บัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ปลูก-พัฒนาพันธุ์บอนสี อาชีพเสริม สร้างรายได้ดี

ในวงการไม้ดอกไม้ประดับบ้านเราเวลานี้ คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจในการเข้ามาปลูกเลี้ยงมากขึ้น ด้วยระบบการศึกษาหาองค์ความรู้ในปัจจุบันที่มีหลายช่องทาง จึงทำให้การจะปลูกเลี้ยงไม้ประดับแต่ละชนิดไม่ใช่เรื่องยาก รวมไปถึงในเรื่องของการทำตลาดด้วยเช่นกัน เพราะระบบการขายออนไลน์ในเวลานี้สามารถขายสินค้าได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

คุณกันตพงศ์ วงษ์ทอง

บอนสี (Caladium) สมัยก่อนอาจมองดูว่าเป็นไม้ที่ต้องดูแลยาก และระบบการขนส่งที่ค่อนข้างใช้ความระมัดระวัง แต่ด้วยระบบการขนส่งยุคนี้ได้รองรับการค้าขายต้นไม้มากขึ้น จึงทำให้เกษตรกรส่งสินค้าถึงมือลูกค้าได้อย่างปลอดภัยตามไปด้วย ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ห่างไกลออกไป สินค้าที่สั่งซื้อก็ยังคงสภาพดีไม่เสียหาย

ต้นใหม่ที่งอกเกิดจากการผ่าหัว

คุณกันตพงศ์ วงษ์ทอง อยู่บ้านเลขที่ 145/1 หมู่ที่ 1 ตำบลคำพราน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี จบปริญญาตรี สาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) มีความสนใจในการปลูกบอนสีตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อเขาโตขึ้นจึงได้ยึดมาทำเป็นอาชีพเสริมควบคู่ไปกับการทำงานประจำเพื่อสร้างรายได้

การผ่าหัวบอนสี

คุณกันตพงศ์ เล่าให้ฟังว่า สมัยเมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้ปลูกเลี้ยงบอนสีโดยเลี้ยงเล่นๆ ในช่วงสมัยนั้น จากนั้นได้เก็บสะสมพันธุ์ที่ได้ศึกษาจากแหล่งต่างๆ ที่หาได้ ซึ่งระยะนั้นปลูกแบบไม่ได้คิดว่าจะต้องจำหน่ายได้ เพียงแต่คิดว่าชอบและปลูกเพื่อความสวยงามเท่านั้น และเมื่อเรียนรู้และพัฒนาพันธุ์มาเรื่อยๆ ไม้ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น และสามารถจำหน่ายจนเกิดรายได้ จึงได้ทำการตลาดแบบออนไลน์อย่างเต็มตัวมาจนถึงทุกวันนี้

ต้นที่งอกแข็งแรง เตรียมปลูกใส่กระถาง

“ช่วงแรกก็ปลูกไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดว่าจะทำขายสร้างรายได้ หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยประมาณปี 2561 ก็เริ่มอยากทำเป็นอาชีพเสริมที่ทำเงินมากขึ้น เลยเรียนรู้การผสมพันธุ์ต่างๆ การปลูกแยกให้ได้ไม้ใหม่ที่มีจำนวนมากขึ้น เราเลยรู้ว่าการพัฒนาพันธุ์อยู่เสมอ จะช่วยให้เกิดรู้ไม้ใหม่ๆ และลูกค้าจะไม่เบื่อทำให้บอนสีในสวนเราขายได้อย่างต่อเนื่อง” คุณกันตพงศ์ บอก

การใส่ไม้ในตู้อบ

ในขั้นตอนของการขยายพันธุ์บอนสีให้ได้ต้นใหม่ที่มีคุณภาพนั้น คุณกันตพงศ์ เล่าว่า จะคัดเลือกต้นแม่พันธุ์ที่แข็งแรงมาผสมเกสรตัวพ่อพันธุ์ที่มีสีแตกต่างกันออกไปตามจินตนาการ โดยอายุพ่อแม่พันธุ์ที่ผสมในการผสมพันธุ์ อยู่ที่ 5-6 เดือนขึ้นไป เมื่อผสมพันธุ์จนเกิดเมล็ดและนำไปปลูกจนได้ต้นใหม่ที่สมบูรณ์จนเกิดหัวใต้ดินแล้ว เมื่อเห็นเป็นลูกไม้ใหม่ซึ่งอายุไม้ในช่วงนี้จะมีหัวอยู่ใต้ดิน จากนั้นนำหัวของบอนสีมาผ่าเป็นชิ้นๆ เพื่อนำชิ้นส่วนเหล่านั้นไปเพาะชำเพื่อให้เกิดเป็นต้นใหม่ต่อไป

