โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองตะไก้ บึงกาฬ ยึดแนวเกษตรพอเพียง

แม้โรงเรียนจะตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นเขตเมือง เพราะสถานที่ตั้งอยู่เขตอำเภอเมือง และไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก แต่หากประมวลระยะทางและความสะดวกของการเดินทางไปยังโรงเรียนแห่งนี้ ผู้ที่ประสบด้วยตนเองเท่านั้นที่ทราบ

คำว่า เมือง ไม่ได้ทำให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองตะไก้ ตำบลโป่งเปือย อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ มีความเจริญเทียบเท่าโรงเรียนแห่งอื่นได้เลย เพราะที่นี่มีตำรวจตระเวนชายแดน ทำหน้าที่เป็น “ครู” อยู่ไม่กี่คน แต่มีหน้าที่ดูแลนักเรียนนับจากชั้นเตรียมประถม ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เกือบ 100 คน จากบ้านหนองตะไก้ บ้านสมัยสำราญ และบ้านหนองบัวบาน

แปลงผักหลายชนิด
เพาะเห็ดฟาง

นักเรียนมีน้อย จำนวนครูไม่มาก แต่โรงเรียนแห่งนี้จัดระบบการเรียนภาคเกษตรให้กับนักเรียนได้ดีเยี่ยม

โรงเรียนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภาคการเกษตรกับเด็กมาก เพราะเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี เด็กสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้าน ช่วยลดภาระครอบครัว ทั้งอนาคตสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพได้อีกด้วย

โรงเรียนมีพื้นที่ทั้งหมด 30 ไร่ การเกษตรทั้งหมดเป็นโครงการพระราชดำริ ในสมเด็จพระเทพฯ จึงแบ่งพื้นที่สำหรับทำการเกษตรเกือบ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด ทั้งยังแบ่งสัดส่วนการทำการเกษตรเป็นโครงการพระราชดำริ และโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันอีกด้วย

กิจกรรมด้านการเกษตรของนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองตะไก้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพืช และกลุ่มสัตว์ สำหรับกลุ่มพืชส่วนใหญ่ปลูกพืชผัก อาทิ กวางตุ้ง คะน้า พริก ตำลึง ฟัก ผักหวาน ชะอม เห็ดฟาง เป็นต้น ไม่นับรวมไม้ผลที่แยกปลูกอีกส่วน เช่น กล้วย มะม่วง มะละกอ ชมพู่ เป็นต้น

โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่

ในกลุ่มสัตว์ แบ่งพื้นที่กว่า 4 ไร่ ให้กับการประมง โดยขุดบ่อดินแล้วปล่อยปลาที่ได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลา จากสำนักงานประมงจังหวัด กว่า 40,000 ตัว ลงในบ่อ ให้หากินตามธรรมชาติ เพราะปลาที่นำมาเลี้ยงเป็นปลากินพืช ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลานิล และปลายี่สก นอกเหนือจากนั้นเป็นกิจกรรมเลี้ยงปลาดุกในบ่อปูน เลี้ยงกบในบ่อปูน และสัตว์ปีก ประกอบด้วย ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง เป็ดเทศ และห่าน

เฉพาะการเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 100 ตัว รายได้จากการขายไข่ไก่นำมาเข้ากองทุนไก่ไข่ รวมทั้งพืชผักและผลผลิตจากสัตว์อื่น หลังจากนำมารับประทานในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันไม่หมด จะนำไปจำหน่าย แล้วนำเงินเก็บเข้าร้านค้าสหกรณ์ของโรงเรียน หรือผลไม้บางชนิดใช้ประกอบการเรียนการสอนได้ เช่น มะม่วงสุก ซึ่งเมื่อได้ผลผลิตจำนวนมาก รับประทานเป็นผลไม้ไม่หมด จะนำมากวน การแปรรูปลักษณะนี้นำมาใช้สอนนักเรียนรู้จักการแปรรูปมะม่วงได้อีกด้วย

ตรงนี้เป็นพื้นที่เลี้ยงไก่เนื้อ

ผลผลิตจากการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ตามโครงการพระราชดำริ ในสมเด็จพระเทพฯ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารกลางวันสำหรับเด็กมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ต่อเดือน ซึ่งเด็กนักเรียนทุกคนจะรับประทานอาหารกลางวันฟรีที่โรงเรียน ส่วนแม่ครัว คือ ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนที่หมุนเวียนมาทำครัวช่วยเหลือโรงเรียน มีการจัดเวรมาประกอบอาหารทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์

ทุกครั้งหลังรับประทานอาหารกลางวัน “นม” เป็นอาหารเสริมที่ขาดไม่ได้สำหรับนักเรียน แต่โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้รับนมกล่องเช่นเดียวกับโรงเรียนรัฐบาลแห่งอื่น แต่ใช้ “นมผง” ที่ได้รับพระราชทานตามโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน สำหรับชงให้นักเรียนทุกระดับชั้นดื่มเป็นอาหารเสริม

บ่อปูนเลี้ยงปลาดุก

การแบ่งกลุ่มดูแลการเกษตรทั้งพืชและสัตว์เป็นสิ่งสำคัญ นักเรียนชั้นเตรียมประถม และชั้นประถมปีที่ 1 ยังเป็นชั้นเรียนที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมการเกษตร เพราะยังเล็ก โดยแปลงปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ จะมอบความรับผิดชอบให้กับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อน แล้วไล่ลำดับชั้นลงมา ส่วนเด็กเล็กและเด็กประถมปีที่ 1 ให้เรียนรู้การดูแลตัวเองให้ได้ก่อน ยกเว้นหากนักเรียนที่จัดไว้ไม่เพียงพอ อาจพิจารณาเลือกเด็กที่มีแววความรับผิดชอบสูงเริ่มลงแปลงเกษตร ในแต่ละกิจกรรมของการปลูกพืชจะมอบหมายให้เด็กนักเรียนดูแลแปลงละ 3 คน ในตอนเช้าก่อนเข้าแถว นักเรียนจะต้องรดน้ำ พรวนดิน และให้ปุ๋ยตามโอกาสที่เหมาะสม ส่วนเวลาเย็นหลังเลิกเรียน ต้องลงแปลงเพื่อตรวจดูความเรียบร้อยและรดน้ำอีกครั้ง กิจกรรมเหล่านี้นักเรียนจะปฏิบัติในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดของโรงเรียนด้วย ส่วนการเลี้ยงสัตว์จะแบ่งนักเรียนกิจกรรมละ 2 คน ให้อาหารเวลาเช้าและเย็น เวลาเดียวกับการลงแปลงผัก และทุกกิจกรรมจะมีครูพี่เลี้ยงดูแลกิจกรรมละ 1 คน

โรงเรียนพร้อมส่งเสริมกิจกรรมด้านการเกษตรควบคู่ไปกับการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้เด็กนำเงินมาฝาก และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ โดยการถือหุ้น เริ่มต้นการจัดตั้งราคาหุ้นละ 5 บาท ภายในสหกรณ์มีไข่ไก่ และผักจากแปลงเกษตรของโรงเรียนมาวางจำหน่าย รวมถึงเครื่องปรุงรส ทำให้นักเรียนมีรายได้และรู้จักการบริหารจัดการที่เป็นระบบ

ขอความรู้ หรือสอบถามเพิ่มเติม การจัดระบบเพื่อทำการเกษตรของโรงเรียน หรือให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การเรียนการสอนได้ที่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองตะไก้ ตำบลโป่งเปือย อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ

โครงการประมงโรงเรียนตามพระราชดำริ