สาวปราจีนบุรี ปลูกขิงแดงสร้างรายได้ ไม้มีคุณภาพ ลูกค้าซื้อตลอดปี

ขิงแดง (Red Ginger) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alpinia purpurata (Villard) K.Schum. เป็นพรรณไม้ลงหัวชนิดเดียวกับขิง ข่า มีเหง้าลักษณะอยู่ที่ใต้ดิน ลำต้นที่แท้จริงที่เราเห็นก็คือกาบใบที่ห่อหุ้มซับซ้อนกันอยู่ ซึ่งสามารถสูงขึ้นไปได้ถึง 5 ฟุต ใบของขิงแดงเจริญเติบโตออกมาจากก้านใบหรือกาบใบ ลักษณะของใบจะมีเส้นใบขนานกันเหมือนกับใบกล้วย ซึ่งใบเป็นรูปหอกยาวประมาณ 12-15 นิ้ว กว้างประมาณ 6 นิ้ว

คุณพัชรี ศิริชนะ

ดอกของขิงแดงจะแซมออกตามยอดของก้านใบมีลักษณะเป็นช่อตั้ง ยาวได้ถึงประมาณ 12 นิ้ว มีสีแดงสด แท้จริงแล้วดอกขิงแดงที่โผล่ออกมาให้เห็นนั้น เป็นเพียงใบประดับที่เรียงซ้อนกันขึ้นมาคล้ายเกล็ดปลา ดอกที่แท้จริงนั้นมีสีขาวรูปกรวยจะออกตรงใบประดับยาวเพียง 1 นิ้วเท่านั้น ซึ่งดอกของขิงแดงจะทยอยกันบาน ดอกสามารถออกได้ตลอดปี

พื้นที่ปลูกช่วงแรก

ขิงแดงจัดเป็นไม้ที่ปลูกง่ายและโตเร็ว สามารถปลูกได้ทั้งที่กลางแจ้งและร่มรำไร ชอบดินที่มีความชุ่มชื้นมาก ดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วนซุยหรือดินปนทราย สำหรับการขยายพันธุ์นั้นจะนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อเป็นหลัก ด้วยลักษณะการที่ปลูกง่ายแบบนี้เอง จึงทำให้ขิงแดงเป็นพรรณไม้ที่นิยมนำมาปลูกจัดสวนและประดับตกแต่งในบ้านเรือนต่างๆ มากขึ้น

พรางด้วยตาข่ายพรางแสง

คุณพัชรี ศิริชนะ อยู่บ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 10 ตำบลเนินหอม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นผู้ที่เห็นถึงความต้องการของตลาดของไม้ชนิดนี้ จึงได้ปลูกขิงแดงสร้างรายได้ด้วยการนำมาขยายพันธุ์และปลูกเลี้ยงให้แตกกอสวยงาม และส่งจำหน่ายให้กับลูกค้าที่ต้องการนำไปปลูกประดับสวน จนทำให้ขิงแดงสามารถทำรายได้ให้กับเธอได้เป็นอย่างดี

คุณพัชรี เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะเริ่มมาทำการปลูกขิงแดงเหมือนเช่นทุกวันนี้ สมัยก่อนได้ปลูกไม้ประดับอื่นๆ จำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว แต่สาเหตุที่ได้มาปลูกขิงแดงนั้น เห็นคุณลุงปลูกแล้วทำการตลาดได้ดี จึงทำให้เธอได้ไปเรียนรู้และนำมาปลูกขยายพันธุ์เองบ้างที่สวนของเธอ ใช้เวลาพียง 6 เดือน ขิงแดงสามารถจำหน่ายได้ จึงทำให้เธอเริ่มการปลูกขิงแดงเป็นการค้าอย่างจริงจัง เมื่อปี 2560 มาจนถึงปัจจุบัน

