หนุ่มชุมพร ปลูกบอนสีไม้เมล็ด เผยหมดเปลือก เทคนิคขยายพันธุ์

บอนสี ไม้ประดับทำเงินอีกชนิดหนึ่งที่ชวนให้หลงใหล ภายใต้เฉดสีอันฉูดฉาดสะดุดตา รวมถึงสายพันธุ์ที่มีให้เพาะเลี้ยงอย่างหลากหลาย ผลักดันให้ไม้ประดับสายพันธุ์นี้ยังคงได้รับความนิยมอยู่ในสังคมไทย

บอนสีไกรทองประเสริฐ

การเพาะเลี้ยงพรรณไม้ตามความต้องการของตลาดนับเป็นใบเบิกทางไปสู่ความสำเร็จในตลาดไม้ประดับเมืองไทย บอนสีนับเป็นพรรณไม้อีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรเลือกให้ความสนใจเพาะเลี้ยง นอกจากจำหน่ายต้นพันธุ์เพียงอย่างเดียวแล้วการจำหน่ายเมล็ดบอนสีเพื่อให้ลูกค้านำไปเพาะขยายพันธุ์ด้วยตนเองก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าสายลุ้นว่าตนเองจะได้บอนสีลูกผสมชนิดใด มีเฉดสีที่แปลกแตกต่างออกไปหรือไม่

คุณพงษ์ศักดิ์ ผลมรุกต์ หรือ คุณปาล์ม หนุ่มร่างสูงโปร่ง นัยน์ตาชวนฝัน เกษตรกรเพาะเลี้ยงบอนสี อาศัยอยู่ที่บ้านถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เล่าว่า ตนเองจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ แล้วได้ประกอบอาชีพเป็นพนักงานในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ภายหลังได้ตัดสินใจลาออกกลับมาประกอบธุรกิจส่วนตัวทำสวนทุเรียนของครอบครัวที่บ้านเกิดในจังหวัดชุมพร จนกระทั่งช่วงต้นปี พ.ศ. 2564 กระแสเพาะเลี้ยงไม้ประดับ โดยเฉพาะบอนสีได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จึงเล็งเห็นว่าตลาดน่าจะไปได้ดี กอปรกับบิดา มารดา มีพื้นฐานในการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้จำหน่ายอยู่ก่อนแล้วเพียงแต่กล้วยไม้ใช้ระยะเวลานานในการเพาะเลี้ยงและหาตลาดจำหน่ายได้ยาก แตกต่างจากบอนสีที่ตลาดยังคงเปิดกว้างและจำหน่ายได้ง่าย จึงตัดสินใจใช้พื้นที่รอบบ้านเป็นแปลงเพาะพันธุ์ไม้ประดับชนิดนี้

“ช่วงแรกจะเลือกซื้อบอนสีมาสะสมในสายพันธุ์ที่สามารถเพาะขยายได้ง่ายอยู่ในระดับราคาที่ไม่สูงมากนัก เช่น บอนสีแดงวัว (วัวแดง), บอนสียอดมงกุฎ, บอนสีนางไหม และบอนสีพระนคร พัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ จนสังเกตว่าบอนสีที่เพาะเลี้ยงเจริญเติบโตได้ดีจึงเริ่มคัดเลือกเอาเฉพาะบอนสีที่มีฟอร์มสวยออกจำหน่าย ภายหลังจากสะสมความรู้ในการเพาะเลี้ยงบอนสีมาระยะหนึ่งทราบว่าบอนสีสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ดได้เช่นกัน โดยกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงจะเรียกบอนสีประเภทดังกล่าวว่า “ไม้เมล็ด, ไม้เพาะเมล็ด”

