ตดหมูตดหมา พระพายผาย ย้ายถิ่น กลิ่นแสลง แยงจมูก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Paederia linearis Hook. F.

ชื่อวงศ์ RUBIACEAE

ชื่อสามัญ Fever  vine

ชื่ออื่นๆ กระพังโหม ตูดหมูตูดหมา (ภาคกลาง) ตำยานตัวผู้ พังโหม ตืดหมา ขี้หมาคารั้ว (เหนือ-อีสาน)  ย่านพาโหม (ใต้) พาหม (สุราษฎร์ธานี)

ผมอึดอัดใจกับชื่อที่เรียกกันแล้วต้อง “เช็ดปาก” แม้ว่ามีชื่ออื่นที่ฟังดูดี แต่คนไม่ค่อยเรียกชื่อนั้น เพราะติดคำว่า “พัง” ยกเว้นชาวสุราษฎร์ธานี ที่หลายท้องถิ่นเรียกสั้นๆ ว่า “พาหม”

ผมจึงอยากจะประชดตั้งชื่อตัวเองเป็น “พระพายผาย” แทนคำว่า “ผายลม” แหม…ไม่ทราบว่าจะใช้ภาษาไทย “อาการนาม” อย่างไรดี เพราะแปลชื่อออกมาแล้วก็สัมผัสได้ ทั้ง “กลิ่นและเสียง”

ในบรรดาพืชสมุนไพรไม้ล้มลุกเถาเลื้อย สำหรับผมแม้จะมีย่านใบเรียวแหลมเขียวเข้ม ยอดสวย ดอกงาม แต่ผมถูกจัดอยู่ในกลุ่มวัชพืชที่คนค่อนข้างรังเกียจ ด้วยเหตุนี้ผมจึงมีโอกาสทอดยอดยาวเลื้อยพันไปทุกที่ที่อยากจะไปอย่างอิสระ โดยไม่มีใครอยากใช้มือสาวย่านเถาให้ลำต้น หรือใบฉีกขาด เพราะผมจะปล่อยกลิ่นไม่พึงประสงค์แผ่วงรัศมีทั้งตามลมและทวนลมคละคลุ้ง จนไม่มีใครอยากทำวิธี “เขตกรรม” ด้วยฉะนี้ สำหรับคนที่รู้จักผมจึงใช้วิธีกำจัดด้วยการถากถางตัดไม่ให้ออกดอก หรือขุดทิ้งไปเลย

เป็นเรื่องน่าภูมิใจมากสำหรับผู้ที่มีชื่อไม่ไพเราะ เพราะไม่มีใครอยากเอ่ยคำว่า “ตด” ออกจากปากด้วย “คำกิริยา” และก็กระดากปากที่จะเอ่ยคำว่า “ตูด” ให้เป็น “คำนาม” แต่มีคำเล่าลือว่า สรรพคุณสมุนไพรของชื่อนี้แหละที่สามารถ “เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ” ได้จริงหรือ..?

นี่คือคำที่อยู่ในบทพิสูจน์ของเหล่านักวิชาการทางเภสัชวิทยา ซึ่งเริ่มต้นด้วยพบว่า ส่วนรากมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ  ต้านเอนไซม์ acetylcholinesterase ซึ่งน่าจะมีผลดีต่อการวิจัยการผลิตยารักษาโรคอัลไซเมอร์ในอนาคต ดังนั้น ผมจึงกล่าวอย่างภาคภูมิใจก็ด้วยเหตุที่ว่า ผมมีชื่ออยู่ในกลุ่มสรรพคุณสมุนไพร ในแฟ้มโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ส่วนงานการแพทย์แผนไทย เผยถึงการศึกษาข้อมูลภูมิปัญญาไทย รวมทั้งงานวิจัยในต่างประเทศ พบว่า มีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้เป็นเบาหวาน และลดไขมัน LDL หรือไขมันเลว

รวมทั้งเพิ่มฮอร์โมนแอนโดรเจนเสริมสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มกล้ามเนื้อ มีแนวโน้มผลักดันเป็นยาอาหารเสริม ติดขัดอยู่ว่า การพัฒนาสมุนไพรขนานนี้ก็ยังติดข้อกฎหมายบางประการ จึงได้เพียงเผยแพร่องค์ความรู้ไปก่อน

