ชวนเที่ยวงาน “วันรักษ์กล้วยไม้ เมืองตราด” พร้อมแนะ 4 ขั้นตอนหลัก การเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้

“วันรักษ์กล้วยไม้ เมืองตราด ครั้งที่ 4” จัดวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ 2560 โดย องค์การบริหารส่วนตำบลเขาสมิง และสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดตราด การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตราด ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มอนุรักษ์กล้วยไม้ไทยบ้านวังตัก

แม้ว่าจะเป็นงานเล็กๆ ในระดับอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล แต่ด้วยความเข้มแข็งของสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์กล้วยไม้ไทยบ้านวังตัก ที่มีใจอนุรักษ์กล้วยไม้อย่างแท้จริง ทำให้หลังการจัดงานครั้งที่ 1 ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน และได้พัฒนางานเป็นงานระดับจังหวัดตราดอีกงานหนึ่ง หากใครสนใจรักกล้วยไม้ ต้องห้ามพลาด และก่อนถึงงานประกวดกล้วยไม้ เรามาดูกันว่าสมาชิกวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอนุรักษ์กล้วยไม้ไทยบ้านวังตัก เขาตระเตรียมอะไรเพื่อต้อนรับผู้มาเยือนอย่างไรบ้าง

 

เรือนกล้วยไม้หน้าบ้าน สวนผลไม้หลังบ้าน  สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เปิดให้ชม

คุณระพี ทั่งทอง หรือ “คุณโอเล่” วัย 41 ปี บ้านเลขที่ 205 หมู่ที่ 9 ตำบลเขาสมิง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด กรรมการวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอนุรักษ์กล้วยไม้ไทยบ้านวังตัก กล่าวว่า อาชีพหลักคือ ทำสวนยางพารา สวนผลไม้ และสวนสับปะรด ได้ใช้เวลาว่างค่อยๆ เลี้ยงสะสมกล้วยไม้พื้นบ้านและกล้วยไม้ต่างถิ่นมาร่วม 5-6 ปีเศษ มีประมาณเกือบ 100 ชนิด แรกๆ เลี้ยงด้วยใจรักและต้องการอนุรักษ์กล้วยไม้พื้นบ้านที่มีอยู่ในป่าไว้ในจังหวัดตราด ใช้วิธีนำกล้วยไม้จากป่ามาเพาะขยายพันธุ์ แต่เมื่อมีประสบการณ์ความชำนาญมากขึ้น เมื่อ 2 ปีมานี้เอง ได้เริ่มทำในเชิงธุรกิจบ้าง นำเกสรไปเพาะพันธุ์ในห้องแล็บ สามารถเลือกเกสรที่แข็งแรงสมบูรณ์ทำให้โอกาสรอดมีสูงถึง 90% มากกว่าการเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติ จากนั้นนำมาขยายหน่อปลูกเลี้ยงในกระถางเพื่อจำหน่ายบ้าง

คุณระพี ทั่งทอง

“เราใช้พื้นที่ใกล้บ้านประมาณ 1 ไร่ เพื่อทำเรือนกล้วยไม้ สมาชิกในครอบครัว 3 คน พ่อตาคือ คุณนิพัทธ์ วังบอน ภรรยา คุณอุษณีย์ วังบอน จะช่วยกันดูแล พ่อตาสร้างโรงเรือน ออกแบบทำชั้นร้านวางกล้วยไม้ หรือหาแก่นไม้มาให้กล้วยไม้เกาะ นำพันธุ์ไม้ต้นอ่อนออกจากขวดลงไม้กระถาง รดน้ำ ภรรยาจะช่วยปลูกเปลี่ยนขยายไม้กระถาง-ดูแล รดน้ำบ้าง ตัวผมหน้าที่หลักดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่การขยายพันธุ์ เพาะพันธุ์จากห้องแล็บ มาสู่ไม้กระถาง ให้น้ำ ให้อาหาร ปุ๋ย รวมทั้งการจัดหน่ายให้ลูกค้าทั้งทางโซเชียลมีเดียและจำหน่ายตรง” คุณระพี เล่าถึงการเลี้ยงกล้วยไม้

