สาวชุมพร เพาะเลี้ยงแค็กตัสเป็นอาชีพหลัก เน้นทำตลาดออนไลน์ จำหน่ายได้ตลอดปี

แค็กตัส หรือ กระบองเพชร นับเป็นพรรณไม้ที่ใครหลายคนให้ความสนใจด้วยขนาดไซซ์ที่ไม่ใหญ่มากนัก เหมาะกับการเพาะเลี้ยงในพื้นที่จำกัด ผนวกกับสายพันธุ์ที่มีให้เลือกอย่างหลากหลาย พร้อมด้วยโทนสีสวยงามตอบโจทย์ความชื่นชอบส่วนตัวของแต่ละบุคคลจนได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงไม้ประดับขนาดเล็กมาตราบถึงปัจจุบัน

บรรยากาศภายในฟาร์ม 41Cactus By Tiwa

“41Cactus By Tiwa” ถือเป็นฟาร์มปลูกแค็กตัสคุณภาพอีกแห่งหนึ่ง โดยฟาร์มแห่งนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดชุมพร มีจุดเริ่มต้นมาจากความชื่นชอบส่วนตัว หันมาศึกษา เพาะเลี้ยง และสะสมสายพันธุ์แค็กตัส จนสามารถพัฒนามาสู่การเป็นเจ้าของฟาร์ม อีกทั้งยังได้รับเสียงการันตีไว้วางใจจากกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงแค็กตัสด้วยกันถึงคุณภาพและความสมบูรณ์ของต้นพันธุ์ รวมถึงการติดตามให้คำแนะนำเทคนิคในการเพาะเลี้ยงแก่ลูกค้าอยู่เสมอ

คุณทิวา เชื่อมกลาง (คุณแอม) เกษตรกรเพาะเลี้ยงแค็กตัส อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 41/26 หมู่ที่ 7 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เล่าว่า “ก่อนที่จะมายึดอาชีพเกษตรกรเพาะเลี้ยงแค็กตัสได้ประกอบอาชีพค้าขาย จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดจำพวกเสื้อผ้า กิ๊ฟต์ช็อปทั่วไปไม่ได้มีความสนใจเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้มากนัก แต่ก็ได้มีโอกาสไปช่วยเพื่อนที่เพาะเลี้ยงแค็กตัสอยู่ก่อนแล้วออกบู๊ธจำหน่ายแค็กตัสในสถานที่ต่างๆ หลายครั้ง จนเป็นเหตุให้เริ่มซึมซับกับวิถีของเกษตรกร ผนวกกับในช่วงปี พ.ศ. 2557 ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมฟาร์มแค็กตัสแห่งหนึ่งในตำบลเขาค่าย อำเภอสวี จังหวัดชุมพร แล้วได้พบกับแค็กตัส สกุลโลโฟโฟรา วิลเลี่ยม (Lophophora William) ซึ่งมีลักษณะเด่น ผิวเรียบเนียนเกลี้ยงเกลา ไม่มีขน รูปทรงคล้ายผลแอปเปิ้ลสีเขียว ซึ่งมีความแตกต่างจากแค็กตัสโดยทั่วไปที่มักจะมีหนามขนาดเล็ก นับเป็นความประทับใจครั้งแรกที่เป็นแรงกระตุ้นให้เริ่มเพาะเลี้ยงและซื้อต้นพันธุ์เก็บสะสมเป็นของตนเอง

Melocactus (เมโลแค็กตัส)

โดยแค็กตัสที่ซื้อเก็บในช่วงแรกจะเป็นสกุลแมมมิลลาเรีย (Mammillaria), สกุลจิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium) และ สกุลโลโฟโฟรา (Lophophora) นำมาเพาะเลี้ยงในโรงเรือนขนาด 3×6 เมตร เมื่อเริ่มมีจำนวนมากจึงนำไปจำหน่ายยังตลาดนัดในราคาราว ต้นละ 80-100 บาท เลือกจำหน่ายในระดับราคาที่ไม่สูงมากนัก ภายหลังจึงเริ่มนำมาจำหน่ายออนไลน์ในห้องซื้อ-ขาย ถือเป็นแหล่งรวมของผู้เพาะเลี้ยงแค็กตัสซึ่งสามารถทำรายได้ดีกว่ามาก ต่อมาจึงได้ตั้งชื่อฟาร์มว่า 41Cactus By Tiwa ส่วนสาเหตุที่ใช้ชื่อ 41Cactus By Tiwa นั้นก็เพราะตั้งชื่อตามทางหลวงหมายเลข 41 ถือเป็นถนนสายหลักจากแยกปฐมพรเข้ามาสู่ตัวเมืองชุมพร และหมายเลข 41 นี้ยังตรงกับบ้านเลขที่ในปัจจุบันซึ่งใช้เป็นที่ตั้งฟาร์มอีกด้วย

