สาวนครสวรรค์ ปลูกเลี้ยงบอนสี เสริมรายได้ หมั่นพัฒนาพันธุ์ ช่วยสร้างตลาดยั่งยืน

บอนสี (Caladium) เป็นพรรณไม้ที่มีหัว หรือเหง้าเป็นลำต้นอยู่ใต้ดิน ส่วนที่โผล่ขึ้นมานั้นเป็นกิ่งก้านของใบ บอนสี เป็นพืชที่มีทรงใบสวยงาม ใบจะมีลักษณะแผ่กว้าง บางสายพันธุ์มีใบที่ใหญ่มาก โดยลักษณะของใบบอนมีรูปทรงออกไปทางแหลม โคนใบมนเว้าคล้ายรูปหัวใจ และใบจะมีลาย หรือสีที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิดของบอน ในส่วนของก้านในนั้นมีลักษณะที่อ่อนและยาว โคนก้านจะมีกาบห่อหุ้ม

คุณณุกานดา วัฒนะวิทย์

บอนสี ในสมัยก่อนเรียกกันว่า “บอนฝรั่ง” จากชื่อทำให้คาดเดาได้ว่าอาจเป็นพืชที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย แต่ปัจจุบันประเทศไทย กลับมีการปลูกและผสมพันธุ์บอนสีขึ้นใหม่มากมายทำให้มีสีสันสวยงามแปลกตาจากบอนสีดั้งเดิม และมีการตั้งชื่อของสายพันธุ์ใหม่ๆ ให้มีความไพเราะและเป็นมงคล

คุณณุกานดา วัฒนะวิทย์ อยู่บ้านเลขที่ 999/135 หมู่ที่ 6 ตำบลวัดไทร อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เห็นความพิเศษของบอนสีว่า เป็นพืชที่มีความสวยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงได้ทำการเพาะเลี้ยงบอนสีและหมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ ทำให้ปัจจุบันเธอขยายพันธุ์บอนสีสร้างเป็นอาชีพเสริมรายได้ ควบคู่ไปกับการทำงานประจำ ทำให้นอกจากเกิดรายได้เสริมแล้ว ยังสามารถทำสิ่งที่รักไปพร้อมๆ กันอีกด้วย

การเพาะชำหัวให้เกิดต้นใหม่

ปลูกบอนสี เสริมรายได้

ควบคู่กับทำงานประจำ

คุณณุกานดา เล่าให้ฟังว่า คุณพ่อคุณแม่ของเธอมีอาชีพเพาะพันธุ์ต้นไม้จำหน่ายเป็นอาชีพหลักของครอบครัว จึงทำให้ในเรื่องของการปลูกต้นไม้นั้นเป็นสิ่งที่เธอชอบมาตั้งแต่เด็ก ต่อมาเมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้หางานประจำทำตามความฝันของเธอ และในช่วงวันหยุดก็จะมีเวลาไปช่วยที่บ้านจำหน่ายต้นไม้ที่สวนจตุจักร ต่อมามีเหตุต้องย้ายกลับมาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ จึงทำให้เกิดความคิดที่อยากจะสร้างรายได้เสริมควบคู่กับการทำงานประจำไปด้วย จึงเลือกปลูกบอนสีเพราะชอบในความมีสีสันของไม้ชนิดนี้

ลักษณะการผ่าหัวเป็นชิ้นๆ เพื่อขยายพันธุ์

“ช่วงที่ไปช่วยที่บ้านจำหน่ายต้นไม้ ช่วงนั้นที่บ้านทำไม้หลายอย่าง แต่พอเรากลับมาอยู่ต่างจังหวัด มองว่าการทำหลายอย่างไม่น่าจะตอบโจทย์กับเรามากนัก เพราะว่าเราทำงานประจำด้วย จึงเลือกไม้ที่เราคิดว่าชอบที่สุด ก็เลยได้บอนสีเพราะสีสันของใบ มีความสวยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เราก็เลยมองว่าตอนนี้ต้องปลูกบอนสีอย่างเดียว พร้อมกับพัฒนาสายพันธุ์ให้ดี พอตัดสินใจที่จะทำ ก็หาซื้อต้นพันธุ์เข้ามาเรื่อยๆ พร้อมกับขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น พอประมาณปี 2559 ก็เริ่มออกขายสร้างเป็นสร้างได้เสริมตั้งแต่นั้นมา” คุณณุกานดา เล่าถึงที่มาของการปลูกบอนสีสร้างรายได้

