ธุรกิจกล้วยไม้รูปแบบใหม่ เทคนิคการจัดสวนกล้วยไม้ดินรอบโคนต้นไม้ใหญ่

การจัดสวนกล้วยไม้ดินรอบโคนต้นไม้ใหญ่

รองเท้านารีโฮจิมินห์

กล้วยไม้ดินเป็นคำเรียกรวมๆ ของกลุ่มกล้วยไม้ที่พบหรืองอกเจริญเติบโตบนพื้น (ป่า) ตรงกับภาษาอังกฤษที่เรียกกลุ่มกล้วยไม้นี้ว่า terrestrial orchids ถ้าพิจารณาถึงสภาพพื้นที่ที่กล้วยไม้เหล่านี้ขึ้นในธรรมชาติมักเป็นบนภูเขาสูง โดยมักขึ้นตามซอกหินที่มีฮิวมัสหรือในป่าใต้โคนต้นไม้ที่มีกิ่งไม้ใบไม้ผุและฮิวมัสสะสมอยู่มาก เช่น กล้วยไม้รองเท้านารี ซิมบิเดียมดอกเล็ก ลิ้นมังกร เป็นต้น

กล้วยไม้กุหลาบกระบี่ ปกติกล้วยไม้สกุลกุหลาบจะขึ้นบนต้นไม้ แต่พบว่ากุหลาบกระบี่ขึ้นตามหน้าผาหินปูนแบบรองเท้านารี จึงนำมาร่วมปลูกในสวนหินด้วย

ข้อสังเกตตรงนี้คือ คำเรียกกล้วยไม้ดิน ไม่ได้แปลว่ากล้วยไม้ขึ้นบนดินทั่วๆ ไป เพราะพบว่ากล้วยไม้เหล่านี้ เช่น รองเท้านารี ถ้าเอาดินมาเป็นวัสดุปลูกหรือปลูกในดินเหมือนต้นไม้ทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่จะเน่าตายไปในเวลาไม่นาน กล้วยไม้บางชนิดปกติจะพบว่าขึ้นเกาะต้นไม้ก็มี ขึ้นอยู่ตามผาหินก็มี คืออยู่ได้ทั้งสองสภาพ อย่างไรก็ตาม มีกล้วยไม้ที่ขึ้นบนพื้นราบ บนดินร่วนทราย เช่น ซิมบิเดียมดอกเล็กหรือจุหลัน พบตามป่าพรุใกล้ทะเลทางอำเภอละเมหรือพบขึ้นบนดินลูกรังปนหินที่ผุกร่อนเชิงเขา เช่น เอื้องดินใบไผ่ พบตามเชิงเขาริมถนนทางอำเภอตะกั่วป่า เป็นต้น

แนวคิดการนำกล้วยไม้ดินโดยเฉพาะกลุ่มรองเท้านารีและซิมบิเดียมมาลองเลี้ยงแบบจัดสวนใต้ต้นศรีตรังซึ่งได้ติดกล้วยไม้ไว้แล้วเกิดขึ้นเพราะเมื่อสังเกตดูบริเวณโคนต้นศรีตรังมีระบบรากใหญ่ที่ดูสวย และเมื่อขุดดินและใช้น้ำฉีดล้างดินบางส่วนออกประมาณ 10 เซนติเมตร ระบบโคนรากที่ใหญ่วิ่งออกจากโคนต้นสวยเด่นมากขึ้น เหมือนที่เราเห็นต้นบอนไซต้นสวยๆ ที่โชว์ราก จึงเกิดแรงบันดาลใจว่า ถ้าเอากลุ่มกล้วยไม้ดินที่ผู้เขียนมีปลูกอยู่ในโรงกล้วยไม้มาจัดเพิ่มเข้าไป มันก็จะเป็นการนำเสนอการจัดภูมิทัศน์ที่สมบูรณ์ขึ้น