กอปรกับฟาร์มแห่งนี้จะมีตัวเลือกให้อย่างหลากหลายไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะไม้หนามเพียงอย่างเดียว โดยแค็กตัสที่เป็นตัวชูโรงอยู่ในปัจจุบันจะมีทั้งขนนก (Mammillaria plumosa), คามิเน่ (Mammillaria Carmenae) และ โลโฟโฟรา (Lophophora) ที่มักจะติดดอกง่าย ไม่ต้องใช้ระยะเวลารอนาน ทั้งนี้ จุดเด่นของคามิเน่จะมีดอกขนาดเล็กไม่ใหญ่มากนัก และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ส่วนสีสัน มีทั้งเหลือง, ส้ม, แดง และ ขาว ทางด้านขนนกนั้น ก็จะมีเอกลักษณ์ที่แปลกตาออกไป คือ ขนสีขาวนวลขนาดเล็กที่ขึ้นปกคลุมอยู่ตลอดทั้งลำต้น”

สืบเสาะ ค้นหา แค็กตัส

Lophophora (โลโฟโฟรา)

คุณทิวา เลือกใช้วิธีการสืบเสาะค้นหาแค็กตัสสายพันธุ์ต่างๆ ตามที่ตนเองสนใจก่อนเป็นลำดับแรก หลังจากนั้นจึงให้ความสำคัญกับการค้นหาแค็กตัสสายพันธุ์ที่ตลาดมีความต้องการและเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้มีแค็กตัสทั้งสายพันธุ์แปลกหายาก และแค็กตัสตามกระแสให้ลูกค้าได้เลือกชมอยู่เสมอ

Euphorbia Obesa (ยูโฟเบีย โอเบซ่า)

“สำหรับการค้นหาสายพันธุ์นั้นจะใช้วิธีการสืบเสาะไปตามฟาร์มแค็กตัสต่างๆ ที่เปิดให้เข้าชมและขอซื้อต้นพันธุ์ที่ต้องการมาเก็บไว้ รวมไปถึงการไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นซึ่งจะเลือกซื้อเป็นคู่จำพวกจิมโนคาไลเซียม, โลโฟโฟรา และสายพันธุ์ที่น่าสนใจมีความแปลกหายากก็จะนำมาใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ ด้วยวิธีเพาะเมล็ด ซึ่งแต่ก่อนอาจเลือกซื้อเก็บเฉพาะสายพันธุ์ที่ชอบมากที่สุด แต่ในปัจจุบันอาจปรับเปลี่ยนไปบ้างตามไม้กระแสที่นิยมอยู่ในตลาดซึ่งต้องคอยติดตามอยู่เสมอว่าแค็กตัสสายพันธุ์ใดที่ตลาดมีความต้องการสูงจึงเลือกที่จะผลิตสายพันธุ์นั้นๆ ออกมาจำหน่าย

คามิเน่ (Mammillaria Carmenae)

ส่วนในกรณีที่ลูกค้าสอบถามแล้วไม่มี ก็จะเริ่มหามาเก็บเพื่อเพาะขยายพันธุ์ต่อไป แต่เน้นไม้กระแส ไม่ได้ยึดติดว่าชอบไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้องมีความหลากหลายในการเพาะเลี้ยงเนื่องจากตัวของผู้เพาะเลี้ยงเองจะได้ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ยิ่งเลี้ยงแค็กตัสหลายๆ ชนิดก็ย่อมสร้างความเพลิดเพลินได้เป็นอย่างดีอีกด้วย”

สร้างโรงเรือนลอยฟ้า

คุณทิวา เชื่อมกลาง (คุณแอม)

นอกจากการมีต้นพันธุ์ที่ดีและสวยงาม ถูกต้องตรงตามสายพันธุ์แค็กตัสแล้วนั้น ตัวโรงเรือนที่ใช้สำหรับทำการเพาะเลี้ยงก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะต้องใช้เป็นทั้งโรงเรือนสำหรับเพาะขยายพันธุ์ และอนุบาลต้นพันธุ์แค็กตัสไปจนถึงช่วงที่สามารถจำหน่ายได้

