หนุ่มเมืองสุพรรณฯ ปลูกเลี้ยงไม้ด่างช่วงโควิด-19 จากเคยมีหนี้ ช่วยพลิกชีวิตมีรายได้

ในช่วงนี้ ไหนๆ กระแสไม้ด่างก็กำลังมาแรงชนิดที่ว่าเปิดชมสื่อโซเชียลต่างๆ ก็จะมีแต่รูปไม้ด่างขึ้นมาเต็มไปหมด หรือแม้แต่คนดังก็ยังเสนใจในการปลูกไม่น้อยทีเดียว ในปักษ์นี้ก็อยากจะนำเสนอเรื่องราวของไม้ด่างอีกสักเรื่อง ในมุมของนักสะสมหน้าใหม่ที่ได้เข้ามาปลูกอย่างจริงจัง จนสามารถเกิดเป็นรายได้ชนิดที่ว่าเขาเองก็ไม่คาดฝันว่าจะทำได้ และเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คนในเวลานี้

คุณปรัชญาวัต มะนาวหวาน

คุณปรัชญาวัต มะนาวหวาน ทำสวนไม้ด่างอยู่ที่อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เขาได้ปรับเปลี่ยนการสร้างรายได้ของเขามาเพาะพันธุ์ไม้ด่างจำหน่าย โดยหมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ พร้อมทั้งมีการหาไม้ที่เป็นความต้องการของตลาดเข้ามาปลูก จึงช่วยให้ลูกค้ามีตัวเลือกในการจับจองเป็นเจ้าของมากขึ้น สวนของเขาจึงเป็นที่พูดกันออกไปปากต่อปากและเป็นที่รู้จักในวงการคนชื่นชอบไม้ด่าง

พื้นที่อบไม้

คุณปรัชญาวัต ก่อนหน้านี้ได้ทำธุรกิจทางด้านอื่นก่อนเกิดวิกฤตต่างๆ จนเริ่มมีการสะสมของหนี้สิน ต่อมามีอาจารย์ที่สนิทกันได้เสนอแนะให้มาปลูกไม้ด่าง จึงได้ปรับเปลี่ยนจากสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่อาชีพที่สร้างรายได้ที่ดี มาทำสวนไม้ด่างอย่างเต็มตัว ไม้ที่เลือกเข้ามาปลูกหลักๆ จะเป็นไม้ด่างจำพวก ตระกูลเงินไหลมา ตระกูลมอนสเตอร่า ตระกูลพลู และอีกมากมายหลายชนิด

พื้นที่รอบบ้านสำหรับปลูกไม้ด่าง

“ตอนมาเริ่มทำนี่ต้องบอกก่อนเลยว่า เราไม่ได้เอาไม้มาลงทีเดียว เราค่อยๆ ทยอยแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป โดยนำเงินที่ได้มาซื้อทีละไม่มาก เพราะเราค่อนข้างที่จะเป็นมือใหม่ ยิ่งทำอะไรที่ต้องใช้เงินทุนเราต้องยิ่งระวัง จึงทำให้เริ่มมีการปรับตัว เรียนรู้การปลูกอย่างมีระบบ แบบแผนมากขึ้น เมื่อไม้ขายได้เราก็จะเก็บต้นแม่ไว้ทำพันธุ์ต่อไป จึงทำให้เราเริ่มมีการพัฒนาและความชำนาญ จนสามารถสร้างรายได้มาถึงปัจจุบัน” คุณปรัชญาวัต บอก

บอนหูช้างเหลือง

โดยพื้นที่สำหรับทำสวนไม้ด่างนั้น คุณปรัชญาวัต บอกว่า จะใช้พื้นที่ว่างรอบบ้านทั้งหมดเพื่อให้เกิดประโยชน์ จึงทำให้ไม่มีต้นทุนอะไรมากนักสำหรับการทำเป็นสิ่งปลูกสร้างใหม่ จากนั้นนำไม้เข้ามาปลูกให้ได้อายุตามที่ต้องการ ดูความพร้อมว่าสามารถขยายพันธุ์ได้ในช่วงไหน เมื่อเห็นว่าต้นมีความพร้อมจึงตัดข้อหรือกิ่งที่ต้องการ มาปักชำลงในวัสดุปลูกที่เตรียมไว้จำพวกดินใบก้ามปู 1 ส่วน มะพร้าวสับ 2 ส่วน และเพอร์ไลท์ 2 ส่วน พร้อมกับนำไม้ที่ปักชำไปอบในพื้นที่ที่เตรียมไว้

