ก้านไม้ขีด ฤๅ..คิดว่าเขาจะหันมามอง “เถ้าถ่าน” จากการที่เรา…เผาตัวเอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Aechmea gamosepala Wittm. cv. Matchsticks

ชื่อสามัญ Match Stick Plant.

ชื่อสกุล Aechmea gamosepala

ชื่อวงศ์ BROMELIACEAE.

ชื่ออื่นๆ หัวไม้ขีด

ผมไม่ใช่ “ซาดิสม์” ไม่ใช่พวกหัวรุนแรงที่ชอบทำให้ตัวเองหรือผู้อื่นเจ็บปวด หรือสะใจกับความต้องการ หากเห็นบุคลิกผมแล้วจะพบแต่ความสวยงามที่เรียบง่าย เรียงกับก้านหัวดอกหมุดที่เห็นแล้วจะให้คำจำกัดความชื่อได้ยาก คือจะเรียกว่าก้านไม้ขีด หรือหัวไม้ขีดไฟ อย่างไหนดี สมกับความรู้สึกร้อนแรง หากนำก้านไม้ขีดไฟของจริงมาใช้งานนั่นหมายถึง ต้องสละชีพเพื่อเกิดแสงสว่างและเปลวเพลิง ตรงข้ามกับความเรียบง่ายของดอกไม้อย่างผมโดยสิ้นเชิง จึงเป็นที่มาของอารมณ์รักหลงประชดรักในบทเพลง เช่น เพลงไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน ที่คุณวิยะดา โกมารกุล ณ นคร ขับร้อง ทำให้รู้ว่าเจ้าไม้ขีดไฟ จะหาญกล้าสู้แสงดวงอาทิตย์

มาถึงตอนนี้ผมเองก็ “อิน” ไปกับไม้ขีดไฟที่ผมแอบเชียร์อยู่ด้วยเช่นกัน จึงขอเล่าประวัติที่มาสักหน่อย เพื่อเชิดชูนักสู้ที่อาจจะมีแต่ผู้คน “สมน้ำหน้า” เพราะทั้งๆ ที่รู้ว่าการเผาตัวเองเพื่อแลกกับแสงสว่างเพียงวินาที ให้คนที่เขาหมดรัก หรือหันมามองด้วยอารมณ์ใดก็ตาม มันอาจจะไร้คุณค่าในการเผาผลาญตัวเองจากความหวังสุดท้าย หรือหากได้รับความเห็นใจ ตัวเองก็กลายเป็น “เถ้าถ่านไร้ตัวตน” ไปแล้ว ฤๅ…หากคิดได้ก็คงจะต้องดับความรักความหวังในใจตน เพื่อไม่ต้องมองคนที่ “ไม่มองเรา” จะดีกว่ากระนั้นหรือ?

ผมว่าจะเล่าประวัติไม้ขีดไฟแต่ก็ไปใส่อารมณ์ “รักไร้ค่า” ของไม้ขีดไฟ ซึ่งมีมานานแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2370 โดยนักเคมีชาวอังกฤษ ได้ทดลองนำเศษไม้ไปจุ่มสารผสมของแอนติโมนีซัลไฟต์โปตัสเซี่ยมคลอเรต กับกาวที่ทำจากยางไม้นำมาตากแห้ง แล้วไปขีดกับกระดาษทรายเกิดประกายไฟลุกติดก้านไม้ ต่อมาชาวฝรั่งเศสนำฟอสฟอรัสเหลืองมาเป็นส่วนผสมทำหัวไม้ขีด แต่เกิดควันพิษอันตราย จึงมีชาวสวีเดนพัฒนาสารผสมด้วยกำมะถันเพื่อให้การติดไฟเป็นเปลวไฟได้นานขึ้น ซึ่งในประเทศไทย ก็เริ่มต้นนำมาใช้ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 โดยบาทหลวงศาสนาคริสต์ และมีการตั้งโรงงานผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 ชื่อไม้ขีดไฟมินแซ และตั้งอีกหลายแห่ง แต่รัฐบาลสั่งย้ายไปชานเมืองทั้งหมด

โดยมียี่ห้อตราชนิดต่างๆ กว่า 40 ยี่ห้อ ทั่วประเทศ แต่ที่เราคุ้นเคยกัน เช่น ตราพญานาค ปลา นกแก้ว รถยนต์ กระรอก ปืนคู่ เรือกำปั้น นักมวย พระอาทิตย์ หนุมาน เรือไวกิ้ง เรือใบ รถม้า รถไฟ เรโอแวค เป็นต้น

