กระบือเจ็ดตัว “เจ็ดประจัญบาน” อดีต หรือข่าวลือ แต่…“เจ็ดกระบือ” คือเรื่องจริง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Excoecaria cochinchinensis Lour.

ชื่อสามัญ Picara

ชื่อวงศ์ EUPHORBIACEAE

ชื่ออื่นๆ ลิ้นกระบือ ลิ้นควาย กำลังกระบือ (ภาคกลาง) บัวลา กระทู้เจ็ดแบก (ภาคเหนือ) ตาตุ่มไก่ ตาตุ่มนก ใบท้องแดง

ฉันได้ยินชื่อตัวเองแล้ว “งง” เป็นไก่ตาแตก เพราะมีชื่ออยู่ 2 กลุ่ม ที่ต่างกันลี้ลับ คือมีทั้งตาตุ่มไก่ และตาตุ่มนก แต่อีกกลุ่มเป็นเรื่องของ “ควาย” ทั้งลิ้นควาย และกำลังกระบือ แล้วที่แปลกมากก็คือ มีถึง “เจ็ดแบก” จึงชวนให้นึกถึงอดีตที่ไม่น่าจำได้ ว่าเคยมี “หนังไทย” ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 เรื่อง 1 ต่อ 7

ตัวแสดง ที่มีชื่อ จ่าดับ จำเปาะ, หมัดเหมาะ เชิงมวย, ตังกวย แซ่ลี้, อัคคี เมฆยันต์, ดั่น มหิทธา, กล้า ตะลุมพุก และ จุก เบี้ยวสกุล แหม…พูดไปก็คงจะเดากันว่าฉันคงจะดูหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลแน่เลย เพราะถ้าเอามาพูดตอนนี้ ใครๆ ก็นึกถึงแต่หนังไทยสมัย ส.อาสนจินดา เรื่อง “เจ็ดประจัญบาน” 2520 หรือ เจ็ดประจัญบานหนังทีวี 2545 โอ๊ย….ลุงดูมาตั้งห้าสิบกว่าปีแล้วละหลานๆ เอ๊ย!

พอเอ่ยถึงเรื่อง “ควาย” ฉันเองรู้สึกมีพลังขึ้นมาจากการที่ได้อ่านหนังสือของท่าน ศ.ดร. จรัญ จันทลักขณา ที่ได้กล่าวไว้ใน “จากปลักควาย สู่ปลายรุ้ง” กุญแจชีวิต : ชวนคิด-ชวนขัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ซึ่งท่านบอกว่าได้เป็น ศาสตราจารย์ ระดับ 11 เพราะงานวิจัยเรื่องควาย ที่เป็นสมบัติสำคัญของชาวไทยมานาน จึงคิดว่าต้องได้ใช้ความรู้ช่วยเรื่องควายจะได้ยกคุณภาพชีวิตชาวนาโดย Creative economy ระดับตาสีตาสาได้ เพียงแต่ ศ. จรัญ จันทลักขณา พยายามชี้แนะให้ผู้อ่านเกิด “พลังชีวิต” โดย ท่านบอกว่า มีข้อชวนคิดอยู่ที่ท่านวิจัยเรื่องควายมาตั้งแต่มีควาย 7.5 ล้านตัวแล้ว กระทั่งทุกวันนี้มีเหลืออยู่ไม่ถึงล้านตัว ควายหายไปไหน คนไทยกินหมดหรือ? จากข้อคิดนั้นจึงน่าสงสัยที่ฝรั่งชวนให้เลี้ยงวัวพันธุ์ฝรั่ง ก็เพื่อจะได้ “ขายวัว” ให้นี่เอง!

เรื่องของวัวควายเป็นเรื่อง “มังสาโภชนาการ” แต่เรื่อง “กระบือเจ็ดตัว” เป็นต้นไม้นี่แหละ คือเรื่องจริงที่เป็นพืชสมุนไพรโบราณ มีสรรพคุณทางยาที่รู้จักกันทั้งแถบอินโดจีน เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดที่เวียดนาม ซึ่งในอินโดนีเซียใช้ยางเบื่อปลา ประเทศฮ่องกง ใช้ทั้งต้นแก้หัด คางทูม ต่อมทอนซินอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ในตำรายาไทยก็นิยมนำมาใช้ตั้งแต่ใบตากแห้งที่ชงเป็นชารักษาโรคกระษัย ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ใบสดก็ผสมเหล้าขาวคั้นน้ำดื่มแก้อาการสันนิบาตหน้าเพลิง หรือบาดทะยัก ปากมดลูก ช่วยขับเลือดพิษและตำพอกห้ามเลือดได้ กระพี้ หรือเนื้อไม้ตากแห้งต้มน้ำดื่มแก้ร้อนใน เพียงแต่มีข้อระวังที่ยางสีขาวข้นในลำต้นมีพิษมากใช้เป็นยาเบื่อ ต้องล้างยาให้หมดก่อนต้มดื่ม เพราะมีสารก่อให้เกิดการระคายเคือง