ไม้ด่างที่เลี้ยงไว้
บอนโมจิโต้

ใช้เวลาดูแลไม้ด่างที่ผ่านการปักชำรากเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ไม้ก็จะมีรากที่สมบูรณ์ จากนั้นนำมาปลูกใส่ในกระถางขนาด 4 นิ้ว และเมื่อไม้ด่างโตขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ก็จะย้ายมาปลูกลงในกระถางขนาด 6 นิ้วอีกครั้ง และสามารถเตรียมจำหน่ายได้ทันที

Syngonium Pink Salmon
หน้ากากฟาโรห์

“ไม้ด่างหลังจากปักชำได้อายุ 1 เดือน ถ้าเราอยากจำหน่ายสามารถจำหน่ายได้เลย แต่ถ้ายังไม่จำหน่ายก็จะเลี้ยงไปเรื่อย จนสามารถทำเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้ เพราะฉะนั้น เราก็จะทำไม้ออกมาหลายไซซ์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อได้หลายราคา เพราะถ้าต้นไม้ด่างยิ่งใหญ่และสมบูรณ์ ราคาก็จะยิ่งแพง เพราะฉะนั้น เราจึงต้องทำการตลาดให้ครอบคลุม ส่วนเรื่องโรคและแมลงหลักๆ ของไม้ด่างก็จะเป็นพวกเชื้อราและแมลงต่างๆ เราก็กำจัดตามความเหมาะสมได้เลย” คุณปรัชญาวัต บอก

Syngonium Milk Confetti
บอนกระดาษขาว

ตลาดของการขายไม้ด่างที่ดีที่สุดนั้น คุณปรัชญาวัต บอกว่า โลกโซเชียลมีเดียถือว่ามีความสำคัญมากในการขายยุคนี้ เพราะลูกค้าที่อยู่ไกลออกไปในหลายๆ จังหวัด สามารถดูสินค้าผ่านสื่อที่ทางสวนนำไปลงไว้ และติดต่อเข้ามาซื้อขายผ่านทางการพูดคุย เมื่อตกลงในเรื่องของราคากันได้แล้วก็จะทำการส่งไม้ด่างไปถึงบ้านลูกค้าอย่างปลอดภัย เพราะระบบการขนส่งในปัจจุบันที่ค่อนข้างตอบโจทย์ของการซื้อขายออนไลน์ได้เป็นอย่างดี

อิพิมาเบิล

โดยราคาไม้ใบด่างที่ขายจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และชนิด อย่างเช่น ตระกูลมอนสเตอร่าที่มีใบด่างสวย ขนาดของใบใหญ่มีลายสวย ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 5,000 บาท และยังมีไม้ด่างอื่นๆ อีกหลายชนิดที่ลูกค้าสามารถเข้ามาเลือกซื้อเลือกหาได้ โดยมีราคาถูกสุดอยู่ที่หลักร้อยบาทและราคาแพงสุดอยู่ที่หลักแสนบาท

เงินไหลมาด่างขาว
เบอร์มาร์ค

“ตั้งแต่เรามาทำสวนไม้ด่าง ต้องบอกว่าเราทำด้วยความรัก ทำให้เราสามารถทำออกมาได้ดี มันทำให้เราได้ลุ้นว่าไม้ที่เราเลี้ยงนั้น มันจะออกมาด่างมากน้อยแค่ไหน เราได้มีจินตนาการในการที่จะทำไปเรื่อยๆ ได้เรียนรู้อยู่กับไม้พวกนี้ไม่สิ้นสุด พร้อมทั้งให้เราได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ที่เขาชอบเหมือนกันกับเรา ก็อยากจะฝากบอกกับทุกคนที่กำลังจะเริ่มเข้ามาทำ ก็อยากจะบอกว่า ไม้ด่างต้องเรียนรู้เยอะนิดหนึ่ง พร้อมกับมีเงินทุนที่ลงทุนได้พอสมควร ก็จะช่วยให้ทำได้เรื่อยๆ และเกิดรายได้แน่นอน” คุณปรัชญาวัต บอก

ไหลเหลือง

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการปลูกไม้ด่างและต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณปรัชญาวัต มะนาวหวาน หมายเลขโทรศัพท์ 081-711-1166