กะเรกะร่อน ไม่ได้เร่ร่อน ไม่ใช่ “กาฝาก” แต่อยากอิงอาศัย

กะเรกะร่อน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbidium aloifolium  (L.) Sw.

ชื่อวงศ์ ORCHIDACEAE

ชื่ออื่นๆ กาเรการ่อน (ภาคกลาง) เอื้องปากเป็ด (เชียงใหม่) กล้วยหางไหล (ชุมพร) เอื้องด้ามข้าว (ลำปาง) กล้วยไม้ป่า กล้วยไม้ผี (ชมรมคนรักษ์กล้วยไม้ผี)

ผมไม่ใช่ยิปซี ไม่ใช่ชนเผ่าผีตองเหลือง และผมไม่ใช่คนเร่ร่อน แต่พอใครเอ่ยเรียกชื่อผมก็ให้ความรู้สึกว่า ผมเป็นคนไร้ถิ่นฐาน ทั้งๆ ที่ผมมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และผมก็อยู่ได้ทั้งในกระถาง สุมกอตามพื้นดิน หรือเกาะเกี่ยวอิงอาศัยต้นไม้อื่น  เช่น ต้นตาล ต้นมะพร้าว หรือต้นไม้ในป่าทั่วๆ ไป

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “เร่ร่อน” ทำให้ผมนึกไปถึง “ชาวเลเร่ร่อน” ชนชาติพันธุ์ ชาว “มอแกน” ที่มีท้องทะเล และผืนน้ำเป็นนิวาสถาน ได้รับนามสกุลพระราชทานทุกคน ใช้นามสกุลเหมือนกันว่า “หาญทะเล” บางข้อมูลก็ว่าได้รับพระราชทาน จากเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  และอีกบันทึกว่าได้รับจาก “สมเด็จย่า” เมื่อ 60 กว่าปีแล้ว ผมไม่ได้เร่ร่อนอย่างใครคิด แต่ชอบอิงอาศัยบนคาคบไม้สูงทุกชนิด โดยไม่ได้ทำตัวเป็น “กาฝาก” เพราะผมเป็นตัวของตัวเอง เพียงแต่มีพี่น้องหลายสายพันธุ์ ซึ่งมีพฤติกรรมและบริบทคล้ายๆ กัน เพราะเป็นสกุลเดียวกันคือ สกุล ซิมบิเดียม (Cymbidium)

ชื่อผมบางกลุ่มพันธุ์เขาเรียกชื่อนำหน้าขึ้นต้นว่า “เอื้อง” ก็รู้สึกเขินๆ นิดหน่อย ฟังดูเป็นสาวๆ เอื้องฟ้า เอื้องดอย แล้วยังชวนให้คิดถึงบทเพลงที่ร้องว่า “เธอเป็นเอื้องฟ้าเกิดมาคาคบยูงยาง แม้จะลงกระถางก็ยังต้องแขวนอยู่เหนือดิน” แหม..! ผมไม่ลืมตัวขนาดนั้นหรอก เพราะผมบอกแล้วว่า ผมอยู่ได้ทุกที่ตั้งแต่บนดิน ในกระถาง โคนต้นถึงยอดไม้ ผมจึงขอเป็นตัวแทนญาติๆ สกุลกล้วยไม้ cymbidium ที่ใช้ชื่อเกี่ยวข้อง “กะเรกะร่อน” เปิดเผยชีวิตภาพรวมทั่วๆ ไป ก็ อาจจะเอ่ยไม่ครบทุกชื่อ แต่พอจะได้รู้จักสกุลชาติพันธุ์ผมพองาม

กะเรกะร่อน มีหลายสายพันธุ์ทุกภาค แต่สืบสายเผ่าพันธุ์ พบได้ตั้งแต่ประเทศอินเดีย แถบเชิงเขาหิมาลัย จีน ไต้หวัน  ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย รวมทั้งตอนเหนือของออสเตรเลีย เป็นราชากล้วยไม้กลิ่นหอม ที่มีใบเขียวชอุ่มตลอดปี ในประเทศไทยก็มีหลายสายพันธุ์ เพราะเป็นพืชชอบเขตร้อน อบอุ่น ในเอเซีย ซึ่งมีชื่อแปลกแยกกลุ่มออกอีก เช่น กะเรกะร่อนจุหลันสายพันธุ์แฮมาโทดส์ นอกจากพบในแหล่งที่กล่าวมาแล้วยังมีที่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบอเนียว ชอบพื้นที่สูงแต่อุณหภูมิต่ำ ปลูกเพื่อตัดดอกได้  มีระบบรากดินและรากกึ่งอากาศ มีลำต้นเทียม หรือลำลูกกล้วย สูงได้ตั้งแต่ 60-100 เซนติเมตร แตกเป็นกอขยาย