แม้ว่าเอกลักษณ์ของ “วัชพืชยา” นี้ จะมีกลิ่นเหม็นเหมือนชื่อ โดยเฉพาะใบสดที่มีกลิ่นเหมือน “ขี้หมาคารั้ว” แต่สำหรับประโยชน์ที่คนรู้จักและนำไปใช้เป็นยาสมุนไพรนั้น ถ้าในประเทศอินเดีย เขาใช้ปรุงในน้ำซุปให้คนชราฟื้นไข้ ในประเทศไทยรู้จักทุกภาค รับประทานเป็นผักสด เช่น ข้าวยำปักษ์ใต้ ลวกจิ้มน้ำพริก ทั้งใบและเถาสดใช้เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ธาตุพิการ ขับไส้เดือนในเด็ก ยอดอ่อนและใบ มีรสขม มัน เคี้ยวสดได้ แต่มีกลิ่นเหม็นเขียว ช่วยระบาย แก้โรคดีซ่าน แก้ทางกองลม แก้ปวด ใช้เป็นยาถอนพิษงู โดยรวมต้นรากสดแล้วบดละเอียดทา หรือพอกบาดแผลที่งูกัด

ใบสด อุดรูฟันแก้รำมะนาด งูสวัด รากสด ฝนน้ำสะอาดหยอดตา แก้ตาฟางตาแฉะ ในส่วนของดอก มีสรรพคุณแก้ไข้จับสั่น ช่วยขับน้ำนม ชาวเหนือและอีสาน นิยมรับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ลาบขม ก้อย คนโบราณใช้น้ำคั้นจากเถาและใบผสมปรุงขนมขี้หนูให้มีสีเขียว รวมทั้งใช้ผสมอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

ในส่วนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นวัชพืช เพราะเจริญเติบโตเร็ว เป็นเถาย่านเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นได้ไกล พบมากในป่าละเมาะ ใบผอมยาว ปลายใบแหลม ใบเรียงตรงข้าม มีขนสีขาวคลุม ดอก เป็นช่อแบบกลุ่มย่อย ออกตามง่ามใบ ช่อดอก มีกิ่งแขนงออกดอกมีกลีบเลี้ยงขนาดเล็กเป็นซี่ มีผลกลมแบนหรือรูปไข่ กลีบดอกและผล มีขนปกคลุม กลีบดอกด้านนอกสีเขียว ด้านในสีม่วงเข้ม ดอกรูปกรวย ปลายแยก 5 แฉก และหยักตื้น ออกดอกตั้งแต่เดือนมกราคม ผลแก่ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ใช้เพาะเมล็ดหรือปักชำ ขยายพันธุ์ได้ ถ้าปลูกเป็นไม้ประดับด้วยการทำค้างนั่งร้านให้เลื้อยคลุม เมื่อออกดอกดกจะมีสีสันสวยงาม หรือจะปลูกเป็นแนวรั้วไว้เก็บกินเป็นผักสด ผักแกล้ม ผักลวก ก็อร่อย

สำหรับเรื่องกลิ่นเหม็นเขียวเพราะมีสาร Methyl mercaptan แต่เมื่อนำไปต้มกลิ่นก็ระเหยไปได้ จึงใช้ประกอบอาหารหรือขนมหลายชนิด เช่น “ข้าวเกรียบว่าว” ซึ่งใช้ส่วนรากปอกเปลือกแช่น้ำแล้วตำกับข้าวเหนียวนึ่งเพื่อทำเป็นข้าวพอง (ข้าวโป่ง) หรือ “ขนมตดหมา” ที่มีชื่อของชาวบุรีรัมย์ รวมทั้งใช้รวมกับพืชอื่นๆ เป็นสูตรยาสมุนไพรพื้นบ้านได้เป็นอย่างดี

พืชหลายชนิดชื่อไพเราะ สีสันดอกสวย รวมทั้งกลิ่นหอมทั้งต้น ดอก ใบ จึงน่าน้อยใจที่ “ตดหมา” ดอกสวย แต่กลิ่นโชยร้ายกว่าชื่อ เหมือนคนสวยๆ บางคนที่ไม่ถนอมกลิ่น บรรจงแอบปล่อยลมแบบไม่มีเสียงทำให้ “วงแตก” แต่บางคนร้ายกว่านั้น หน้าตาน่าเอ็นดู เป็นคนเปิดเผย ชนิดกลิ่นเร็วกว่าเสียง เพื่อนๆ จึงชมว่า… “เสียงดี แต่…กลิ่นนน ต้องปรับปรุงงงง..?”

……………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2563