ธุรกิจกล้วยไม้รูปแบบใหม่ ตัวอย่างการติดต้นกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง

ในหลายกรณีการติดกล้วยไม้ที่ไม่ถูกหลักนี้ ก็เป็นการติดโดยผู้ที่เลี้ยงกล้วยไม้อยู่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชิงวิชาการกับเรื่องกล้วยไม้ แต่ในความเคยชินจากการปฏิบัติในการเลี้ยงกล้วยไม้ในสวนใต้ซาแรนประการหนึ่ง และไม่ได้ศึกษาเข้าใจธรรมชาติของกล้วยไม้ที่อยู่ตามต้นไม้ใหญ่ในธรรมชาติหนึ่ง ทำให้เกิดสภาพที่พระท่านว่า “ความเคยชินบดบังปัญหา” จึงทำให้การติดกล้วยไม้ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่การเจริญเติบโตของกล้วยไม้หรือความกลมกลืนเป็นธรรมชาติในเชิงศิลปะ

ภาพที่ 1 แสดงภาพปัญหาของการนำกล้วยไม้ที่ไม่เคยชินกับการรับแสงแดดตรงๆ ในเวลา 2 ชั่วโมงก่อน หรือหลังเที่ยงมาก่อนมาติดต้นไม้ใหญ่เลย กล้วยไม้ที่นำมาติดตามภาพนี้คือเอื้องโมก ที่ทราบกันดีว่าเป็นกล้วยไม้ใบกลม (คล้ายดินสอ) ทนแดดและสามารถปลูกกลางแดดได้ดี ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ เอื้องโมกชุดนี้ใบเขียวอวบสวย น่าจะอยู่ในที่ค่อนข้างร่มมาก่อน เมื่อนำมาผูกติดกับต้นกฤษณาที่ลำต้นเอียงประมาณ 60 องศา เอนไปทางทิศเหนือ ช่วงปลายธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งตะวันอ้อมข้างไปทางใต้ ทำให้แสงแดดส่องมาแทบจะตั้งฉากกับต้นเอื้องโมก หลังจากติดกล้วยไม้ได้ ฉีดน้ำรดทุกวัน แต่ใบเอื้องโมกเริ่มเหลืองมากขึ้น แล้วสีคล้ำแบบสีน้ำตาลไหม้ และบางส่วนก็ทิ้งใบไป ทั้งนี้ เป็นการบอกว่า

1. เอื้องโมกที่ไม่เคยออกแดดหรือรับแดดจัดๆ ช่วง 2 ชั่วโมงก่อนหรือหลังเที่ยง ก็ไม่มีภูมิคุ้มกันแดด จะต้องทำการฝึกให้กล้วยไม้ค่อยๆ รับแดดแรงขึ้น แบบกราดแดดตามที่กล่าวในตอนที่ 2 ก่อนนำมาปลูกกลางแดดตรงๆ 100% โดยเฉพาะการนำมาติดในช่วงฤดูหนาวหรือแล้ง

2. ถ้าจำเป็นต้องติดกล้วยไม้ ไม่ว่าชนิดใดที่เลี้ยงใต้ซาแรนมาตลอด ไม่เคยโดนแดดจัดๆ เลย แนะนำให้ติดทางด้านทิศเหนือของลำต้น ที่แทบไม่ได้รับแดดตรงในช่วงเที่ยงที่แดดจัดๆ จะแก้ปัญหาไประดับหนึ่งได้

ภาพที่ 2 กล้วยไม้สกุลสามปอย เกาะติดบนต้นปาล์ม Foxtail ภาพแสดงการเกาะติดด้านทิศใต้ในเดือนธันวาคม ได้รับแสงแดดเต็มที่ทั้งวัน ภายใน 3 สัปดาห์หลังติด ยังไม่มีรากใหม่งอกออกมาเลย กล้วยไม้ได้รับการฉีดรดน้ำทุกวัน วันละครั้ง อนึ่ง โปรดสังเกตต้นกล้วยไม้ไม่อวบสมบูรณ์และยังไม่มีรากใหม่แทงออกมาเหมือนกล้วยไม้ที่ติดด้านทิศเหนือในภาพที่ 3 เพราะด้วยถูกเกาะติดทางด้านของต้นที่หันไปทางทิศใต้ จึงได้รับแดดแทบจะเต็มที่ โดยเฉพาะช่วงร้อนแดดจัดใกล้เที่ยงถึงบ่าย 

