ทรงบาดาล เทพบัญชาจากบาดาล ทรงปาฏิหาริย์สู่ลานดิน

ทรงบาดาล

เทพบัญชาจากบาดาล ทรงปาฏิหาริย์สู่ลานดิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia surattensis Burm.

ชื่อสามัญ Scrambled eggs, Kalamona

ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE

ชื่ออื่นๆ ตรึงบาดาล พรึงบาดาล ขี้เหล็กหวาน ขี้เหล็กบ้าน สะเก็ง สะแก้ง ทรงบันดาล

Advertisement

ฉันมาจากนาคพิภพแห่งชั้นบาดาล ด้วยพลังทรงอำนาจอันยิ่งใหญ่ และแรงอธิษฐานจากศรัทธาของมวลชน ที่มักจะจุดธูปเทียนบูชาขอพรอำนาจบารมีพญานาคเจ้าบาดาล  โดยเฉพาะช่วงต้นเดือน  กลางเดือนถึงปลายเดือน วันที่ 1 หรือ วันที่ 16 ฉันรู้สึกว่ามีผู้คนส่งกลิ่นธูปควันเทียนมาขอตัวเลขจากฉันเป็นประจำ ฉันก็เห็นใจทุกคน แต่ตัวเลขที่ฉันให้ไปนั้นก็ต้องไปบวก ลบ คูณ หารเอาเองแล้วแต่โชคลาภของใคร เพราะในรอบปี ฉันก็มี “ไฮไลต์” ที่ใครๆ อยากหาคำตอบที่มาของ “บั้งไฟพญานาค” หรือ บั้งไฟผีในแม่น้ำโขงช่วงวันออกพรรษา แปลกไหมล่ะ ฉันปล่อยลูกไฟออกมาโดยไม่มีกลิ่นไม่มีควัน โผล่จากลำน้ำหลายจังหวัด หลายช่วงตอนของแม่น้ำโขง เช่น จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี  อุบลราชธานี

Advertisement

อันที่จริงชื่อของฉันคนระดับ “ผู้สูงอายุ” ก็พอจะรู้กันว่าเป็นหนึ่งในต้นไม้หลายชนิดที่คนไทยตั้งแต่บรรพบุรุษเราถือว่าเป็นไม้มงคล มีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถให้คุณ โทษ ได้  ป้องกันสิ่งร้ายที่จะเกิดกับมนุษย์ได้  ซึ่งเชื่อกันว่า “รุกขเทวา” ประจำต้นนั้นๆ แผ่บารมีคุ้มครองให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัย จะเป็นที่ทรงต้น เนื้อไม้ ดอก ใบ หรือแม้แต่ชื่อก็ให้ความหมายเป็นมงคลทรงพลังอำนาจจากบาดาลถึงน่านฟ้า

ฉันเองเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีชื่อเป็นพลังอำนาจ แม้จะไม่มีกลิ่นหอมจากช่อดอก แต่สีเหลืองอร่ามเรืองรองดั่งทองอำไพของสีดอก ก็ทำให้ผู้คนที่พบเห็นรื่นรมย์ และให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยสงบร่มเย็นดังว่าอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ บางคนกล่าวว่าทรงบาดาลหรือทรงบันดาลนั้นคือพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ และมั่นคงที่จะบันดาลให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น คนโบราณจึงเชื่อกันว่าหากบ้านใดปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้ในบริเวณบ้าน ก็จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในชื่อเสียงและฐานะ มีอำนาจยิ่งใหญ่เกรียงไกรกว้างขวาง ด้านเงินทองจะมีมากมายตลอดปีเหมือนดอกบานสะพรั่งสีเหลืองทองเต็มต้น ทรงบาดาลยังเป็น 1 ในหลายชนิดของไม้มงคลที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์ ในการก่อสร้างบ้านเรือนหรืออาคาร เรื่องเหล่านี้เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมความเชื่ออันดีงามจากอดีตเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจตลอดมา

