งานกล้วยไม้ ที่ญี่ปุ่น แปลกตา สวยงาม

กล้วยไม้เป็นไม้ดอกที่ทั่วโลกให้ความสนใจในความแปลกของรูปลักษณะดอกและสีที่ค่อนข้างฉูดฉาด แต่ละภูมิภาคต่างมีกล้วยไม้ที่โดดเด่นแตกต่างกัน ยิ่งเป็นกล้วยไม้ที่มาจากต่างถิ่นที่ในประเทศเราไม่เคยเห็นเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ สนนราคากล้วยไม้ก็ค่อนข้างแพงกว่าไม้ดอกไม้ประดับทั่วๆ ไป ในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูกล้วยไม้ราคาแพงๆ ขายได้ดีมาก ปัจจุบันเศรษฐกิจแบบนี้อย่าว่าแต่กล้วยไม้ซึ่งถือว่าเป็นของฟุ่มเฟือยเลย กล้วยน้ำว้ายังขายยาก

การประกวดกล้วยไม้มีแทบทุกประเทศ ที่เป็นนานาชาติมากสุดก็คือ งานกล้วยไม้โลก จัดทุกๆ 2 ปี หมุนเวียนกันไปทวีปต่างๆ ทั่วโลก ประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานกล้วยไม้โลก ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 18-23 มกราคม 2521 ที่สวนสามพราน นครปฐม เป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ส่วนงานประกวดกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิคประเทศไทยได้รับเป็นเจ้าภาพ 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19-27 มีนาคม 2559 ที่เมืองทองธานี

คุณศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ นักศึกษาปริญญาเอก จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งเป็นนักปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ ได้มีโอกาสไปทำงานวิจัยที่สถาบันวิจัย Genetic Resources Center ภายใต้สังกัด National Agricultural Research Organization (NARO) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในเมืองสึคุบะ (Tsukuba) จังหวัดอิบารากิ (Ibaraki) ประเทศญี่ปุ่น อยู่ห่างจากกรุงโตเกียวประมาณ 70 กิโลเมตร

คุณศุทธิณัฏจ์ สุนทรกลัมพ์

ในช่วงดังกล่าวที่มีการประกวดกล้วยไม้พอดี จึงได้มีโอกาสไปเที่ยวชมและส่งทั้งข่าวและภาพมาให้ ซึ่งงานนี้เป็น งานประกวดกล้วยไม้ของสมาคมผู้ปลูกกล้วยไม้แห่งประเทศญี่ปุ่น เจโอจีเอ (JOGA) ระหว่างวันที่ 10-13 มีนาคม 2017 ณ สวนสาธารณะโชวะคิเน็น ชื่อของสวนนี้มีความหมายว่า สวนอันเป็นอนุสรณ์แด่จักรพรรดิโชวะ (สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พระบรมราชนกในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ) เขตทาชิคาวะ-ชิ กรุงโตเกียว เปิดให้ชมตั้งแต่เวลา 10.00-16.30 น. โดยมีเจ้าภาพร่วมคือ JOGA และ สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Agricultural Cooperatives) และมีผู้สนับสนุนอีกมากมาย อาทิ กระทรวงการเกษตร, ป่าไม้และประมง (Minister of Agriculture, Forestry and Fisheries), กระทรวงที่ดิน, โครงสร้างพื้นฐาน, ขนส่งและการท่องเที่ยว (Ministry of Land, Infrastructure, transport and Tourism), กรุงโตเกียว เป็นต้น

การเดินทางเริ่มจากออกเดินทางจากเมือง Tsukuba โดยรถไฟสาย Tsukuba express ไปลงที่สถานีปลายทาง Akihabara แล้วเปลี่ยนรถไฟเป็นรถไฟ JR สาย Chuo เพื่อไปยังสถานีรถไฟ Tachikawa-Kita จากนั้นออกจากรถไฟแล้วเดินออกจากสถานีไปทาง sky walk ทางด้านทิศเหนือไม่ไกลก็จะถึงสวน Showa Kinen ซึ่งสวนแห่งนี้จะเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลดอกไม้ของญี่ปุ่นเป็นประจำทุกปี ในปีนี้จะจัดงานระหว่างวันที่ 25 มีนาคม ถึง 28 พฤษภาคม 2017

ด้านในสวนจะมีพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ (Emperor Showa museum) ซึ่งเป็นอาคารนิทรรศการขนาดใหญ่ เป็นสถานที่จัดงานแสดงกล้วยไม้ ภายในงานด้านหน้าจะมีการออกร้านจากฟาร์มกล้วยไม้ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกล้วยไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีส่วนน้อยที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองของญี่ปุ่น และเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้เข้าชมงานส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ อาจจะเป็นเพราะคนวัยทำงานมักจะหมกหมุ่นกับการทำงานอย่างมาก แม้ว่าจะเป็นวันอาทิตย์ (วันที่ไปเข้าชมงานคือ วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2017)