คุณพงษ์ศักดิ์ ผลมรุกต์ หรือ คุณปาล์ม

ตลาดบอนสีปัจจุบันยังคงมีผู้จำหน่ายเมล็ดบอนสีเพื่อให้ลูกค้านำไปเพาะขยายพันธุ์เป็นส่วนน้อย เนื่องจากสวนบอนสีโดยทั่วไปมักให้ความสำคัญกับการจำหน่ายต้นบอนสีขนาดใหญ่มากกว่า จึงต้องอาศัยการเสาะหาผ่านกลุ่มบอนสีจากช่องทางออนไลน์แล้วนำมาทดลองเพาะเลี้ยงซึ่งบอนสีที่ได้มีจุดเด่นอยู่ที่ความหลากหลายของโทนสีบนใบที่ดูแปลกตา อีกทั้งเมื่อนำต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเมล็ดเหล่านี้ออกมาจำหน่ายก็ได้เสียงตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี สามารถเพิ่มมูลค่าได้มาก ภายใต้จุดมุ่งหมายที่เน้นรวบรวมความหลากหลายของสายพันธุ์บอนสีเป็นสำคัญ ทั้งบอนสีสายพันธุ์หายาก บอนสีสายพันธุ์พื้นเมือง และบอนสีสายพันธุ์ทั่วไปในราคาที่ไม่สูงมากนักเพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นและผู้ที่สนใจให้เข้ามาเลือกซื้อ”

 

ไม้เมล็ดสร้างจุดเด่นในตลาดบอนสี

ส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผลักดันให้สวนบอนสีแห่งนี้มีความแตกต่างจากรายอื่นคือ ปลูกบอนสีเพาะเมล็ด (ไม้เมล็ด) เพราะเห็นความสำคัญของการพัฒนาสายพันธุ์บอนสี แต่ก็ยังคงอนุรักษ์สายพันธุ์ดั้งเดิมด้วยวิธีการแยกหน่อเอาไว้ โดยบอนสีที่เพาะจากเมล็ดจะมีความโดดเด่นที่สีสันซึ่งจะไม่เหมือนกับต้นพ่อพันธุ์มีความแปลกแตกต่างออกไป ผู้ปลูกต้องลุ้นว่าต้นบอนสีที่งอกออกมาจะมีลักษณะใด อีกทั้งการผสมกันข้ามสายพันธุ์รูปแบบนี้ยังมีโอกาสทำให้เกิดเฉดสีด่าง หากพบแล้วนำไปจำหน่ายก็จะได้ราคาดี

คุณพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า การทำสวนบอนสีเพาะเมล็ดจะต้องอาศัยต้นแม่พันธุ์บอนสีในจำนวนมาก เพราะต้นแม่พันธุ์ออกดอกมากก็สามารถทำจำนวนได้มากตามไปด้วย การผสมจะขึ้นอยู่กับเกสรตัวผู้ที่เก็บเอาไว้เป็นหลัก สมมติมีเกสรตัวผู้เก็บไว้ 3 ชนิด ก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้เพาะเลี้ยงว่าต้องการนำชนิดใดมาผสม แต่ในกรณีที่นำเกสรตัวผู้ไปผสมกับเกสรตัวเมียบนต้นบอนสีสายพันธุ์เดียวกันนั้นมีโอกาสติดน้อยหรือบางครั้งก็ไม่ติด เพราะฉะนั้นต้องเลือกบอนสีที่ต่างสายพันธุ์กันแล้วนำมาผสมข้ามสายพันธุ์ซึ่งจะใช้วิธีการดังกล่าวกับบอนสีสายพันธุ์ที่มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น บอนสีธาตุบางแก้ว, บอนสีหมอจินดา, บอนสีมิ่งมงคล เป็นต้น เพราะหากใช้ต้นพ่อพันธุ์บอนสีที่มีราคาเมื่องอกออกมาและมีเฉดสีที่ใกล้เคียงกันกับต้นพ่อพันธุ์ก็ยิ่งทำให้มีราคามากยิ่งขึ้น

