ขยายพันธุ์โกสน ด้วยวิธีการตอน ไม่เน้นพัฒนาสายพันธุ์ กลายเป็นอาชีพสร้างรายได้เป็นอย่างดี

โกสน (Croton) เป็นพรรณไม้พุ่มยืนต้นที่มีขนาดแตกต่างกันไป ซึ่งบางต้นสามารถสูงได้ถึง 15 ฟุต หากปลูกเลี้ยงปล่อยให้สูงมากจนเกินไปจะสูงไม่งามตา โกสนเป็นพันธุ์ไม้ในเขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิดในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก

ใบของโกสนมีด้วยกันหลากหลายสี เช่น เหลือง ส้ม ม่วง ขาว ชมพู คละปะปนอยู่ตามบนแผ่นใบ ซึ่งลักษณะของใบที่เกิดจะขึ้นอยู่กับการผสมของลูกผสมที่เกิดขึ้น ลักษณะใบจะแตกต่างกัน เช่น บางใบยาว ใบแฉก ใบกลม ใบขดเป็นเกลียว ใบป้อม ใบสองตอน หรือใบสั้น เป็นต้น

โกสน เป็นพันธุ์ไม้ที่ผสมง่าย กลายพันธุ์ได้เร็ว ออกดอกเป็นพวงมีสีขาว ดอกออกติดกันเป็นพวงๆ ยาวประมาณ 6 นิ้ว ดอกมีลักษณะคล้ายดอกกระถิน คือเวลาที่ดอกบานเต็มที่จะเห็นเกสรตัวผู้เป็นเส้นฝอย

จึงเป็นพรรณไม้ที่มีการผสมเกสรมากที่สุด ทำให้ผู้ปรับปรุงพันธุ์ต้องช่วยผสมเกสร เพื่อให้ได้มาซึ่งโกสนสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ซื้อ นอกจากนี้ หากไม่ต้องการพัฒนาพันธุ์ก็จะเน้นการขยายพันธุ์แบบง่ายๆ คือ วิธีการตอนและปักชำ เพราะโกสนเจริญเติบโตได้ง่ายหากดูแลรักษาดีๆ

Croton 1

คุณประชา บุญยกิตานนท์ อยู่บ้านเลขที่ 9/1 หมู่ที่ 1 ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ปลูกเลี้ยงโกสนไม่เน้นที่การพัฒนาพันธุ์ แต่จะเน้นไปที่การขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง นับว่าเป็นอาชีพที่สร้างเงินให้กับเขาได้เป็นอย่างดี

จากชาวสวนผลไม้

ก้าวสู่ผู้ขยายพันธุ์ไม้ประดับ

คุณประชา เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีอาชีพทำสวนไม้ผลมากมายหลายชนิด แต่เนื่องจากสถานที่ปลูกเป็นพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยในการทำสวน จึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนอาชีพอื่นเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้มั่นคงกว่าที่เป็นอยู่

“สมัยก่อนนี้ผมทำสวนไม้ยืนต้น ชมพู่ ม่าเหมี่ยว มะนาว พอทำไปสักระยะ พื้นที่บริเวณนั้นเริ่มเกิดน้ำท่วม บวกกับที่ดินตรงนั้นไม่ใช่ที่ดินเราเองด้วย เป็นที่ดินเช่าเขาทำ เราก็เลยมาคิดว่า ต้องหาอะไรอย่างอื่นทำ ต่อมาพอมาแต่งงานกับภรรยา ก็มาเริ่มทำไม้ประดับ เพื่อเป็นอาชีพใหม่” คุณประชา เล่าถึงความเป็นมา

พอปี 2528 คุณประชา เล่าว่า เริ่มมาปลูกเลี้ยงโกสนอย่างจริงจัง โดยหาซื้อต้นพันธุ์มาจากหลายๆ ที่ และนำมาขยายพันธุ์เอง เพื่อให้มีจำนวนมากขึ้น โดยไม่เน้นที่การพัฒนาพันธุ์ให้มีสายพันธุ์ใหม่ๆ

โกสน จึงเป็นไม้ประดับที่ได้เริ่มมาทดลองปลูกสำหรับคุณประชา จึงได้ทดลองเรียนรู้การปลูกด้วยตนเอง แต่เรื่องการตอนและการปักชำไม่เป็นปัญหาเท่าที่ควร เพราะได้นำความรู้จากการตอนไม้ผลที่เคยทำสมัยก่อนมาใช้กับการตอนกิ่งโกสน