คุณนิพัทธ์ วังบอน กับไม้ขวด

4 ขั้นตอนหลัก การเพาะขยายพันธุ์

  1. 1. การเลือกฝักเกสรผสมพันธุ์ ซึ่งต้องเลือกฝักเกสรที่สมบูรณ์ส่งห้องแล็บ เพื่อเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือปั่นตา 6-8 เดือน จากนั้นจะได้ต้นอ่อนบรรจุขวดซึ่งต้องนำออกมาเลี้ยงอนุบาลต้นอ่อน และขยายพันธุ์เป็นไม้กระถางขนาดใหญ่ขึ้น
  2. 2. การอนุบาลไม้กระถาง แบ่งเป็นระยะๆ คือ ระยะแรกเรียกการอนุบาลต้นอ่อนที่เพิ่งนำออกจากขวดมาเพาะลงในกระถางประมาณ 1 นิ้ว ใช้เวลา 5 เดือน จากนั้นแยกปลูกในกระถางขนาดใหญ่ตามระยะเวลาเป็นไม้กระถาง 3 ขนาด คือ 3, 6 และ 8 นิ้ว ใช้เวลา 1-2 ปี กล้วยไม้จะเริ่มออกดอก การดูแลตั้งแต่อนุบาลต้นอ่อน-ไม้นิ้ว จะมีเครื่องปลูกต่างๆ กัน เช่น ช่วงอนุบาลต้นอ่อนใช้มอสส์ ซึ่งมีธาตุอาหารอยู่ด้วยและต้องใช้โฟมใส่จัดรูปทรงลำต้นตั้งให้สวยงาม ส่วนไม้กระถางขนาด 3 นิ้วที่นิยมซื้อไปปลูกจะใช้ถ่านผสมเปลือกมะพร้าวบดอัด
  3. 3. การดูแล บำรุงรักษาอย่างแรกต้องจัดโรงเรือน ต้องโปร่งอากาศถ่ายเทสะดวก แยกกันตามขนาด อายุและชนิดของพันธุ์ไม้เพราะต้องการแสงแดดไม่เท่ากัน หลังคาเรือนอนุบาลต้นอ่อนมุงซาแรนแล้วใช้พลาสติกกางคลุมอีกชั้นกันฝน จากนั้นต้องดูแลให้น้ำ ถ้าเป็นไม้กระถางอนุบาลต้นอ่อนไม่ต้องให้น้ำมาก ส่วนไม้โตขนาด 3 นิ้วขึ้นไป จะเพิ่มปริมาณน้ำให้ชุ่ม ใส่ปุ๋ยอาหารออสโมโค้ทละลายน้ำ ปุ๋ยเร่งต้น และไม้ขนาด 6-8 นิ้ว สังเกตดูใกล้ออกดอกต้องเพิ่มปุ๋ยเร่งดอก ช่วงมีดอกต้องคอยดูแลแมลงเพลี้ยที่รบกวนและฝนตกชุกจะมีโรครา ต้องใช้สารเคมีฉีดพ่น และ
  4. 4. การบริหารจัดการ ต้องจดบันทึกอย่างละเอียด เช่น พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ของไม้กระถาง อายุของต้นอ่อน ไม้นิ้วที่ต้องดูแลต่างกัน บันทึกการส่งเข้าห้องแล็บ ตารางการให้น้ำ ให้ปุ๋ย

“ห้องแล็บเพาะเนื้อเยื่อ คิดราคาขวดละ 200-400 บาท มี 40 ต้น ดีกว่าผสมเกสรเองหลายอย่าง เช่น โอกาสรอดมากกว่า 90% และเติบโตเร็วกว่าการเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติที่ต้องใช้เวลาเติบโตถึง 10-11 เดือน ให้ดอกเร็วราว 3 ปี จริงๆ มีอาชีพหลักทำสวนอยู่ เพิ่งเริ่มลองทำตลาดบ้างทางเฟซบุ๊ก มีลูกค้าสั่งเข้ามาบ้าง กลุ่มลูกค้าที่สั่งซื้อจะเป็นคนชอบเล่นกล้วยไม้ ไม่ใช่ซื้อเพื่อขายต่อ เป็นไม้ขนาด 3 นิ้วขึ้นไป ราคาประมาณกระถางละ 50-60 บาท แล้วแต่สายพันธุ์ ซื้อไปเลี้ยงต่อให้ออกดอก ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เหลืองจันท์ และมัจฉานุ” คุณระพี กล่าว