ภาพที่ 3 กล้วยไม้สกุลสามปอย เกาะติดบนต้นปาล์ม Foxtail ทางด้านทิศเหนือของต้นในเดือนธันวาคม เป็นต้นเดียวกับในภาพที่ 2 ซึ่งด้านทิศเหนือนี้แทบไม่ได้รับแสงแดดตรงเลย เพราะตะวันอ้อมไกลไปในทิศใต้ ภายใน 3 สัปดาห์หลังติด มีรากใหม่งอกออกมาให้เห็น กล้วยไม้ได้รับการฉีดรดน้ำทุกวัน วันละครั้ง ดังนั้น การติดกล้วยไม้ทางด้านทิศเหนือของต้นไม้ใหญ่จะมีข้อดีที่ต้นกล้วยไม้จะเจริญงอกงามดีกว่าการติดทางด้านทิศใต้ที่โดนแดดส่องใส่เต็มที่ทั้งวัน

ภาพที่ 4 การติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่อย่างไม่ถูกหลัก ด้านบนมีแนวแผงลวดที่วางแนบต้นไม้ใหญ่ แล้วเอาต้นกล้วยไม้ที่ปลูกติดบนตะแกรงพลาสติกเล็กๆ เสียบระหว่างแผงลวดและต้นไม้ ต้นกล้วยไม้ที่วางปลูกนี้ได้ถูกปลูกมา 4-5 ปีแล้ว กลับทรุดโทรมไม่เจริญเติบโตและไม่มีรากงอกเกาะต้นไม้ใหญ่ ด้านล่างมีตาข่ายลวดพันรอบต้นไม้ใหญ่ เคยมีกล้วยไม้ปลูกอยู่ แต่ตายไปหมดแล้ว สาเหตุที่กล้วยไม้ไม่เจริญเพราะอาจจะไม่ได้มีการรดน้ำช่วยหนึ่ง และเปลือกไม้ของต้นไม้ใหญ่ชนิดนี้อาจมีเคมีที่ต้นไม้ไม่ชอบอีกหนึ่ง

ภาพที่ 5 การปลูกกล้วยไม้สกุลหวายอย่างผิดหลัก กรณีนี้เป็นหวายลูกผสมที่ปลูกในกระถางที่ใช้วัสดุปลูกเป็นกาบมะพร้าว ผู้ปลูกถอดเอากล้วยไม้ออกจากกระถางพร้อมวัสดุปลูก แล้วนำมาวางแนบต้นไม้ใหญ่พร้อมกับเอากาบมะพร้าวมาใส่เพิ่ม แล้วโอบรัดด้วยตะแกรงลวด นี่เป็นการติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่อย่างผิดหลัก และพบปฏิบัติตามๆ กันผิดๆ อย่างนี้อยู่มาก เพราะด้วยความเคยชินผู้ปลูกคิดว่า รากกล้วยไม้จะได้ชุ่มชื้น แต่กลับเป็นว่า ในหน้าฝนรากกล้วยไม้จะงอกออกมาเกาะกาบมะพร้าวที่ชุ่มน้ำอยู่ โดยรากไม่ไปเกาะเปลือกต้นไม้ พอเข้าหนาว-แล้ง กาบมะพร้าวแห้ง ทำให้กล้วยไม้พลอยแห้งโทรมขาดน้ำไปด้วย ด้วยไม่มีรากกล้วยไม้เจริญเกาะผิวเปลือกไม้ เลยไม่ได้ประโยชน์จากต้นไม้เลยในแง่แหล่งให้ความชื้นและสารอาหารจากเปลือกไม้

