คำไทย คนไทยเรียก “คำไทย” แต่คำไหน คือ…“ไทยแท้”

ชื่อวิทยาศาสตร์ Bixa orellana Linn.

ชื่อสามัญ Anotto tree

ชื่อวงศ์ BIXACEAE

ชื่ออื่นๆ คำเงาะ คำแงะ คำแสด คำแฝด (กลาง) แสด มะกายหยุม (เหนือ) หมากมอง (แม่ฮ่องสอน) ชาติ (ใต้)  ชาตรี (อีสาน) จำปู้ ส้มปู้ (สุรินทร์) คำยอง ชาตี ชิติ (เขมร)

หนูรักการอนุรักษ์ ชอบชื่อไทยๆ พูดคำไทยๆ และชอบผลไม้ไทย โดยเฉพาะ “ลูกเงาะ” เพราะเป็นผลไม้ที่มีลักษณะคล้ายๆ กับหนู เวลาออกเป็นผลพวง จนใครๆ มองไกลๆ ก็เถียงกันว่า…ทำไม ผลเงาะต้นนั้นพวงผลชูขึ้น แทนที่พวงจะห้อยลงเหมือนผลเงาะทั่วไป อิอิ…ก็หลงเสน่ห์หนูแล้วซิ จึงต้องมาพิสูจน์ใกล้ๆ ก็รู้ว่าไม่ใช่ “ผลเงาะ” หลายคนจึงประชดเรียกอีกชื่อว่า “คำเงาะ” ที่ร้ายกว่านั้น คืออยากรู้ให้ชัดเจนเพื่อยืนยันว่าไม่ใช่ผลเงาะ ก็ลอง “แงะ” ดู พอไม่ใช่เงาะ ก็เพิ่มชื่ออีกว่า “คำแงะ” หนูจึงขอยืนยันว่าหนูยังเป็น “คำไทย” นะค้า

ที่หนูพูดว่าชอบไทยๆ นั้น เพราะว่าความรู้สึกลึกๆ หนูไม่ใช่ไทยแท้หรอก หนูลองสืบสาวเทือกเถาเหล่ากอแล้ว รู้ว่าตัวเองมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของอเมริกากลางโน่น เมื่อมีคนสนใจมากขึ้นก็ขยายเผ่าพันธุ์ไปถึงอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ เช่นประเทศเม็กซิโก บราซิล ถึงกัวเตมาลา เพราะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอากาศร้อนเช่นกัน พอหนูถูกนำมาเมืองไทย ซึ่งถือเป็นเอเชียแถบร้อน หนูก็เลยติดใจไม่อยากไปไหน และเมื่อได้ออกผลพวงแล้วไปคล้ายพี่สาว “ผลเงาะ” เมืองไทย ก็มีคนเรียก “คำแฝด” พอออกผลสีออกแดงๆ แสดๆ ที่ว่ามองไกลๆ มีสีส้มแสด จึงมีคำเรียกอีกว่า “คำแสด”

เห็นไหมละคะ ว่าชื่อหนูมีหลากหลาย “คำ” ดีนะไม่มีใครเรียก “คำหลาย” หนูเคยรู้จักพี่สาวชาวป่าซาง ลำพูน ชื่อ “ต่อมคำ” ใจดีมาก คนทางเหนือเขาชอบมีชื่อ “คำ” อ้อ.! มีพี่ชายอีกคนชื่อ “ยวงคำ” เป็นคนดีทั้งสองท่าน แต่ปัญหาของหนูมีอยู่ชื่อเดียว ถ้าเมื่อไรใครเรียก “คำแสด” อาจทำให้ไปเข้าใจสับสนกับ “คำแสด” ตัวจริง เพราะคำแสดต้นนั้นเป็นคนละชนิดกับหนู ทั้งชื่อจริง ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ และชื่อวงศ์สกุล ฉะนั้น ถ้าพูดถึงต้นคำแสดกลุ่มนั้น ต้องวงเล็บว่าชื่อ แทงทวย ทองทวย ทองขาว หรือ คำแดง จึงจะยืนยันว่าไม่ใช่คำแสดที่เป็นตัวหนู

หนูเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็ก ความสูงไม่เกิน 10 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านหนาทึบ ออกดอก ผล เป็นพวงชูขึ้น สีผลแดงออกส้มออกแสด บรรยายไม่ถูก แต่โดดเด่นมาก