Advertisement

ขยายพันธุ์บอนสี

Advertisement

ด้วยวิธีการผ่าหัว (เหง้า)

เมื่อมีความชอบในบอนสีอย่างสุดใจปรารถนาแล้ว คุณณุกานดา บอกว่า ก่อนที่จะขยายพันธุ์และพัฒนาพันธุ์ให้มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของตลาดได้นั้น ต้องซื้อบอนสีเข้ามาสะสมให้มีจำนวนที่มากๆ ก่อน เมื่อเห็นจำนวนมากแล้วก็จะคัดต้นที่สวยๆ สร้างเป็นพ่อแม่พันธุ์สำหรับผสมให้เกิดเมล็ด แล้วนำเมล็ดที่ได้มาปลูกให้เห็นความสวยงาม จากนั้นจึงเลี้ยงให้มีขนาดที่ใหญ่จนเกิดเป็นหัว (เหง้า) หากต้องการจำหน่ายสามารถส่งลูกค้าได้ทันที แต่ถ้าต้องการขยายพันธุ์ให้มีจำนวนมาก จะนำหัวบอนสีมาผ่าให้มีลักษณะเป็นชิ้นๆ ขนาด 1-2 นิ้ว เพื่อให้เกิดเป็นต้นใหม่ขึ้นมาในปริมาณที่มากๆ

ดอกที่ผ่านการผสมแล้ว

โดยหัวของบอนสีที่เหมาะสมนำมาผ่านั้น จะดูต้นที่มีอายุเหมาะสมอยู่ที่ 5-6 เดือน แต่ถ้าอายุบอนสีมากกว่า 1 ปี จะนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อผสมเกสรให้ได้เป็นเมล็ดออกมา โดยวัสดุเพาะที่เหมาะสมของการเพาะหัวบอนสีจะใช้ทรายผสมขุยมะพร้าวละเอียดในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 รออย่างต่ำ 2 สัปดาห์ สำหรับบอนสีบางพันธุ์ก็จะเริ่มงอกต้นใหม่ออกมาให้เห็น และบางสายพันธุ์ใช้เวลามากกว่า 3 เดือน ต้นใหม่จะเริ่มงอก

มิตรไมตรี

“พอเราเห็นต้นที่เพาะงอกออกมาเป็นต้นใหม่ มีความสูงประมาณ 1 ข้อนิ้ว พร้อมกับมีระบบรากและใบที่สมบูรณ์ดีแล้ว เราก็จะค่อยๆ แยกต้นออกมา มาปลูกลงในกระถาง 4 นิ้ว กระถางละ 1 ต้น ใช้วัสดุปลูกเป็นจำพวกดินใบ ดูแลรดน้ำตามปกติ ดูแลในระยะนี้ต่อไปอีกประมาณ 4 เดือน ไม้ก็จะมีทรงและสีใบชัดเจน พร้อมที่จะจำหน่ายได้ แต่ถ้ายังไม่จำหน่ายในระยะนี้ก็จะย้ายไปปลูกในกระถางขนาด 6 นิ้วอีกครั้งขึ้น เพื่อสร้างเป็นไม้ใหญ่จำหน่ายอีกราคาหนึ่ง” คุณณุกานดา บอก

ในเรื่องของการป้องกันโคและแมลงศัตรูพืชต่างๆ นั้น คุณณุกานดา บอกว่า เนื่องจากไม้ส่วนใหญ่อยู่ในตู้ที่มีพลาสติกคุ้ม ในเรื่องของการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชยังพบได้น้อย แต่พื้นที่ปลูกบอนสีส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ชื้นแฉะ ดังนั้น จะเกิดในเรื่องของโรคพืชเป็นหลัก เช่น เชื้อรา วิธีป้องกันต้องหมั่นฉีดพ่นยาอยู่เสมอ หากเจอเชื้อราเข้าทำลายต้นหรือใบมากเกินไป ต้องนำต้นนั้นออกจากตู้พลาสติกทันทีเพื่อลดการแพร่ระบาด

