พัทลุง เปิดพิพิธภัณฑ์บอนสี ตลาดยังทิศทางดี

“บอนสี” ฟาร์มใหญ่พัฒนาสายพันธุ์ผสมเพาะเลี้ยงใหม่ๆ จากสายพันธุ์โบราณ สายพันธุ์  หายาก ทำตลาดออนไลน์ ออฟไลน์ การตลาดยังขายได้ดี ขายภายในประเทศ 90 เปอร์เซ็นต์ ส่งออก 10 เปอร์เซ็นต์ พัทลุง เปิดพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซื้อขาย ถ้าได้ดูแลสนับสนุนตลาดต่างประเทศจะไปไกล จากที่บอนสีไทยโดดเด่นที่สุดในโลก

คุณณัฏฐาพงศ์ สงวนศักดิ์ เจ้าของสวนทรัพย์ทวี เลขที่ 378 หมู่ที่ 4 ตำบลวังใหม่ อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ผู้ผลิตเลี้ยงเพาะพันธุ์บอนสีรายใหญ่ เล่าว่า มีที่เพาะเลี้ยงบอนสีประมาณ 1 ไร่ มีสายพันธุ์บอนสีประมาณ 300 สายพันธุ์ ได้เพาะเลี้ยงจากการเก็บและซื้อพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์สายพันธุ์ดีมาจากหลายพื้นที่ ก่อนที่จะนำมาผสมข้ามสายพันธุ์ เพื่อที่จะได้สีสันสวยงาม แปลก และใหม่

นอกจากการผสมพันธุ์เลี้ยงบอนสีขายแล้ว สวนทรัพย์ทวียังเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์บอนสี ที่ได้รวบรวมเอาบอนโบราณกับบอนสีสมัยใหม่ให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกันด้วย พร้อมทั้งให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และโอกาสต่อไปก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุงด้วย สำหรับบอนสี จังหวัดพัทลุงนั้น เริ่มต้นเพาะเลี้ยงกันมาประมาณ 10 ปี

บอนสีมีตั้งในสวนยางพารา ข้างคูน้ำ มีทั้งสายพันธุ์ ร่อนทอง อิเหนา นกกระทา ฯลฯ ต่อมาในปี 2564 เป็นระยะการขยายตัวได้รับนิยม ซึ่งบอนสีที่มีอยู่ตามข้างคูน้ำ ป่า ในพื้นที่นา ฯลฯ ต่างมีราคาหมด มีการหาจนไม่หลงเหลือเอาไว้

“สำหรับกลุ่มสวนทรัพย์ทวีนั้น ได้เพาะเลี้ยงมาตั้งแต่ 2560 มาจนถึงขณะนี้”

คุณณัฏฐาพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับจังหวัดพัทลุงนั้น ได้เติบโตขยายตัวสูงสุด ประมาณปี 2563-2564 จนถึงขณะนี้ 2565 ซึ่งในช่วงขยายตัวเติบโตสูงสุด บางสวนบอนสีที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่สร้างรายได้เป็นหลักล้านบาทต่อเดือน และฟาร์มขนาดใหญ่บางรายประมาณ 20-30 ล้านบาทต่อปี และสำหรับสวนทรัพย์ทวี ขณะนั้นประมาณเกือบ 1 ล้านบาทต่อเดือน และบอนสี จังหวัดพัทลุง ก็ติดอันดับท็อปเท็นของประเทศ

“แต่สำหรับปัจจุบันบอนสีกระแสได้ดร็อปลงเรื่องของราคา แต่ยอดนิยมยอดการขายไม่ได้ดร็อปลง โดยในส่วนของบอนสีทรัพย์ทวี ยังมีรายได้จากการขายอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท และ 30,000 บาทต่อวัน โดยประมาณครึ่งเดือนจะมีรายได้ประมาณ 300,000 บาท ซึ่งตลาดที่ขยายตัวเติบได้ดีมากคือตลาดออนไลน์ ภาพรวมๆ ตลาดบอนสี จังหวัดพัทลุง จะมีเงินหมุนสะพัดไม่ต่ำ 3 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งรายย่อย รายเล็ก และรายใหญ่”

ขณะนี้บอนสีที่ได้รับความนิยมสูงสุดจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ กับสายพันธุ์บอนสีเก่า และบอนสีหายาก ตั้งแต่บอนสีชินบัญชร พรหมรังสี วังทอง ณ พัทลุง วังใหม่ ถ้ำมโนราห์ มโนรา ศรีใหม่ และสาวเมืองลุง ฯลฯ และสำหรับบอนสีสวนทรัพย์ทวี ยังมีการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียและประเทศจีน แต่การตลาดต่างประเทศยังไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเป็นตลาดภายในประเทศประมาณถึง 99 เปอร์เซ็นต์

คุณณัฏฐาพงศ์ ยังบอกอีกว่า ภาพรวมธุรกิจบอนสีทั้งประเทศประมาณว่าจะมีเงินหมุนสะพัดโดยประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี มีทั้งการส่งออกต่างประเทศ ขายในประเทศ มีราคาต้นละ 10,000-30,000 บาท และถึง 300,000 บาท ฯลฯ ก็มี ทั้งนี้ ราคาจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ความหลากสี แปลกใหม่ ความด่าง จากกลุ่มเพาะเลี้ยงบอนสี ที่มีประมาณเกือบ 100 สวนทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคกลาง ภาคตะวันออก โดยมีการนิยมเล่นบอนสี มาร่วม 30 ปี โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาร่วม 30-40 ปี

“กลุ่มเล่นบอนสีจะมีกำลังซื้อสูง นักเล่นบอนสียังนิยมชื่นชอบและยังเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ”

สำหรับบอนสีนั้นมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยแต่เดิมนั้นจะมีอยู่ในเขตรั้วของบุคคลมีระดับ และชนชั้นระดับบน แต่มาช่วงระยะหลังๆ จะเข้าสู่แทบทุกระดับ สำหรับคนรักต้นไม้เพราะราคาที่ดร็อปลงจากหลักพันบาท มาเหลือราคาหลักร้อยบาท ที่พอเข้าถึงได้

คุณณัฏฐาพงศ์ บอกถึงประเด็นสำหรับการตลาดบอนสีว่า ตลาดส่งออกต่างประเทศนั้น ภาพรวมตอนนี้บอนสีที่ส่งออกต่างประเทศยังไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการ เพราะมีอุปสรรค ส่งได้ยากมากมีปัญหาทางด้านกฎหมาย และจนถึงปัจจุบันวงการธุรกิจบอนสียังไม่มีหน่วยงานภาครัฐหลักเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือ จะมีก็แต่ภาคเอกชน สมาคมบอนสีแห่งประเทศ ชมรมบอนสี ที่ขับเคลื่อนดูแลกันเอง ตลาดต่างประเทศจึงไปไม่ได้ แต่หากได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐบาล จะไปได้ไกลมาก เนื่องจากบอนสีทั่วโลก โดยบอนสีของประเทศไทยจะโดดเด่นที่สุด

“บอนสีเป็นพืชเดียวของไม้ประดับ ที่สินค้าที่ยังไม่ลดลง เพราะความนิยมนั้นไม่ได้ลดลง”

คุณณัฏฐาพงศ์ บอกถึงทิศทางอนาคตบอนสีว่า ยังเป็นที่ต้องการ เพราะมีการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นใหม่ๆ ผสมสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลาไว้รองรับความต้องการของคนชื่นชอบไม้ประดับ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 12 ธ.ค. 2022