“ในช่วงแรกที่เริ่มปลูกแค็กตัสได้ทำโรงเรือนจากท่อพีวีซีเอาไว้ที่บริเวณหน้าบ้านด้วยงบประมาณ 6,000 บาท คลุมด้วยผ้าใบใส ขนาดประมาณ 2×1 เมตร ต่อมาเมื่อแค็กตัสมีจำนวนมากขึ้นจึงเพิ่มขนาดโรงเรือนเป็น 3×6 เมตร ก่อนที่ในภายหลังจะย้ายมาปลูกสร้างอาคารใหม่เป็นโรงเรือนลอยฟ้า ส่วนสาเหตุที่เลือกสร้างโรงเรือนลอยฟ้านั้นก็เพราะขนาดพื้นที่จำกัด จึงเลือกปลูกสร้างอาคารแบบ 2 ชั้น ชั้นล่างถูกจัดแบ่งเป็นอาคารสำนักงาน ส่วนด้านบนจะใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำเป็นโรงเรือนเพาะเลี้ยงแค็กตัสทั้งหมด ตัวโรงเรือนมีขนาด 5×15 เมตร โครงสร้างทำด้วยเหล็กเพื่อความคงทน ด้านบนมุงด้วยแผ่นหลังคาโปร่งแสงเพื่อให้แสงแดดส่องถึงได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ขนนก (Mammillaria plumosa)

ทางด้านข้อดีของการสร้างโรงเรือนลอยฟ้านั้น นอกจากจะประหยัดพื้นที่แล้ว อากาศยังถ่ายเทได้อย่างสะดวก เพราะจังหวัดชุมพรมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ส่งผลให้ดินมีความชื้นสูง เมื่อฝนตกไอดินจะระเหยขึ้นมาซึ่งไม่เหมาะกับการเพาะเลี้ยงแค็กตัส จึงเลือกสร้างโรงเรือนลอยฟ้าเพื่อทำสภาพอากาศให้มีความแห้งแล้งมากที่สุด โดยยกตัวโรงเรือนขึ้นไปด้านบนให้ลมโกรกและโดนแสงแดดอย่างเต็มที่ ส่งผลให้แค็กตัสมีความแข็งแรงเป็นอย่างมาก

ส่วนการควบคุมความชื้นฟาร์มแห่งนี้จะให้น้ำตามสภาพอากาศ คือ สังเกตที่ดินว่าแห้งหรือไม่ จึงให้น้ำ หรืออาจใช้วิธีการให้น้ำ 2-3 วัน/ครั้ง เนื่องจากสภาพอากาศมีความร้อนชื้นสูงและลมพัดโกรก จึงต้องให้น้ำบ่อย สำหรับอัตราการให้น้ำในแต่ละครั้งก็จะไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม หากการดูแลดี น้ำดี แสงแดดดี สารอาหารถึง การเพาะเลี้ยงแค็กตัสให้มีความสมบูรณ์ก็ไม่ใช่เรื่องยากเท่าไรนัก

จิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium)

นอกจากนี้แล้วการนำโต๊ะมาใช้สำหรับเป็นที่ตั้งกระถางแค็กตัสนั้นก็มีส่วนช่วยให้น้ำระเหยได้ดีกว่าการตั้งกระถางเอาไว้บนพื้นดิน และควรห่างจากระดับพื้นดิน ประมาณ 70 เซนติเมตร พื้นโต๊ะควรผลิตจากแผ่นยิปซัม หรือแผ่นสมาร์ทบอร์ด เพราะหลังจากให้น้ำแล้วจะระเหยได้อย่างรวดเร็ว ไม่สะสมความชื้นและลดปัญหาเชื้อราที่จะเข้ามาแพร่ระบาดอีกด้วย” 

เผยเคล็ดลับ ผสมดินปลูกแค็กตัส

การผสมดินสำหรับปลูกแค็กตัสนั้น ในแต่ละฟาร์มย่อมมีสูตรเฉพาะตัวที่มีความแตกต่างกัน ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จ 41Cactus By Tiwa ก็เช่นเดียวกัน ได้ยึดแนวทางผสมดินปลูกแค็กตัสที่เน้นใช้วัสดุปลูกที่มีความโปร่ง สามารถระบายน้ำได้ดี และมีสารอาหารที่แค็กตัสต้องการอย่างครบถ้วน