โดยธรรมชาติหนูชอบขึ้นในป่าเบญจพรรณ หรือป่าดิบแล้ง มีรายงานทางพฤกษศาสตร์ว่า เป็นไม้ชนิดใบเดี่ยวออกเรียงเวียนรอบต้น ใบรูปไข่ ปลายแหลม โคนมน กว้างยาวกว่า 10 เซนติเมตร มีสีเขียวอมเหลือง อมแดง ใครเห็น พูดว่าสีแปลกดี เวลาออกดอกก็เป็นช่อตั้งที่ปลายกิ่ง 5-10 ดอก มีดอกย่อยสีชมพูอ่อน หรือขาว กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่ มีกลีบรองดอกขนาดเล็กสีเขียว มีทั้งเกสรเพศผู้และเพศเมีย เมื่อดอกสมบูรณ์กลายเป็นผล ก็มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ปลายแหลม มีขนสีแดงส้ม รอบผลมองไกลๆ เหมือนผลเงาะ เมื่อแก่จัดจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะกลมสีแดง หรือน้ำตาลเข้ม มีเนื้อหุ้มเมล็ดสีแดง หรือแสด กินเป็นยา มีรสร้อน สรรพคุณมากหลาย

หนูบรรยายตัวหนูมาทั้งหมดด้วยความภูมิใจที่ได้โชว์ตัวที่ “สวนสมุนไพรอภัยภูเบศร” หลังตึกโบราณประวัติศาสตร์ ในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี ท่ามกลางเพื่อนๆ สมุนไพรอื่นๆ เวลาออกผลสีแดงแสดเต็มต้นหนูโดดเด่นที่สุด และมีการบรรยายสรรพคุณทางยาสมุนไพรมากมายในด้านเภสัชวิทยา ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต โปรตัวซัว ลดความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด คลายกล้ามเนื้อ กระเพาะอาหาร ลำไส้

ยับยั้งเอนไซม์ Aldolase และการเจริญของเซลล์ที่ทำให้แพ้ รวมทั้งต้านอนุมูลอิสระ

ในตำรายาสมุนไพรก็นำมาใช้เป็นยาได้ทุกส่วน ตั้งแต่ดอกที่นำมาต้มบำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง เป็นยาขับระดูสตรี และแก้คันผิวหนัง เปลือกต้นนำมาต้มดื่มแก้ต่อมลูกหมากโต ฝนทาแก้พิษงู ผสมกับเมล็ดแก้ไข้ทับระดู ใบ ตากแห้งชงแก้กษัย รักษาโรคดีซ่าน แก้เจ็บคอ รากใช้บำรุงปอด ส่วนเมล็ดช่วยรักษาไข้มาลาเรีย มีรสร้อน เนื้อหุ้มเมล็ดมีรสหวานร้อนเป็นยาระบาย และรักษาโรคผิวหนังได้ รวมทั้งเมล็ดใช้ตำพอกหัวเหน่าแก้ปวดมดลูกหลังคลอด สูตรตำราพิเศษรวมเมล็ดและเนื้อหุ้มใช้สกัดทำสีย้อมผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าขนแกะ เป็นสีผสมอาหาร แต่งสีเนย ไอศกรีม ผสมยาขัดรองเท้าขัดพื้น ขัดหนัง ทำผงสีส้มที่มีชื่อ Bixin ตกตะกอน ทำผงสีแสดที่ชาวถิ่น Amazon ทาตัวแต่งหน้า ส่วนน้ำมันจากกากทาแก้อัมพฤกษ์อัมพาต และหนูขอกระซิบลับๆ ว่า ใบสดแห้ง ชงชาบำรุงสมรรถนะทางเพศได้อย่างดีนะ อย่าบอกใคร!

ถ้ารักหนูชอบหนูจะขยายพันธุ์ก็เพาะเมล็ดหรือปักชำ จะปลูกประดับโชว์พวงผลสีเหลืองแดงส้มก็สวย แต่หมอยาอีสานปลูกไว้หน้าบ้านเพื่อรักษาผู้ถูกเวทมนตร์ดำโดนของจากคน หรือภูตผี พ่อหมอก็จะให้กินยาต้ม แล้วใช้ใบลูบตามผิวกายดึงของออกด้วยมนต์คาถาวิธีไทยไทย

…แต่หนูว่า ถ้าหลงเสน่ห์หนูแล้ว รับรอง “ถอนตัวไม่ขึ้น” จะลองมั้ย…?