รองเท้านารีฝาหอย

ผู้เขียนได้ปลูกรองเท้านารี ลิ้นมังกรใต้และอีสาน และซิมบิเดียมหลายชนิดในกระถางแล้ววางในกระเช้าแขวนแบบแวนด้า อยู่ในโรงกล้วยไม้ใต้ซาแรนที่ไม่ได้มุงพลาสติกกันฝน คือเจอฝน 100% ทั้งปี รองเท้านารีร้อยกว่ากระถางที่ปลูกอยู่ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนวัสดุปลูกมากว่า 3-4 ปีแล้ว บางชุดต้นแตกหน่อขยายจนล้นกระถาง บางชุดก็ทยอยหดหาย ทรุดโทรม หรือตายไป ทั้งนี้ ด้วยความที่วางการจัดการในโรงกล้วยไม้แบบเลี้ยงแวนด้าเป็นหลัก การรดน้ำให้ปุ๋ย (ไม่ค่อยได้ใช้ยารา หรือแมลง) ยาฆ่าเชื้อก็ใช้สารกลุ่มดีเทอร์เจนต์ประจุบวกกลุ่ม Quaternary Ammonium Compound ซึ่งฆ่าเชื้อครอบจักรวาล แต่ไม่เป็นพิษภัยกับเรา ดังนั้น รองเท้านารีเหล่านี้ต้องปรับตัวตาม ที่อยู่รอดปลอดภัยให้ดอกได้ดูอยู่ทุกปีก็มากอยู่

รองเท้านารีเขาค้อ

จึงได้เริ่มกระบวนการลองผิดลองถูก เอากล้วยไม้กลุ่มกล้วยไม้ดินเท่าที่มีอยู่ทุกชนิดมาทดลองปลูกแบบจัดสวนใต้โคนต้นศรีตรัง (และต้นไข่ดาว) ที่นำมาเป็นตัวอย่างในบทความตอนก่อน ความจริงการปลูกกล้วยไม้รองเท้านารีเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องการการเอาใจใส่มากกว่ากล้วยไม้สกุลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแวนด้า แคทลียา หรือพวกหวายอยู่แล้ว พอคิดจะเอามาจัดสวนก็เลยต้องคิดหนักอยู่หลายวัน คิดแล้วเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่หลายครั้งหลายอย่าง ที่คิดอย่างหนักๆ คือเรื่องวัสดุปลูกหนึ่ง ศัตรูพืชต่างๆ ไม่ว่าหอยทาก แมลง โรคอีกหนึ่ง ภาวะการควบคุมเรื่องแสงไม่ได้ เจอแดดมากไปหนึ่ง ฯลฯ จึงขอยกเป็นเรื่องๆ ที่ได้ทดลองทำ ลองผิดลองถูกมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

รองเท้านารีคางกบ

วัสดุปลูก

เรื่องวัสดุปลูกรองเท้านารีมีหลายสูตรหลายคำแนะนำ ทั้งที่เป็นอินทรียสาร เช่น เปลือกมะพร้าวสับ sphagnum moss กระเช้าสีดาแห้งสับ เปลือกสนเป็นชิ้นขนาดต่างๆ ใบก้ามปู และอื่นๆ และอนินทรียสาร เช่น หินภูเขาไฟ เม็ดไฮโดรตรอน หินทำถนนขนาดใหญ่และเล็ก โฟมหัก เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นการผสมกันของทั้งสองพวกแล้วแต่นักกล้วยไม้แต่ละท่าน วัสดุที่ผู้เขียนใช้ปลูกคือ เอาโฟมหักใส่ในก้นกระถางพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 นิ้ว ประมาณ 1 ใน 3 ของกระถาง มีวัสดุปลูกที่เป็นส่วนผสมของกระเช้าสีดาสับ เปลือกสนสับ เม็ดไฮโดรตรอน (บ้าง) และหินทำถนนขนาดใหญ่เป็นวัสดุปลูก

ด้านหน้าที่มีดอกสีชมพูคือกล้วยไม้ม้าวิ่ง ส่วนข้างหลังใบเขียวๆ ใต้ต้นไม้ใหญ่คือต้นคาลันเทลูกผสม

ทีนี้ปัญหาที่ต้องพิจารณาคือ แล้วถ้าจะปลูกจัดสวนโดยมีชั้นล่างสุดคือพื้นดิน เราจะเอาอะไรมาเป็นวัสดุปลูก กี่ชนิด วางทับเหนือพื้นผิวดินสูงกี่เซนติเมตร ในขณะที่พื้นที่บ้านผู้เขียนติดเขตป่า ใต้พื้นดินเต็มไปด้วยปลวก ต้นศรีตรังที่ติดกล้วยไม้ต้นนี้ก็อยู่ใกล้กับบ่อน้ำผิวดินหรือน้ำซับ ที่ใช้ในบ้าน รวมทั้งเป็นน้ำดื่มด้วย ดังนั้น การใช้ยาฆ่าปลวกก็จะส่งผลถึงตัวเราด้วย จึงต้องอยู่กับปลวก ดังนั้น วัสดุปลูกที่เป็นสารอินทรีย์จึงตัดทิ้ง