“ดินปลูกแค็กตัสถือว่ามีความสำคัญมากที่สุดและไม่มีอัตราส่วนที่ตายตัวในการผสมขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ปลูกแต่ละราย ฟาร์มแห่งนี้เน้นใช้ดินที่มีความโปร่ง หรือวัสดุปลูกที่โปร่ง ดินที่ใช้นี้ควรเป็นดินดำและมีส่วนผสมของไนโตรเจนในปริมาณที่สูง เพราะแค็กตัสเป็นไม้ที่ไม่มีใบ มีแต่ลำต้นจึงต้องเน้นให้ลำต้นสมบูรณ์ อาจเลือกใช้วัสดุปลูก อาทิ ดินดำ, ทรายหยาบ, ถ่าน, แกลบเผา, หินภูเขาไฟ (หินพัมมิส), เวอร์มิคูไลท์ และเพอร์ไลท์ (สามารถหาซื้อได้ตามร้านเกษตรทั่วไป) ซึ่งมีคุณสมบัติความเป็นด่าง ช่วยปรับสภาพดินให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมต่อการปลูกพืช

ทางด้านอัตราส่วนในการผสมดินปลูกนั้นแล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล ในที่นี้จะเลือกใช้อัตราส่วน 1 : 10 คือ ดินดำ 5 ส่วน, เพอร์ไลท์ 1 ส่วน, ทรายหยาบ 1 ส่วน, หินภูเขาไฟ 1 ส่วน, เวอร์มิคูไลท์ 1 ส่วน และ แกลบเผา 1 ส่วน โดยแกลบเผา สามารถหาได้จากโรงสีข้าวภายในท้องถิ่น ซึ่งจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นตัวกรองรักษาความสะอาดในดินปลูก หรืออาจปรับเปลี่ยนมาใช้อีกสูตรหนึ่งได้เช่นกัน อาทิ ดินดำ 3 ส่วน, เพอร์ไลท์ 2 ส่วน, หินภูเขาไฟ 2 ส่วน, เวอร์มิคูไลท์ 1 ส่วน และ ทรายหยาบ 1 ส่วน เป็นต้น”

แนะนำแนวทาง ขยายพันธุ์แค็กตัส

41Cactus By Tiwa เน้นใช้เมล็ดแค็กตัสมาทำการเพาะปลูกแทนที่การใช้หน่อ ส่งผลให้ต้นพันธุ์ที่ได้มีความทนทาน อีกทั้งยังสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี โดย คุณทิวา ได้หยิบยกเอาแค็กตัสสายพันธุ์ที่ถือเป็นซิกเนเจอร์ของทางฟาร์ม (โลโฟโฟรา และ แมมมิลาเรีย ฟูโมซา) มาแนะนำแนวทางการปลูกให้กับผู้ที่สนใจได้นำไปปรับใช้ตามความเหมาะสม

“การเพาะขยายพันธุ์โลโฟโฟราต้องเริ่มตั้งแต่คัดต้นพ่อ-แม่พันธุ์ที่มีความต้านทานโรคดี เน้นที่ไม่มีเชื้อราโดยใช้วิธีการสังเกตจากผิวภายนอก และรากของแค็กตัส ส่วนอายุของต้นพันธุ์นั้นควรอยู่ในช่วงอายุ 5-8 ปี หรือขนาดไซซ์ ประมาณ 8 เซนติเมตรขึ้นไปแล้วจึงนำเมล็ดมาเพาะขยายพันธุ์ ทั้งนี้โลโฟโฟราสามารถที่จะขยายพันธุ์ได้ทั้งในรูปแบบไม้เมล็ด และไม้หน่อ แต่สาเหตุที่ไม่เลือกขยายพันธุ์ด้วยวิธีการชำหน่อ และไม้กราฟต์ (แค็กตัสที่นำมาต่อกับตอกระบองเพชร) นั้นก็เพราะมีความทนทานต่อโรคและสภาพอากาศน้อย

