วิธีเลี้ยงแค็กตัสให้เติบโตดี สภาพอากาศร้อนชื้นภาคใต้

แค็กตัส หรือ กระบองเพชร นับเป็นพรรณไม้ที่ใครหลายคนให้ความสนใจด้วยขนาดไซซ์ที่ไม่ใหญ่มากนัก เหมาะกับการเพาะเลี้ยงในพื้นที่จำกัด ผนวกกับสายพันธุ์ที่มีให้เลือกอย่างหลากหลาย พร้อมด้วยโทนสีสวยงามตอบโจทย์ความชื่นชอบส่วนตัวของแต่ละบุคคลจนได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงไม้ประดับขนาดเล็กมาตราบถึงปัจจุบัน

คุณทิวา เชื่อมกลาง (คุณแอม) เจ้าของฟาร์มแค็กตัสชื่อ “41Cactus By Tiwa” อ.เมือง จ.ชุมพร ปลูกแค็กตัสหลากหลายสายพันธุ์เช่น ขนนก (Mammillaria plumosa), คามิเน่ (Mammillaria Carmenae) และ โลโฟโฟรา (Lophophora) ที่ ติดดอกง่าย ไม่ต้องรอนาน

คุณทิวา เลือกใช้วิธีการสืบเสาะค้นหาแค็กตัสสายพันธุ์ต่างๆ จากฟาร์มที่เปิดให้เข้าชมและขอซื้อต้นพันธุ์ที่ตนเองสนใจก่อนเป็นลำดับแรก รวมทั้งไปท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นจะเลือกซื้อเป็นคู่จำพวกจิมโนคาไลเซียม, โลโฟโฟรา และสายพันธุ์ที่แปลกหายากเพื่อใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ ด้วยวิธีเพาะเมล็ด

คุณทิวา ปลูกสร้างอาคารเพาะเลี้ยงเป็นโรงเรือนลอยฟ้า แบบ 2 ชั้น ชั้นล่างถูกจัดแบ่งเป็นอาคารสำนักงาน ส่วนด้านบนจะใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำเป็นโรงเรือนเพาะเลี้ยงแค็กตัสทั้งหมด ตัวโรงเรือนมีขนาด 5×15 เมตร โครงสร้างทำด้วยเหล็กเพื่อความคงทน ด้านบนมุงด้วยแผ่นหลังคาโปร่งแสงเพื่อให้แสงแดดส่องถึงได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ข้อดีของการสร้างโรงเรือนลอยฟ้านั้น นอกจากประหยัดพื้นที่แล้ว อากาศยังถ่ายเทได้อย่างสะดวก เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ส่งผลให้ดินมีความชื้นสูง เมื่อฝนตกไอดินจะระเหยขึ้นมา ไม่เหมาะกับการเพาะเลี้ยงแค็กตัส จึงเลือกสร้างโรงเรือนลอยฟ้าเพื่อทำสภาพอากาศให้มีความแห้งแล้งมากที่สุด โดยยกตัวโรงเรือนขึ้นไปด้านบนให้ลมโกรกและโดนแสงแดดอย่างเต็มที่ ส่งผลให้แค็กตัสมีความแข็งแรงเป็นอย่างมาก

ฟาร์มแห่งนี้ให้น้ำตามสภาพอากาศ สังเกตว่า ดินแห้งหรือไม่ จึงให้น้ำหรือให้น้ำ 2-3 วัน/ครั้ง เนื่องจากสภาพอากาศมีความร้อนชื้นสูงและลมพัดโกรก จึงต้องให้น้ำบ่อย สำหรับอัตราการให้น้ำในแต่ละครั้งก็จะไม่เท่ากัน หากดูแลดี น้ำดี แสงแดดดี สารอาหารถึง การเพาะเลี้ยงแค็กตัสให้มีความสมบูรณ์ก็ไม่ใช่เรื่องยากเท่าไรนัก

คุณทิวานำโต๊ะมาใช้ตั้งกระถางแค็กตัส ช่วยให้น้ำระเหยได้ดีกว่าการตั้งกระถางเอาไว้บนพื้นดิน ความสูงห่างจากระดับพื้นดิน ประมาณ 70 เซนติเมตร พื้นโต๊ะควรผลิตจากแผ่นยิปซัมหรือแผ่นสมาร์ทบอร์ด เพราะหลังให้น้ำแล้ว น้ำจะระเหยได้รวดเร็ว ไม่สะสมความชื้น ลดปัญหาเชื้อราเข้ามาแพร่ระบาดอีกด้วย

