ฟิโลเดนดรอน พิงค์ปริ๊นเซส เสน่ห์ไม้ใบลายชมพู

ชื่อสามัญ Philodendron Pink Princess                 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Philodendron erubescens

วงศ์ Araceae                                                                                                     

ป่าเดียวกัน…ฉบับนี้ขอพลิกโฉมจากไม้ป่าเป็นไม้ประดับแสนสวยดูบ้าง…ถึงแม้ว่าไม้ประดับเหล่านี้ถิ่นกำเนิดไม่ได้อยู่ในไทย แต่ก็ปรับตัวรับแสงแดดในเมืองไทยได้เป็นอย่างดี และก็ปลูกเป็นที่แพร่หลาย จนกลมกลืนไปทั่วผืนป่าแล้ว ต้องขอบคุณสถานการณ์โควิดที่ทำให้คนเห็นคุณค่าของต้นไม้ จนปีนี้เป็นปีทองของไม้ประดับ ไม้ฟอกอากาศ ยิ่งเป็นไม้ด่างด้วยแล้ว กระเป๋าฉีกไปตามๆ กัน

เป็นไม้เลื้อย

 เสน่ห์อยู่ที่ใบสีชมพู และสีเขียวเข้มสวยงาม ใบใหม่จะออกมามีสีชมพู แต่เมื่อโตขึ้นใบสีชมพูเหล่านั้นจะค่อยๆ กลายเป็นใบเขียว ใบเขียวจุดชมพู หรือครึ่งเขียวครึ่งชมพูก็เป็นได้ ราคาในตลาดตอนนี้เขานับใบขายกันเลยทีเดียว ถ้ามีชมพูจุดน้อยๆ ก็ไม่แพงนัก แต่ถ้าใบเป็นสีชมพู หรือฮาฟราคาจะสูงทันทีเลย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ฟิโลเดนดรอน พิงค์ปริ๊นเซส เป็นไม้อยู่ในวงศ์บอน Araceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Philodendron erubescens เป็นสายพันธุ์จากป่าฝนเขตร้อนในอเมริกาใต้ ถิ่นกำเนิดอยู่ในโคลัมเบีย Philodendron มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Phileo แปลว่า “รัก” และ Dendron แปลว่า “ต้นไม้” ส่วน erubescens เป็นคำคุณศัพท์เฉพาะ หมายถึง “หน้าแดง” และ ฟิโลเดนดรอน ตัวนี้เป็นลูกผสมของ P. erubescens กับ Philodendron สายพันธุ์อื่นอีกทีหนึ่ง

ลำต้น มีสีแดง

ใบ เป็นรูปหัวใจ ยาว 10-40 เซนติเมตร ใบอ่อน มีสีเขียวมะกอกเข้มมีสีขาว จนถึงสีเขียวเข้มเกือบดำ มีจุดสีชมพูสดใส หรือรอยด่างสีชมพูอ่อน ใบสามารถเติบโตได้ยาวถึง 9 นิ้ว และกว้าง 5 นิ้ว

ดอก มีสีแดงเข้ม มีกลิ่นหอม ยาวถึง 15 เซนติเมตร

ใบเขียวเข้ม

การปลูกและดูแลรักษา

ฟิโลเดนดรอน พิงค์ปริ๊นเซส เป็นหนึ่งในไม้ใบที่นิยมปลูก ด้วยฟอร์มใบที่สวยแปลกตา ดูแลง่าย แค่มีอากาศถ่ายเท แสงส่องรำไร ปลูกนอกบ้านให้เลื้อยก็ได้ หรือจะปลูกในกระถางตั้งประดับบ้านก็ดี

เครื่องปลูก กาบมะพร้าวสับเล็ก (3 ส่วน แช่น้ำก่อน 2-3 วัน โดยเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกวัน) ผสมกับดินร่วนแห้งๆ (1 ส่วน) : ขุยมะพร้าว (1 ส่วน) ควรใส่ดิน ไม่งั้นก็อาจจะต้องเปลี่ยนเครื่องปลูกบ่อย เพราะไม่มีธาตุอาหารจากดิน ใช้ดินเผาอัดเม็ด หรือหิน perlite โรยหน้าก็ได้

วิธีที่จะทำให้น้องพิงค์มีสีชมพู

ดอก
  1. ให้วางไว้ในจุดที่มีแสงค่อนข้างสว่างหรือมีแสงแดด แต่ไม่ให้ใบโดนแดดโดยตรง เพราะใบสีชมพูมีคลอโรฟิลล์น้อยกว่าใบปกติ และดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ได้น้อยกว่าสีเขียว ถ้าเอาไปวางในที่ที่แสงน้อย พืชก็จะสร้างสีคลอโรฟิลล์เพื่อเพิ่มอัตราการสังเคราะห์แสงให้อยู่รอด
  2. ให้น้ำแบบสเปรย์ ตอนเช้าวันละ 1 ครั้ง คอยสังเกตเครื่องปลูก ถ้ายังชื้นอยู่ไม่ต้องให้น้ำเพิ่ม ถ้าน้ำมากรากกับใบอาจจะเน่าได้ หากโดนฝนแรงๆ ใบจะช้ำหรือหักได้
  3. สเปรย์ปุ๋ยสูตรเร่งใบหลังจากปลูกไปสักระยะหนึ่ง หรือใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-13 (ปุ๋ยออสโม) ทุกๆ 2 เดือน ประมาณ 10-20 เม็ด สำหรับกระถาง 4-6 นิ้ว