สำหรับขั้นตอนการขยายพันธุ์ ภายหลังจากที่เราได้เมล็ดมาจากการผสมเกสรแล้วให้ล้างด้วยน้ำสะอาด ก่อนผึ่งแดดเอาไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้แห้ง เมื่อครบกำหนดจึงแกะเมล็ดด้านในมีสีดำออกมาล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงเตรียมวัสดุปลูก จะเลือกใช้เพียงแกลบเผาอย่างเดียวเท่านั้น นำเมล็ดที่แกะไว้โรยลงไปโดยเว้นระยะห่างเอาไว้ประมาณ 3 เซนติเมตร / 1 เมล็ด (3×3) หลังจากนั้นให้รดน้ำจนชุ่ม 2 วัน / ครั้ง ประมาณ 15 วัน – 1 เดือน จะเริ่มมีต้นอ่อนแตกออกมาให้เห็น ระหว่างนี้จะต้องควบคุมอุณหภูมิด้วยการเก็บไว้ในที่ร่มไม่ให้โดนแสงแดดจัด อาจเลือกวางไว้ใต้โต๊ะที่ใช้สำหรับเพาะเลี้ยงแค็กตัส หรือสร้างโรงเรือนสำหรับอนุบาลแค็กตัส โดยเฉพาะซึ่งจะเลือกใช้ซาแรนสีดำ 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อคลุมป้องกันแสงแดด โดยกระบวนการอนุบาลแค็กตัสในลักษณะนี้จะกินระยะเวลาไปจนแค็กตัสมีอายุครบ 6 เดือน

เมื่อครบ 6 เดือน พ้นจากระยะอนุบาลแล้วจึงแยกแปลงด้วยวิธีการขุดเปลี่ยนกระถางเพื่อเปลี่ยนดิน เนื่องจากแค็กตัสเริ่มมีความต้องการสารอาหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความยากของขั้นตอนนี้จะอยู่ที่ในระหว่างเปลี่ยนกระถาง จะต้องดูแลเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้รากของแค็กตัสที่กำลังเปลี่ยนขาดอาจทำให้ต้นตายได้ สำหรับความสูงโดยเฉลี่ยของแค็กตัสอาจมีเพียง 1 เซนติเมตร เพราะฉะนั้นจะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ส่วนดินที่นำมาเปลี่ยนใส่ในกระถางใหม่จะต้องใช้ดินที่มีอัตราส่วนเดียวกันกับดินที่ใช้เพาะเลี้ยงต้นพ่อ-แม่พันธุ์ หรือดินปลูกแค็กตัสทั่วไปนั่นเอง แต่ยังต้องตั้งเก็บไว้ในที่ร่ม จนกระทั่งมีอายุครบ 1-1ปีครึ่ง หรือมีความสูงประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก็สามารถที่จะนำขึ้นมาวางด้านบนเพื่อให้โดนแสงแดดได้ตามปกติได้

ส่วนการขยายพันธุ์แมมมิลลาเรีย พลูโมซา (ขนนก) ใช้วิธีการอนุบาลในรูปแบบเดียวกันกับโลโฟโฟรา โดยต้นพันธุ์ที่มีความเหมาะสมสามารถใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ได้ ควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี เน้นใช้วิธีการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดอีกเช่นเดียวกัน แต่ขั้นตอนการผสมเกสรอาจจะทำได้ยากกว่า เนื่องจากแค็กตัสสายพันธุ์นี้มีลักษณะแตกเป็นกออย่างหนาแน่น และดอกมีขนาดเล็ก จะต้องใช้เทคนิคนำพู่กันเบอร์เล็ก และมีดคมบางขนาดเล็กมาปรับใช้ โดยใช้มือจับกลีบดอกแล้วค่อยๆ กรีดเอาเกสรตัวผู้ออกมา เมื่อกรีดเอาเกสรตัวผู้มาได้จึงเขี่ยใส่เกสรตัวเมียของอีกต้นหนึ่ง ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน จะเริ่มมีต้นอ่อนแตกออกมา ให้ใช้กรรมวิธีเพาะขยายพันธุ์เช่นเดียวกันกับโลโฟโฟรา อย่างไรก็ตาม ในเกษตรกรบางรายอาจเลือกใช้วิธีการผสมเกสรด้วยการปั่นพู่กันเอาเกสรตัวผู้มาป้ายเกสรตัวเมียในอีกต้นหนึ่ง ซึ่งจะมีอัตราการติดเมล็ดน้อยกว่าวิธีการข้างต้น