 

ศราวุฒิ กองแก้ว เรือนกล้วยไม้ที่สะสม พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์

คุณศราวุฒิ กองแก้ว หรือ คุณแจ๊ค วัย 38 ปี บ้านเลขที่ 153/4 หมู่ที่ 1 ตำบลเขาสมิง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด รองประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอนุรักษ์กล้วยไม้ไทยบ้านวังตัก อาชีพหลักคือ ทำสวนผลไม้ สับปะรด เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำเรือนกล้วยไม้ที่พร้อมจะให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมและซื้อไม้กระถางติดไม้ติดมือกลับไปเลี้ยงเพื่อเชยชมดอก จากการพูดคุยและเยี่ยมชมเรือนกล้วยไม้จะพบพ่อพันธุ์แม่พันธ์กล้วยไม้จำนวนมากกว่า 100 สายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ไม้พืชเมืองและต่างจังหวัด บางชนิดส่งเข้าประกวดได้รับรางวัลมาแล้วเก็บไว้ทำพ่อแม่พันธุ์เพื่อให้ลูกผสมที่ดีที่สุด เช่น เหลืองจันท์ เอื้องม่อนไข่ชมพู เอื้องมัจฉานุขาว-ชมพู เหลืองตรัง คางกบคอขาว รองเท้านารีฝาหอย หวายโนบิเร่

คุณศราวุฒิ กองแก้ว
สภาพโรงเรือน โล่งโปร่ง

โรงเรือนขนาดใหญ่จะแบ่งโซนเป็น พ่อแม่พันธุ์ ไม้อนุบาลต้นอ่อนและไม้กระถาง และจัดกลุ่มที่จะรับน้ำ รับแสงปริมาณใกล้เคียงไว้ด้วยกัน โดยคุณแจ๊ค เล่าให้ฟังว่า สะสมกล้วยไม้มา 6-7 ปี ส่วนใหญ่เลี้ยงพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ที่ชนะการประกวดมาแล้วเก็บไว้ขยายพันธุ์ และมีกล้วยไม้ต่างถิ่นที่ชอบก็สะสมไว้ขยายพันธุ์เช่นกัน แต่ยังมีไม้กระถางจำหน่ายไม่มากนัก

“เดิมเล่นไม้ป่าพันธุ์พื้นเมืองมาก่อนร่วม 10 ปี เช่น เหลืองจันท์ มัจฉานุ แต่เห็นว่ากล้วยไม้ป่ามีการซื้อขายกันมากที่ตลาดท่าเส้นชายแดนไทย-กัมพูชา ราคากิโลกรัมละ 200-300 บาท อนาคตสูญพันธุ์แน่ จึงมารวมกลุ่มอนุรักษ์ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอนุรักษ์กล้วยไม้บ้านวังตักเมื่อปี 2555 หยุดซื้อกล้วยไม้ป่า สมาชิกหันมาหาต้นพันธุ์และขยายพันธุ์ จากนั้นสมาชิกในกลุ่มเดินสายประกวดกล้วยไม้ทั่วประเทศ เกิดองค์ความรู้ประสบการณ์ เรื่องเทคนิคการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ ได้ลูกผสมสวยๆ จึงคิดสะสมพ่อแม่พันธุ์ที่ชนะการประกวด หรือกล้วยไม้ถิ่นอื่นๆ ที่สวยงามทำเรือนกล้วยไม้ด้วยใจรัก และหวังว่าการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจจะช่วยอนุรักษ์กล้วยไม้พื้นบ้านของจังหวัดตราดไว้ได้” คุณระพี กล่าว