บอนสีท้าวรำไพ

สำหรับเทคนิคการผสมเกสรก็ไม่ยากนัก โดยต้นบอนสี 1 ต้นจะมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย แต่การที่จะผสมได้ผู้เพาะเลี้ยงจะต้องมีเกสรตัวผู้เก็บไว้ล่วงหน้า สำหรับวิธีการเก็บเกสรตัวผู้ให้นำเอาเกสรตัวผู้ผสมกับเกสรตัวเมียแล้วทิ้งระยะไว้ 1-2 คืน เกสรตัวผู้จะบาน ให้เก็บเกสรตัวผู้มาแช่เย็นสามารถเก็บไว้ใช้ได้ประมาณ 1 เดือน จากนั้นหากพบบอนสีต้นใดมีดอกก็นำเกสรตัวผู้ที่เก็บไว้เข้าไปผสมได้ในทันที ส่วนวิธีการสังเกตดอกบอนสีว่าพร้อมผสมหรือไม่ ให้ตรวจสอบที่กลีบดอกหากพบว่าบานมากคืนนั้นก็สามารถผสมได้ หรืออาจใช้วิธีการสูดดมกลิ่นที่ดอกหากมีกลิ่นหอมก็สามารถผสมได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเลือกดอกสำหรับผสมเกสรนอกจากต้องเลือกดอกที่บานมากแล้วยังต้องเน้นให้มีขนาดก้านใหญ่เพราะเมื่อผสมเกสรแล้วมีโอกาสติดดอกได้เมล็ดสูง ส่วนช่วงเวลาที่เหมาะในการผสมควรเลือกช่วงเวลากลางคืนประมาณ 20.00-21.00 น. เพราะเป็นช่วงที่เกสรบานมากที่สุดเมื่อผสมแล้วจะติดดีนั่นเอง

กรรมวิธีผสมเกสร ทำโดยนำปลายพู่กันแตะเกสรตัวผู้ที่เตรียมเอาไว้มาแต้มลงบนเกสรตัวเมียให้ทั่ว บางครั้งก็ต้องใช้มีดกรีดเพื่อปอกกลีบดอกออกแล้วจึงทำการผสมเพราะเกสรตัวเมียโดนกลีบดอกหุ้มเอาไว้จึงต้องกรีดกลีบดอกก่อนนำเกสรตัวผู้ผสมกับเกสรตัวเมียบริเวณฐานด้านล่างของดอกจนรอบแล้วปิดหุ้มด้วยถุงแกงตัดมุมของถุงทั้ง 2 ฝั่ง เอาไว้เพื่อระบายอากาศแล้วครอบไว้ในช่วงแรก การหุ้มด้วยถุงพลาสติกก็เพื่อป้องกันไม่ให้ดอกบอนสีโดนน้ำในช่วงที่กำลังผสมอยู่นี้ เมื่อผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วกลีบดอกไม่เหี่ยวแห้งก็แสดงว่าผสมติด หรือสังเกตหากพบว่าช่อดอกยังแข็ง บริเวณเกสรตัวเมียมีสีเขียวอยู่ ก็แสดงว่าผสมติดแล้ว จากนั้นให้รอดอกแก่ใช้ระยะเวลาประมาณ 30-40 วัน ดอกจะหลุดร่วงและฝักแตกภายในก็จะมีเมล็ดอยู่ต้องนำมาบีบออกเพื่อเอาเมล็ด เมื่อได้เมล็ดมาแล้วควรนำมาล้างกับน้ำสะอาดผึ่งลมให้แห้ง 1 คืน รุ่งเช้าก็สามารถนำไปปลูกได้

เพาะไม้เมล็ดในทับเปอร์แวร์

 

เมล็ดบอนสี ควรเพาะอย่างไร

การเพาะเมล็ดบอนสีสามารถเลือกใช้ภาชนะสำหรับเพาะเมล็ดได้อย่างหลากหลาย เน้นให้ปิด-เปิด ตรวจสอบเมล็ดที่งอกภายในได้โดยง่าย จะเน้นใช้วัสดุที่หาได้ภายในครัวเรือนคือ ทับเปอร์แวร์แบบใสเพื่อให้สะดวกต่อการดูแล แต่ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล ในบางรายอาจเพาะเมล็ดโดยใช้กะละมังแล้วหุ้มด้วยถุงพลาสติกหรือใช้กระถางรองด้วยจานน้ำก็ได้เช่นกัน

คุณพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อได้เมล็ดบอนสีมาแล้วสามารถนำลงปลูกได้ทันที โดยมีเทคนิคการเพาะเมล็ด ถ้าต้องการให้เจริญงอกงามดี ดินปลูกควรใช้เป็นดินพีทมอสส์ซึ่งเหมาะสำหรับการเพาะต้นกล้าและมีธาตุอาหารสมบูรณ์ช่วยให้บอนสีแตกรากได้เร็ว แล้วนำดินปลูกที่เตรียมเอาไว้ใส่ในกล่องทับเปอร์แวร์หรือกระบะปลูก ใส่ดินไปประมาณ 2 ข้อนิ้ว ก่อนใช้นิ้วกดลงไปให้ดินเรียบเสมอกัน แต่ไม่ควรแน่นจนเกินไปเพื่อให้เมล็ดบอนสีงอกรากได้ดี แล้วรดน้ำให้ดินชุ่มแต่อย่าให้แฉะ จากนั้นโรยเมล็ดบอนสีลงไปพร้อมกับใช้ฟ็อกกี้ฉีดพรมน้ำให้ทั่วทุกเมล็ด สังเกตดูว่าหากมีเมล็ดใดที่ลอยอยู่ก็ให้ใช้ปลายนิ้วแตะเพื่อให้ลงดินไป แต่ไม่ต้องกลบ แล้วก็ปิดฝาเอาไว้เป็นอันเสร็จสิ้น ทั้งนี้ ควรตั้งกล่องที่ใช้เพาะเมล็ดเอาไว้ในสถานที่ร่มมีแดดรำไร ในกรณีที่ใช้เมล็ดบอนสีที่มีความสดใหม่จะใช้ระยะเวลาเพียง 5 วัน ก็เริ่มมีรากงอกออกมาให้เห็น ภายหลังจากผ่านพ้นไปประมาณ 15 วันก็จะเริ่มแตกใบสีเขียว

“เมล็ดบอนสีเมื่อเพาะแล้วควรอยู่ในทับเปอร์แวร์ประมาณ 2 เดือน แต่ในกรณีที่สังเกตเห็นว่ามีการแตกใบอ่อน 3-5 ใบก็สามารถที่จะแยกออกมาได้ ในระหว่างนี้อาจเปิดกล่องทับเปอร์แวร์ดูบ้างว่าดินแห้งเกินไปหรือไม่ หากพบก็ให้ฉีดน้ำให้ชุ่มแต่ไม่แฉะ ภายหลังจากครบกำหนด 2 เดือนแล้วก็สามารถที่จะแยกไม้เมล็ดมาใส่กระถางได้”

บอนสีเจ้าปอแก้ว

 

อนุบาลไม้เมล็ดในตู้อบ

เมื่อไม้เมล็ดเริ่มแตกใบอ่อนก็สามารถที่จะแยกออกมาเพื่ออนุบาลได้ โดยการนำเข้าตู้อบซึ่งมีลักษณะเป็นโรงเรือนโครงไม้ไผ่คลุมพลาสติกใส บริเวณพื้นด้านล่างมีน้ำไว้คอยหล่อเลี้ยงเพิ่มความชื้นให้แก่ตู้อบ

คุณพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ไม้เมล็ดที่งอกอยู่ภายในทับเปอร์แวร์เมื่อพร้อมสำหรับการแยกก็ให้นำมาใส่ในกระถางขนาดเล็กก่อนนำเข้าสู่ตู้อบซึ่งมีน้ำอยู่ด้านล่างเพื่อให้ต้นบอนสีมีความสมบูรณ์ เร่งให้โตเร็ว และรักษาอุณหภูมิให้มีความเหมาะสมแก่บอนสีขนาดเล็ก ส่วนดินปลูกที่นำมาใช้ในขั้นตอนนี้จะเน้นใช้ดินปลูกสำเร็จรูป หรือในบางครั้งอาจใช้ดินในแปลงเพาะได้เช่นกัน ผสมกับใบก้ามปู ใบมะขาม และขี้วัว ในอัตราส่วน 1/2 คือ ดิน 1 ส่วน และวัสดุปลูกจำพวกใบไม้ 2 ส่วน เพื่อเน้นให้ดินโปร่ง เสริมด้วยการใส่ปุ๋ยละลายช้าเทอร์โมโค้ทในกระถางมีอัตราส่วนประมาณ 1 ช้อนกาแฟ แล้วนำไม้เมล็ดลงปลูก

ทั้งนี้ ช่วงอนุบาลไม้เมล็ดภายในตู้อบควรตั้งกระถางให้ก้นกระถางแช่อยู่ในน้ำ ต้นบอนสีก็จะดูดน้ำขึ้นมาช่วยให้ไม้เมล็ดฟื้นตัวเร็ว ไม้เมล็ดควรอยู่ในตู้อบไม่ต่ำกว่า 1 เดือน หรือแล้วแต่ความเหมาะสม เพราะในบางครั้งอาจใช้ระยะเวลาเพียง 2 อาทิตย์เท่านั้น เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับจัดวางต้นอื่นอีก หากมั่นใจว่าแข็งแรงดีแล้วก็ให้นำออกเพื่อเตรียมจำหน่ายเพราะไม้เมล็ดจะเริ่มออกสีออกลายให้เห็น โดยเฉลี่ยแล้วไม้เมล็ดตั้งแต่เริ่มเพาะจนกระทั่งจำหน่ายได้จะใช้ระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่ผู้เพาะเลี้ยงต้องทำความเข้าใจก่อนว่าไม้เมล็ดที่เกิดอาการ “ใบด่าง” เพราะมีรงควัตถุน้อยทำให้เจริญเติบโตได้ช้าเนื่องจากไม่มีคลอโรฟิลส์สังเคราะห์แสง อาทิ สีแดงแกมด่าง, สีแดง, สีชมพู, สีม่วง เป็นต้น ส่วนในกรณีที่มีพื้นใบสีเขียวก็จะโตดีกว่าพื้นใบที่มีโทนสีอื่น

 

แนะนำเทคนิคผ่าหัวบอนสี

นอกจากขยายพันธุ์ด้วยกรรมวิธีเพาะไม้เมล็ดแล้ว “ในสวน Story” ยังได้ขยายพันธุ์บอนสีด้วยวิธีการอื่น อีกทั้งการผ่าหัวและแยกหน่อ โดยมีวิธีการทำไม่ยากนัก ผู้เพาะเลี้ยงสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม

คุณพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า การผ่าหัวบอนสีเริ่มต้นจากเลือกหัวบอนสีที่ต้องการผ่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้แล้วแต่ความชอบ สำหรับเทคนิคนี้สามารถใช้ได้กับทั้งบอนสีและบอนด่าง ส่วนหัวบอนสีที่เหมาะต่อการผ่าเพื่อทำหน่อควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เทคนิคการผ่าควรหั่นเป็นชิ้นในลักษณะลูกเต๋า เน้นให้ติดบริเวณเปลือกด้านนอกจะแตกรากได้ดี เมื่อผ่าเสร็จแล้วก็เพาะในดินปลูกที่ผสมเอาไว้ เช่น หินภูเขาไฟเพอร์ไลท์ และเวอร์มิคูไลท์ มาเป็นวัสดุปลูก รดน้ำให้ชุ่มก่อนนำชิ้นบอนสีที่ผ่าไว้มาวางลงไปแล้วปิดด้วยถุง หรือใช้วิธีเพาะบนดินพีทมอสส์ ให้นำดินพีทมอสส์มารดน้ำให้ชุ่มแล้วนำชิ้นหัวบอนสีมาวางบนผิวดิน ปิดฝาเอาไว้ได้เช่นกัน กระบวนการนี้จะช่วยเร่งให้รากของบอนสีแตกออกมาได้ไวมากยิ่งขึ้น เฉลี่ยแล้วใช้ระยะเวลาประมาณ 15 วัน ก็จะเริ่มมีรากออกมาให้เห็น

