ธุรกิจกล้วยไม้รูปแบบใหม่ การผลิตต้นกล้วยไม้เพื่อติดต้นไม้ใหญ่ตามบ้านและจัดสวน

ธุรกิจกล้วยไม้รูปแบบใหม่ การผลิตต้นกล้วยไม้เพื่อติดต้นไม้ใหญ่ตามบ้านและจัดสวน

เทคนิคการติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่

ผู้เขียนและต้นไม้ใหญ่ที่ติดกล้วยไม้ข้างหลัง และสวนกล้วยไม้ดินรอบโคนต้น ข้างหลังด้านขวามือผู้เขียนต้นไข่ดาว ซ้ายมือต้นศรีตรัง

เลือกต้นไม้ใหญ่ที่จะติดและได้ตัดแต่งให้มีแสงรำไรลอดผ่านพุ่มใบ ในกรณีนี้จะใช้ต้นศรีตรังพันธุ์ใหญ่จากทางยุโรปที่ผู้เขียนซื้อเมล็ดมาจากเยอรมนีมาเพาะไว้เมื่อประมาณ 15 ปีก่อนเป็นบทปฏิบัติการของการติดกล้วยไม้ในครั้งนี้ ต้นศรีตรังสายพันธุ์จากทางยุโรปนี้ ที่ขึ้นในประเทศของเขาจะสูงใหญ่ มีพุ่มกิ่งก้านสาขาใหญ่โตใกล้เคียงกับต้นจามจุรีของบ้านเรา ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือต้นศรีตรังเป็นไม้ผลัดใบ คือจะมีใบเขียวเต็มต้นในช่วงฝน ใบเริ่มเหลือง และทยอยทิ้งใบเมื่อเข้าหนาว จะทิ้งใบมากขึ้นเมื่อออกหนาวเข้าแล้ง จุดที่จะชี้คือ ใต้ร่มต้นของเขาจะค่อนข้างทึบแสงน้อยในฤดูฝน เมื่อเข้าหนาวแสงจะส่องเข้ามาใต้ร่มมากขึ้น และแสงจะจัดขึ้นในหน้าแล้งที่ใบบนต้นน้อยลง วงจรแสงมาก แสงน้อยนี้ จะมีผลกระทบต่อการเจริญและการสร้างตาดอกของกล้วยไม้ นั่นคือ แสงมาก กล้วยไม้ก็จะต้องการน้ำและสารอาหารมากขึ้น และเอื้อการสร้างตาดอกหรือออกดอกดีขึ้น

ใช้กรรไกรตัดรากเอื้องคำ

ขั้นตอนการติดกล้วยไม้

1. ตัดรากกล้วยไม้ ขั้นตอนแรกของการติดกล้วยไม้กับต้นไม้ใหญ่คือ ใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่ง ตัดรากกล้วยไม้ให้เหลือสั้นๆ ชิดโคนต้น ไม่ว่าจะเป็นกล้วยไม้กลุ่มไหน แวนด้าและกลุ่มใกล้เคียง หวาย แคทลียา เหตุผลสำคัญที่แนะนำให้ตัดรากกล้วยไม้ ทั้งๆ ที่รากกล้วยไม้จะทำหน้าที่หลักในการดูดซับน้ำก็เพื่อเร่งการงอกรากใหม่จากโคนต้นหรือจากรากที่เหลือสั้นๆ ใกล้โคนต้น แล้วรากอ่อนเหล่านั้นเดินเกาะผิวเปลือกต้นไม้เร็วและมาก ตรงนี้จะมีคำถามจากผู้ไม่ได้เป็นนักกล้วยไม้ว่า “ถ้าไม่ตัดรากปล่อยให้ยาวๆ อยู่ตามเดิมเหมือนที่ซื้อมา น่าจะดีกว่า กล้วยไม้น่าจะไม่ทรุดโทรมหนึ่ง เดี๋ยวรากใหม่งอกมาก็จะเกาะของมันเองมั้ง” คำตอบคือผิด เพราะถ้าไม่ตัดราก ต้นกล้วยไม้ก็จะไม่ค่อยแตกรากใหม่ ด้วยเขารู้สึกว่ามีรากมากอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าเมื่อติดต้นไม้ไปแล้วเรารดน้ำทุกวันช่วย หรือเป็นช่วงหน้าฝนรากแตกง่าย ก็จะเป็นการแตกรากแขนงที่อยู่ห่างโคนต้น ลอยไม่เกาะต้นไม้ใหญ่ ดังนั้น เพื่อกระตุ้นการงอกของรากที่ออกจากลำต้นหรือการงอกของรากที่เหลือสั้นๆ ไม่เกิน 1 นิ้วจากโคนต้น แล้วรากเหล่านี้เดินเกาะไปบนเปลือกต้นไม้เร็วและมากขึ้น เราจึงต้องตัดรากทิ้ง