หลังปลูกได้ 2-3 เดือน ขิงแดงเริ่มแตกหน่อ

“ขิงแดงถือว่าเป็นไม้ที่ปลูกได้ไม่ยาก ขยายพันธุ์ค่อนข้างง่าย เราเลยมองว่าตลอดที่เราทำมา จากที่เราขายช่วงแรกๆ ลูกค้าค่อนข้างที่ต้องการเป็นอย่างมาก จึงทำให้มาทำอย่างจริงจัง และการขยายพันธุ์มาเรื่อยๆ มันก็ขายได้เรื่อยๆ ขิงแดงจึงเป็นไม้ประดับอีกตัวที่ตลาดค่อนข้างขายได้ดีทีเดียวในเวลานี้” คุณพัชรี เล่าถึงที่มาของการปลูกขิงแดงจำหน่าย

ในขั้นตอนของการปลูกขิงแดงให้ได้คุณภาพนั้น คุณพัชรี บอกว่า ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถทำได้ง่าย ในขั้นตอนแรกจะเตรียมพื้นที่แปลงให้เหมาะสมกับการปลูกเสียก่อน การขยายพันธุ์จะเน้นวิธีการแยกหน่อ โดยเลือกหน่อที่มีลักษณะสวยๆ จากกอที่มีความแข็งแรง มาปลูกให้มีความห่างกันระหว่างต้นระหว่างแถวอยู่ที่ 50 เซนติเมตร

การห่อเป็นตุ้มพร้อมจำหน่าย

เมื่อปลูกลงในแปลงปลูกระยะแรกจะรดน้ำขิงแดงด้วยระบบสปริงเกลอร์ พร้อมกับใส่ปุ๋ยสูตร 27-7-7 บำรุงต้นเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ต้นขิงแดงแตกกอให้ไวขึ้น ดูแลอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ประมาณ 5-6 เดือน ไม้ก็จะเริ่มแตกกออยู่ที่ 8-10 ต้น เป็นกอพร้อมที่จะจำหน่ายได้

ในเรื่องของโรคและแมลงที่เกิดขึ้นกับขิงแดง ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากเชื้อราเป็นหลัก ทำการป้องกันด้วยการฉีดพ่นสารเคมีต่างๆ ที่หาซื้อได้จากร้านเคมีภัณฑ์ทั่วไป และแมลงศัตรูพืชจะเป็นหนอนก็ทำการป้องกันด้วยการฉีดพ่นยาเช่นกัน

เมื่อครบอายุแล้วเป็นกอ จะขุดยกมาทั้งกอ

สำหรับในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายขิงแดงนั้น คุณพัชรี เล่าว่า เนื่องจากสวนของเธอจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อลูกค้ารู้ว่าภายในสวนของเธอมีการผลิตขิงแดง ใครผ่านไปผ่านมาเห็นก็จะติดต่อเข้ามาซื้อเรื่อยๆ เพราะลูกค้ามีความต้องการอย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันราคาอาจจะไม่สูงมากเท่ากับสมัยก่อน แต่ก็สามารถจำหน่ายได้เรื่อยๆ ตลอดทั้งปี

“สมัยก่อนที่เริ่มปลูกปีแรกๆ สามารถจำหน่ายได้ถึงกอละ 100 บาท แต่ตอนนี้ราคาตกลงมาอยู่ที่กอละ 70 บาท แต่เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ขายได้ ก็ยังถือว่าค่อนข้างมีผลกำไรอยู่ เพราะต้นทุนการผลิตเรายังควบคุมได้ ไม่ได้มีขั้นตอนการผลิตที่ยุ่งยากมากนัก เราจะปลูกให้สามารถขายได้ทุกเดือน เดือนละ 200-300 กอต่อเดือน ก็ถือว่าเป็นไม้ที่ตลาดยังไปได้เรื่อยๆ ในเวลานี้” คุณพัชรี บอกถึงการตลาด

สำหรับท่านใดที่ต้องการปลูกขิงแดงให้มีความสวยงามออกดอกตลอดทั้งปีนั้น คุณพัชรี แนะนำว่า ให้ปลูกในพื้นที่ที่ดินระบายน้ำได้ดี พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยบ้างครั้งคราวก็จะช่วยให้ขิงแดงมีกอที่สวย ออกดอกตลอดทั้งปี หากสนใจขิงแดงมาปลูกบริเวณบ้าน สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณพัชรี ศิริชนะ หมายเลขโทรศัพท์ 065-626-2498

เผยแพร่ครั้งแรกวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2563