แขวนกระถาง เพื่อประหยัดพื้นที่ในโรงเรือน

คุณศราวุฒิ กล่าวทิ้งท้ายว่า พันธุ์ไม้ที่เคยส่งเข้าประกวดและเก็บไว้ทำพ่อแม่พันธุ์มีหลายพันธุ์ไม่เฉพาะพันธุ์พื้นเมือง เช่น เหลืองจันท์ มัจฉานุ ไอยเรศเหลืองตรัง หวายฮิบิกิ เอื้อง และไม้ตระกูลหวายต่างๆ เราคัดเลือกสายพันธุ์ที่สมบูรณ์และผสมข้ามสายพันธุ์ ทำให้ต้นแข็งแรงมีดอกสวยงาม และส่งให้ห้องแล็บ บริษัท บางกอกฟลาวเวอร์ เซนเตอร์ จำกัด ปั่นตาทำเป็นไม้ขวดจะทำให้ได้ดอกเหมือนเดิม ต่างจากการผสมเมล็ดจะได้ต้นที่ไม่เหมือนกันทุกต้น ถ้าขยายพันธุ์เป็นไม้กระถางอายุ 1 ปี จะเริ่มขายได้กระถางละ 50-60 บาท ถ้า 2 ปี เริ่มออกดอกจะขายได้กระถางละ 100 บาท ในขณะเดียวกัน ถ้าชอบพันธุ์ไม้สวยๆ จะซื้อมาเลี้ยงต่อให้ออกดอกและขายไป เช่น ถ้าซื้อมาต้นละ 100-120 บาท อายุ 2 ปี เลี้ยงต่อปีที่ 3 จะออกดอกขายได้ต้นละ 400-500 บาท

 

กล้วยไม้ประกวด ไม่ต่ำกว่า 1,000 กอ

คุณสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในงานวันรักษ์กล้วยไม้เมืองตราด ครั้งที่ 4 นี้ กำหนดไม้ประกวด 12 ชนิด คือ เหลืองจันทบูร มัจฉานุ (กล้วยไม้พื้นเมืองประจำจังหวัดตราด) คัทลียา สกุลหวาย แวนด้า+แอสโคเซนด้า กล้วยไม้พันธุ์แท้และกล้วยไม้ กล้วยไม้รองเท้านารี กล้วยไม้ดิน ซิมบิเดียม-แกรมมาโต กล้วยไม้หมู่ สกุลเรแนนเธอร่า และอแรคนิค-ออนซิเดียม กล้วยไม้ลูกผสม กล้วยไม้ช่อแรก และในระหว่างงานนอกจากจะหาซื้อพันธุ์กล้วยไม้ในงานแล้ว สามารถเข้าชมกล้วยไม้ในสวนเงาะ และเรือนกล้วยไม้ของสมาชิกวิสาหกิจ กลุ่มอนุรักษ์กล้วยไม้วังตัก ของ คุณระพี ทั่งทอง และ คุณศราวุฒิ กองแก้ว ได้ทุกวันตลอดการจัดงาน และปีนี้เพิ่มการประกวดสับปะรดตราดสีทอง ประเภทคุณภาพและลูกโต มีกลิ่นหอม รสชาติ หวานกรอบ เป็นสับปะรดของจังหวัดตราด อยู่ระหว่างการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

ลูกผสมเอื้องเบญจวรรณ

“ปีนี้กล้วยไม้ออกช้ากว่าทุกปี แต่อย่างไรต้องมีกล้วยไม้พื้นบ้านสวยๆ ของจังหวัดตราดส่งประกวดแน่นอน โดยเฉพาะเหลืองจันท์ มัจฉานุ ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่เสนอให้เป็นกล้วยไม้พื้นเมืองประจำจังหวัดตราด ช้างกระ และคาดว่าเหลืองจันท์และกล้วยไม้ทั่วไปที่ส่งประกวดจะไม่น้อยกว่า ปี 2559 ที่มีไม้เข้าร่วมประกวดกว่า 1,000 กอ จากเครือข่ายคนรักษ์กล้วยไม้ทั่วประเทศ 60 ราย” คุณสมศักดิ์ กล่าวในตอนท้าย

สอบถามรายละเอียด คุณสมศักดิ์ ทั่งทอง โทร. (089) 550-6808 คุณระพี ทั่งทอง โทร. (081) 377-1631 และ คุณศราวุฒิ กองแก้ว โทร. (081) 520-8475