ภาพที่ 6 การติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ที่ผิดหลัก ด้านบนและล่างใช้ลวดเส้นใหญ่ที่งอเป็นคลื่นขึ้นลง พันทับกล้วยไม้ที่ปลูกติดบนแผ่นตะแกรงพลาสติกเล็กๆ ให้แนบติดต้นไม้ใหญ่ วิธีที่ถูกต้องต้องตัดรากกล้วยไม้ออกให้เกือบหมด เหลือสั้นๆ ไม่เกิน 1 นิ้ว แล้วใช้ลวดตัว U หรือตะปู 1 นิ้ว 2 ตัว ตีประกบสองด้านของต้น (ดังอธิบายในบทความตอนที่ 3) เมื่อดูที่ป้ายพลาสติกเล็กๆ ที่ติดอยู่เขียนว่า ตุลาคม 2557 นั่นคือติดกล้วยไม้ทั้งสองชุดนี้มา 7 ปีเศษแล้ว สภาพต้นไม้ด้านบนที่เป็นไอยเรศ และด้านล่างที่เป็นหวายพันธุ์แท้ชนิดต่างๆ ต้นกล้วยไม้ทั้งหมดยังเล็กมากและไม่สมบูรณ์ มีรากบางส่วนงอกแทงออกมาลอยๆ ไม่ติดต้นไม้ ซึ่งเมื่อพิจารณาดูที่เปลือกไม้ พบว่าเป็นแผ่นหนาแข็งล่อนออกมาง่าย เปลือกไม้แบบนี้จะค่อนข้างแห้งหนึ่ง เคมีของเปลือกไม้อาจจะไม่เป็นที่ชอบของกล้วยไม้ก็ได้อีกหนึ่ง และแสดงว่าไม่มีการรดน้ำช่วยในแต่ละวันที่ไม่มีฝนอีกหนึ่ง ดังนั้น ภาพนี้จึงสื่อทั้งการติดกล้วยไม้ที่ผิดวิธีและเลือกต้นไม้ใหญ่ที่ใช้ติดไม่เหมาะสมในแง่คุณสมบัติของเปลือกไม้

ภาพที่ 7 แสดงการติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ที่ผิดวิธีคล้ายภาพที่ 6 ต้นกล้วยไม้ที่เคยอนุบาลปลูกบนแผงหรือตะแกรงพลาสติกเล็กๆ ถูกนำมาปลูกโดยไม่ตัดรากและตะแกรงออก แล้วนำลวดเส้นใหญ่ที่งอโค้งขึ้นลงมาคาดแนบให้ติดต้นไม้ ซึ่งไม่งามและผิดธรรมชาติ อีกทั้งกล้วยไม้จะเลี้ยงรากเก่าไว้หนึ่ง จะแตกรากใหม่มาเกาะเปลือกไม้ก็ไม่มี หรือน้อย เช่นกรณีนี้เห็นรากงอกใหม่ไล่เกาะยึดบนเปลือกไม้อยู่บ้าง และด้วยไม่ได้มีการฉีดรดน้ำให้เลย ต้องพึ่งแต่น้ำฝน การเจริญเติบโตจึงไม่ดี กรณีนี้ตามป้ายที่เขียนคือปลูกมา 7 ปีเศษแล้ว การที่รากเดินเกาะอยู่บนเปลือกไม้ให้เห็นแสดงว่า เคมีของเปลือกไม้เข้ากับความต้องการของกล้วยไม้ ตามที่อธิบายในบทความตอนที่ 2

