้องกับเรื่องลิลิตพระลออีกหลายแห่ง เช่น มีนํ้าตกกาหลง เด่นนางฟ้อน ถํ้าปู่เจ้าสมิงพราย และยังมีพระธาตุพระลอที่ยังเชื่อกันว่ามีเรื่องราวเกี่ยวพันกับเรื่องพระลอ จนทางราชการได้จัดสร้างรูปปั้นพระลอ พระเพื่อน พระแพง ขึ้นไว้ในบริเวณวัดด้วย

       ช่อแฮศรีเมือง พระธาตุช่อแฮ ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองแพร่ เป็นหนึ่งในพระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตร คือ พระธาตุประจำปีขาล (ปีเสือ) “แฮ” สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจาก คำว่า “แพร” หรือ “ผ้าแพร” ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับชื่อของจังหวัดแพร่ บุคคลใดที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่แล้วจะต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮ เพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเอง จนมีคำกล่าวว่า ถ้ามาเที่ยวจังหวัดแพร่ แต่ไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮ เหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่

        ลือเลื่องแพะเมืองผี แพะเมืองผี มีสภาพเป็นป่าบนที่ราบลอนคลื่น สภาพสูงๆ ต่ำๆ ไม่สม่ำเสมอ มีลักษณะเป็นเนินเตี้ยๆ จะมีเสาดินรูปร่างประหลาดเกิดจากกระบวนการกระทำของนํ้าไหล และชะชั้นดินที่มีความแข็งไม่เท่ากัน นักธรณีวิทยาประมาณค่าอายุของดินแห่งนี้ ว่าอยู่ในยุคค่อนข้างใหม่ มีอายุตั้งแต่ 15 ล้านปี จนถึงปัจจุบัน ลักษณะการเกิดของเสาดินเกิดจากหินที่ยังแข็งตัวไม่เต็มที่ ประกอบด้วย ชั้นดินทราย ชั้นหินทราย สลับกันเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีความต้านทานต่อการผุพังไม่เท่ากัน เมื่อถูกนํ้าฝนชะซึมสู่ชั้นหินที่มีความต้านทานต่อการผุพังน้อยกว่า ก็จะถูกกร่อนโดยง่าย เหลือชั้นที่มีความต้านทานต่อการผุพังมากกว่า ทำหน้าที่เสมือนแผ่นเกราะวางอยู่ข้างบน ทำให้นํ้าไม่สามารถชะกร่อนต่อไปได้ง่าย ส่วนที่เหลือให้เห็นอยู่โดยการเกิดลักษณะนี้ จึงมีรูปร่างเป็นหย่อมแตกต่างกัน

       คนแพร่นี้ใจงาม คนแพร่มีน้ำจิตน้ำใจงาม โอบอ้อมอารี ซื่อสัตย์ ใช้ชีวิตเรียบง่าย รักษาวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ทำให้เมืองแพร่เป็นเมืองที่น่าอยู่ ชาวแพร่มีความภาคภูมิใจกับสิ่งต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นเป็นอันมาก แต่ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจเช่นเดียวกัน สิ่งนั้นก็คือ “ต้นยมหิน” ซึ่งเป็นต้นไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลกับจังหวัดแพร่ และต่อไปนี้คือรายละเอียดเกี่ยวกับ ต้นยมหิน

       ชื่ออื่น : โค้โย่ง (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ช้ากะเดา (ใต้), ยมขาว (เหนือ), ยมหิน มะเฟืองต้น สะเดาช้าง สะเดาหิน (กลาง), ริ้งบ้าง รี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เสียดค่าย (สุราษฎร์ธานี)

ชื่อสามัญ : Almond-wood, Chickrassy Chittagong-wood

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chukrasis velutina Roem

ชื่อวงศ์ : Meliaceae

 ข้อมูลทั่วไป

       