รองเท้านารีลูกผสมดอยตุงxสไปเซอร์เนียนั่ม

ได้นึกถึงสมัยเมื่อเกือบ 30 ปีก่อนที่ผู้เขียนเริ่มสนใจปลูกกล้วยไม้ ตอนนั้นเริ่มต้นกับการบ้ารองเท้านารี โดยเฉพาะฝาหอย สมัยนั้นได้ซื้อรองเท้านารีฝาหอยที่เป็นไม้ป่าจากพม่ามาปลูก ซื้อมาทีละหลายร้อยต้น ปลูกไม่ค่อยทัน จึงต้องพักไม้ไว้ให้ชุ่มชื้นอยู่นาน จึงจัดที่วางต้นกล้วยไม้ โดยซื้อหินทำถนนหรือหินบด และทรายมาจากร้านวัสดุก่อสร้าง ใช้พื้นที่ 2×3 เมตร ในโรงกล้วยไม้เกลี่ยด้วยหินหนาพอประมาณ โรยทับด้วยทรายหยาบประมาณ 1-2 นิ้ว แล้ววางรองเท้านารีเรียงเป็นแถวต้นชิดติดกัน บางต้นหรือกอมีรากมากก็หมกลงไปในทรายเล็กน้อย รดน้ำวันละครั้งพบว่าไม่กี่วันมีรากใหม่แทงออกมามีขนอ่อนดูสวยแข็งแรง เที่ยวนี้จึงตัดสินใจใช้หินทำถนนล้วนๆ อย่างเดียวเป็นวัสดุปลูก กะว่าปลูกเสร็จก็จะโรยกลบด้วยทรายรอบโคนต้น เพื่อรักษาความชื้น

รองเท้านารีอินทนนท์ลาว

จึงสั่งหินบดที่ใช้ผสมปูนและทรายหยาบจากร้านก่อสร้างมา หลังจากปรับสภาพพื้นผิวดินแล้วก็โรยด้วยหินบดหนาประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วเอารองเท้านารีที่มีอยู่ทยอยมาปลูก โดยเคาะเอาวัสดุปลูกออกหมด วางต้นบนพื้นผิวหินให้รากแผ่ออกรอบต้น แล้วกลบรอบต้นด้วยหินบดจนถึงโคนต้น ในขณะที่ปลูกไปก็วางก้อนหินใหญ่ (ที่ไปเก็บมาจากภูเขาใกล้บ้าน) ขนาดต่างๆ จัดเป็นภูมิทัศน์คล้ายแถบหน้าผาหินที่รองเท้านารีชอบอยู่ไปด้วย เมื่อปลูกด้วยหินบดนี้เสร็จ ก็เอาทรายหยาบมาโรยเกลี่ยรอบๆ โคนต้น แล้วใช้สายยางฉีดรดน้ำไล่ทรายให้ลงไปอยู่ตามร่องหินที่ปลูก จนมองไปก็จะเห็นเป็นหินบดไปตลอดพื้นที่ แลดูไม่งาม

นึกถึงสภาพธรรมชาติกล้วยไม้รองเท้านารีที่อยู่ในป่า เขาจะมีพืชพวกมอสส์มาขึ้นอยู่รอบๆ ต้นเขาด้วย จึงปิ๊งไอเดียว่า ในโรงกล้วยไม้เราที่บนพื้นดินใต้ราวแขวนกล้วยไม้มีมอสส์ขึ้นผสมปนเปกับหญ้าและวัชพืชเล็กๆ อื่นๆ น่าจะไปแซะมาใช้คลุมโคนต้นรองเท้านารี จึงได้ดำเนินการ หลังจากแซะมอสส์มาเป็นแผ่นเล็กๆ ก็จะเอาน้ำค่อยๆ ฉีดไล่ดินที่ยังติดอยู่ออก แล้วค่อยๆ ไซ้เอาวัชพืชออก หลังจากนั้น ก็บิออกไปวางรอบโคนต้นรองเท้านารีที่ปลูก แล้วรดน้ำให้มอสส์แนบไปกับดินที่ปลูก

กลุ่มกล้วยไม้ดินหลายชนิดที่นำมาปลูกจัดสวนประกอบกับหินก้อนโต มีมอสส์คลุมโคนต้นกล้วยไม้แดงอุบลที่อยู่ด้านหน้า