เมล็ดบอนสีพร้อมปลูก

ส่วนวิธีแยกหน่อนั้นถือว่าง่ายมากที่สุด ใช้วิธีสังเกตเมื่อต้นบอนสีมีการแตกหน่อออกมาให้เห็น ควรทิ้งช่วงให้ต้นบอนสีที่งอกโตขึ้นมาระยะหนึ่งมีความสูงไม่ต่ำกว่า 5-10 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงต่อการเน่าภายหลังจากแยกหน่อ เมื่อสังเกตว่าหน่อที่ต้องการแยกสมบูรณ์ดีแล้วก็สามารถแยกออกมาได้แล้วนำไปเพาะในดินพีทมอสส์ตามปกติ

 

“เลี้ยงน้ำ” เร่งให้บอนสีโตเร็ว

คุณพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ต้องการเพาะเลี้ยงบอนสีต้องทำความเข้าใจก่อนว่าบอนสีเป็นไม้ที่ชื่นชอบความชื้น การให้น้ำอย่างถูกวิธีจึงเป็นเคล็ดลับช่วยให้บอนสีเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีความสมบูรณ์ เรียกเทคนิคดังกล่าวว่า “เลี้ยงน้ำ” โดยใส่ถาดรองน้ำเอาไว้บริเวณด้านล่างของกระถางจะทำให้ไม้โตไว ส่วนผู้เพาะเลี้ยงที่ต้องการปลูกโดยไม่เลี้ยงน้ำก็ได้เช่นกัน แต่ดินจะแห้งเร็วทำให้บอนสีเจริญเติบโตได้ช้าเพราะพืชตระกูลบอนจำพวกนี้จะชื่นชอบน้ำ อาจเลือกใช้วิธีนำอิฐซีแพคมากั้นเป็นบ่อแล้วใส่น้ำก่อนวางกระถางบอนสีลงไปด้านใน ส่วนกรณีที่ผู้เพาะเลี้ยงต้องการนำบอนสีมาปลูกในดินก็สามารถทำได้เช่นกันแต่ต้องรดน้ำให้ดินชื้นอยู่ตลอด

บอนสีรวยล้นฟ้า

ทางด้านการเร่งให้บอนสีแตกใบและมีความแข็งแรงนั้นจะใช้ปุ๋ยเทอร์โมโค้ทใส่ครั้งละประมาณ 1 ช้อนชา เสริมด้วยปุ๋ยน้ำ (ปุ๋ยปัก) ที่นิยมใช้กันในไม้ดอกไม้ประดับ หากพบอาการใบไหม้ ขอบใบแห้ง ให้ใช้ยาเชื้อรา (คาร์เบนดาซิม) ฉีดพ่นเพื่อรักษาใบผสานกับฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเกล็ดสูตรเสมอ 20-20-20 หรือ 21-21-21 ฉีดพ่นอาทิตย์ละครั้ง แล้วยังต้องหมั่นสังเกตหากพบก้านใบงอหัก ทรงพุ่มไม่สวย ให้ใช้หลอดดื่มน้ำมาค้ำก้านใบเพราะใบบอนสีที่สมบูรณ์มีน้ำหนักมากหากไม่ค้ำก้านใบจะหักเนื่องจากรับน้ำหนักไม่ไหว อีกทั้งหลอดที่ใช้ค้ำนี้ยังช่วยจัดก้านใบให้แผ่ออกจากทรงพุ่มอีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว การแบ่งกลุ่มจัดประเภทไม้ในแปลงก็เป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน ในช่วงแรกอาจเลี้ยงรวมกันไว้ แต่เมื่อบอนสีเริ่มกัดสีจะแยกออกโดยจำแนกประเภทเป็นไม้อนุบาล, ไม้พร้อมจำหน่าย, ไม้ฟอร์มสวยและไม้ฟอร์มไม่สวย เพราะบอนสีแต่ละประเภทมีราคาจำหน่ายที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังง่ายต่อการจัดการแปลงอีกด้วย

