บัณฑิตพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง เจอพิษโควิด-19 หันปลูกไม้ใบด่าง เป็นอาชีพเสริมทำเงิน

ในช่วงนี้คงไม่มีใครที่ไม่ได้ยินเรื่องราวของไม้ด่างชนิดต่างๆ ที่ออกสื่อโซเชียลมีเดียว่ามีการซื้อขายกันในราคาที่พุ่งแรงเป็นอย่างมาก บางต้นราคาอยู่ที่หลักแสนบาทและไปถึงหลักล้านบาทก็มีให้เห็น จึงทำให้วงการไม้ด่างเป็นอีกหนึ่งตลาดการซื้อขายที่ค่อนข้างมีมูลค่ามากในช่วงเวลานี้ เพราะมีผู้สนใจหลากหลายอาชีพเข้ามาให้ความสนใจและเรียนรู้ที่จะศึกษาในเรื่องของการปลูก การขยายพันธุ์ และการทำตลาดจนเกิดรายได้

คุณจามร จันทรัตน์

คุณจามร จันทรัตน์ อยู่บ้านเลขที่ 23/4 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เห็นกระแสของไม้ด่างว่าน่าปลูกในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังเกิดขึ้นในช่วงแรกในประเทศ ในช่วงนั้นเขาเพียงแต่ซื้อไม้ชนิดอื่นเข้ามาปลูกเพียงอย่างเดียว ต่อมาจึงเริ่มซื้อไม้ใบประดับใบที่มีลักษณะใบด่างเข้ามาปลูก พร้อมทั้งเรียนรู้การขยายพันธุ์จนไม้มีจำนวนมาก เมื่อมีผู้พบเห็นจึงเกิดการซื้อขายจนสามารถทำเป็นอาชีพเสริม

การคลุมด้วยถุงพลาสติก

คุณจามร เล่าให้ฟังว่า จบการศึกษาทางด้านการเกษตร สาขาเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังจบการศึกษาก็ได้ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรมาโดยตลอด ต่อมาได้ทำธุรกิจร้านจำหน่ายเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรเพราะมีองค์ความรู้ทางด้านนี้จากสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา โดยช่วงนั้นได้มีโอกาสสร้างสวนหย่อมเล็กๆ ภายในบ้าน จึงทำให้เริ่มสนใจเรื่องของการปลูกไม้ประดับใบมากขึ้น และในเวลาต่อมาสามารถสร้างรายได้ให้เขาได้แบบไม่คาดคิด

การเลือกข้อเพื่อนำไปปักชำ

“ช่วงนั้นโควิด-19 รอบแรก ร้านเคมีภัณฑ์เราไม่สามารถเปิดได้ ทำให้เรามีเวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น ตอนนั้นเป็นจุดเริ่มต้นให้เรามีเวลามาปลูกไม้ประดับ ช่วงนั้นอยากจัดสวนเล็กๆ ในบ้านก่อน พอทำแล้วรู้สึกเลยว่าธรรมชาติทำให้เราผ่อนคลาย เวลาได้เห็นสีเขียวของไม้ใบต่างๆ ทำให้เราไม่เครียดเลย ยิ่งช่วงสถานการณ์โควิดที่กำลังเกิดขึ้น พอเราศึกษาไปมากขึ้น ก็เลยรู้ว่าไม้ใบด่างกำลังเป็นที่นิยม ซึ่งที่เรามีอยู่ยังไม่มีราคามาก พอเราสนใจอย่างเต็มที่แล้ว เลยหาซื้อเข้ามาปลูกอยู่ช่วงหนึ่งจนสามารถขยายพันธุ์ และมีคนสนใจมาติดต่อซื้อ ทำให้เรามองว่าสามารถขายได้จริง” คุณจามร บอก

คุณจามร บอกว่า ไม้ใบด่างที่สนใจปลูกและลูกค้าสนใจซื้อมีอยู่ 3 ชนิดหลัก คือ ตระกูลเงินไหลมา ตระกูลมอนสเตอร่า และตระกูลพลูต่างๆ เพราะเป็นไม้ใบที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์และเจริญเติบโตได้ไว จากการที่เขาได้ศึกษาและเรียนรู้การขยายพันธุ์ วิธีการนำไม้มาปักชำให้เกิดต้นใหม่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับการขยายพันธุ์ โดยเขาจะนำไม้ที่อยู่ในบ้านทั้งหมดเลี้ยงดูจนได้ทรงที่พอเหมาะ จากนั้นก็จะเลือกข้อที่เหมาะสมมาตัดปักชำเพื่อให้เกิดเป็นต้นใหม่

