ไก่ฟ้าพญาลอ เสน่ห์เพียงใดหนอ ไก่ฟ้าออกมาล่อให้ “พระลอ” ตามไป

ชื่อวิทยาศาสตร์ Aristolochia ringens Vahl.

ชื่อวงศ์ ARISTOLOCHIACEAE

ชื่อสามัญ Aristolochia

ชื่ออื่นๆ ไก่ฟ้าพญาแล ว่านไก่ฟ้า ว่านดอกไก่ ไก่แก้ว นกกระทุง

ฉันสับสนตัวเองเหลือเกินว่าจะเป็น “ไก่ตัวผู้ หรือไก่ตัวเมีย” ดี เพราะจากได้ฟังคำพรรณนาแล้ว คงจะมีเสน่ห์สวยงามน่าหลงใหล ดังบางบทเพลงที่ว่า “ไก่ฟ้าเอยโสภิณ ข้อยได้ยินสมนามว่าเจ้างามจริงหนอ หลอกให้พระลอพบ เลยก่อลำเค็ญ เที่ยวตามยากเย็น เพราะเป็นด้วยมนต์สุดา…”

ความงามในบทเพลงนี้จินตนาการว่าน่าจะเป็น “ตัวเมีย” (สุดา) ซึ่งไปสอดคล้องกับคำว่า ดอกไก่ และ ไก่แก้ว แต่เมื่อเห็นตัวเองยามโตเต็มวัยแล้วออกดอกออกผล จะเห็นเป็นความงามสง่ารูปไก่ “ตัวผู้” มากกว่า และย้ำความเป็นตัวผู้ชาย ตรงที่เรียกกันว่า “นกกระทุง” นี่แหละ ที่แค้นชื่อนี้นัก ก็เพราะเคยได้ยินว่า “กระทุงหัวล้าน”

เรื่องของฉันถูกพาดพิงไปกับนิยายปรัมปรา หากเคยได้ยิน “เพลงแหล่” ของ คุณลุงไวพจน์ เพชรสุพรรณ “แหล่พระลอตามไก่” ก็จะเป็น “ไก่กามเทพ” จากพระเวทย์ปู่เจ้าสมิงพราย สนองเสน่ห์ให้พระลอเกิดรักสามเส้าด้วยพระเพื่อนพระแพงแห่งเมืองสอง ด้วยว่าปู่ใช้ “ไอ้ไก่” เป็นมนต์เร็วล่อให้พระลอหลงใหลตามไก่สวาท จนกลายเป็นตำนานสามกษัตริย์ รักอมตะสามเส้ายืนพิงสิ้นชีพตักษัย แต่หากใครเกิดช้ามาหน่อยก็อาจจะได้ยิน คุณอดิเรก จันทร์เรือง ขับร้องเพลงชื่อ “ไก่ฟ้าเอย” หรือถ้าหนุ่มกว่านั้นอีกก็จะเป็นเสียงขับร้องจากวงแกรนด์เอ็กซ์ ที่ขับร้องไว้ จำหน่ายในรูปแบบเทปคาสท์เส็ต ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ดังที่ขึ้นต้นไว้ตั้งแต่แรกว่า “ไก่ฟ้าเอย…โสภิณข้อยได้ยินสมนามว่าเจ้างามจริงหนอ…” นั่นแหละ เพียงแต่ฟังแล้วไก่ตัวนี้น่าจะเป็นไก่ “ตัวเมีย” เพราะเป็น “มนต์สุดา”

ขอกลับมาที่ “ไก่ฟ้าพญาลอ” ซึ่งเป็นต้นจริงๆ มีดอก มีใบ และบางท้องถิ่นเรียกว่า “ว่านไก่ฟ้า” ก็มี คือเป็นว่านเถาเลื้อยเนื้ออ่อน อายุอยู่ได้หลายปี สามารถเลื้อยยาว หรือเลื้อยพันด้วยเถาอ่อนสีเขียวที่มีแต้มแดง หรือเป็นเถาแก่สีเขียวเข้ม ตามเถามีขนอ่อนๆ สั้นปกคลุม มีใบเดี่ยวออกตามข้อเถา ใบสวยลักษณะรูปหัวใจ กว้างยาว 5-6 เซนติเมตร แต่มีช่วงปลายใบเรียวมน ขอบใบเรียบ มีโคนใบเว้าลึกหาก้านใบสั้นๆ ยามออกดอกก็จะมีดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบ แต่ยาวได้มากกว่า 15 เซนติเมตร โดยที่โคนดอกเป็นกระเปาะ เมื่อโตสมบูรณ์ก็จะเป็นรูปคล้ายไก่ฟ้า มีกลีบรวมเชื่อมติดแล้วโค้งงอเป็นตะขอ สีเขียวอ่อน และมีกลิ่นฉุน มองเห็นลักษณะเป็นตัวไก่ชัดเจน เมื่อแก่เต็มที่ออกเป็นผล ซึ่งมีรูปทรงกระบอก มีขอบสัน กว้างยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร แต่ขั้วผลยาวได้มากกว่า 6 เซนติเมตร เมื่อแก่จัดก็จะแตกออกตามรอยตะเข็บ มองดูคล้ายๆ กระเช้าสีดา มีเมล็ดแบนๆ รูปหัวใจ ด้านข้างเป็นปีก ซึ่งลอยไปตามลมได้จึงเป็นแนวทางขยายพันธุ์ได้ต่อไป