ดอกยมหิน มีลักษณะเป็นช่อ มีกลิ่นหอม
ดอกยมหิน มีลักษณะเป็นช่อ มีกลิ่นหอม

ยมหิน ต้นไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลกับจังหวัดแพร่ ต้นนี้ คนทั่วไปที่มิใช่ชาวแพร่มักจะไม่ค่อยคุ้น ทั้งไม่คุ้นหูและไม่คุ้นตา เพราะไม่นิยมปลูกกันทั่วๆ ไป ถ้าเป็นคนภาคใต้มักจะคุ้นกับ ต้น “ยม” มากที่สุด แต่ต้นยมที่ว่านี้ไม่ใช่ต้นยมหิน แต่เป็นต้น “มะยม” ที่ผู้คนแทบทุกภาคชอบปลูกกันแทบทุกบ้าน เพราะเชื่อกันว่าถ้าปลูกมะยมไว้หน้าบ้าน จะทำให้เป็นที่นิยมชมชอบของคนทั่วๆ ไป เท็จจริงอย่างไร ก็เป็นความเชื่อ (เจ้าของบ้านต้องเป็นคนดี อยู่ในศีลธรรมด้วย ความเชื่อนี้จึงจะเป็นจริง)

      นอกจาก ต้นยมหิน และต้นมะยมแล้ว ยังมีต้นไม้อีกหลายชนิดที่ชื่อมี คำว่า “ยม” อยู่ด้วย ชนิดแรกคือ ยมหอม (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Toona ciliata M.Roem. ชื่อสามัญ : Cigar-box, Indian mahogany, Moulmein cedar) จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับ ยมหิน คือวงศ์ Meliaceae ประโยชน์อย่างอื่นคล้ายๆ กับยมหินเช่นเดียวกัน และมีเนื้อไม้ที่แข็งแรง ทนทาน ใช้ในการก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์ ส่วนดอก ใช้เป็นสีย้อมผ้าฝ้ายและผ้าไหม ให้สีเหลืองหรือแดง แต่ที่พิเศษคือ มีคุณสมบัติทางสมุนไพรอีกด้วย คือ เปลือกต้น ใช้เป็นยาฝาดสมาน ยาบำรุง แก้ไข้มาลาเรีย แก้ท้องผูก แก้โรคบิด ใช้ภายนอกรักษาแผล

          1401173098

และอีกหนึ่ง “ยม” คือ “ยมโดย” ถูกกล่าวถึงในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น นิราศอิเหนา…“โอ้รินรินกลิ่นบุหงาสะตาหมัน เหมือนกลิ่นจันทน์เจือนวลให้หวนโหย หอมยี่หุบสุกรมดอกยมโดย พระพายโชยเฉื่อยชื่นยืนตะลึง” บทละครสิงหไกรภพ ของ สุนทรภู่…“หอมระรื่นชื่นชายแต่สายหยุด สงสารนุชนึกถึงสวนให้หวนโหย หอมจันทน์อินกลิ่นโศกลมโบกโบย ทั้งยมโดยดอกดวงเป็นพวงงาม” บทเห่ กล่าวถึง ตัวสินสมุทร และอรุณรัศมี…“รื่นรื่นชื่นแช่ม กลิ่นนางแย้มยมโดย ให้หวิวหวิวหิวโหย ร่วงโรยกำลัง” บทเห่ เรื่องพระอภัยมณี ตอนนางละเวงเดินไพร ควบม้าหนีพระอภัย…“แก้วกุหลาบอังกาบแกม นางเด็ดแซมมวยผม สร้อยฟ้าน่าชม ทั้งสุกรมยมโดย บ้างบานตูมเป็นพุ่มพวง บ้างหล่นร่วงกลีบโรย” และในนิราศเมืองเพชร ของ สุนทรภู่ ก็ได้กล่าวถึงยมโดยดังนี้…“จิกจันทน์แจงแทงทวยกรวยกันเกรา โมกข์แมงเม่าไม้งอกซอกศิลา เหล่าลั่นทมยมโดยร่วงโรยกลิ่น ระรวยรินรื่นรื่นชื่นนาสา”…และในรามเกียรติ์; พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ก็กล่าวถึงยมโดยไว้ด้วย…“ประดู่ลำดวนยมโดย ลมโชยกลิ่นชวนหอมหวาน นางแย้มสายหยุดพุดตาล อังกาบชูก้านกระดังงา”                                                                                                                                                  