เมื่อกระบองเพชรเริ่มตั้งฟอร์มอายุประมาณ 1-1 ปีครึ่ง ก็ให้บำรุงได้ในทันที โดยเน้นที่รากและลำต้น แต่เนื่องจากดินปลูกที่ใช้อยู่มีธาตุอาหารเพียงพอสำหรับความต้องการของแค็กตัสอยู่แล้วจึงไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเท่าไรนัก ยกเว้นในกรณีที่พบว่าต้นแค็กตัสมีการเจริญเติบโตช้า หรือมีความอ่อนแอสูง จะเลือกใช้ปุ๋ยออสโมโค้ทเข้ามาเสริมให้

นอกจากนี้แล้วปัจจุบัน 41Cactus By Tiwa ยังมีแนวคิดพัฒนาสายพันธุ์แมมมิลลาเรีย พลูโมซา ให้มีลักษณะปุยขนแปลกออกไปจากเดิม เช่น สายพันธุ์ขนปุยขนาดใหญ่ สายพันธุ์ขนปุยบาง และสายพันธุ์ดั้งเดิม”

ช่องทางการจัดจำหน่าย

คุณทิวา กล่าวว่า “แค็กตัสที่มีขนาดเหมาะแก่การจำหน่ายจะมีอายุ 2-3 ปี หรือมีขนาดไซซ์อยู่ที่ประมาณ 2 เซนติเมตร เนื่องจากเป็นไม้เพาะเมล็ดมีความแข็งแรงอยู่แล้ว จึงสามารถจำหน่ายได้ตั้งแต่ต้นขนาดเล็ก โดยใช้วิธีคัดเลือกเอาเฉพาะต้นที่มีความสมบูรณ์และสวยมากที่สุด อาจเน้นเฉดสีที่แปลกตาเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อ เนื่องจากลูกค้าแต่ละรายจะมีความชื่นชอบไม่เหมือนกัน สิ่งสำคัญจะต้องไม่มีตำหนิและมีลักษณะผิวที่กลมเกลี้ยง ส่วนช่องทางจัดจำหน่ายจะเน้นไปที่อินสตาแกรม tiwachuamklang, เพจเฟซบุ๊ก 41Cactus By Tiwa และการออกบู๊ธจำหน่ายภายในงานของสมาคมแค็กตัส ซึ่งจะมีการจัดขึ้นเป็นประจำ ณ ศูนย์การค้าต่างๆ โดยตลาดแค็กตัสในปัจจุบันถือว่าเปิดกว้างขึ้นมาก เนื่องจากลูกค้าจะมีทั้งผู้เล่นใหม่ และผู้เล่นเก่า ผู้ใหญ่ไปจนถึงเด็กวัยเรียนที่ต้องการซื้อเพื่อนำไปเก็บสะสม เพราะฉะนั้นจะต้องเลือกแค็กตัสสายพันธุ์ที่ไม่ต้องการ การดูแลเอาใจใส่มาก เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเหล่านี้ หากเลี้ยงต้นนี้รอดก็สามารถที่จะเลี้ยงต้นอื่นได้นั่นเอง”

นับเป็นอีกหนึ่งความประทับใจของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรที่ผันตัวเองมาจากแม่ค้าขายผ้า กลับกลายมาเป็นแม่ค้าขายแค็กตัส โดยมีจุดเริ่มต้นจากการสะสมทีละเล็กทีละน้อยมาเรื่อยๆ จนสามารถสร้างเงินและสร้างอาชีพเป็นของตนเองได้

พร้อมกับกล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับผู้ที่สนใจเพาะเลี้ยงแค็กตัส ขอแนะนำให้เลือกเลี้ยงต้นที่มีความชื่นชอบก่อนเป็นลำดับแรก ชอบต้นไหนเลี้ยงต้นนั้น หากเลือกเลี้ยงตามกระแสก็จะสุขอยู่เพียงชั่วครู่ สักพักก็จะเบื่อ แต่ถ้าเลี้ยงตามที่รักก็จะดูแลได้นาน ยิ่งต้นไม้เติบโตออกดอกให้เห็นก็จะยิ่งหลงรัก”

ติดต่อเกษตรกร คุณทิวา เชื่อมกลาง (คุณแอม) เลขที่ 41/26 หมู่ 7 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 86000 (หลังสนามกีฬาจังหวัดชุมพร) โทร (087) 621-8285

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2563