ภาพที่ 8 กล้วยไม้ติดต้นไม้ใหญ่ที่เพิ่งปลูกใหม่จัดสวนหย่อม ภาพที่ถ่ายนี้ประมาณ 1 ปีให้หลังจากการติดกล้วยไม้ แสดงการติดกล้วยไม้ที่ไม่ถูกวิธี ด้วยกล้วยไม้ช้างทั้งกระเช้ายังติดอยู่และไม่ได้ตัดราก ถูกปลูกติดต้นไม้ใหญ่โดยใช้ตะปู 2 นิ้ว ตีตรึงกระเช้าให้ยึดติดกับต้นไม้ ในภาพจะเห็นการใช้ตาข่ายพลาสติกแข็งเป็นแผ่นยาวโอบรอบต้นไม้ทำเป็นภาชนะรองรับต้นกล้วยไม้ประเภทหวายครั่งสั้นที่ถูกถกออกจากกระเช้าแล้วยัดใส่ลงไปในตาข่ายพลาสติกทั้งวัสดุปลูกและไม่ตัดราก กล้วยไม้จึงเลี้ยงรากเก่าและมีรากใหม่งอกมาพอกรากเก่าหรือแทงลอยๆ ไม่เกาะต้นไม้ใหญ่ ในภาพจะเห็นท่อน้ำพลาสติกสีดำที่มีหัวพ่นฝอยน้ำที่มีระบบตั้งเวลาอัตโนมัติ อีกทั้งมีสายยางให้คนงานฉีดรดเพิ่มเติมได้ (ไม่เห็นในภาพ) จึงเห็นกล้วยไม้ค่อนข้างเจริญเติบโตและมีรากใหม่แทงออกมายาว แต่อาการใบล่างเหลืองเหี่ยวทิ้งใบต้นละหลายใบ แสดงว่าน้ำที่ได้รับยังไม่เพียงพอกับความต้องการของกล้วยไม้ ด้วยอยู่กลางแดด มีอัตราการคายน้ำสูงขึ้น อีกทั้งก่อนติดต้นไม้ไม่ได้ตัดรากทิ้ง ทำให้กล้วยไม้พยายามรักษารากเดิม และรากใหม่ที่งอกก็แทงลอยไม่ได้เกาะยึดกับเปลือกต้นไม้ใหญ่ จึงไม่ได้ประโยชน์ในแง่พึ่งพาน้ำและอาหารจากเปลือกไม้ที่รากควรจะเกาะอยู่

ภาพที่  9 แสดงกล้วยไม้ที่ถูกถกออกจากกระถางที่ยังมีรากและวัสดุปลูกคงอยู่ ถูกใช้ตะปู 2 นิ้ว ตอกตรึงผ่านรากกล้วยไม้ให้ติดกับต้นไม้ใหญ่และมีลวดโยงรัดไว้ด้วย เป็นการติดกล้วยไม้ผิดหลัก เพราะต้นกล้วยไม้จะรักษารากเก่าไว้ รากใหม่ที่งอกก็จะจับเกาะกับวัสดุปลูกเปลือกมะพร้าวสับ รากใหม่จะไม่ไปเกาะต้นไม้ใหญ่และแลดูไม่เป็นธรรมชาติ

ภาพที่ 10 โฟกัสให้เห็นว่าการไม่ถอดกระเช้าออกทำให้การอยู่ของกล้วยไม้ไม่เป็นธรรมชาติคือมีสิ่งแปลกปลอมคาอยู่ อีกทั้งเมื่อไม่ได้ตัดราก ต้นกล้วยไม้ก็จะรักษารากเก่าหรือแม้มีรากใหม่งอกออกมามักจะแทงลอย ไม่เกาะไปตามผิวเปลือกไม้ ในกรณีนี้ด้วยมีการฉีดรดน้ำให้ทุกวันจึงเห็นมีรากใหม่งอกมาเกาะติดอยู่ด้านล่างของภาพบ้าง แต่รากส่วนใหญ่เดินลอยอยู่

ภาพที่ 11 แสดงการถอดกล้วยไม้ออกจากกระถาง คงวัสดุปลูกและรากไว้ตามเดิม แล้วนำมาวางที่ง่ามไม้ การวางติดกล้วยไม้ที่เป็นกอใหญ่ๆ ที่ง่ามไม้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ควรตัดรากทิ้งและเอาวัสดุออกให้หมด โดยเฉพาะไม้สกุลหวาย ซิมบิเดี้ยม หรือแคทลียา เป็นต้น เพราะกล้วยไม้จะรีบงอกรากใหม่แล้วเกาะกับเปลือกไม้ของต้นไม้ใหญ่เร็วและมากขึ้น อีกทั้งจะได้รับความชื้นและสารอาหารจากเปลือกไม้ด้วยเหมือนในธรรมชาติ