บรรยากาศงานประกวด
สวหรือชช. ผู้เชี่ยวชาญชีวิตชมงาน

ภายในอาคารโอ่โถงกว้างขวาง มีรูปแบบการจัดงานเป็นไปอย่างเรียบง่ายและมีการจัดสวน display ขนาดใหญ่เฉพาะโถงกลางเท่านั้น โต๊ะจัดแสดงจะอยู่ติดกับผนังอาคาร โดยเว้นทางเดินค่อนข้างจะกว้าง สิ่งหนึ่งที่เห็นภายในงานจะไม่มีราวกั้นระหว่างผู้เข้าชมกับกล้วยไม้เลย (ยกเว้นบริเวณของกล้วยไม้ที่ได้รางวัลที่ 1) แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบและมารยาทของผู้เข้าชมชาวญี่ปุ่นที่จะไม่สัมผัสกับกล้วยไม้ โดยจะจัดประเภทของกล้วยไม้แยกตามสกุลและสกุลใกล้เคียง เช่น สกุลคัทลียา (Cattleya), รองเท้านารี (Paphiopedilum), หวาย (Dendrobium) และ อื่นๆ เป็นต้น

กล้วยไม้ที่เข้าประกวด

กล้วยไม้ที่นำมาประกวดมีมากมายหลายประเภท แต่มีกล้วยไม้ชนิดหนึ่งที่ดูแปลกตา หนึ่งในนั้นคือ Gastrodiaelata ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่ไม่มีรงควัตถุในการสังเคราะห์ด้วยแสง ต้องอาศัยเชื้อรา Armillariamellea คอยส่งสารอาหารให้เพื่อการดำรงชีวิต หรือเราเรียกว่า กล้วยไม้กินซาก โดยปกติกล้วยไม้ชนิดนี้ไม่สามารถนำมาปลูกในโรงเรือนกล้วยไม้ได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม กล้วยไม้ชนิดนี้ได้ถูกนำมาใช้ในตำรับยาจีนเพื่อลดปวดและอาการอักเสบได้ กล้วยไม้สกุลนี้สามารถพบได้ในแหล่งธรรมชาติในประเทศไทยเพียงไม่กี่ชนิด

มีกล้วยไม้ต้นหนึ่ง ในงานนี้ นักกล้วยไม้ชาวญี่ปุ่นได้นำลวดมาดัดลำลูกกล้วยของกล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium spp.) ในกลุ่มนอบิเล่หรือเอื้องสาย ให้มีทิศทางเป็นระเบียบคล้ายกับสายน้ำของน้ำตก การดัดแบบนี้จะช่วยให้เมื่อกล้วยไม้ออกดอกจะทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นดอกของกล้วยไม้ได้รอบด้าน ซึ่งอาจจะได้อิทธิพลจากการดัดบอนไซก็เป็นได้ เป็นเทคนิคหนึ่งที่นักกล้วยไม้ชาวไทยน่าลองนำไปใช้ครับ

กล้วยไม้สกุลแคทลียา
กล้วยไม้สกุลซิมบีเดียม
เอื้องผึ้ง ซึ่งพบในแหล่งธรรมชาติในไทย

กล้วยไม้ที่ได้รับรางวัลที่ 1 จะติดป้ายสีน้ำเงิน ต้นที่ได้รับรางวัลที่ 2 จะติดป้ายสีแดง ส่วนต้นที่ได้รับรางวัลที่ 3 จะติดป้ายสีขาว ต้นไหนที่สวยเข้าตากรรมการแต่ไม่ได้รางวัลก็จะมีป้ายผ้าแพรติดอยู่ ต้นที่ได้รับรางวัลที่ 2 และ 3 จะถูกวางรวมอยู่กับต้นที่ไม่ได้รางวัล แต่ต้นที่ได้รางวัลที่ 1 จะถูกนำไปวางรวมกันที่โต๊ะพิเศษเพื่อให้โดดเด่นกว่าต้นอื่น

กล้วยไม้ดัด
สวยงามมาก

กล้วยไม้อีกต้นหนึ่งที่เป็นที่ฮือฮาในงานนี้ คือกล้วยไม้สกุลหวาย เป็นลูกผสมระหว่างเอื้องมัจฉานุชมพูกับเอื้องม่อนไข่ใบมน ที่ได้รับการจดทะเบียนชื่อเป็น Dendrobium Farmeri-Thrysiflorum จะเห็นได้ว่ารสนิยมของชาวญี่ปุ่นชื่นชอบดอกไม้สีอ่อนหวาน ไม่ฉูดฉาด ทำให้ลูกผสมชนิดนี้ได้รับป้ายเชิดชูเกียรติจากสำนักพระราชวังอิมพีเรียล ซึ่งพ่อแม่ของกล้วยไม้ลูกผสมชนิดนี้มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย

ภายในงานยังมีกิจกรรม meeting ของสมาชิกใน JOGA เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และยังมีการนำเสนอประสบการณ์ของสมาชิกที่มีโอกาสไปชมกล้วยไม้ในสภาพธรรมชาติ ณ ต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งเมื่อการนำเสนอเสร็จสิ้นจะมีกิจกรรมร่วมสนุกในการประมูลกล้วยไม้ของร้านค้าสมาชิกที่มาเปิดบู๊ธในงานอีกด้วย