จากนั้นก็รดน้ำทุกวันที่ฝนไม่ตก ฉีดปุ๋ยสูตรเสมอครึ่งหนึ่งของความเข้มข้นที่แนะนำ (ใช้ 75 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ) ทุก 7 วัน สิ่งที่ตามมาคือปลวกมากินเศษกิ่งใบไม้แห้งที่ตกลงมาแล้วสร้างดินขี้ปลวกให้เห็นอยู่บ้าง มีแมลงที่อาศัยใต้ดินขนเอาดินขึ้นมากองบ้าง ไส้เดือนดินก็ขยันเอาดินข้างล่างขึ้นมาไว้ข้างบน ซึ่งเห็นทุกวันที่รดน้ำ และได้ฉีดไล่ลงดินไป และเมื่อลองรื้อดูใต้ต้นรองเท้านารีก็พบว่าในหลายๆ จุดไส้เดือนและแมลงได้ขนดินขึ้นมาสูงในชั้นหินผสมผสานกับทราย กลายเป็นขี้เลน เปียกแฉะอยู่ตลอดเวลา เริ่มพบกล้วยไม้รากเน่าด้วยเชื้อราไฟทอปทอร่า ได้ใช้ปูนขาวซัดบริเวณต้นเน่า ฉีดพ่นยาอาลีเอท เพื่อป้องกันและรักษาโรคเน่าจากไฟทอปทอร่า

ได้พิจารณาแล้วสรุปว่า ชั้นหินและตำแหน่งที่ปลูกรองเท้านารีควรจะต้องสูงกว่านี้จากผิวดิน เช่น ชั้นหินสูง 6 นิ้ว เป็นต้น แต่มานั่งนึก มันใช้หินมหาศาลเลย จึงคิดต่อว่าระหว่างผิวดินกับชั้นหินควรจะมีอะไรมาวางสูงสัก 2-4 นิ้ว จึงเกิดไอเดียว่าน่าจะใช้กระถางดินเผารุ่นเก่าปากกว้างสูง 4 นิ้วที่กองไม่ได้ใช้งานอยู่ร้อยกว่าใบมาวางคว่ำเรียงกันคลุมพื้นที่ใช้งาน แล้วจึงเอาหินมาเทเกลี่ยข้างบน เที่ยวนี้จะไม่ใช้ทรายโรยโคนต้นหลังปลูกอีกแล้ว หลังปลูกเสร็จก็เอามอสส์วางคลุมรักษาความชื้นเลย อนึ่ง เพื่อกำจัดแมลง ปลวก และไส้เดือนในดินบริเวณที่จะใช้งาน ก่อนวางกระถางก็จะโรยปูนขาวค่อนข้างหนาแล้วฉีดน้ำเบาๆ ให้ค่อยๆ ซึมลงดิน อ้อแล้วที่ปลูกไปแล้วล่ะ ทำอย่างไร? คำตอบคือ รื้อสิครับ เริ่มใหม่หมดเลย ผิดเป็นครูครับ  

ต้นไข่ดาว ที่ได้เตรียมวัสดุปลูก เมื่อเริ่มทำครั้งแรกถมดินเพื่อยกระดับความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว ตามด้วยชั้นหินบด 2-3 นิ้ว แต่พบว่าต้องเอากระถางดินเผาเก่าคว่ำกั้นระหว่างชั้นดินกับชั้นหิน เพื่อให้หินไม่เป็นขี้เลน

นิดของกล้วยไม้ที่ใช้จัดสวนแบบสวนหิน

ในกลุ่มกล้วยไม้ดิน หรือที่เขาขึ้นตามหน้าผา หรือลานหิน ใช้ได้หมดครับ ที่เริ่มต้น ของที่มีอยู่ในรังกล้วยไม้ผมอยู่แล้ว ได้แก่ รองเท้านารีชนิดต่างๆ เช่น พันธุ์แท้ ได้แก่ เหลืองปราจีน เหลืองตรัง ขาวสตูล ขาวพังงา เหลืองกระบี่ คางกบหลายสายพันธุ์ เมืองกาญจน์ วาร์ดิอาย ทริกรีนั่ม เดเลนเนติ เหลืองเลย สไปเซอร์เนียนั่ม ดอยตุง และลูกผสมสุดโปรดที่อาจารย์น้อยโครงการดอยตุงทำ คือ โฮจิมินห์ (เดเลนเนติxเวียดนามเมนเซ่) ที่บานเป็นตัวชูโรงสะพรั่งไปหมด

สภาพสวนรองเท้านารีใต้ต้นไข่ดาวที่ติดกล้วยไม้บนต้นด้วย สภาพสวนรองเท้านารียังไม่เรียบร้อยดี

