อโศก….คือไม่โศก หรือสุขฤทัย

.อโศกน้ำ

อโศก…เป็นไม้ดอกแสนสวย ทรงพุ่มร่มรื่นสง่างาม มีหลากหลายชนิด น่าปลูกทั้งนั้น แต่เรื่องที่คนไทยเข้าใจผิดมากๆ อีกเรื่องหนึ่งคือ ต้นอโศก บางคนฟังเขามาว่า ห้ามปลูกในบ้านนะ ต้นไม้นี่ปลูกแล้วจะเศร้า โศก ทำให้มีทุกข์บ้างอะไรบ้าง ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าไร้สาระมาก ตรงข้ามกลับคิดว่าไม้ตระกูลอโศกนี่แหละน่าจะปลูกกันมากๆ เสียด้วยซ้ำไป

ส่วนใหญ่ที่พบบ่อยๆ มีอยู่ 3-4 ชนิด ได้แก่

  1. อโศกน้ำ หรือ โสกน้ำ หรือ โสกวัด Saraca indica มักจะปลูกตามริมถนน ศาลาท่าน้ำ ตามวัดทั่วไป เป็นไม้ขนาดกลาง แตกพุ่มกว้าง ใบทึบหนาแน่น ให้ร่มเงาดีมาก ดอกเป็นช่อสีส้มอมแดง หรือแสดปนเหลืองก็มี กลิ่นหอมอ่อนๆ ยอดอ่อน ดอกอ่อนนำมาปรุงแกงส้ม หรือกินเป็นผักจิ้มเต้าเจี้ยวหลนได้ อโศกชนิดนี้ชาวอินเดียถือว่าเป็นไม้มงคลที่ศักดิ์สิทธิ์นานัปการ ใช้สักการะเทพเจ้า และเป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก ใช้เป็นดอกไม้บูชากามเทพของเขา
.อโศกน้ำ

ในวรรณคดีเรื่องกามนิต-วาสิฏฐี ก็มีการกล่าวถึงต้นอโศกไว้ว่า กามนิตได้ลอบมาพบกับหวานใจวาสิฏฐีที่ลานอโศกนี่แหละ ฟังดูน่าโรแมนติกมากๆ วาสิฏฐีเองก็มีความผูกพันกับต้นอโศกมาก เพราะเคยพลอดรักกัน ให้คำมั่นสัญญากันใต้ร่มอโศก แม้ว่ากามนิตจะจากไปไกลแค่ไหน นานสักเพียงไร นางก็ยังคงยึดมั่นในความรักที่มีต่อชายเดียวนั้นเสมอ นางเฝ้าพร่ำเพ้อรำพันไต่ถามข่าวคราวกามนิตเอากับต้นอโศก ดุจเดียวกับนางทมยันตีถามข่าวพระนลกับต้นไม้ชนิดนี้เหมือนกัน เห็นไหมล่ะว่าต้นอโศกเป็นยังไง แล้วใครจะมาว่าอโศกไม่ดีได้อย่างไร

  1. อโศกระย้า Splendid Amherstia nobilis Wallich. เดิมมีถิ่นกำเนิดในพม่าและอินเดียตอนใต้ เป็นอโศกที่ยกย่องกันว่าดอกแปลก งดงามหาชมได้ยาก ผู้ที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยคนแรกคือ พระยาอายุรเวชวิจักข์ (เมอร์เดล เอ็ม คาร์ทิว) อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา
อโศกระย้า

คำว่า Amherstia มาจากการขนานนามเพื่อเป็นเกียรติแด่ท่าน Countess Amherst กับ Lady Amherst ธิดาคนสวยของท่าน ส่วน คำว่า nobilis หมายถึง การให้เกียรติแก่ท่านทั้งสองที่ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ได้รับการขนานนามเป็นทางการ เมื่อปี ค.ศ. 1836 ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบอ่อนสีน้ำตาลแดงอมม่วงไม่มีลาย ห้อยย้อยยาวคล้ายพู่ กลีบดอกคล้ายรูปหัวใจ หรือใบโพธิ์ สีแดงสดใส กลีบล่าง 3 กลีบ ประส้มอมเหลืองแสดตอนปลาย แต่ละดอกจะมีกาบหุ้มสีแดง 1 คู่ ช่อดอกมักเป็นพวงระย้าสมชื่อ

  1. อโศกสปัน หรือ อโศกพวง Brownea grandiceps/Brownea ariza อโศกทั้งสองชนิดนี้คล้ายกันมากแยกแทบไม่ออก แต่รับรองว่าดอกสวยฟรุ้งฟริ้งทั้งคู่ เป็นหนึ่งในดวงใจผู้เขียนทีเดียวเลยแหละ เคยมีความหลังฝังใจสมัยเด็กๆ ที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา บนเนินเขาจะมีอโศกสปันต้นใหญ่มาก ออกดอกพรูพราว สีแดงสดติดอยู่ตามปลายกิ่งเต็มทั้งต้น ผู้เขียนตอนนั้นยังเป็นเด็ก พักเที่ยงกินข้าวเสร็จจะต้องหลบไปนั่งดื่มด่ำมนต์อโศกต้นนี้แทบทุกวันเลยจำได้ติดตาตรึงใจ
อโศกสปัน

พอมีบ้านของตัวก็รีบหามาปลูกไว้รอบบ้านเป็นลานอโศกเลยทีเดียว และเขาก็ไม่เคยทำให้ผิดหวัง เรียกแขกได้ตลอด ใครผ่านมาต้องหยุดชื่นชม ถามไถ่ทุกราย ก็ดอกเขาสวยจริงๆ นี่นา แค่ช่อใบอ่อนเป็นพวงๆ ก็ตะลึงแล้ว ฝรั่งบางคนเรียกว่า Handkerchief tree อีกชื่อหนึ่งก็ Rose of Venezuela เพราะมากๆ ปัจจุบัน เห็นปลูกกันเพิ่มขึ้นประปรายตามโรงเรียน วัด สถานที่ราชการต่างๆ บ้างแล้ว เนื่องจากทรงพุ่มกว้างให้ร่มเงาดีมาก

  1. อโศกเหลือง หรือ ศรียะลา Saraca thaipingensis Cantley ex. Prain สาวแดนใต้ตาคมผมยาว จากมาเลย์ ชอบขึ้นตามริมลำธาร เชิงเขาเตี้ยๆ ที่ชุ่มชื้นตลอดทั้งปีแถบภาคใต้ ชนิดนี้ใบใหญ่ ฝักใหญ่ โค้งคล้ายดาบวงพระจันทร์ ดอกเป็นช่อกลมๆ โตขนาดลูกฟุตบอล สีเหลืองอมส้มเล็กน้อย เกสรสีแดงเลือดหมู สวยสะดุดตาไปอีกแบบ สามารถออกดอกได้แต่ต้นยังไม่โตมาก ปลูกที่ร่มก็ได้ กลางแจ้งก็ได้ แต่น้ำต้องถึง ดอกจะค่อยๆ ทยอยบานจากเดือนมกราคม-เมษายน และเริ่มติดฝักประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เป็นอโศกที่โตไวมาก ขนาดของใบก็ใหญ่และยาวกว่าชนิดอื่น ขยายพันธุ์ได้โดยการตอนกิ่ง เพาะเมล็ด

ลองเลือกปลูกดูสักต้น ชนิดไหนก็ได้ แล้วจะหลงใหลในมนต์รักดอกอโศกครับ

ศรียะลา