รำเพย รำพึง รำพัน พาดพิง…พิษรำเพย เพียงลำพัง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Thevetia peruviana (Pers.) K. Schum

ชื่อสามัญ Yellow oleander, Lucky bean, Trumpet flower

ชื่อวงศ์ APOCYNACEAE

ชื่ออื่นๆ กระบอก กระทอก ยี่โถฝรั่ง รำพน แซะศาลา แซน่าวา นารีรำพึง นารีสะดุ้ง

หนูถูกกล่าวหาว่า “สวยแต่มีพิษ” แต่หนูไม่สนใจคำนินทา เพราะภูมิหลังของหนูน่าภูมิใจ ที่มีประวัติจากทวีปอเมริกา  และตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ส่งคณะสงฆ์ไปประเทศศรีลังกา นำต้นรำเพยกลับมาถวายพระองค์ ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อ “รำเพย” ก็ถูกจัดเป็นไม้มงคล ทั้งยังเป็นต้นไม้ประจำโรงเรียนเทพศิรินทร์ ตามสีใบ และดอก แล้วรู้จักกันว่า “ลูกแม่รำเพย” ส่วนที่ปลื้มอีกอย่างคือ ยังมีชื่อในบทพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ในกาพย์เห่เรือ ตอนเห่ชมไม้ ว่า

“รวยรินกลิ่นรำเพย       คิดถึงเคยเชยกลิ่นปราง

นั่งแนบแอบเอวบาง     ห่อนแหห่างว่างเว้นวัน ฯลฯ”

เรื่องกลิ่นนี้ก็มีเสียงวิพากษ์กันว่า ดอกรำเพยไม่มีกลิ่น บ้างก็ว่ามีกลิ่นหอมอ่อนๆ บางเวลา จึงเป็นที่มาของบทเพลงมากมายหลายค่ายเพลง เช่น “ลมรำเพยเจ้าเอย เจ้าเคยคิดถึงคนรักบ้างไหม เจ้าพัดมาไกล จะไปหาใครหนใด…ฯลฯ”

อีกบทเพลงว่า “ลมรำเพยอกเอ๋ยจำได้ กลิ่นดอกไม้ทรามวัยใช้แนมแซมผม เจ้าใช่ไหมเจ้าให้พี่ดมเชยชมชื่นใจ…ฯลฯ” ขับร้องโดย คุณชาญ เย็นแข

อายุเพลง 70 ปี มาแล้ว และยังมีอีกหลายบทเพลง หลายนักร้อง ส่วนชื่อ “รำเพย” ก็เป็นชื่อผู้หญิง ฟังดูโบราณๆ น่ารักดีนะค่ะ

หนูรู้ตัวดีว่า หนูอาจจะ “มีพิษ” กับสิ่งมีชีวิต เพราะทุกส่วนของลำต้นมีน้ำยางสีขาว มีสารออกฤทธิ์ ที่ส่งผลกระทบถึงการเต้นของหัวใจ มีพิษระคายต่อผิวหนัง เกิดผื่นคัน ถ้าคนหรือสัตว์เลี้ยงเคี้ยวเมล็ดก็จะเกิดอาการชาที่ลิ้น ปากปวดแสบร้อน คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงนอน เนื่องจากมีสาร thevetoxic หากกินเข้าไปมากกว่า 10 เมล็ด เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ แต่หนูคิดว่าเพราะความงามของใบ และดอก ก็ยังมีคนปลูกไว้ในรั้วบ้าน สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ แล้วเขียนป้ายว่า “ห้ามรับประทาน”

รูปทรงของหนูเป็นไม้พุ่มยืนต้น สูงได้มากกว่า 5 เมตร ใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับ ยาวเรียว ผิวใบด้านบนเรียบเป็นมัน ก้านใบสั้น มีพันธุ์ใบด่างที่เห็นเป็นสีเขียวอ่อนหรือขาว เวลาใบดกและออกดอกจะเป็นพุ่มสวยมาก เพราะดอกสีเหลือง ส้ม และขาว ออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง 3-4 ดอก กลีบเลี้ยงสีเขียวสั้น 5 กลีบ เป็นแฉกคล้ายรูปดาว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยก 5 กลีบ แต่ซ้อนเหลื่อมกัน บานเต็มที่ กว้าง 3-4 เซนติเมตร เดิมมีเฉพาะสีเหลือง

ปัจจุบัน พัฒนาหลายสายพันธุ์ หลายสี ส่วนกลิ่นดอกก็ยังถกเถียงกัน ไม่เด่นชัด แต่ผลสดเป็นที่มาของชื่อแปลกๆ ที่เรียกกัน เช่น นารีรำพึง นารีสะดุ้ง นารีสะเทิ้น หนูก็หนักใจอยู่ เนื่องจากเป็นผลผลิตจากตัวหนูเอง เพราะเมื่อออกดอกสวยและกลายเป็นผลแก่แล้ว ใครเห็นก็ต้องมองซ้ำ และบันทึกภาพ เพราะผลเป็นมิติกลมกึ่งสี่เหลี่ยม สีเขียวเป็นมัน  เมื่อแก่จะเป็นสีดำ มีรอยผ่ากลางจากหัวผลสุดปลายผล เป็นรอยนูนเส้นขวางรอบผลทำให้ดูแปลกตา บางคนจินตนาการเลยเถิด ยิ่งถ้าหากกำที่หัวผลไว้ให้โผล่เห็นเฉพาะส่วนบนหัว หนูเองเห็นแล้วก็เขินสะเทิ้นเหมือนกันแหละเจ้าค่ะเอ๊ย..?

อ้อ..! แต่ถ้าชอบหนู ไม่รังเกียจพิษ และอยากดูของแปลก ก็ เพาะเมล็ด ตอน ปักชำก็ได้จ้า

มีคนฝากกลอนถึงหนู ว่า

“รำพึงใจใฝ่เพ้อเผลอชวนคิด           สวยมีพิษนิจจาน่าฉงน

เหลืองส้มขาวสีดอกไร้กลิ่นปน        รำพึงล้นนารีบ่นผลรำเพย..!”

จำไว้นะคะ สวย แปลก แต่…ไม่น่ากินค่ะ