ช้างที่ตัดรากแล้ว

ความจริงนี่เป็นความรู้หลักอย่างหนึ่งที่นักกล้วยไม้รู้และปฏิบัติในการเปลี่ยนกระถางกล้วยไม้เมื่อกล้วยไม้บางประเภท เช่น หวาย แคทลียา ซิมบิเดียม มีอายุมากขึ้นรากเดินแน่นเต็มกระถางหรือกระเช้า เขาจะถอดกล้วยไม้ออกจากกระถาง ตัดรากทิ้งให้ชิดโคนต้น (และถือโอกาสแยกกอให้เล็กลง แบ่งปลูกเป็นหลายกระถาง) ซึ่งภาษาฝรั่งเรียกว่า repotting หรือพวกเราบางท่านเรียก “ทำสาว” นั่นคือ กล้วยไม้จะกระดี๊กระด๊าแตกรากใหม่เหมือนต้นเด็กๆ

ต้นศรีตรังที่จะใช้ติดกล้วยไม้ จะสาธิตการติดต้นช้าง 3 ต้น โปรดสังเกต ช่วงปลายมกราคมต้นศรีตรังทิ้งใบ เหลือใบเหลืองแก่อยู่ไม่มาก เป็นช่วงที่แสงพุ่งผ่านสาดลงมาใต้พุ่มสูงสุดของปี

ในกลุ่มแวนด้าและใกล้เคียง เช่น พวกช้าง กุหลาบชนิดต่างๆ และลูกผสมกลุ่มไม้หอมที่มีเลือดกลุ่มสามปอยที่ปลูกในกระเช้าและมีรากแตกออกมามากมาย เมื่อเลี้ยงให้มีอายุมากขึ้นก็จะมีหน่อแตกกอใหญ่ขึ้น เราก็จะตัดหน่อที่เริ่มมีรากของตัวเองออกมา ย้ายไปปลูกในกระเช้าใหม่ ส่วนหน่อหรือต้นเก่าที่รากแก่ หินปูนพอก ไม่แข็งแรง แห้ง ถ้าเราย้ายไปปลูกในกระเช้าใหม่ เขาจะพยายามรักษารากเก่า รากใหม่จะไม่ค่อยแตกใหม่ ต้นก็ไม่สมบูรณ์ อ่อนแอทรุดโทรม แล้วติดโรคตายได้ วิธีแก้คือต้องทำสาวกล้วยไม้ที่มีรากแก่ๆ เหล่านี้ด้วยการหั่นรากทิ้งให้เหลือสั้นๆ เพื่อกระตุ้นการแตกรากใหม่จากโคนต้นเป็นรากที่ใหญ่และแข็งแรง

ต้นช้างที่ปลูกเกาะขอนไม้เล็กๆ ที่จะเอามาติดต้นศรีตรัง

2. ใช้ตะปูขนาด 1 นิ้ว ตอกตรึงยึดให้ต้นกล้วยไม้ติดกับต้นไม้ใหญ่ กรณีปลูกติดช้างเช่นวันนี้ ใช้ตะปู ตอกเฉียงนิดๆ 2 ตัวแบบโอบประคองต้นกล้วยไม้หรือรากกล้วยไม้ ให้เขาตรึงอยู่ ดังภาพที่แสดง จะเห็นได้ว่าบางครั้งจำเป็นต้องเลือกตอกตะปูตรึงลงบนรากหรือแม้ที่โคนต้นส่วนปลายถ้าลำต้นยาวพอ เราสามารถตอกตะปูตรึงต้นกล้วยไม้ได้ตรงๆ เลย ถ้าส่วนโคนต้นกล้วยไม้มีรากอยู่หลายเส้น จุดที่จะตอกตะปูบนต้น ให้เลือกจุดที่อย่างน้อยมีรากงอกอยู่เหนือจุดนั้น 1 ราก

บางครั้งท่านอาจจะเอาลวดที่แข็งหน่อย (เช่น ลวดที่แขวนกระเช้าเก่า) มาดัดทำตัวยูหรือเกือกม้า แล้วตอกคร่อมตรึงต้นกล้วยไม้แทนตะปูก็ได้ แต่ถ้าต้นไม้ที่ใช้เป็นไม้เนื้อแข็งอาจตอกเข้ายากหรือไม่เข้าเลย (เช่น ต้นหมาก ปาล์ม มะพร้าว) ผมจึงชอบใช้ตะปูมากกว่า