ก้านไม้ขีดไฟ ทำมาจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ปอ ไม้งิ้ว ไม้มะกอก กล่อง หรือกลักไม้ขีด ทำด้วยไม้เพลาเป็นแผ่นบางๆ พับเป็นกลัก มีลิ้นสอดกลัก ปัจจุบันทำด้วยกระดาษ ด้านข้างเคลือบด้วยฟอสฟอรัสแดง เป็นปุ่มเรียบ ผสมผงสารถ่านกาวขูดติดไฟ ก้านไม้ขีดถูกแช่น้ำประสานทองแล้วอบด้วยกำมะถันก่อนผึ่งแดดให้แห้งเพื่อบรรจุกลัก

กลับมาที่เรื่องของผม ซึ่งเขาจัดไว้ในสกุลของสับปะรดสี มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศบราซิล จึงมีสายพันธุ์ที่ทนแล้ง เลี้ยงง่าย และมีชนิดสู้แดด แต่ถ้าแดดจัดมากก็ทำให้ใบไหม้ได้ ในทางพฤกษศาสตร์ มีชื่อเรียกไม่ไพเราะนัก คือ บรอมีเลียด (Bromeliad) มีหลากหลายชนิด ทั้งที่ชอบแดดจัดและไม่จัดนัก มีลักษณะใบสีเขียว ยาวเรียว ตั้งเป็นกลีบแข็งๆ แผ่ไปรอบๆ มีดอกช่อยกสูง ลักษณะเหมือนก้านไม้ขีด และดอกหมุดหัวไม้ขีดมีสีชมพู ฟ้าอมม่วง ปลูกได้เหมือนสับปะรดสีทั่วๆ ไป วัสดุปลูกใช้กาบมะพร้าว เมื่อต้นสมบูรณ์ก็ใส่ปุ๋ย มีศัตรูที่สำคัญคือตั๊กแตน มักจะกินใบและดอก แต่ดอกอาจจะอยู่ได้ไม่ถึงเดือน หรือถ้าให้น้ำมากเกินก็อาจจะเน่าตายได้ พอดอกม่วงหมดไป ก้านดอกที่มีสีแดงก็ยังอยู่ดูสวยงาม

การปลูกต้นก้านไม้ขีด ต้องไม่อยู่ที่อับลม แต่เป็นไม้ที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ของพรรณไม้ปลูกประดับได้ทั้งในและนอกอาคาร และเป็นไม้ดูดสารพิษโดยคายออกซิเจนในเวลากลางคืน ดูดคาร์บอนไดออกไซด์เวลากลางวัน จึงปลูกไว้ในห้องนอน ห้องทำงาน ในบ้านเรือนได้ดี สายพันธุ์บางชนิดมีกลีบดอก กลีบเลี้ยง และใบลวดลายสีสันต่างกัน

ดอก อยู่หลายสัปดาห์ และจะงอกต้นเล็กๆ ออกมารอบๆ ต้นสามารถตัดแยกไปปลูกใหม่ได้แม้ว่าจะเจริญช้า แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องเครื่องปลูก เพราะแค่กาบมะพร้าวสับอย่างเดียวก็อยู่ได้ หรือจะเติมเสริมอาหารใส่หินภูเขาไฟ ปุ๋ยออสโมโค้ดเล็กน้อยก็พอ รดน้ำ 2-3 วันครั้ง ถ้าปลูกด้วยดินร่วนปนทราย 1 ส่วน ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่าผสมใบไม้ผสมทรายหยาบรดน้ำแต่อย่าให้น้ำขัง เมื่อต้นแตกหน่อ ก้านหน่อแข็งแรงควรตัดหน่อไปปลูก ขยายพันธุ์ได้ดีและช่วยให้ต้นแม่ไม่โทรม ทำให้หน่อใหม่ขึ้นเร็วอีกด้วย

ความงามของดอกก้านไม้ขีด สะท้อนความเศร้าของไม้ขีดไฟในบทเพลงที่แอบรักดอกทานตะวันยามแย้มบาน ด้วยฝันข้างเดียวที่จะให้เขาหันมามอง โดยยอมจุดตัวเอง ให้ลุกเป็นแสงไฟสีทอง แล้วถูกมองเห็นเพียง “ก้านเถ้าถ่าน” เดียวดาย เศร้า..! ที่ไม้ขีดไฟต้องดับตัวเอง แต่ไม่ดับไฟรักในหัวใจ

…………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ฺเป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2564