กล้วยไม้สกุลช้าง จากเลี้ยงดูเล่นจนสร้างรายได้ เกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี ปลูกดีมีผลกำไร

กล้วยไม้สกุลช้างมีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว มีลักษณะแตกต่างไปจากกล้วยไม้สกุลอื่นๆ คือ ลำต้นสั้น ใบแข็งหนา อวบน้ำ เรียงชิดกันอยู่บนลำต้น ใบเป็นร่อง รากเป็นระบบรากอากาศ มีขนาดใหญ่ ปลายรากมีสีเขียว ช่อดอกอาจห้อยลงหรือตั้งขึ้น ช่อดอกจะมีความยาวเกือบความยาวของใบ ดอกมีจำนวนมาก กลีบนอกและกลีบในของดอกแผ่ออก มีอับเรณู 2 ก้อน แยกออกจากกัน ออกดอกปีละครั้ง บางต้นอาจมีดอกครั้งละหลายๆ ช่อ

คุณกุลทัศ นุชนาฏ และภรรยา

จากความสวยงามของดอกกล้วยไม้สกุลช้างนั้น เมื่อใดที่ออกดอกจะเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจของผู้เลี้ยงดู เพราะต้องใช้ระยะเวลาเป็นแรมปีเพื่อเฝ้ารอดอกอันสวยงามที่ออกมา นับว่าเป็นการรอคอยที่คุ้มค่า สำหรับผู้ที่หลงใหลกล้วยไม้สกุลช้าง เหมือนดังเช่นเกษตรกรรายนี้ คือ คุณกุลทัศ นุชนาฏ

คุณกุลทัศ อยู่บ้านเลขที่ 32/1 หมู่ที่ 4 ตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

คุณกุลทัศ เล่าว่า ก่อนที่จะมาเริ่มทำสวนกล้วยไม้ได้ทำอาชีพเกษตรด้านอื่นมาก่อน แต่ที่เป็นอาชีพหลักสำหรับเลี้ยงครอบครัวคือ กิจการรถเกี่ยวข้าว ซึ่งในขณะนั้นชอบกล้วยไม้สกุลช้างอยู่แล้ว จึงซื้อมาเลี้ยงดูเล่นที่บ้านเรื่อยๆ ทำให้มีจำนวนสายพันธุ์มากขึ้น

กล้วยไม้ช้างที่ล้างสะอาด รอรากเดินก่อนติดตอไม้

“ช่วงนั้นทำรถเกี่ยวข้าว แต่เพราะชอบกล้วยไม้ ก็เลยซื้อไว้ดูเล่น เรียกได้ว่าเจอที่ไหนก็ซื้อมาไว้ที่บ้าน ก็เลยปลูกไปเรื่อยๆ ต่อมามันเยอะขึ้น ก็เลยเริ่มมีแบ่งขายบ้าง โดยมีพ่อค้ามาขอซื้อ ก็เลยเริ่มขาย ก็เลยขยายโดยสร้างโรงเรือนขึ้นมา แต่ก็ยังไม่ได้เลิกทำรถเกี่ยวข้าวนะ ก็ทำคู่กันไป” คุณกุลทัศ เล่าจุดเริ่มต้นของการทำงาน ก่อนที่จะเปลี่ยนมาทำสวนกล้วยไม้

เมื่อผลตอบรับค่อนข้างดี คุณกุลทัศจึงเริ่มทำสวนกล้วยไม้อย่างจริงจัง เมื่อประมาณปี 2553 ก่อนหน้านั้นก็มีขายบ้างก่อนที่จะเริ่มมาทำสวน โดยค่อยๆ ขยายโรงเรือนออกทีละไม่มาก โดยนำกำไรที่ขายกล้วยไม้ได้มาขยาย กล้วยไม้ช้างที่นำมาปลูกภายในสวนจะไปหาซื้อตามต่างจังหวัด เช่น  จังหวัดกำแพงเพชร และมีซื้อไม้ขวด ไม้นิ้วสลับ นำมาลองเลี้ยง ช่วงแรกๆ นั้น คุณกุลทัศ เล่าว่า เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับการนำไม้ออกจากขวดใหม่ๆ เพราะตนเองยังไม่มีความชำนาญ

กล้วยไม้ช้างที่ติดกับตอไม้

“ตอนที่เอาไม้ออกจากขวดนี่ยากมาก เพราะเขาไม่ค่อยมีใครสอนกัน เรามาศึกษาเอาเอง ตอนที่ไปซื้อไม้ขวดเขานี่ ก็ได้แต่ซื้อ ก็ไม่ได้สอนการเอาออก ก็มาลองผิดลองถูกเอง เพราะว่ากล้วยไม้ช้างนี้รากมันเยอะ พันกันมากด้วย พอมาเขี่ยออกมันไม่ออก ต้นมันก็เลยขาด ต่อมาก็ไม่เขี่ยแล้ว ใช้วิธีทุบขวดเอาเลย ก็เกิดความชำนาญมากขึ้น” คุณกุลทัศ เล่าด้วยสีหน้าที่นึกถึงสมัยอดีต ที่ต้องนำไม้ออกจากขวดด้วยการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง

เนื่องจากคุณกุลทัศ พอมีกล้วยไม้ช้างที่ซื้อเก็บสะสมไม้เดิมอยู่บ้าง บวกกับช่วงที่ทำกิจการรถเกี่ยวข้าวก็ยังขยายพันธุ์ขายให้พ่อค้าคนกลาง และมาเริ่มทำสวนอย่างจริงจังเมื่อ ปี 2553 ทำให้ต้องซื้อไม้ขวดเข้ามา เพื่อให้ภายในสวนมีกล้วยไม้ช้างเพียงพอสำหรับขาย

กล้วยไม้ช้างที่ใส่กระเช้า

เมื่อได้ไม้ที่ต้องการจะปลูก คุณกุลทัศก็จะนำขวดมาทุบ เพื่อเอาไม้ออกมาล้างให้สะอาด เพราะที่รากยังมีวุ้นอาหารเพาะเลี้ยงติดอยู่ จากนั้นนำมาวางเรียงในตะกร้า วางไว้ในร่มจนกว่ารากจะเริ่มเดิน คุณกุลทัศ เล่าว่า กล้วยไม้ช้างบางพันธุ์รากเดินไว บางพันธุ์ใช้เวลานาน ประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งอาจจะต้องใช้การสังเกตด้วยตัวเอง

จากนั้นนำไม้ที่รากเดินสมบูรณ์แล้วไปติดกับตอไม้ หรือจะใส่กระเช้าก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าจะนิยมกล้วยไม้ช้างที่ปลูกติดกับตอไม้มากกว่า เพราะดูเป็นธรรมชาติมากกว่าอยู่ในกระเช้า ซึ่งที่สวนของคุณกุลทัศ ก็จัดใส่กระเช้าเอาไว้ขายด้วย เพื่อให้มีความหลากหลายของคนซื้อ ที่มีความชอบแตกต่างกันไป

กล้วยไม้ช้างพร้อมขายอายุ 2 ปี

ด้านการเจริญเติบโต คุณกุลทัศ บอกว่า กล้วยไม้ช้างที่ติดกับตอไม้จะโตเร็วกว่าที่อยู่ในกระเช้า เพราะไม้ที่ติดกับต่อจะมีความชื้นมากกว่า จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี จึงจะให้ดอก และขายได้ ถ้าเป็นไม้ที่อยู่ในกระเช้าจะใช้เวลาเกือบ 3 ปี ซึ่งดูได้จากขนาดของลำต้นที่แตกต่างกัน ทำให้ทราบว่าไม้ในกระเช้าจะโตช้ากว่ามาก

เมื่อกล้วยไม้ช้างที่สวยๆ มีลักษณะที่ดีๆ ทางสวนของกุลทัศจะนำมาผสมพันธุ์เอง จากนั้นนำเมล็ดส่งไปให้ห้องแล็บเพื่อเพาะเลี้ยง ซึ่งสีดอกจะดูตามความชอบใจ และสีที่ตลาดต้องการจึงจะนำมาผสมกัน

กล้วยไม้ช้างแดงผสมชมพู

สวนกล้วยไม้ของคุณกุลทัศ จะรดน้ำวันละ 1 ครั้ง คือ ช่วงเช้า แต่ถ้าอากาศร้อนมากๆ จะรดน้ำช่วงเช้าและเย็น ซึ่งต้องดูที่สภาพอากาศ

การใส่ปุ๋ย ช่วงที่กล้วยไม้ช้างยังเล็กจะใช้ปุ๋ยในอัตราส่วนที่น้อย โดยใช้สูตร 21-21-21 ประมาณ 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เพราะระยะแรกต้องให้ปุ๋ยที่ความเข้มข้นต่ำ โดยจะฉีดพ่นทุก 7 วัน เมื่อกล้วยไม้ช้างได้อายุประมาณ 1 ปี จะเปลี่ยนปุ๋ยเป็นอัตราส่วน 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร จากนั้นเมื่อกล้วยไม้ช้างเข้าสู่ปีที่ 2 เป็นระยะที่ใกล้จะออกดอก จะเปลี่ยนเป็นปุ๋ยสูตร 16-27-21 ในอัตราส่วน 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อช่วยการออกดอก เพราะไม้มีขนาดที่ใหญ่เต็มที่แล้ว

กล้วยไม้ช้างส้มออกเหลือง

สำหรับท่านที่มีกล้วยไม้ช้างอยู่ที่บ้าน แต่ดอกและต้นอาจไม่สวยเท่าที่ควร คุณกุลทัศบอกวิธีการดูแลว่า

“สำหรับคนที่ปลูกอยู่แล้ว อันนี้สำคัญเลยคือ น้ำกับปุ๋ย ซึ่งบางคนอาจไม่ค่อยรดน้ำ การเจริญเติบโตจะชะงัก ยิ่งอากาศร้อน ทำให้ไม้แห้ง เพราะคิดว่าช้างเป็นกล้วยไม้ป่า ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ มันก็จะทำให้รากแห้ง ซึ่งจะทำให้ต้นโทรม ใบจะเหี่ยวขาดน้ำได้ ก็ขอให้ดูแลเรื่องการให้น้ำ ให้ปุ๋ยสม่ำเสมอ” คุณกุลทัศ กล่าว