เคล็ดลับ ผสมดินปลูกแค็กตัส

การผสมดินสำหรับปลูกแค็กตัสนั้น ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จ สำหรับ41Cactus By Tiwa มีสูตรเฉพาะตัวโดยยึดแนวทางผสมดินปลูกแค็กตัสที่เน้นใช้วัสดุปลูกที่มีความโปร่ง ระบายน้ำได้ดี และมีสารอาหารที่แค็กตัสต้องการอย่างครบถ้วน

“ดินปลูกแค็กตัส มีความสำคัญมากที่สุด ไม่มีอัตราส่วนที่ตายตัวในการผสมขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ปลูกแต่ละราย ฟาร์มแห่งนี้เน้นใช้ดินดำหรือวัสดุปลูกที่เนื้อโปร่ง มีส่วนผสมของไนโตรเจนในปริมาณที่สูง เพราะแค็กตัสไม่มีใบ มีแต่ลำต้นจึงต้องเน้นให้ลำต้นสมบูรณ์ อาจเลือกใช้วัสดุปลูกประเภทดินดำ, ทรายหยาบ, ถ่าน, แกลบเผา, หินภูเขาไฟ (หินพัมมิส), เวอร์มิคูไลท์ และเพอร์ไลท์ (สามารถหาซื้อได้ตามร้านเกษตรทั่วไป) ที่มีคุณสมบัติความเป็นด่าง ช่วยปรับสภาพดินให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมต่อการปลูกพืช

ด้านอัตราส่วนในการผสมดินปลูก ฟาร์มแห่งนี้เลือกใช้อัตราส่วน 1 : 10 คือ ดินดำ 5 ส่วน, เพอร์ไลท์ 1 ส่วน, ทรายหยาบ 1 ส่วน, หินภูเขาไฟ 1 ส่วน, เวอร์มิคูไลท์ 1 ส่วน และ แกลบเผา 1 (หาซื้อได้จากโรงสีข้าวในท้องถิ่น) ทำหน้าที่เป็นตัวกรองรักษาความสะอาดในดินปลูก หรืออาจใช้สูตรดินดำ 3 ส่วน, เพอร์ไลท์ 2 ส่วน, หินภูเขาไฟ 2 ส่วน, เวอร์มิคูไลท์ 1 ส่วน และ ทรายหยาบ 1 ส่วน

แอสโตร ลูกปลาดาว

แนะนำแนวทาง ขยายพันธุ์แค็กตัส

ฟาร์มแห่งนี้ เน้นใช้เมล็ดแค็กตัสมาเพาะปลูกแทนการใช้หน่อ ส่งผลให้ต้นพันธุ์มีความทนทาน เติบโตได้เป็นอย่างดี คุณทิวา ได้หยิบยกเอาแค็กตัสสายพันธุ์ที่ถือเป็นซิกเนเจอร์ของทางฟาร์ม (โลโฟโฟรา และ แมมมิลาเรีย ฟูโมซา) มาแนะนำแนวทางการปลูกให้กับผู้ที่สนใจได้นำไปปรับใช้ตามความเหมาะสม

“การเพาะขยายพันธุ์โลโฟโฟราต้องคัดต้นพ่อ-แม่พันธุ์ที่ต้านทานโรคดี ไม่มีเชื้อรา โดยสังเกตจากผิวภายนอกและรากของแค็กตัส ส่วนต้นพันธุ์ อยู่ในช่วงอายุ 5-8 ปี หรือขนาด 8 เซนติเมตรขึ้นไปจึงนำเมล็ดมาเพาะขยายพันธุ์ ทั้งนี้โลโฟโฟราสามารถขยายพันธุ์ ในรูปแบบไม้เมล็ด และไม้หน่อ สาเหตุที่ไม่เลือกขยายพันธุ์ด้วยวิธีการชำหน่อ และไม้กราฟต์ (แค็กตัสที่นำมาต่อกับตอกระบองเพชร) นั้นเพราะมีความทนทานต่อโรคและสภาพอากาศน้อย