เขื่อนป่าสัก

“พอเราผ่าหัวเพื่อสร้างเป็นต้นใหม่แล้ว เราจะนำชิ้นส่วนมาเพาะลงในวัสดุปลูกจำพวกขุยมะพร้าว ใช้เวลาประมาณ 15 วัน ส่วนที่หั่นก็จะงอกออกมา ปล่อยให้มีอายุ 1 เดือน จากนั้นเราก็จะแยกมาปลูกลงในกระถาง จากนั้นก็นำมาปลูกลงในกระถาง 4 นิ้ว ใช้วัสดุปลูกที่เป็นดินใบก้ามปู พอไม้เริ่มโตก็จะย้ายไปปลูกลงในกระถาง 6 นิ้ว ต่อไป ซึ่งการดูไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยาก จะนำไม้ใส่ลงในตู้อบพลาสติก โดยภายในตู้อบจะมีน้ำขังอยู่ที่พื้นกระถางเล็กน้อย ทำให้ไม่ต้องรดน้ำบ่อย ดูแลไปอีก 15 วัน หรือ 1 เดือนไม้ก็เริ่มขายได้” คุณกันตพงศ์ บอก

หลวงปู่ใหญ่

สำหรับการป้องกันโรคและแมลงของบอนสี ส่วนใหญ่ที่เจอเป็นแมลงศัตรูพืชจำพวกไรแดง สามารถกำจัดได้ด้วยยาที่หาซื้อได้จากร้านเคมีภัณฑ์ทั่วไป ส่วนในเรื่องของเชื้อรา ยังไม่มีให้เห็นในสวนของเขาที่ทำให้เกิดความเสียหาย

เหลืองเปรมากร

สำหรับการทำตลาดเพื่อจำหน่ายบอนสี คุณกันตพงศ์ บอกว่า ตั้งแต่ทำสวนบอนสีมายังไม่เคยต้องนำไม้ออกไปตระเวนจำหน่าย แต่จะสร้างระบบการขายแบบออนไลน์เป็นหลัก เพราะปัจจุบันการขนส่งไม้ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากและเป็นอุปสรรคเหมือนเช่นสมัยก่อน โดยระบบการขนส่งมีการพัฒนามากเพื่อให้การส่งต้นไม้ไม่เกิดความเสียหาย โดยลูกค้าที่เข้ามาติดต่อขอซื้อบอนสีก็มีช่วงอายุและวัยที่แตกต่างกันไป ซึ่งจากการสังเกตคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจในเรื่องของการปลูกไม้ประดับมากขึ้น

โดยราคาบอนสีที่ขายภายในสวนเริ่มต้นที่หลักร้อยบาท จนไปถึงราคาหลักหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และชนิดของลูกไม้ จึงทำให้ไม้แต่ละต้นมีราคาที่แตกต่างกันไป

“ลูกค้าส่วนใหญ่จะชอบไม้ที่มีสีสันแตกต่างกันไป ยิ่งช่วงนี้โควิดบอกเลยว่าไม้ขายดีมาก ทำให้คนขายอย่างเราก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาไม้ต่อไป ยิ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยให้เรามีไม้ใหม่เกิดขึ้นภายในสวน และสามารถทำในเรื่องของราคาได้ดี เพราะฉะนั้นใครที่อยากจะปลูกเลี้ยงบอนสี ผมก็อยากจะแนะนำในเรื่องของการมีใจรักก่อน จากนั้นเรียนรู้และเพิ่มเติมการทำแต่ละขั้นตอนไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดความชำนาญ และปีนี้จะสร้างรายได้ให้กับเราได้เป็นอย่างดี” คุณกันตพงศ์ บอก

สำหรับท่านใดสนใจในเรื่องของการปลูกบอนสี สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณกันตพงศ์ วงษ์ทอง หมายเลขโทรศัพท์ (092) 398-1158