ต้นที่พร้อมแยกลงปลูกกระถาง 4 นิ้ว

 การทำตลาดให้มั่นคง

ต้องผลิตไม้สายพันธุ์ใหม่เสมอ

สำหรับการทำตลาดเพื่อจำหน่ายบอนสีให้เป็นที่นิยมของลูกค้าอยู่เสมอ คุณณุกานดา บอกว่า ต้องหมั่นพัฒนาพันธุ์ด้วยการนำพ่อแม่พันธุ์ใหม่ๆ มาผสมพันธุ์อยู่เสมอเพื่อให้เกิดไม้ใหม่ ยิ่งภายในสวนมีลูกไม้ใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ จะช่วยทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกซื้อมากขึ้น ดังนั้น การทำตลาดบอนสีให้ประสบผลสำเร็จและติดตลาด ผู้ปลูกต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาพันธุ์ หมั่นเรียนรู้และผสมพันธุ์ลูกไม้ต่างๆ ตามจินตนาการของตัวเองอยู่เสมอ เมื่อได้ลูกไม้ใหม่ออกมาก็จะนำไม้ไปตั้งชื่อที่สมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย

การเกิดต้นใหม่จากเหง้าที่ผ่า

ในเรื่องของสื่อโซเชียลมีเดียในยุคปัจจุบันเป็นอีกหนึ่งช่องทาง การสร้างตลาดที่ไปได้อย่างกว้างขวางมาก เพราะผู้ที่สนใจในบอนสีก็จะเข้ามาชมและเลือกซื้อบอนสีตามเพจต่างๆ ที่เกี่ยวกับบอนสีโดยเฉพาะ จึงทำให้ลูกค้าที่อยู่ห่างไกลก็สามารถเลือกซื้อไม้ในแบบที่ชอบ โดยทางสวนจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ถึงหน้าบ้านของลูกค้าได้อย่างง่ายดาย

พิมพ์ชนก

“ราคาบอนสีที่ขายอยู่ในสวน ราคาเริ่มต้นก็มีตั้งแต่กระถางละ 10 บาท และราคาที่สูงสุดอยู่ที่กระถางละ 40,000 บาท ซึ่งตลาดในบ้านเราจะสนใจบอนสีที่เป็นไม้ใบด่าง ส่วนตลาดต่างประเทศจะเน้นที่มีสีเหลือง โดยตลาดต่างประเทศจะส่งออกเป็นหัวไป ลูกค้าก็จะนำไปขยายพันธุ์เอง เพราะฉะนั้นหลักการทำตลาดที่ดี เราต้องหมั่นพัฒนาพันธุ์อยู่เสมอ พร้อมกับขยันโพสต์ไม้ของเราที่มีเป็นประจำ ก็จะช่วยให้การทำตลาดสามารถทำไปได้เรื่อยๆ และไม้ก็จะเป็นที่รู้จักของลูกค้าในวงกว้าง” คุณณุกานดา บอก

การจัดส่งบอนสีให้ลูกค้า

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากปลูกเลี้ยงบอนสีเพื่อสร้างรายได้ คุณณุกานดา แนะนำว่า หมั่นเรียนรู้ในเรื่องของการพัฒนาพันธุ์เป็นอันดับแรก ส่วนในเรื่องของการทำตลาดนั้นเนื่องจากยุคนี้เป็นการทำตลาดออนไลน์เป็นหลัก ผู้ผลิตจึงต้องมีความจริงใจและซื่อสัตย์กับลูกค้า เวลาส่งไม้ต้องยึดไม้ที่ตรงจริงตามรูปที่ลงจำหน่าย ก็จะช่วยให้ลูกค้าเกิดความเชื่อใจและเป็นลูกค้าประจำอยู่เสมอ หากมีคำปรึกษาสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (091) 184-6693