ซึ่งการเลือกกิ่งใหม่สำหรับปักชำจะไม่เลือกกิ่งที่มีใบขาวหรือด่างทั้งใบ แต่จะต้องเลือกให้มีพื้นที่สีเขียวติดอยู่ที่ใบด้วย เพราะหากเลือกแต่กิ่งที่มีใบขาวด่างทั้งใบจะทำให้ใบไหม้และปักชำไม่สำเร็จ การตัดข้อกิ่งปักชำจะตัดให้มีความยาวด้านบนและด้านล่างห่างจากข้อด้านละ 1 นิ้ว จากนั้นนำข้อกิ่งที่ตัดนำไปปักชำลงในวัสดุปลูกจำพวกขุยมะพร้าวละเอียดพร้อมกับคลุมถุงพลาสติกเพื่อให้มีความชื้นอยู่ภายในกระถาง

เงินไหลมาด่างขาว

หลังจากปักชำได้ประมาณ 2-4 สัปดาห์ กิ่งที่นำไปปักชำจะเริ่มออกรากมาให้เห็นอย่างสมบูรณ์ จากนั้นจะนำไปปลูกใส่ในกระถาง 10 นิ้ว ด้วยวัสดุปลูกจำพวกดินใบก้ามปูหมัก มะพร้าวสับ และเพอร์ไลท์ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 หลังจากนั้น ดูแลต่อไปอีกประมาณ 2-4 เดือน ไม้ด่างก็จะโตเรื่อยเต็มพื้นที่ภายในกระถางพร้อมที่จะจำหน่ายได้

“ไม้ใบด่างส่วนมากจากที่ผมปลูก แมลงศัตรูพืชไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่จะเป็นหนักในเรื่องของเชื้อรา ถ้าเรามีการรดน้ำที่ชื้นมากเกินไป และยิ่งช่วงฤดูฝนต้องระวังให้มาก หากพบว่ารากเน่า เปลี่ยนวัสดุปลูกแล้วไม่หายก็นำต้นนั้นไปทำลายทันที ส่วนถ้าเจอโรคหรือแมลงศัตรูพืชอื่นๆ เข้ามาบ้างก็อาจจะใช้เคมีภัณฑ์ทั่วไป ช่วยกำจัดได้ในเบื้องต้นเพื่อไม่ให้ไม้เกิดความเสียหาย” คุณจามร บอก

อิพิเพรมนั่ม

สำหรับการทำตลาดเพื่อจำหน่ายไม้ใบด่างที่ปลูกอยู่นั้น คุณจามร เล่าว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนที่สนใจในเรื่องของไม้ประดับใบ เป็นทั้งลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าจากร้านเคมีภัณฑ์ของเขา หรือลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นลูกค้าที่เป็นเพื่อนในสื่อโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ซึ่งมีกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบการปลูกไม้ใบด่างอยู่หลากหลายทีเดียว ทำให้การค้าขายในปัจจุบันเป็นเรื่องที่สะดวก และจัดระบบการขนส่งที่รวดเร็วเพราะมีการซื้อขายต้นไม้มากขึ้น

โดยราคาจำหน่ายไม้ตระกูลเงินไหลมาด่างขาวราคาอยู่ที่ 300-500 บาทต่อกระถาง และตระกูลพลูต่างๆ ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 500-900 บาทต่อกระถาง นอกจากนี้ ยังมีไม้ด่างอื่นๆ ที่พอมีราคาก็จะอยู่ที่กระถางละหลักพันบาท ขึ้นอยู่กับทรงพุ่มและความใหญ่ของไม้

บอนกระดาษด่าง

“ตั้งแต่ผมได้มาปลูกไม้ใบด่าง ผมรู้สึกเลยว่ามันมีอะไรที่น่าสนใจ เพราะเราเหมือนเป็นมือใหม่ ที่เข้ามาเริ่มทำในช่วงโควิด แต่เราได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ได้พูดคุยกับคนที่เขาทำมานาน ช่วยให้เราได้เรียนรู้หลายอย่าง และได้เกิดกลุ่มเพื่อนที่เป็นลูกค้าที่เข้ามาพุดคุยกัน ก็ยิ่งทำให้เรามีความสุขกับสิ่งที่ทำ ยิ่งสถานการณ์โควิดแบบนี้ทุกคนเครียด เราเข้าใจได้ แต่การได้ปลูกไม้ด่างและเกิดการพูดคุยทำให้เราผ่อนคลายได้มาก สำหรับคนที่สนใจผมก็อยากจะบอกว่า อาจจะเริ่มทำจากไม้ที่มีราคาถูกก่อนก็ได้ พอเรารักและชอบจริงๆ ค่อยเรียนรู้ที่จะทำ สิ่งที่เรารักและตั้งใจ จะทำรายได้ อาจจะเป็นอาชีพเสริมหรือหลักให้เราได้อย่างแน่นอน” คุณจามร บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการปลูกไม้ด่างหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณจามร จันทรัตน์ หมายเลขโทรศัพท์ 080-529-9425