โคลงเคลง นักเลงกินโคลงเคลง แล้วไปโคลงเรือ หรือ…โค-ลงเรือ เรือจึงโคลงเคลง

โคลงเคลง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Melastoma malabthricum L.

ชื่อสามัญ Malabar melastome

ชื่อวงศ์ MELASTOMATACEAE

ชื่ออื่นๆ เบร๋ สำเหร่ (ภาคใต้) กะดูคุ (มลายู ปัตตานี) มายะ (ตราด) ตะลาเดาะ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) อ้าหลวง (ภาคเหนือ)

อกโคลงเคลง ขอขอบคุณภาพ จาก Medthai.com

หนูเคยโด่งดัง รู้จักกันว่าเป็น “สาวสวยฝั่งธนฯ” เพราะมีวัดหนึ่งอยู่ที่ “จังหวัดธนบุรี” ก่อนที่จะรวมกับ “จังหวัดพระนคร” เป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” ตั้งแต่ พ.ศ. 2514

เป็นเวลา 48 ปีมาแล้ว ต่อมา ใน พ.ศ. 2515 คนจะรู้จักชื่อใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร” ถึงปัจจุบัน ถ้าคุยกับคนรุ่นใหม่ แล้วชวนไป “ฝั่งธนฯ” คงจะไม่มีใครรู้จัก รวมถึงถ้าถามหา “วัดสำเหร่” แถวๆ ฝั่งธนฯ ก็คงจะยากอีก เพราะเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดราชวรินทร์” ซึ่งตั้งอยู่ติดคลองน้ำสำเหร่ ซอยพระเจ้าตากสิน 21 ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือจะตั้งต้นที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ก็สะดวก

ที่หนูต้องย้อนถึงสมัยฝั่งธนฯ ก็เพราะว่า ครั้งหนึ่งมีพื้นที่ทุ่งโล่งกว้าง เต็มไปด้วยต้นไม้ดอกสีม่วงเข้ม ม่วงครีม สวยสดงดงามเต็มท้องทุ่ง และเป็นที่ตั้งของวัดซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “วัดสำเหร่” ตามชื่อดอก “ต้นสำเหร่” ช่วงสมัยนั้น ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว หนูเองก็กระจายความสวยงามไปทั่วทุกภาค รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วยเป็นที่รู้จักกันทั่วไป แต่หนูเองก็แปลกใจที่ทำไมคนทั่วไปจึงเรียกหนูเป็นชื่อต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะชื่อ “โคลงเคลง” ไม่ทราบว่ามีความเป็นมาอย่างไร แต่ญาติๆ พี่ๆ น้องๆ ของหนูเขาก็เรียกกันอีกหลายกลุ่มหลายพวก เช่น โคลงเคลงขน โคลงเคลงขี้นก โคลงเคลงเลื้อย โคลงเคลงแคระ และชื่อพันธุ์นี้เองมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ม่วงมงคล” ซึ่งหนูก็ชอบชื่อนี้มาก อย่างไรก็ตาม อย่าเผลอเรียกหนูว่า “โคลงเคลงยักษ์” นะจ๊ะ เพราะเป็นคนละต้น ไม่เกี่ยวกับหนูเลย

ขอขอบคุณภาพ จาก Medthai.com

ความจริงแล้วหนูไม่ค่อยปลื้มกับชื่อโคลงเคลง เพราะหนูคิดว่าความหมายติดในทางลบ เหมือนกับ โลเล อ่อนไหว ไม่มั่นคง โยกเยก คลอนแคลน แล้วยังมีปัญหาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือชั้นประถมฯ นักเรียนมักจะอ่านคำควบกล้ำสลับความหมายอยู่บ่อยๆ เช่น คุณครูให้อ่านว่า เรือโคลง เพราะโค-ลงเรือ หรือ โคลงเรือเรือจึงโคลง ถ้าคุณครูไม่ขีดแยกคำก็อ่านผิดกันหมดเลย

หนูเป็นไม้ดอกล้มลุก ต้นเป็นพุ่ม สูง 1-2 เมตร มีสีสันดอกสวยงามโทนม่วงเข้ม เมื่อดอกแก่พัฒนาเป็นผลแล้วก็นำมาแปรรูปเป็นอาหารได้ เคยมีสินค้า OTOP ในจังหวัดตราด นำมาแปรรูปเป็นไวน์ ได้น้ำไวน์สีม่วงอ่อนออกชมพู ใส สวย น่าดื่ม ไม่รู้ว่าดื่มไวน์โคลงเคลงแล้วจะเดินโคลงโงนเงนหรือเปล่า แต่สำหรับโคลงเคลงขี้นก เป็นพืชสมุนไพรชั้นดีนะคะ

ดอก ใช้เป็นยาระงับประสาท ราก บำรุงร่างกาย ดับพิษไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ใบ ต้มน้ำคั้นเป็นยากลั้วคอ แก้เชื้อราในช่องปาก แก้ท้องร่วง รักษาแผลไฟไหม้ และโรคคอพอก ใบอ่อนกินเป็นผักทั่วไป ใบแก่รูดปลาไหลขัดเมือกได้ ผลสุกมีรสหวานฝาด รับประทานได้

ขอขอบคุณภาพ จาก Medthai.com..

สำหรับดอกสีสวยของโคลงเคลงออกได้ตลอดปี เกสรเพศผู้มีก้านเรียงเป็นวง 2 วง และมีรยางค์ โค้งงอดูอ่อนช้อย ดอกแก่เป็นผลเมื่อเป็นเมล็ดสุกแตกกระจายขยายพันธุ์ได้ง่าย หรือจะแยกพุ่มกอปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ชุ่มชื้นแต่น้ำไม่ท่วมขัง และหนูก็มีญาติเป็นชาวต่างชาติด้วยนะจ๊ะ คือมีคนนำมาจากไต้หวัน ออสเตรเลีย และแอฟริกา ด้วยเน้อ ก็ดอกหนูสีสวยและไม่มีใจโลเลเหมือนบางคนหรอกนะ…จะบอกให้

ลงเรือด่วนเจ้าพระยาไม่โคลงเคลง ไปดูดอกโคลงเคลงที่วัดสำเหร่ แวะที่ตลาดสำเหร่ ฝั่งธนฯ หาซื้อผลโคลงเคลงกินแล้วฟันด๊ำดำ เห็นแล้วขี้เหร่...นิ