นอกจากรองเท้านารียังมีกล้วยไม้ดินสกุลอื่นอีก เช่น

– กลุ่มซิมบิเดียม สำเภางาม โรเซีย และพวกดอกเล็ก เช่น จุหลัน ไซเนนเซ่

– กลุ่มลิ้นมังกร มีลิ้นมังกรสีชมพูใต้ สีเหลืองอีสาน

– คาลันเท พันธุ์แท้สีชมพู พันธุ์ลูกผสมสีแดงสด

ต้นไข่ดาวที่ขุดดินและฉีดล้างดินให้รากใหญ่จากโคนต้นลอย เตรียมสำหรับปลูกกล้วยไม้รองเท้านารี

– แดงอุบล ม้าวิ่ง

– กุหลาบกระบี่ (ปกติเขาขึ้นตามหน้าผาหิน แบบรองเท้านารี)

– หวายชนิดต่างๆ เช่น เอื้องผึ้ง เอื้องคำ หรือกลุ่มที่ลำลูกกล้วยสั้นๆ

รองเท้านารีลูกผสมชื่อโฮจิมินห์ เป็นลูกผสมชั่วแรกของรองเท้านารีพันธุ์แท้ของเวียดนาม ชื่อเดเลเนติอาย กับเวียดนามเมนเซ่ เป็นไม้เมืองหนาวทั้งคู่ แต่ลูกผสมโฮจิมินห์เลี้ยงที่สวนผู้เขียนที่เชียงใหม่พื้นราบ นอกจากเจริญเติบโตแตกเป็นพุ่มใหญ่ดีแล้วยังออกดอกดีทุกปีด้วย

ข้อระวังของการจัดสวนรองเท้านารี

รองเท้านารีนั้นเลี้ยงยากตายง่ายสำหรับผู้เลี้ยงมือใหม่ที่ไม่ได้ศึกษารายละเอียดวิธีการปลูกและความต้องการของเขา ดังนั้น การนำมาจัดปลูกแบบจัดสวนดังกล่าวจึงไม่แนะนำสำหรับมือใหม่ แม้นักกล้วยไม้รองเท้านารีที่ปลูกเลี้ยงมานานและชำนาญ ถ้าสนใจก็อยากให้ทำเป็นสวนแบบทดลองฝึกมือแบบลองมือก่อน ผู้เขียนเองก็เพิ่งลองทำมายังไม่กี่เดือนแม้ผ่านฝนมาและรอดมา ก็มีส่วนที่เสียหาย เช่น เน่าเพราะเชื้อราไฟทอปทอร่าบ้าง กลุ่มที่เป็นไม้เมืองหนาว มาเจอแดดที่เปลี่ยนทิศเพราะตะวันอ้อมข้าวเมื่อเริ่มเข้าหนาวแล้วใบเป็นโรคตากบจากเชื้อรามากขึ้นบ้างหรือ หนอนแมลงมากวนกัดกินดอกตูมบ้าง ฯลฯ ดังนั้น อย่าเพิ่งทุ่มเททำเพื่อไปรับจ๊อบจัดสวนรองเท้านารีเป็นการค้า เรื่องนี้ยังต้องพัฒนาอีกยาว

รองเท้านารีในขณะนำมาปลูก โปรดสังเกตต้นดอกสีเหลือง (รองเท้านารีเหลืองปราจีน) ตรงโคนต้นมีทรายโรยอยู่ ซึ่งพบว่าไม่ดี เพราะแมลงและไส้เดือนเอาดินขึ้นมาแล้วผสมกับทรายเป็นขี้เลน ทำให้รากรองเท้านารีเน่าง่าย จึงได้เลิกโรยทรายหลังปลูก

เรื่องการติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ร่วมกับการจัดสวนหรือปรับภูมิทัศน์ จะมีตอนสรุปเพื่อวิเคราะห์ปัญหา และจะนำเสนออัลบั้มภาพ ของผลงานที่ทำมาใน 1 ปี เป็นตอนสุดท้ายในอีก 2-3 เดือนด้วย เมื่อเริ่มออกหนาวกล้วยไม้สกุลพันธุ์แท้กลุ่มหวายจะเริ่มทยอยออกดอกบานสะพรั่ง อีกทั้งเรื่องการจัดสวนกล้วยไม้ดิน โดยเฉพาะรองเท้านารีก็เช่นกัน จะมีตอนสุดท้ายตามมาเมื่อออกหนาว เพื่อสรุปสภาพปัญหาที่เจอ และจะได้นำอัลบั้มสวนรองเท้านารีที่บานสะพรั่งมาชมกันด้วยครับ