การขยายพันธุ์ : เทคนิคปลอดเชื้อ

ตอนนี้ใครๆ ต่างก็ให้ความสนใจเทคนิคนี้กัน ซึ่งมันก็คือ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั่นเอง เทคนิคนี้สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างมากมาย และ ฟิโลเดนดรอน พิงค์ปริ๊นเซส ตัวนี้ก็ด่างชมพูได้ทุกต้น ลายจะไม่ซ้ำกันเสียด้วยในแต่ละใบ มันมีเสน่ห์และน่าตื่นเต้นจริงๆ เวลาได้ลุ้นใบใหม่ว่าจะมีสีชมพูแบบไหน

ก้านลำต้นแดง

ผู้เขียนเป็นวิทยากรสอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช จึงมีโอกาสได้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้ด่างกับเขาบ้างพอสมควร การแสวงหาต้นไม้มาทำทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ ส่วนใหญ่มาจากลูกศิษย์หามาให้แทบทั้งนั้น นอกจากงานวิจัยเท่านั้นที่สรรหามาเข้าขวดเองด้วยน้ำพักน้ำแรง

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ถ้าเอาไม้ด่างมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ คงจะได้ต้นด่างๆ จำนวนมาก และน่าจะสร้างรายได้ให้อย่างมหาศาล มันก็ถูกเพียงครึ่งเดียวนะ เพราะมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการด่างหรือไม่ด่างของต้นไม้ นอกเหนือจากพันธุกรรมพืช ไว้ฉบับต่อๆ ไป จะลงลึกถึงเรื่องความด่างและไม่ด่างของต้นไม้

หลังใบเส้นใบแดง

เจ้าฟิโลเดนดรอนสีชมพูตัวนี้…ผู้เขียนได้ลองฟอกเข้าขวด และได้ทดลองเพิ่มจำนวนหรือขยายในสูตรอาหารที่ได้ลองหลายๆ สูตร และพบว่าเขาเพิ่มจำนวน หรือแตกยอดได้อย่างดีเยี่ยมในอาหารของลุง Murashike & Skoog หรือสูตรอาหาร MS นี่เอง เพียงแต่เติมฮอร์โมนทั้ง 2 กลุ่ม คือ Auxin และ Cytokinin เข้าไปอย่างละนิดอย่างละหน่อยเหมือนปรุงอาหาร และในการสร้างรากแทบจะไม่ใช้ฮอร์โมนอะไรเลย น้องพิงค์ปริ๊นเซสแสนสวยก็เกิดรากได้

การนำออกปลูกก็ไม่ยากอีกเช่นกัน เพราะธรรมชาติของฟิโลเดนดรอนเป็นไม้เลื้อย แค่นำต้นที่มีรากจากการเพาะเลี้ยงในขวดมาแช่น้ำในกะละมังแล้วล้างวุ้นออก ปลูกในวัสดุปลูกอาจเป็นพีทมอสส์หรือขุยมะพร้าวสับแค่ชื้นๆ ก็พอ แล้วก็คลุมถุงอบ อันนี้เป็นเบสิกของการอนุบาลเลยนะ

หน้าใบชัดๆ

ตอนนี้ก็มีหลายแล็บที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อฟิโลเดนดรอนพิงค์ปริ๊นเซส และนำต้นเนื้อเยื่อมาขายให้อนุบาลกันก็เยอะ ด้วยความที่เลี้ยงง่าย และยังเป็นที่ต้องการของตลาด และยังไปได้อีกไกล ราคาต้นกล้าก็ไม่แพงมากนักสำหรับมือใหม่ที่จะหาไว้ซ้อมมือ ถ้ากลัวไม่รอดก็มีคนขายแบบอนุบาลแล้วก็มี ลองค้นหาจากกูเกิ้ลดู แต่ถ้าสนใจน้องพิงค์ของผู้เขียนคงต้องรอคิวค่ะ ลองเลี้ยงไว้ประดับสวนสักต้น แล้วท่านจะหลงรักเจ้าหญิงสีชมพู

พบกันใหม่ฉบับหน้า…สวัสดี…

ต้นอ่อ่นในขวด
ต้นเนื้อเยื่อมีรากพร้อมปลูก
อบเป็นเวลา 1 เดือน
ต้นกล้าอนุบาลครบ 1 เดือน
ต้นกล้าอายุ 3-5 เดือน