Croton 9

“ต้นพันธุ์โกสนนี่ดูตามความชอบใจของผมช่วงนั้น เราก็ดูว่าอะไรที่น่าจะจำหน่ายได้ราคาดี เราก็ซื้อมาทำเพื่อขยายพันธุ์ ไม่ได้เน้นที่การพัฒนาไม้ พอเรามีไม้ตัวไหนที่ต้องการจำหน่าย เราก็เอามาตอนเลยให้ได้มากๆ เสร็จแล้วก็ค่อยจำหน่าย” คุณประชา กล่าว

ต้นสวยๆ แบบที่ตลาดต้องการ

มีวิธีการตอน ดังนี้

คุณประชา บอกว่า เมื่อต้องการขยายพันธุ์โกสนสิ่งแรกที่ต้องดูคือ ต้นแม่พันธุ์ที่มีอายุเหมาะสมพร้อมที่จะตอน จากนั้นใช้มีดควั่นตรงบริเวณกิ่งที่ต้องการตอน ให้ต่ำกว่าข้อปล้องลำต้นเล็กน้อย แผลที่ควั่นรอบกิ่งโกสนให้มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร

เมื่อควั่นเสร็จลอกเปลือกไม้ออกให้หมด แล้วจึงนำดินที่ชุ่มน้ำเล็กน้อยมาหุ้มบริเวณแผลที่ควั่น ลำดับต่อมาใช้ขุยมะพร้าวมาหุ้มต่ออีกชั้น และใช้พลาสติกใสคลุมปิดให้สนิทแล้วผูกด้วยเชือกให้แน่น ซึ่งโกสน 1 ต้น สามารถตอนได้มากกว่า 1 กิ่ง ดูตามความเหมาะสมของกิ่งแม่พันธุ์

“พอตอนกิ่งเสร็จเราก็รดน้ำวันละ 1 ครั้ง ดูแลตามปกติ แต่ถ้าอากาศร้อนมากๆ ก็อาจจะต้องรดน้ำถึง 2 ครั้ง ต่อวัน ซึ่งการตอนนี่สามารถทำได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องดูฤดูกาลอะไร ส่วนกิ่งที่ตอนใช้เวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง รากก็จะออกสมบูรณ์ ก็เตรียมตัดออกมาชำได้เลย ดูแลให้เจริญเติบโตเต็มที่” คุณประชา กล่าวอธิบาย

จากนั้นนำกิ่งโกสนที่ตัดมาปลูกลงในกระถางขนาด 8 นิ้ว วัสดุที่ใช้ปลูก คือกาบมะพร้าวและดินใบก้ามปู ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ปลูกเลี้ยงในช่วงนี้ประมาณ 1 เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน เมื่อต้นโตใหญ่ขึ้นจึงนำมาย้ายใส่กระถาง 11 นิ้ว

Croton 8

“ช่วงที่ดูแลให้เจริญเติบโตก่อนที่จะจำหน่ายได้ ก็ดูแลรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ปุ๋ยที่ผมใส่จะเป็นสูตร 25-7-7 ใส่เดือนละครั้ง ตั้งแต่เรานำมาปลูกลงในกระถาง ส่วนเรื่องโรคและแมลงก็พอมีบ้าง หลักๆ เลยก็จะเป็นเพลี้ย มดจะขนเพลี้ยมา ผมก็จะฉีดยาป้องกันบ้างเดือนละครั้ง ซึ่งยาหาซื้อจากร้านจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด อีกอย่างที่สำคัญก็เรื่องแสง เราอาจจะต้องมีการพรางแสงบ้าง เพราะว่าบางทีแสงแดดจ้ามากไปก็ไม่ดี โกสนไม่โดนแสงเลยสีก็ไม่สวยอีก ก็เลือกสถานที่ให้เหมาะสมให้ไม้ได้รับแสงแบบพอดีจะดีที่สุด” คุณประชา กล่าวถึงวิธีการดูแลรักษาต้นโกสน

ต้นโกสนที่จำหน่าย

จะเน้นที่ต้นใหญ่มากกว่าเล็ก

Croton 7

คุณประชา บอกว่า ต้นโกสนก่อนที่จะจำหน่ายออกสู่ท้องตลาด ใช้เวลาดูแลทั้งหมด 4 เดือนขึ้นไป ซึ่งการเจริญเติบโตบางครั้งขึ้นอยู่กับการดูแล หากดูแลรักษาดีต้นก็จะออกมาสวย ทรงดี เป็นที่ถูกตาต้องใจของลูกค้า