ไม้เมล็ดฟอร์มสวยเตรียมจำหน่าย

 

ตลาดบอนสีดีหรือไม่

คุณพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของตลาดบอนสีปัจจุบันมีราคาที่ทรงตัว หากเป็นบอนสีสายพันธุ์แปลกหายากก็ยังคงมีราคาดีอยู่ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นจำหน่ายบอนสีฟอร์มขนาดใหญ่เป็นหลัก เพราะหากลูกค้าได้รับบอนสีขนาดเล็กเกินไปเมื่อนำไปเลี้ยงจะมีความเสี่ยงต่อการตายสูง ส่วนไม้เมล็ดมีลูกค้าติดต่อสั่งซื้ออยู่ตลอดใน 1 ชุด มีจำนวน 35 เมล็ด ราคา 150-200 บาท ขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นมีเมล็ดบอนสีสายพันธุ์ใด ในกรณีที่มีเมล็ดบอนสีมากกว่า 1 สายพันธุ์ก็จะจำหน่ายแบบคละเมล็ด แต่ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์เอาไว้ซึ่งความหลากหลายของสายพันธุ์บอนสีที่มีให้ลูกค้าได้เลือกจับจองทั้งไม้เมล็ด, ไม้หน่อ, บอนสีสายพันธุ์ทั่วไป, ไม้มงคล, บอนสีตับรามเกียรติ์, บอนสีตับจังหวัด และบอนสีสายพันธุ์หายาก

สำหรับลูกค้าที่สั่งซื้อเข้ามาประกอบไปด้วยจากเพจเฟซบุ๊ก “ในสวน Story” และพ่อค้า แม่ค้า ที่เข้ามาซื้อเป็นประจำเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ รวมถึงลูกค้าภายในท้องถิ่นแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมแปลงเพาะเลือกซื้อต้นไม้กลับไปจนมีการพูดกันแบบปากต่อปากถึงการดูแลเอาใจใส่บอนสีจากสวนแห่งนี้ซึ่งได้เสียงตอบรับที่ดีมากจนสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนให้อยู่โดยตลอด พร้อมทั้งให้บริการหลังการขายแนะนำวิธีการเลี้ยงดูแลบอนสีโดยเน้นให้ลูกค้านำไปตั้งบนถาดรองน้ำซึ่งจะเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด นอกจากนี้แล้ว ยังมีการเพาะต้นกล้าพืชกระท่อมเอาไว้จำหน่ายให้แก่ผู้ที่สนใจปลูกพืชกระท่อมอีกด้วย

บอนสีธาตุบางแก้ว

คุณพงษ์ศักดิ์ กล่าวฝากทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้ที่มีความสนใจปลูกบอนสีให้เริ่มต้นด้วยการเพาะเลี้ยงสายพันธุ์ทั่วไปในราคาไม่สูงมากนัก ภายหลังหากเลี้ยงได้ดีก็พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของผู้เพาะเลี้ยง ส่วนผลกำไรมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ

ติดต่อเกษตรกร คุณพงษ์ศักดิ์ ผลมรุกต์ หรือ คุณปาล์ม บ้านเลขที่ 1/94 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 86190 โทร. 083-972-2375, เฟซบุ๊ก “ในสวน story” เข้าเยี่ยมชมสวนตามพิกัดจีพีเอส “สวนบอนสีไม้ใบ By ลุงป้อม”