ภาพที่ 12 แสดงให้เห็นสภาพเปลือกไม้ของต้นไม้บางชนิดที่เปลือกแข็งหนาและล่อนออกง่าย เป็นเปลือกที่แห้งมาก รากกล้วยไม้ไม่ค่อยเดินเกาะ ยิ่งในสภาพที่ไม่ได้ฉีดน้ำให้ทุกวัน รากกล้วยไม้ก็จะกุดๆ ลอยๆ หรือร่วงไปกับเปลือกที่ล่อนหลุดไป ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งสำหรับกรณีนี้ที่ไม่ค่อยมีรากกล้วยไม้เดินเกาะ คือเคมีของเปลือกไม้อาจจะไม่เข้ากันกับความต้องการของกล้วยไม้

ภาพที่ 13 แสดงการเอากล้วยไม้ทั้งกระถาง ไม่ว่าพลาสติกหรือดินเผามาเกาะติดต้นไม้เลย เป็นอะไรที่น่าเกลียดมาก นอกจากอุจาดตาแล้ว กล้วยไม้ก็จะงอกอยู่ในกระถางอาจจะปี หรือ 2 ปีแล้วตายไป โดยรากไม่มีโอกาสออกมาติดต้นไม้ใหญ่เลยหรือน้อยมาก

ภาพที่ 14 การติดกล้วยไม้โดยคาวัสดุปลูกอยู่ ไม่ว่าแผ่นไม้หรือแผ่นพลาสติกถือว่าผิดหลัก ตามภาพนี้ติดกล้วยไม้สกุลหวายที่ปลูกให้ยึดแผ่นไม้ ได้ถูกนำมาเกาะติดต้นปาล์ม โดยไม่ตัดรากทิ้งด้วย รากเขาจึงลอยไม่เกาะต้นปาล์ม รากที่งอกใหม่ก็จะเกาะแผ่นไม้ ยิ่งถ้าไม่มีการรดน้ำช่วยทุกวันที่ไม่มีฝน ต้นกล้วยไม้ก็จะโทรมและไม่งาม หรือเหลืองแห้งตายไปในที่สุด

ภาพที่ 15 แสดงการติดกล้วยไม้ที่ผิดหลัก คือติดทั้งแผ่นไม้ที่ปลูกกล้วยไม้อยู่ ทำให้ทั้งดูไม่งามธรรมชาติ รากก็จะงอกบนแผ่นไม้ หรือลอยไม่ติดต้นไม้ หรือรากจะเดินออกจากแผ่นไม้ไปเกาะที่ผิวต้นไม้ใหญ่บ้าง ก็ต้องมีการฉีดรดน้ำให้ทุกวันที่ไม่มีฝน กรณีนี้มีท่อน้ำพาดพันต้นปาล์ม ที่มีรูฉีดพ่นฝอยน้ำได้จึงเห็นรากงอกบ้างในปีต่อๆ ไป แต่จะเห็นเป็นขยุกขยุยบนแผ่นไม้มาก ซึ่งไม่ได้เกาะต้นปาล์ม

ภาพที่ 16 ตัวอย่างของการติดกล้วยไม้กับต้นไม้ใหญ่ที่ถูกวิธี ทำให้รากเดินเกาะต้นไม้ดีเหมือนในธรรมชาติ ภาพการแสดงการติดกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยกับต้นกฤษณา ต้นกฤษณามีเปลือกไม้ค่อนข้างเรียบ ไม่ล่อนออก และน่าจะมีเคมีที่ตรงกับความต้องการของรากกล้วยไม้ ด้วยกล้วยไม้ที่นำมาติดจะมีรากเดินเกาะตามผิวต้นกฤษณาดีมาก ฟ้ามุ่ยที่นำมาติดได้มีการตัดรากทิ้งให้เหลือสั้นๆ ไม่เกิน 1 นิ้ว เมื่อติดไประยะหนึ่ง ตามด้วยการฉีดน้ำให้ทุกวันที่ไม่มีฝน ตั้งแต่ช่วงหน้าฝน จนกำลังจะออกหนาว ภาพนี้ถ่ายกลางเดือนมกราคมนี้ ข้อสังเกตคือ รากเดินเกาะต้นกฤษณาดีมาก แลดูธรรมชาติ

ภาพที่ 17 แสดงการติดฟ้ามุ่ยกับต้นกฤษณาอย่างถูกวิธี เช่นเดียวกับภาพที่ 16 รากเกาะยึดต้นกฤษณาอย่างดีเป็นธรรมชาติ