ในส่วนของดอกและใบ ใช้ทำดอกไม้ประดิษฐ์ แต่หากใช้ใบทำลูกประคบเพื่อรักษาก้อนไขมันที่ข้อมือ ก็ใช้ใบผสมหญ้าตีนกาและใบกะเพราแดงผสมกับเกลือและการบูรเล็กน้อย ห่อเป็นลูกประคบพรมด้วยสุราไปนึ่งแล้วประคบ มีข้อมูลเชิงวิชาการศึกษาว่าในใบมีสาร Beta sitosterol เป็นสารประกอบคล้ายขี้ผึ้งช่วยลดอาการอักเสบ โดยยึดเกาะบริเวณแผลป้องกันแบคทีเรียทำลายเซลล์ได้ แล้วยังมีสาร Keampferol ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่ต้านการเกิดเซลล์กลายพันธุ์มะเร็งเต้านมและลำไส้ใหญ่ ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง ป้องกันโรคหัวใจ มีกรดแกลลิค (Gallic acid) สารแทนนิน ป้องกันเซลล์เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ป้องกันโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ รวมทั้งวิตามินบี 8 หรืออิโนซิทอล ละลายน้ำได้ลดระดับคอเลสเตอรอล ขับไขมันลดการสะสม สามารถรวม choline และ Lecithin ให้เซลล์สมองลดอาการเปลี่ยนแปลงอารมณ์เร็วประสาทหลอน ยังมีโพแทสเซียมที่เป็นเกลือแร่ให้กล้ามเนื้อหัวใจเต้นเป็นจังหวะปกติ รักษาสมดุลกรด-ด่างได้

ฉันคุยแต่เรื่องสรรพคุณที่คนได้รับเป็น “พลัง” เพื่อสุขภาพมากมาย จนลืมแนะนำตัวเองว่า เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดย่อมที่สูง 1-2 เมตร ทรงต้นแน่นกลม มีใบสีเขียวแก่เป็นมัน ด้านหลังใบมีสีแดงคล้ำ ยาวรี ปลายแหลมดูสวยงาม หรือจากสิ่งนี้ใครๆ เห็นจึงว่าเหมือน “ลิ้นควาย” หรือเปล่า! ออกเป็นใบเดี่ยวเวียนรอบกิ่งตรงข้ามกัน ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกขนาดเล็กโตกว่าเข็มหมุดเล็กน้อย สีเหลืองอมเขียว แยกเพศ และมีผลกลมมี 3 พู เมื่อเป็นผลแห้งแก่จะแตกเป็น 3 ส่วน มีเมล็ดเล็กๆ ภายในและออกดอกตลอดปี จึงนิยมนำไปปลูกเป็นสมุนไพรตำรับยาไทย และไม้ประดับเพื่อจัดสวนจัดภูมิทัศน์ เพราะปลูกได้ทั้งในกระถางบริเวณบ้าน และปลูกเป็นกลุ่มแปลงประดับจัดสวน ทุกสภาพดินทั้งกลางแจ้งและร่มเงา โดยขยายพันธุ์ได้ทั้งเพาะเมล็ด แยกรากหรือตอนก็ปลูกได้ดี

เรื่องของกำลัง มีทั้ง กำลังช้างสาร ม้ากระทืบโรง ฮ่อสะพายควาย กำลังวัวเถลิง แต่ฉันคิดว่าถ้าสู้กัน ฉันไม่เกรงใครหรอก แม้เป็นเพียง “กำลังควาย” แต่ฉันมีถึง “เจ็ดตัว” อย่างเดียวที่ฉันกลัว ตอนนี้ฉันไปที่ไหนๆ ฉันเห็นเขาเขียนว่า “7” ฉันไม่รู้อ่านว่าอะไร เห็นใครๆ เดินเข้าไปแล้วพูดว่าไป “เซเว่น” เกือบทุกคน โอ๊…! นี่แหละฉันกลัวจริงๆ