การจัดการโรคและแมลง คุณกุลทัศ บอกว่า ช่วงที่กล้วยไม้ช้างมีอายุประมาณ 3 เดือน ช่วงนี้สำคัญมาก เพราะจะต้องฉีดยากันรา อาจต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยฉีดพ่นเดือนละ 1 ครั้ง หรือตามอาการที่เกิด ถ้าช่วงไหนที่มีเพลี้ยไฟ ไรแดงระบาด ก็มีการฉีดป้องกันบ้าง โดยสังเกตด้วยตัวเอง ซึ่งยาที่ใช้สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป

กล้วยไม้ช้างแดง

เพราะสวนของคุณกุลทัศ มีพ่อค้ามาติดต่อขอซื้อกล้วยไม้ช้างอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องออกไปตระเวนขายนอกพื้นที่ หรือไปส่งขายตามร้านดอกไม้ต่างๆ แต่จะมีคนมารับถึงที่สวน เพื่อนำไปขายต่อ ซึ่งสวนของคุณกุลทัศเป็นแต่เพียงผู้ผลิตเท่านั้น

ราคากล้วยไม้ช้างที่ขายที่สวนของคุณกุลทัศมีราคาที่แตกต่างกันไป โดยไม้นิ้วจะอยู่ที่ราคาประมาณ 20 บาท ส่วนกล้วยไม้ช้างที่ติดกับตอไม้อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จะอยู่ที่ราคา 60 บาท ถ้าเป็นไม้รุ่นใหญ่จะอยู่ที่ราคา 80 บาท ซึ่งกล้วยไม้ช้างที่คนนิยม คุณกุลทัศ บอกว่า นิยมเกือบทุกประเภท แล้วแต่ว่าบางปีอะไรจะขายได้มากกว่า บางปีกล้วยไม้ช้างเผือกขายได้เยอะ ซึ่งแล้วแต่คนชอบสีของดอก ซึ่งบางครั้งก็แล้วแต่กระแสของลูกค้าด้วย

เมื่อเอ่ยถามว่า อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คุณกุลทัศ สามารถประสบผลสำเร็จในการทำสวนกล้วยไม้มาจนทุกวันนี้ คุณกุลทัศตอบด้วยสีหน้าที่มีรอยยิ้ม พร้อมมองหน้าภรรยา นึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาด้วยกันว่า “การประสบผลสำเร็จของเรานี่ มันหลายด้านนะ ลูกค้าเชื่อใจ ชอบไม้ของเรา ไม้ที่เราเลี้ยงสวย เพราะไม้ที่เราขาย ต้นสมบูรณ์ ไม้เขียวดี ต้นใช้ได้ ใบไม่ผอม จำนวนการผลิตเราก็แน่นอน คือ เรามีไม้สำหรับขายตลอด และเรามีความจริงใจกับลูกค้า” คุณกุลทัศ กล่าวด้วยรอยยิ้ม

กล้วยไม้ช้างเผือก

สำหรับท่านใดที่สนใจจะประกอบอาชีพด้านนี้ คุณกุลทัศให้ข้อเสนอแนะว่า

“คนที่จะทำด้านนี้ ต้องเริ่มด้วยใจรัก และก็ต้องสนใจที่จะดูแลอย่างจริงจัง ต้องเป็นคนช่างสังเกต เพราะต้องรู้ว่าสิ่งที่เราทำ อย่างกล้วยไม้เนี่ย มันชอบอากาศแบบไหน แล้วสิ่งที่เราทำมันจะสอนเราเอง ว่าช้างชอบอากาศแบบไหน ที่ปลูกแล้วมันจะสวยที่สุด เราจะเรียนรู้ได้ด้วยตัวเราเอง” คุณกุลทัศ กล่าวด้วยสีหน้ายินดี ที่พร้อมจะมอบประสบการณ์ให้กับผู้ที่สนใจ

เป็นที่น่าภาคภูมิใจว่า คุณกุลทัศ ไม่ได้จบด้านการเกษตร แต่เรียนรู้การปลูกกล้วยไม้ช้างด้วยตนเอง เพราะความชอบ ความรัก การมีเวลาเอาใจใส่ต่อสิ่งที่ทำ จึงทำให้ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าภาคภูมิใจ ซึ่งปัจจุบัน คุณกุลทัศได้ยึดอาชีพการปลูกกล้วยไม้ช้างและกล้วยไม้พันธุ์อื่นๆ เป็นอาชีพหลัก จนมีรายได้เป็นที่น่าพอใจ เพราะสิ่งที่คุณกุลทัศทำด้วยใจรัก ทำให้ผลผลิตออกมาดี

สำหรับท่านที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณกุลทัศ นุชนาฏ หมายเลขโทรศัพท์ (089) 027-7286, (085) 130-5640