“ช่วงแรกที่ผมทำไม้ใหม่ๆ ช่วงนั้นจะเอาไปจำหน่ายที่ตลาดนัดจตุจักร ซึ่งจำหน่ายได้ราคาดีมากสมัยก่อนนะ แต่ระยะหลังไม่กี่ปีมานี้ยอดจำหน่ายค่อยๆ ลดลง เพราะรถในตลาดนัดจตุจักรเริ่มติดมากขึ้น ตอนนี้ผมก็เลยมาจำหน่ายแถวซอยวัดพระเงิน เป็นตลาดต้นไม้เหมือนกัน อยู่ที่นนทบุรีนี่ เราก็จะมีทางเลือกมากขึ้นในการส่งจำหน่าย” คุณประชา กล่าว

นอกจากส่งจำหน่ายที่ตลาดนัดต้นไม้ซอยวัดพระเงินแล้ว คุณประชา บอกว่า พ่อค้าแม่ค้าที่เคยรับซื้อที่ตลาดนัดจตุจักรก็มารับซื้อถึงที่บ้านของเราเช่นกัน ซึ่งโกสนที่จำหน่ายมีราคาต่ำสุดอยู่ที่กระถางละ 70-80 บาท และราคาสูงสุดอยู่ที่ 250 บาท

“เราจะเน้นจำหน่ายไม้ที่อยู่ในกระถาง 11 นิ้วขึ้นไป ให้ต้นมันใหญ่หน่อย เพราะว่าถ้าต้นที่อยู่กระถาง 8 นิ้ว นี่ยังเล็กไป ราคาก็จะต่ำไปด้วย ลูกค้าที่มาซื้อจะเน้นใบที่มีสีแปลกๆ ตา ให้หลายๆ สีหน่อย ก็จะเป็นที่ต้องการขอลูกค้า” คุณประชา พูดถึงเคล็ดลับทางการตลาด

เวลา คืออุปสรรค

ของผู้ผลิตต้นไม้

เมื่อเอ่ยถามคุณประชาว่าอะไรเป็นอุปสรรคในการปลูกเลี้ยงโกสน ตั้งแต่ที่ได้เริ่มปลูกเลี้ยงมา พร้อมทั้งให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจอยากทำเป็นอาชีพว่าควรเตรียมการอย่างไรบ้าง เขาตอบอย่างมั่นใจจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเขาว่า

“อุปสรรคที่สำคัญสำหรับคนที่ทำต้นไม้ คือเรื่องของเวลา เพราะสิ่งที่ผมทำนี่ทำเองทั้งหมด ไม่ได้มีลูกจ้าง เพราะต้นไม้จะว่าไป บางทีเราก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดนะ ปีๆ หนึ่งนี่ผมไปเที่ยวนับครั้งได้ ไม่สามารถไปไหนหลายวันได้เลย เพราะเดี๋ยวไม่มีคนดูแลรดน้ำ อย่างช่วงนี้หน้าแล้งที่ผ่านมา คลองที่นี่มีน้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่ ทำให้เราต้องใช้น้ำประปารดน้ำแทน ต้นทุนเราก็สูงขึ้น เพื่อแก้ปัญหากันไป”

“ส่วนเรื่องการจำหน่ายก็ยังถือว่าพอได้เงินอยู่ แต่จะให้ดีเหมือนสมัยก่อนนั้นคงจะไม่ดีเท่า เพราะบางทีแข่งราคากันบ้าง พอค่าวัสดุปลูกราคาขึ้น ต้นทุนเราเพิ่ม กำไรก็อาจจะได้น้อยลงมาหน่อย ส่วนคนที่อยากจะทำเพื่อสร้างเป็นอาชีพเป็นงานสร้างรายได้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือต้องเป็นคนขยัน เพราะของพวกนี้ถ้าไม่ค่อยดูแลจะเกิดความเสียหายได้ ถ้าคิดจะทำจริงๆ ก็ลองทำเป็นงานอดิเรกก่อน เลี้ยงดูเล่นๆ ให้มีประสบการณ์ไป พอมีจำนวนมากแล้วก็ค่อยไปติดต่อหาคนซื้อ อีกอย่างทำเลสวนก็สำคัญ ถ้าเราไม่มีลูกค้าประจำ เกิดเราจัดการเรื่องการขนส่งไม่ได้ แบบนี้ก็จำหน่ายได้ลำบากอีก ก็ต้องดูกันหลายๆ องค์ประกอบประมาณนี้” คุณประชา กล่าว แนะนำ

สำหรับท่านใดที่สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณประชา บุญยกิตานนท์ หมายเลขโทรศัพท์ (085) 991-4584

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2559