โดยกำเนิดแล้ว ต้นไก่ฟ้าพญาลอ เป็นพืชเขตร้อน ในเขตทวีปอเมริกาใต้ มีหลายร้อยสายพันธุ์ แต่โดดเด่นที่ประเทศบราซิล มีเกือบร้อยชนิดพันธุ์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะออกดอกตลอดปี เหมือนมีกระเช้า หรือไก่ฟ้าเกาะอยู่บนต้นไม้ ในงานวิจัยมีการปลูกไว้เพื่อเป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนของผีเสื้อ แต่บางสายพันธุ์นำมาใช้เป็นยาสมุนไพร

เคยมีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากส่วนข้อของต้นไก่ฟ้าพญาลอในอาหารแข็ง สูตร MS ที่มีสารควบคุม พบว่าในการชักนำให้เกิดจำนวนยอดเฉลี่ยมากที่สุด รวมทั้งชักนำให้เกิดรากสามารถย้ายต้นสมบูรณ์ลงปลูกในกระถางดินได้ ส่วนด้านสมุนไพรมีการศึกษาระดับโมเลกุลถึงผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ความรุนแรงของสารพิษตั้งแต่เป็นสารฆ่าแมลง ต้านจุลินทรีย์โปรโตซัว รวมทั้งใช้สกัดเป็นเซรุ่มแก้พิษงู และการต้านไวรัส สำหรับการขยายพันธุ์ใช้ได้ทั้งวิธีเพาะเมล็ดและนำกิ่งมาปักชำ ฤดูกาลที่ออกดอกมากจะเป็นเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ หากปลูกเป็นไม้ประดับไม้เลื้อยเป็นซุ้มประตูหรือกำแพงรั้ว ช่วงที่ไก่ฟ้าออกดอกมาจะเป็นเหมือนไก่บินลงมาเกาะตามต้นไม้ เป็นเสน่ห์มหานิยมของบ้านที่ปลูก เป็นว่านเสน่ห์ในด้านความรักไคร่เป็นเลิศ กลายเป็นไม้เมตตาทำมาค้าขาย เป็นที่สนใจแก่ผู้พบเห็นทั่วไป แต่ถ้าอยากเห็นเป็นแหล่งใหญ่ก็ไปเที่ยวที่อุทยานลิลิตพระลอ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ พื้นที่ต้นตำรับนิยายรักสามเส้าระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

เคยได้ยินแต่ คำว่า “ไก่หลง” แต่ต้นไม้ต้นนี้ปลูกแล้วออกดอกผลกลายเป็น “หลงไก่” บทเพลง “ไก่นาตาฟาง” สำหรับหนุ่มตัดพ้อง้อสาวไม่รัก ก็เสียดสีด้วยวาจาที่น้อยใจ แต่ถ้ารู้จักไก่ฟ้ามหาเสน่ห์ต้นนี้ ตามตำราโบราณมาแล้ว หากใช้ดอกมาบดให้ละเอียดผสมกับขี้ผึ้งทาปากเพิ่มเสน่ห์ให้ตัวเอง แล้วบริกรรมคาถากำกับอริยบท ก็คงมีเสน่ห์ระดับขุนแผน แต่อย่าลืมท่องคาถาให้ขึ้นใจด้วยว่า “เวทาสากุ กุสาทา เวทายะ สาตะ ตะสาทา สาสาทิกุ กุตะกุภู ภูกุตะกุ” ท่องให้ครบ 7 คาบ รับรอง “ไก่วัด” ก็หลงเสน่ห์แน่นอน…!