        ยมโดยในวรรณคดีเหล่านี้ ถูกกล่าวถึงในความหมายของต้นไม้ป่าที่มีดอกหอมมาก แต่พันธุ์ไม้เมืองไทยที่ชื่อยมโดย และยมโดยเกล็ดหอย อยู่ในกลุ่มช้องนางคลี่ เป็นพืชอิงอาศัยขนาดเล็ก ไม่มีดอกและไม่มีกลิ่นหอม จึงไม่น่าจะเป็นชนิดเดียวที่กล่าวถึงในวรรณคดีไทย (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, ไม้ในวรรณคดีไทย; พันธุ์ไม้ที่มีปัญหาเรื่องชื่อ) ดังนั้น (ความเห็นของผู้เขียน) ยมโดยต้นนี้อาจจะหมายถึง ยมหิน หรือ ยมหอม ก็อาจเป็นได้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ แต่ผลิใบใหม่เร็ว เรือนยอดเป็นพุ่มรูปกรวย เปลือกสีน้ำตาลคล้ำ สีเทาหรือเทาปนดำ แตกเป็นร่องลึกตามยาวของลำต้น

1401173085

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ มีขนาดความยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร มีใบย่อยที่ออกตรงข้ามกัน 4-6 คู่ และที่ปลายก้านอีก 1 ใบ ออกตรงข้ามกัน 4-10 คู่ ใบย่อยแต่ละใบในระยะกล้าไม้จะมีขอบใบหยักลึกคล้ายฟันเลื่อย ใบย่อยที่เป็นใบแก่จะมีรูปร่างใบแบบรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ฐานใบกลมหรือมน ปลายใบแหลม ท้องใบมีขนเล็กน้อย หลังใบมีขนอ่อนนุ่ม 2 ชนิด ชนิดแรกมีลักษณะเป็นขนยาว ปลายแหลมอ่อนนุ่ม ส่วนขนอีกชนิดหนึ่งจะมีจํานวนน้อยกว่าและสั้นกว่า มีลักษณะปลายขนแข็งกว่า ขึ้นปกคลุมด้านหลังใบเป็นจํานวนมาก ผิวใบเมื่อแก่จะเกลี้ยง เส้นแขนง ใบย่อย 8-10 คู่ ก้านใบยาวประมาณ 2-8 มิลลิเมตร

ช่อดอก ดอกมีลักษณะเป็นช่อ เกิดที่มุมของกิ่งอ่อน หรือที่ปลายกิ่ง มีความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นหอม ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร

กลีบเลี้ยง มีสีเขียวออกม่วง มี 4-5 กลีบ ปลายมน กลีบดอกมี 4-5 กลีบ แยกกันเป็นอิสระ มีความยาวมากกว่ากลีบเลี้ยง เป็นแผ่นยาวแต่แคบ ปลายมนมีสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองอ่อน มีขนสั้นๆ ขึ้นปกคลุมทั่วทั้งกลีบดอก

ผล เป็นผลแห้งเปลือกแข็ง สีน้ำตาล รูปไข่ ยาวประมาณ 2.5-5.0 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร ปลายแหลมเล็กน้อย เมื่อแก่จะมีสีดํา แตกออกจากส่วนปลายเป็นเสี่ยง ประมาณ 3-5 เสี่ยง ภายในผลแบ่งออกเป็น 3-5 ช่อง

เมล็ด แบน สีน้ำตาล ยาวเป็น 2 เท่า ของความกว้าง ในแต่ละช่องของผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 60-100 เมล็ด

การขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด

นิเวศวิทยา ป่าเบญจพรรณแล้งและชื้นทั่วไป สภาพดินทุกชนิด ต้องการน้ำและความชุ่มชื้นปานกลาง

สรรพคุณทางสมุนไพร ไม่พบการรายงานทางสมุนไพรแต่อย่างใด

ประโยชน์อื่น

เนื้อไม้ของยมหินมีสีน้ำตาลอมเหลือง เป็นมัน เนื้อละเอียด ไสกบตกแต่งง่าย ชักเงาได้ดี เป็นไม้ที่เหมาะสําหรับงานที่ใช้ในที่ร่ม เนื้อไม้ ไม้ท่อน และไม้แปรรูปของยมหินเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ใช้ในการทําเฟอร์นิเจอร์ที่มีราคาแพง ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ทําเสา ขื่อ รอด ตง ประตู หน้าต่าง ปูพื้นห้อง ทําด้ามเครื่องมือ ทํากล่องใส่ใบชา ไม้อัดและลังบรรจุของต่างๆ และใช้ในงานโครงสร้าง