ลวดรูปตัวยู ตอกคร่อมบนลำต้นของช้าง

ในกรณีที่ติดกล้วยไม้ประเภทหวายกอใหญ่ๆ เช่น พวกเอื้องคำ เอื้องผึ้ง เอื้องเงินหลวง เก๊ากิ่ว ตอติเล อาจจะต้องใช้ตะปูขนาด 1 นิ้วครึ่ง ตอกตรึงลงไปบนโคนลำลูกกล้วยเก่า ถ้ากอใหญ่มากอาจจะต้องตอกยึดมากกว่า 1 จุด บางครั้งอาจจะตอกไปบนลำลูกกล้วยเก่าตรึงติดต้นไม้เพื่อดึงประคองกอกล้วยไม้ที่ใหญ่และหนัก

ในกรณีไม้กอใหญ่กลุ่มหวายและซิมบิเดียมพันธุ์ใหญ่ เช่น ปากนกแก้วและหงส์ทอง (ซึ่งปกติปลูกบนที่ราบ แม้ในเชียงใหม่ก็ไม่ค่อยออกดอก ด้วยเขาต้องการอากาศเย็น) การติดเขาบนต้นไม้ตรึงด้วยตะปูเป็นเรื่องยาก ควรเลือกง่ามกิ่งเป็นจุดวางจะดีกว่า

ต้นช้างที่ติดต้นไม้ รากด้านซ้ายใช้ตะปู 1 นิ้ว 2 ตัว ตอกประกบ 2 ด้านของรากให้มั่น รากด้านซ้ายมีลวดตัวยูหรือเกือกม้าตอกค่อมตรึงรากอยู่

หลายท่านอาจสงสารกล้วยไม้และต้นไม้ใหญ่ที่โดนตะปูตอกอยู่หลายตัว ขออธิบายว่า ตะปูที่ใช้จะสลายกร่อนตัวให้ธาตุเหล็กเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นแก่ต้นไม้ และกระบวนการเป็นสนิมจะค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุเหล็กแบบสโลว์รีลีส หรือหลายท่านอาจจะใจบุญ ว่ากลัวต้นไม้จะเจ็บ ก็จะขอบอกว่า กล้วยไม้และต้นไม้ไม่มีเวทนา ไม่รู้จักความเจ็บจ้า  

อาจจะมีบางท่านว่า เอาเชือกป่านหรือเชือกฟางผูกโอบรอบต้นก็ได้!!! มันไม่โปรเฟสชันนอลครับ มองดูก็รกรุงรัง ถ้าติดกล้วยไม้สัก 20-30 ต้นก็มีเชือกฟางสีชมพูหรือสีฟ้าพันอยู่สัก 50-60 รอบ ดูเหมือนเด็กๆ ทำครับ หรือเราอาจจะเคยเห็น มีบางท่านเอากาบมะพร้าวหรือวัสดุอุ้มน้ำอื่นโปะโคนต้นกล้วยไม้ แล้วเอาเศษซาแรนหรือตาข่ายพลาสติกหุ้มไว้ โดยเฉพาะกล้วยไม้ตระกูลหวาย เห็นแล้วอุจาดตาผิดธรรมชาติ ไม่สวย และมีข้อเสียที่สำคัญคือ รากใหม่ที่เกิดจะไปชอนไชอยู่กับวัสดุพวกนั้นเพราะชุ่มชื้นอยู่ รากใหม่จะไม่ไปเกาะต้นไม้ พอเข้าหนาว-แล้ง ถ้าไม่ได้รดน้ำช่วยเขาจะแห้งตาย

ลวดที่ดัดเป็นรูปตัวยู

ตามตัวอย่างที่แสดงนี้เป็นการติดต้นกล้วยไม้สกุลช้าง รวม 3 กระเช้า โดยตามภาพจะดำเนินการทีละกระเช้าหรือต้น การวางและเรียงตัวในตำแหน่งที่จะติดก็ให้นึกถึงว่าปีหน้าเมื่อเขาออกดอกจะแลดูเป็นอย่างไรเหมาะไหม ตำแหน่งระหว่างต้นใกล้ไปไหม ห่างไปไหม อีก 3-4 ปีต้นยืดยาวไปอีกคืบจะแลดูเป็นอย่างไร แต่เรื่องพวกนี้ต้องบอกเป็นภาษาปะกิดว่า practice makes perfect ครับ