ตัวฉันเองเป็นไม้พุ่มยืนต้นแตกกิ่งก้านสาขามากในเรือนยอด ลำต้นสูงได้ 10-20 ฟุต

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกสลับใบย่อยแต่รวมกันเป็นแผง แผ่นใบสีเขียว ด้านบนใบเรียบ

ผลทรงบาดาล

ส่วนท้องใบปกคลุมด้วยขนสั้นๆ ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบปลายยอด ก้านช่อดอกยาว แต่ละช่อประกอบไปด้วยดอกย่อยสีเหลืองทอง ประมาณ 10-15 ดอก กลีบดอกย่อยเป็นรูปไข่ จำนวน 5 กลีบ ดอกบานเต็มที่มีกลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลือง ออกดอกได้ทั้งปีดอกดกตลอดปี มีผลเป็นฝักแบนเรียบ ยาว 10-20 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกตามตะเข็บ มีเมล็ด 15-25 เมล็ด ผิวมันเป็นเงา ใช้เพาะเมล็ดขยายพันธุ์ได้ดีหรือตอนกิ่งก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด โดยก่อนนำเมล็ดลงเพาะในวัสดุปลูก ควรนำไปแช่ทิ้งไว้ในน้ำที่มีความร้อนได้ถึง 80 องศาเซลเซียส แล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณครึ่งวันจะทำให้เมล็ดงอกได้ดีขึ้น สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเจริญเติบโต เป็นพรรณไม้กลางแจ้งขึ้นได้ดีกับดินทุกชนิดจึงเหมาะที่จะปลูกตามที่สาธารณะ เช่น ริมถนน เกาะกลางถนน หรือสนามเด็กเล่น หรือจะปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ก็ให้ทรงพุ่มสวยงาม

ในอดีตนิยมปลูกไว้ในบริเวณวัด และใช้ดอกสีเหลืองสดไปบูชาพระ สมัยโบราณเชื่อกันว่าเกิดโชคลาภและมีเทวดาคอยคุ้มครองรักษา โดยสำหรับผู้ประกอบอาชีพสุจริตจะส่งอานิสงส์เป็นไม้บูชาด้วยดอกสีเหลืองที่คล้ายจีวรพระสงฆ์ หรือสามเณร จึงมีปลูกในวัดทั่วไป รวมทั้งในวรรณคดีของท่านสุนทรภู่ ทำให้ฉันประทับใจและภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เอ่ยชื่อฉันเป็นร้อยปีมาแล้ว คือ เรื่อง รำพันพิลาป ซึ่งท่านเขียนไว้ในช่วงขณะที่ท่านบวชเป็นพระภิกษุ บรรยายถึงบริเวณกุฏิที่ท่านจำวัด ตอนหนึ่งไว้ว่า “…..ทรงบาดาลบานดอกรีบออกทัน เก็บทุกวันเช้าเย็นไม่เว้นวาย”

ทรงบาดาลนิยมปลูกประดับหรือจัดภูมิทัศน์ มองเห็นสองข้างทางเหลืองอร่ามสะพรั่ง เช่นถนนสายบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ปลูกไว้ตลอดระยะทางหลายกิโลเมตร สำหรับประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ ก็เป็นอาหารได้หลายส่วนเช่นใบอ่อนเป็นผักจิ้ม สำหรับสมุนไพรมีในตำราบอกไว้ว่า รากใช้ถอนพิษผิดสำแดง แก้สะอึกเนื่องจากกระเพาะอาหารขยายตัวโดยใช้รากมาต้มน้ำดื่ม แก้โรคได้

ฉันภูมิใจที่เห็นบทกลอนเขียนเสริมบุคลิกภาพและเสริมบารมีของฉันในวารสาร เทคโนโลยีชาวบ้านนี่แหละว่า……

“สง่างามยามทรงต้นพ้นกระถาง            พุ่มแผ่กางดั่งบัญชาน่าเกรงขาม

โคนต้นใบกิ่งก้านดอกออกงามตาม       มีคำถามเกรงหรือหลงทรงบาดาล”

………………………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2563