ขั้นตอนการขยายพันธุ์ หลังได้เมล็ดจากการผสมเกสรแล้วให้ล้างด้วยน้ำสะอาดก่อนผึ่งแดดสัก 1 สัปดาห์ เพื่อให้เมล็ดแห้ง เมื่อครบกำหนด แกะเมล็ดด้านในมีสีดำออกมาล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง จึงเตรียมวัสดุปลูกโดยใช้เพียงแกลบเผาอย่างเดียวเท่านั้น นำเมล็ดที่แกะไว้โรยลงไปโดยเว้นระยะห่าง 3 เซนติเมตร / 1 เมล็ด (3×3) หลังจากนั้น รดน้ำจนชุ่ม 2 วัน / ครั้ง ประมาณ 15 วัน – 1 เดือน จะมีต้นอ่อนแตกออกมาให้เห็น ระหว่างนี้ต้องควบคุมอุณหภูมิด้วยการเก็บไว้ในที่ร่มไม่ให้โดนแสงแดดจัด อาจเลือกวางไว้ใต้โต๊ะที่ใช้สำหรับเพาะเลี้ยงแค็กตัส หรือสร้างโรงเรือนสำหรับอนุบาลแค็กตัส โดยใช้ซาแรนสีดำ 70 เปอร์เซ็นต์ คลุมป้องกันแสงแดด กระบวนการอนุบาลแค็กตัสกินระยะเวลาไปจนแค็กตัสมีอายุครบ 6 เดือน

เมื่อครบ 6 เดือน พ้นระยะอนุบาลแล้วจึงแยกแปลงด้วยวิธีการขุดเปลี่ยนกระถางเพื่อเปลี่ยนดิน เนื่องจากแค็กตัสเริ่มต้องการสารอาหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความยากของขั้นตอนนี้อยู่ระหว่างเปลี่ยนกระถาง ต้องดูแลเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้รากของแค็กตัสที่กำลังเปลี่ยนขาดอาจทำให้ต้นตายได้

แค็กตัสอาจสูงเพียง 1 เซนติเมตร ฉะนั้นต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ดินที่นำมาเปลี่ยนใส่ในกระถางใหม่ต้องใช้ดินที่มีอัตราส่วนเดียวกันกับดินที่ใช้เพาะเลี้ยงต้นพ่อ-แม่พันธุ์ หรือดินปลูกแค็กตัสทั่วไปนั่นเอง ต้องตั้งเก็บไว้ในที่ร่มจนกระทั่งมีอายุครบ 1-1ปีครึ่ง หรือมีความสูง 2-3 เซนติเมตร สามารถนำขึ้นมาวางด้านบนเพื่อให้โดนแสงแดดได้ตามปกติได้

ส่วนการขยายพันธุ์แมมมิลลาเรีย พลูโมซา (ขนนก) ใช้วิธีการอนุบาลในรูปแบบเดียวกันกับโลโฟโฟรา ต้นพันธุ์มีความเหมาะสมสามารถใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ได้ ควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี เน้นใช้วิธีการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ขั้นตอนการผสมเกสรอาจทำได้ยากกว่า เนื่องจากแค็กตัสสายพันธุ์นี้มีลักษณะแตกเป็นกออย่างหนาแน่น ดอกมีขนาดเล็ก ต้องใช้เทคนิคนำพู่กันเบอร์เล็ก และมีดคมบางขนาดเล็กมาปรับใช้ โดยใช้มือจับกลีบดอก ค่อยๆ กรีดเอาเกสรตัวผู้ออกมา เมื่อกรีดเอาเกสรตัวผู้มาได้จึงเขี่ยใส่เกสรตัวเมียของอีกต้นหนึ่ง ใช้เวลา 1 เดือนเริ่มมีต้นอ่อนแตกออกมา ใช้วิธีเพาะขยายพันธุ์เช่นเดียวกันกับโลโฟโฟรา เกษตรกรอาจเลือกใช้วิธีการผสมเกสรด้วยการปั่นพู่กันเอาเกสรตัวผู้มาป้ายเกสรตัวเมียในอีกต้นหนึ่ง จะมีอัตราการติดเมล็ดน้อยกว่าวิธีการข้างต้น

เมื่อกระบองเพชรเริ่มตั้งฟอร์มอายุ 1-1 ปีครึ่ง ให้บำรุงได้ในทันที โดยเน้นที่รากและลำต้น เนื่องจากดินปลูกที่ใช้มีธาตุอาหารเพียงพอสำหรับความต้องการของแค็กตัสอยู่แล้ว จึงไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเท่าไรนัก ยกเว้นพบว่าต้นแค็กตัสเจริญเติบโตช้าหรืออ่อนแอสูง เลือกใช้ปุ๋ยออสโมโค้ทเข้ามาเสริม