กะเรกะร่อนอินทนนท์ (เอื้องกำเบ้อ) ออกดอกปลายปีต่อต้นปี เป็นกล้วยไม้ลักษณะอิงอาศัย มีใบออกจากโคนหัว ลักษณะดอกเด่น มีสีสัน มีเสน่ห์ เพราะออกดอกเป็นช่อ ตั้งและทอดเอียงไปตามแนวใบ มีดอกย่อยจำนวนมาก สีเหลืองอมเขียว มีจุดสีน้ำตาล ชอบขึ้นตามป่าดิบเขา ชอบแสงรำไร ออกดอกทนนานและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ

นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายกลุ่มพันธุ์ เช่น กะเรกะร่อนเขา หรือกะเรกะร่อนปากแดง กะเรกะร่อนสองสี กะเรกะร่อนแดง  กะเรกะร่อนตุ๊กตาร่อนเร่ กะเรกะร่อนด้ามข้าว ที่โดดเด่น เช่น กะเรกะร่อนปากเป็ดเผือก ซึ่งทั้งดอกและกลีบดอกมีทั้ง สีขาว เขียว ครีม น้ำตาล ชมพู แต่พิเศษมากที่ดอกบานอยู่ได้นานถึง 10 สัปดาห์ ลักษณะดอก คล้ายเคลือบด้วยขี้ผึ้ง ออกดอกจำนวนมาก ช่อหนึ่งๆ มีถึง 15 ดอก มีทั้งประเภทเกาะอาศัยต้นไม้ เช่น พบที่ต้นตาล ในจังหวัดเพชรบุรี และขึ้นตามพื้นดิน มีดอกใหญ่ ถูกนำไปผสมได้เป็นสายพันธุ์ไม้ตัดดอก เช่น ที่เรียกว่า “เอื้องสำเภางาม” มีปลูกเป็นการค้า

ส่วนกะเรกะร่อนปากนกแก้ว เป็นกล้วยไม้ที่มีเหง้า เรียกอีกชื่อว่า กะเรกะร่อนดอย เพราะชอบขึ้นตามป่าดิบสูง เมื่อแตกต้นใหม่จากที่ทอดเลื้อยหรือไหล ก็แตกใหม่ได้อีกจากโคนกอ พบได้ทั้งในประเทศไทย จีนตอนใต้ พม่า และเวียดนาม

ผมต้องรีบ “ออกตัว” ก่อนนะครับว่า สกุลสายพันธุ์ทั้งหมดที่เอ่ยมาไม่เกี่ยวกับ “กะเรกะร่อนปากเป็ด” ครับ เพราะเป็นคนละชนิดสกุลกัน แต่ขอชื่นชมและยอมรับว่า กะเรกะร่อนปากเป็ด (Cymbidium finlaysonianum) เป็นกล้วยไม้สายพันธุ์ที่มีมูลค่านำไปปลูกในกระถางลายคราม เพิ่มความโดดเด่น มีเอกลักษณ์สีเหลืองสด หรือเหลืองปนน้ำตาลแดง ซึ่งถือเป็นเฉดสีมงคลน่าสะสม โดยเฉพาะชาวเวียดนามสั่งซื้อจำนวนมาก สายพันธุ์นี้พบมากทางภาคใต้ อาศัยเกาะกลุ่มเป็นกอตามต้นตาล ต้นมะพร้าว ภาษาถิ่นใต้ เรียก “บวบหาว หรือ บวบกลางหาว” เพาะเลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์จากการผ่าลำต้น แยกหน่อตัดรากตามวิธีการเพาะชำ โตแล้วราคาดี ขายกันราคาหลักพันหลักหมื่น อ้อ..! ผมขอกระซิบความลับเรื่อง กะเรกะร่อนปากเป็ด จากข้อเขียนของ อาจารย์มนัส ช่วยบำรุง อ่านได้จาก เทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่  680 วันที่ 1 ตุลาคม 2561 จะรู้วิธีปลูกกล้วยไม้นี้ ขายและส่งต่างประเทศ เพราะท่านไปดูของจริงจาก คุณสุริยัณห์   สายหยุด ที่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร มาโดยตรง อย่าลืม มีเทคนิคมากมาย

ชื่อนั้นสำคัญไฉน ไม่ใช่จะเร่ร่อน แต่เมื่อเกาะติดแตกกอที่ไหนแล้ว ใครเด็ดใบสดไปลนไฟให้นุ่ม แล้วบีบเอาน้ำหยอดหู แก้หูเป็นน้ำหนวกได้นะ หรือจะนำเมล็ดบดโรยแผลเพื่อซับเลือด หรือแผลเน่าก็ดี อย่ารังเกียจเพียงชื่อนะจ๊ะ แต่ผมคือสมุนไพรดอกงาม และไม้ประดับระดับสูง จริงๆ นะคร๊าบ..!

………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2563