ถ้าเป็นกล้วยไม้สกุลอื่นๆ เช่น กลุ่มพรรคพวกแวนด้าทั้งหลายหรือแม้สกุลหวายก็ใช้หลักตามที่กล่าวมานี้ครับ นั่นคือตัดรากให้สั้นกุด ถ้าหวายนี่ยิ่งต้องหั่นตัดให้เหี้ยนเลยครับ รวมทั้งวัสดุปลูก ไม่ว่ากาบมะพร้าวหรืออะไรก็ตามตัดทิ้งเอาออกให้หมดครับ ทิ้งไว้เขาจะอุ้มน้ำแล้วรากกล้วยไม้จะแตกใหม่มาเกาะวัสดุ ไม่เกาะเปลือกต้นไม้ สักพักเขาก็จะหลุดร่วงลงมา เพราะรากกล้วยไม้ไม่เกาะเปลือกไม้ครับ

เสร็จภารกิจของการติดต้นช้าง 3 ต้น บนต้นศรีตรัง

หลังเกาะติดต้นไม้แล้ว เขาจะอ่อนแอ ด้วยรากที่ดูดซับน้ำและปุ๋ยแทบไม่เหลือ ให้ตัดช่อดอกที่ยังบานอยู่ทิ้งเสีย เพราะการเลี้ยงดอกต้องใช้ปุ๋ยและน้ำสูงเพิ่มขึ้น ถ้าไม่มีฝน ควรจะรดน้ำเช้า-เย็นไปเป็นเดือน (แม้รากเดินแล้วก็ตาม ถ้าไม่มีฝนควรจะได้ฉีดรดน้ำทุกวัน) ฉีดพ่นปุ๋ยละลายน้ำสำหรับกล้วยไม้สูตรเสมอ เช่น 20-20-20 ทุก 10-15 วัน

ใครที่ลองไปติดกล้วยไม้ตามที่บอกนี้แล้วมีปัญหาอะไร สอบถามมา หรือจะทาง Messenger ได้นะครับ Facebook : Dumrong Leenanuruksa ยินดีตอบครับ แต่ขอที่ specific หน่อย หรือจะเข้าไปทักทายกันในโพสต์เรื่องนี้ที่ผู้เขียนโพสต์ไว้เมื่อปลายมกราคมปีนี้ (https://www.facebook.com/dleenanuruksa/posts/5759455490746982)

เอื้องคำที่ตัดรากจนสั้นแล้ว

ที่สำคัญ การเลี้ยงกล้วยไม้ไม่ยากถ้าเราเข้าใจเขา แล้วพยายามให้เขาได้ในสิ่งที่เขาต้องการในปัจจัยที่สำคัญคือ ระดับความเข้มของแสง ความชื้นหรือน้ำที่รดให้เขา ปุ๋ยที่ฉีดพ่นให้เขา ทั้งนี้ ต้องมาจากการอ่านและศึกษาจากผู้รู้ เช่น ชาวสวนกล้วยไม้มืออาชีพทั้งหลาย แล้วเอามาปฏิบัติครับ การติดกล้วยไม้กับต้นไม้ใหญ่เป็นต่อในระดับหนึ่งแล้วที่รากกล้วยไม้ได้ดูดซับน้ำหรือความชื้นและธาตุอาหารในระดับหนึ่งจากเปลือกไม้ที่เขาเกาะอยู่แล้ว ในช่วงฝนไม่ตก เรายุ่งหรือไม่อยู่บ้านหลายวันไม่ได้รดน้ำ เขาก็ได้ธรรมชาติช่วยดูแลในระดับหนึ่ง ไม่เหี่ยวแห้งหงอยตายไป แต่ถ้าปลูกแขวนอยู่ในกระเช้า แล้วไม่ได้รดน้ำสัก 4-5 วัน ช่วงอากาศร้อนๆ แห้งๆ กล้วยไม้เขาก็จะเหี่ยวแห้งตายไปง่ายๆ

ใช้กรรไกรตัดรากให้เหลือสั้นๆ ไม่เกิน 1 นิ้ว

สำหรับมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาที่มีวิชาสอนทางด้านกล้วยไม้หรือมีการสอนทางพืชสวนประดับ แต่ต้องการขยายความรู้และทักษะด้านการติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ให้นักศึกษา แต่ขาดบุคลากรทางด้านนี้ ถ้าต้องการให้ผู้เขียนไปบรรยายให้นักศึกษาฟังสัก 2-3 ชั่วโมง ก็ยินดีนะครับ ติดต่อทาง Messenger ของ Facebook ตามที่ให้ข้างบนก็ได้ครับ